เนาวพยัตติ เป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาแต่งเป็นร้อยแก้ว กล่าวถึงความรู้แจ้ง 9 ประการ สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ หากผู้ใดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดในเนาวพยัตตินี้ก็จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากข้าศึกศัตรูได้[1]
ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เป็นหนังสือสำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2325 แล้วโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมและชำระตำราต่าง ๆ ซึ่งเคยมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และคัมภีร์ เนาวพยัตติ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการชำระคัดลอกในครั้งนี้ด้วย[2]
ต้นฉบับเป็นสมุดไทยฉบับหลวงคัดลอกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีบานแพนกระบุว่า นายบุญคงอาลักษณ์เป็นผู้คัดลอก ขุนสารประเสริฐและนายชำนาญอักษรเป็นผู้สอบทาน เมื่อวันจันทร์ เดือนเจ็ด ขึ้นเก้าค่ำ จุลศักราช 1144 หรือตรงกับ พ.ศ. 2325 ซึ่งเป็นปีแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[3] ปัจจุบันต้นฉบับสมุดไทยเก็บรักษาไว้ที่ส่วนภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติ ได้แก่ เอกสารเลขที่ 184 หมวดตำราหมู่ยุทธศาสตร์ (พิไชยสงคราม) โดยเนื้อความที่คัดลอกฉบับนี้ต่างจากที่ปรากฏในเรื่องปูมราชธรรม คือประกอบด้วยบทนมัสการ พระพุทธคุณ มีข้อความภาษาบาลี เขียนด้วยตัวอักษรขอม แล้วแปลความเป็นภาษาไทย[4]
พ.ศ. 2545 กรมศิลปากรตีพิมพ์เผยแพร่ ตำราพิไชยสงครามฉบับรัชกาลที่ 1 มีจำนวน 6 เล่ม โดยเล่มที่ 6 กล่าวถึงเนาวพยัตติ ซึ่งไม่มีในตำราพิชัยสงครามฉบับหมอบรัดเลย์
อ้างอิง