เซ็นทรัล วิลเลจ (อังกฤษ: Central Village) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสม โดย บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด ภายใต้การร่วมลงทุนระหว่าง เซ็นทรัลพัฒนา และ มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย บนเนื้อที่ 100 ไร่ บนถนนสุวรรณภูมิ 3 ในพื้นที่ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบด้วยศูนย์การค้าและโรงแรม ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Bangkok Luxury Outlet" เป็นสวรรค์ของการช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมที่คุ้มค่า ในราคาเอ้าท์เล็ตที่ลด 35-70% ทุกวัน ตั้งเป้าจับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศกว่า 2 ล้านคนต่อปี ด้วยจุดเด่นด้านทำเลที่ใช้เวลาเดินทางเพียง 5 นาทีจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 45 นาทีจากใจกลางกรุงเทพมหานคร
ภาพรวม
เซ็นทรัล วิลเลจ เป็นโครงการพัฒนาศูนย์การค้ารูปแบบเปิดในลักษณะของ Outdoor Luxury Outlet ตัวอาคารได้รับการออกแบบต่อยอดจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ที่ผสมผสานการออกแบบทั้งรูปแบบศูนย์การค้าแบบเปิด (Outdoor) และศูนย์การค้าแบบปิด (Indoor) ออกแบบโดยใช้สถาปัตยกรรมแบบไทยร่วมสมัย[1][2]
การจัดสรรพื้นที่
เซ็นทรัล วิลเลจ มีพื้นที่โครงการ 40,000 ตารางเมตร บนเนื้อที่ 100 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญดังนี้
- ร้านค้าเอาท์เลทกว่า 135 ร้านค้า โดยมีร้านอาดิดาส, อันเดอร์อาร์เมอร์, โค้ช, โปโล ราลฟ์ ลอเรน, เอาท์เลท บาย คลับ 21 และไมเคิลคอส์ เป็นร้านขนาดใหญ่ในพื้นที่
- ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในรูปแบบเอาท์เลทสโตร์ (ลักซ์ แกลอรี แอนด์ ศิวิลัย และลักชูรี ลิฟวิง)
- เพาเวอร์บาย เอาท์เลท
- ซูเปอร์สปอร์ต แฟกตอรี เอาท์เลท
- ไทย พาวิลเลี่ยน ร้านค้าสินค้าในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ภายใต้ความร่วมมือกับ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
- ท็อปส์ เดลี่
- จุดบริการนักท่องเที่ยวและประชาชน
- ศูนย์อาหารฟู้ด วิลเลจ
พื้นที่จัดสรรในอนาคต
การคมนาคม
- รถยนต์ส่วนบุคคล
- ถนนบางนา-ตราด เลี้ยวเข้าถนนหมายเลข 370
- ถนนมอเตอร์เวย์ (หมายเลข 7) โดยใช้ถนนสุวรรณภูมิ 3 เป็นถนนเชื่อมต่อเข้าสู่ถนนหมายเลข 370
- ถนนลาดกระบัง โดยใช้ถนนสุวรรณภูมิ 3 เป็นถนนเชื่อมต่อเข้าสู่ถนนหมายเลข 370
- ทางด่วนบูรพาวิถี ใช้ทางออกสนามบินสุวรรณภูมิ ลงสู่ถนนหมายเลข 370
- รถโดยสารประจำทางและรถตู้ร่วมให้บริการ
- สาย 552 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Bus Terminal)-สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อ่อนนุช (เฉพาะขาไปบีทีเอส อ่อนนุช)
- สาย 558(S7) เคหะธนบุรี-สนามบินสุวรรณภูมิ
- รถโดยสารร่วมให้บริการ (Shuttle Bus)
- เซ็นทรัล วิลเลจ - โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สุวรรณภูมิ
- เซ็นทรัล วิลเลจ - เซ็นทรัลเวิลด์
- เซ็นทรัล วิลเลจ - สถานีอ่อนนุช ของรถไฟฟ้าบีทีเอส
- เซ็นทรัล วิลเลจ - สถานีลาดกระบัง ของรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
- ระบบขนส่งมวลชน
- รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
- สถานีลาดกระบัง (ใช้ทางออกถนนร่มเกล้าเพื่อเข้าลานจอดรถของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อต่อรถโดยสารร่วมให้บริการไปเซ็นทรัล วิลเลจ)
- สถานีสุวรรณภูมิ (ใช้ทางออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วใช้รถเวียนภายในไป Bus Terminal เพื่อต่อรถตู้สาย 552,รถเมล์สาย 558(S7) หรือใช้ทางออกโรงแรมโนโวเทลกรุงเทพสุวรรณภูมิ ต่อรถโดยสารร่วมให้บริการไปเซ็นทรัล วิลเลจ)
- รถไฟฟ้าสายสีเงิน (ช่วงธนาซิตี้ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) สถานีเกริกวิทยาลัย (โครงการในอนาคต)
กรณีพิพาทกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าแจ้งความต่อ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด ว่า "ฐานก่อสร้างโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ รุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ของราชพัสดุ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของกรมท่าอากาศยานไทย และเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในความดูแล ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" พร้อมทั้งนำกำลังพลเจ้าหน้าที่ทั้งภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรบางพลีกว่า 20 นาย แท่งแบริเออร์ และเต็นท์ผ้าใบขนาดใหญ่ เข้าปิดพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ทุกทางเข้าพื้นที่ พร้อมทั้งขึงเส้นแดงไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออกพื้นที่เป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร และตั้งป้ายประกาศขนาดใหญ่โดยฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ทอท. ว่า "พื้นที่ในความครอบครองของ ทอท. ห้ามผู้ใดบุกรุก มิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด" ตั้งแต่เย็นของวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ส่งผลให้ บริษัท สยามมัลติคอน จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างศูนย์การค้าฯ ไม่สามารถนำรถบรรทุกเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ตามสัญญา และผู้รับเหมาต้องนำอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างใส่รถเข็นเข็นเข้าพื้นที่แทน
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด ผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้า ได้ตั้งป้ายข้อความคัดค้านทันทีว่า "โครงการนี้ตั้งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดิน มิได้มีการรุกล้ำพื้นที่ใคร" พร้อมขึ้นป้ายประกาศความหมายของคำว่า "ทางหลวงแผ่นดิน" และ "ไหล่ทาง" ตามความหมายที่บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถาน ก่อนเชิญสื่อมวลชนร่วมชมพื้นที่พร้อมชี้แจงปัญหาออกเป็น 3 ประเด็นดังนี้
- ที่ดินของศูนย์การค้า เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนาได้รับใบอนุญาตในการเชื่อมต่อพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากกรมทางหลวง อันเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการตัดสินใจเชื่อมต่อไหล่ทางแต่เพียงผู้เดียว และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ที่ดินของศูนย์การค้าไม่ได้เป็น "ที่ดินตาบอด" ตามที่ ทอท. กล่าวอ้าง
- โครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด
- เซ็นทรัลพัฒนาได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้องเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560 และวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 โดยโครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฎใด ๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบินหรือรบกวนการบินแต่อย่างใด
หลังจากชี้แจงทั้งสามประเด็น เซ็นทรัลพัฒนาได้ยื่นเข้าฟ้อง ทอท. ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ในฐาน "กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิดกรณีบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กับพวก (บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด) ซึ่งกำลังดำเนินโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต บริเวณใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ได้รับอนุญาตให้ทำทางเชื่อมในเขตทางหลวงได้เป็นการชั่วคราวจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน แต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ทอท. ตั้งเต็นท์ขวางทางเข้าออกโครงการและไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ทางดังกล่าว เป็นเหตุให้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กับพวก ได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย" โดยเรียกค่าเสียหายจาก ทอท. เป็นจำนวนเงิน 150.1 ล้านบาท พร้อมทั้งขออำนาจศาลให้กำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยให้ทอท. รื้อถอนสิ่งกีดขวางใด ๆ ออกไปจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370[3] ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562[4] ส่งผลให้เซ็นทรัลพัฒนาสามารถเปิดให้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ได้ตามปกติในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562[5]
หลังมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานทั้ง กระทรวงคมนาคม (ในฐานะหน่วยงานใหญ่ของ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กรมท่าอากาศยาน และ ท่าอากาศยานไทย) และกระทรวงมหาดไทย (ในฐานะหน่วยงานใหญ่ของ กรมทางหลวง) เพื่อหาข้อยุติข้อพิพาทระหว่าง ทอท. และเซ็นทรัลพัฒนา โดยที่ประชุมมีการสรุปเบื้องต้นว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบร่วมกันของกรมทางหลวง และกรมท่าอากาศยาน มิใช่พื้นที่ในความรับผิดชอบของ ทอท. เนื่องจากกรมท่าอากาศยานได้จัดซื้อที่ดินส่วนนี้จากประชาชนด้วยงบประมาณในช่วงปี 2511 - 2513 เพื่อใช้ในราชการของกรมท่าอากาศยาน และได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุเป็นจำนวน 26 ทะเบียน รวมเนื้อที่ประมาณ 184-13-26 ไร่ ซึ่งภายหลังกรมท่าอากาศยานได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินส่วนนี้เป็นทางเข้าออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านถนนบางนา-บางวัว และทางพิเศษบูรพาวิถี และให้กรมทางหลวงขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดิน จึงถือได้ว่าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 มีสถานะเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน[6]
ต่อมาในการประชุมของคณะทำงานแก้ปัญหาข้อพิพาททางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถนนเข้าสนามบินสุวรรณภูมิระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้มีข้อสรุปว่าถนนเส้นดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ แต่อนุญาตให้กรมทางหลวง และกรมท่าอากาศยานใช้พื้นที่ร่วมกัน คณะทำงานฯ จึงมีมติให้จัดทำหนังสือแจ้งแก่ บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด รวมถึงเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด 37 ราย ให้เข้ามาทำเรื่องขอเชื่อมต่อถนนใหม่กับกรมธนารักษ์ ซึ่งจะมีการคิดค่าเชื่อมต่อถนนตามอัตราของกรมธนารักษ์ จากเดิมที่กรมทางหลวงให้เชื่อมต่อถนนได้ฟรี ในส่วนคดีความ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนคำสั่งทางปกครองเดิมของศาลปกครองชั้นต้น ส่งผลให้เซ็นทรัลพัฒนาและพวกเป็นผู้ชนะคดี เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ซีพีเอ็นและพวกเพียงขอเปิดใช้ทางเชื่อมระหว่างโครงการกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เพื่อให้ยานพาหนะสามารถผ่านเข้า - ออก และขอใช้สาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อประกอบกิจการโครงการเท่านั้น ยังไม่มีลักษณะถึงขั้นเป็นการขัดขวางหรือรบกวนการปฏิบัติงานของ ทอท. ฉะนั้นข้ออ้างของ ทอท. ที่ว่าการเปิดทางเชื่อมจะทำให้การจราจรบริเวณหน้าโครงการหนาแน่นขึ้น กระทบต่อการเดินทางของผู้ที่ต้องการใช้บริการท่าอากาศยาน ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการให้บริการ หรือกระทบต่อแผนพัฒนาท่าอากาศยาน เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ และตามที่มีข้อโต้แย้งว่าถนนดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ เป็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของคู่กรณีต่อไป
อ้างอิง
|
---|
เซ็นทรัลแบงค็อก | |
---|
เซ็นทรัล ไลฟ์คอมเพล็กซ์ (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) | |
---|
เซ็นทรัล ไลฟ์คอมเพล็กซ์ (ภูมิภาค) | |
---|
โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) | |
---|
โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ (ภูมิภาค) | |
---|
ท็อปส์ พลาซา | |
---|
ศูนย์การค้า | |
---|
ต่างประเทศ | |
---|
ตัวเอียง = กำลังก่อสร้าง |