เทเลเท็กซ์ (อังกฤษ: Teletext) คือหนังสือพิมพ์ที่ออกอากาศบนโทรทัศน์ในยุค 80 ซึ่งออกอากาศในหลายประเทศ (ส่วนใหญ่ในยุโรป) เทเลเท็กซ์มักจะมาก่อนหรือหลังภาพทดสอบออกอากาศ เทเลเท็กซ์ ประกอบไปด้วย ตารางออกอากาศ ข่าวสารและอื่น ๆ เทเลเท็กซ์ ออกอากาศในระบบสี แต่ไม่ละเอียดมาก
ที่มาของเทเลเท็กซ์
เทเลเท็กซ์หรือหนังสือพิมพ์ทางโทรทัศน์เป็นการส่งข้อมูลและข่าวสารแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตจะพัฒนาขึ้น ประมาณปี ค.ศ.1970 ในประเทศอังกฤษ ซึ่งการส่งข้อมูลเทเลเท็กซ์จะส่งออกไปพร้อมกับการส่งคลื่นสัญญาณโทรทัศน์ ดังนั้นผู้รับชมโทรทัศน์สามารถรับชมได้ด้วยเครื่องรับที่มีวงจรถอดรหัสสัญญาณเทเลเท็กซ์หรืออาจจะใช้อุปกรณ์ถอดรหัสภายนอก เช่น ชุดควบคุมอุปกรณ์ (SET-TOP BOX) เป็นต้น
ระบบเทเลเท็กซ์มีลักษณะเสมือนหนังสือพิมพ์ที่ส่งผ่านสัญญาณโทรทัศน์ โดยข้อมูลทั้งหมดสามารถส่งทางเทเลเท็กซ์ได้ยกเว้นภาพที่มีความละเอียดสูง แต่มีข้อดีกว่าหนังสือพิมพ์คือ สามารถเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้ทันสมัยได้รวดเร็วจึงเหมาะสำหรับข่าวสารที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและจำเป็นต้องใช้ในการตัดสินใจด้านต่างๆ ทั้งในทางธุรกิจและชีวิตประจำวัน ตัวอย่างของข่าวสารที่ควรจะส่งทางเทเลเท็กซ์เช่น ข่าวสดการพยากรณ์อากาศ ข้อมูลตลาดหุ้น ข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างๆ ราคาสินค้า เวลาขึ้นลงของเที่ยวบิน ข้อมูลที่พักตามโรงแรม ประกาศที่สำคัญของทางราชการ ผลการเลือกตั้ง ประกาศผลสอบสถาบันการศึกษา ทดสอบความรู้ทั่วไป ข้อมูลสถิติที่น่าสนใจ เป็นต้น
บริการเทเลเท็กซ์ได้รับความนิยมน้อยลงเมื่อมีระบบสื่อสารอื่นๆ ที่รวดเร็วและตอบสนองได้มากกว่าเข้ามา เช่น การส่งข่าวสารผ่านข้อความสั้น (SMS) ของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่สามารถให้บริการข้อมูลและภาพในลักษณะสื่อผสม (Multimedia) ได้รวดเร็ว
เทเลเท็กซ์ในประเทศไทย
ในประเทศไทยเคยออกอากาศเทเลเท็กซ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ถึงปี พ.ศ. 2551 ทางช่อง 3 และ 9 โดยในช่อง 3 ใช้ชื่อว่า Infonet และช่อง 9 ใช้ชื่อว่า ข่าวเขียน หรือ ข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยช่อง 3 ออกอากาศในช่วงระหว่างปี 2528-2551 และช่อง 9 ในปี 2535-2543
ใน พ.ศ. 2550 ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการส่งเทเลเท็กซ์ในประเทศไทย แต่หากจะให้ระบบเทเลเท็กซ์สามารถแสดงตัวอักษรภาษาไทยได้ต้องมีการกำหนดมาตรฐานขึ้นมาใหม่เนื่องจากภาษาไทยมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนภาษาอังกฤษเนื่องจากมีรายละเอียดหลายประการ ที่ต้องพิจารณาเช่น แต่ละจอจะให้มีกี่บรรทัด โดยการแปลงจากสามบรรทัดภาษาอังกฤษ ให้เป็นหนึ่งบรรทัดภาษาไทย เป็นต้น
อ้างอิง