เจป็อป แหล่งกำเนิดทางรูปแบบ แหล่งกำเนิดทางวัฒนธรรม ในนามช่วงทศวรรษ 1980-ต้นทศวรรษ 1990 ประเทศญี่ปุ่น ; สืบทอดมาจากช่วงทศวรรษ 1960-1970 รูปแบบอนุพันธุ์ แนวย่อย แนวประสาน ทัศนียภาพในระดับภูมิภาค ชิบูยะ หัวข้ออื่น ๆ
เจป็อป (อังกฤษ : J-pop ; ญี่ปุ่น : ジェイポップ ; โรมาจิ : jeipoppu ; ย่อมาจาก "Japanese popular music") หมายถึงแนวดนตรีของประเทศญี่ปุ่น ที่มีลักษณะดนตรีผสมผสานจากทางตะวันตก ซึ่งรวมถึงดนตรีในลักษณะ ป็อป ร็อก แดนซ์ ฮิปฮอป และโซล
เจป็อป เป็นหนึ่งใน 4 แนวดนตรีที่มีการจำแนกในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้แก่ เจป็อป, เอ็งกะ (ลักษณะคล้ายบัลลาด ), ดนตรีคลาสสิก และ ดนตรีต่างประเทศ
ประวัติ
ทศวรรษที่ 1920–1940: จุดกำเนิด
เจป็อป เป็นแนวดนตรีที่มีรากฐานมาจากเพลงแจซ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในประเทศญี่ปุ่นช่วงยุคโชวะ ตอนต้น (สมัยราชวงศ์ของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ) แจซเป็นแนวเพลงที่นำเอาเครื่องดนตรีใหม่ๆ หลายชิ้น ที่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ในการแสดงเพลงคลาสสิก และเพลงมาร์ช ของทหาร มาแนะนำให้ชาวญี่ปุ่นได้รู้จักและมาช่วยแต่งแต้มสีสัน “ความสนุก” ให้กับวงการเพลงของญี่ปุ่นให้มากขึ้น เครื่องดนตรีต่างๆ เหล่านั้น ได้ถูกนำไปใช้ตามคลับและบาร์ในญี่ปุ่นหลายๆ ที่ โดยที่ที่โด่งดังและมีชื่อในเรื่องการแสดงเพลงแจซมากที่สุดก็คือ "องกาคุ คิซซะ" (音楽喫茶)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การแสดงดนตรีแจซในญี่ปุ่นได้หยุดชะงักลงชั่วคราวเนื่องด้วยการกดดันจากฝ่ายทหารของจักรพรรดิญี่ปุ่น แต่พอสงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว แนวดนตรีจากต่างประเทศ ทั้งบูกี-วูกี , แมมโบ , บลูส์ และคันทรี ก็ต่างเข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นอย่างไม่ขาดสาย โดยผู้ที่นำเข้าดนตรีเหล่านี้ก็คือทหารของสหรัฐอเมริกา ที่เข้าไปทำงานในญี่ปุ่นและกลุ่มเครือข่ายตะวันออกไกล
ทศวรรษที่ 1950–1960
จากการไหลเข้ามาของแนวเพลงอันหลากหลายในช่วงนั้น ได้ทำให้นักดนตรีสากลชาวญี่ปุ่นหลายๆ คนถือกำเนิดขึ้นและสร้างผลงานที่โด่งดังออกมาหลายเพลง ตัวอย่างเช่น "โตเกียว บูกี-วูกี " ของชิซูโกะ คาซางิ , "เท็นเนซซี วอลทซ์ " ของเอริ ชิเอมิ , "โอมัตสึริ แมมโบ " ของฮิบาริ มิโซระ และ "โอโมอิเดะโนะ วอลทซ์ " ของอิซูมิ ยูกิมูระ เป็นต้น นอกจากนั้น กลุ่มศิลปินและศิลปินแจซชื่อดังจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น เจเอทีพี หรือหลุยส์ อาร์มสตรอง ก็ยังเคยไปเปิดการแสดงในญี่ปุ่นช่วงนั้นด้วย
ปีที่ถือว่าเป็น "ปีแห่งการเฟื่องฟูของเพลงแจซ” (Year of the Jazz Boom) ที่สุดในญี่ปุ่นคือปี 1952 โดยในปีนั้น เพลงแจซเริ่มที่จะเพิ่มระดับประสิทธิภาพทางเทคนิคให้สูงขึ้น ส่งผลให้การเล่นเพลงแจซในสมัยนั้นเริ่มยากขึ้นตามไปด้วย นักดนตรีชาวญี่ปุ่นหลายคนจึงต้องหันไปเล่นดนตรีสไตล์คันทรีที่สามารถเรียนรู้และนำไปแสดงได้ง่ายกว่าแทน ทำให้เพลงหลายๆ เพลงในช่วงนั้นมีกลิ่นไอของคันทรีเป็นพื้นฐาน
ในปี 1956 กระแสเพลงร็อกแอนด์โรล ในญี่ปุ่นได้เริ่มต้นขึ้น ผู้ที่ปลุกกระแสนี้ขึ้นมาคือวงดนตรีคันทรีที่ชื่อว่า "โคซากะ คาซูยะ แอนด์ เดอะ แวกอน มาสเตอร์ส " และเพลง "ฮาร์ตเบรกโฮเทล " ของเอลวิส เพรสลีย์ จุดสูงสุดของความนิยมร็อกแอนด์โรลในญี่ปุ่นอยู่ที่ปี 1959 โดยในปีนั้นได้มีภาพยนตร์ญี่ปุ่นอยู่เรื่องหนึ่งได้นำเอาวงดนตรีร็อกแอนด์โรลหลายๆ วงมาร่วมแสดงด้วย ทำให้เกิดเป็นการตอกย้ำกระแสร็อกแอนด์โรลในญี่ปุ่นให้มากขึ้นไปอีก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสเพลงแนวร็อกแอนด์โรลในแถบอเมริกาถึงจุดสิ้นสุด กระแสเดียวกันที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นก็เป็นอันต้องยุติลงไปด้วย เนื่องจากว่าวงดนตรีของญี่ปุ่นหลายๆ วงนั้นได้รับอิทธิพลมาจากวงดนตรีของอเมริกาค่อนข้างมาก ถ้าหากกระแสดนตรีของอเมริกาเปลี่ยนแปลงไปในญี่ปุ่นก็จะเปลี่ยนตามทันที
ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ได้มีนักดนตรีบางคนพยายามจะนำเอาแนวเพลงป็อป ดั้งเดิมของญี่ปุ่นมาผสมรวมกับร็อกแอนด์โรล โดยผู้ที่ประสบความสำเร็จจากนักร้องชาย คีว ซากาโมโตะ กับเพลงที่ชื่อ "อูเอะ โอะ มูอิเตะ อารูโก " หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "สุกียากี้" ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงภาษาญี่ปุ่นเพลงแรกที่เข้าไปอยู่อันดับ 1 ในชาร์ตจัดอันดับเพลงยอดนิยมของสหรัฐอเมริกา[ 1] ติดอันดับหนึ่งสี่สัปดาห์ในนิตยสารแคชบ็อกซ์ กับอีกสามสัปดาห์ในนิตยสารบิลบอร์ด และยังได้รับรางวัล "โกลด์ เร็คคอร์ด" จากการที่สามารถขายแผ่นเสียงได้หนึ่งล้านแผ่นอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน ก็มีนักร้องนักดนตรีญี่ปุ่นกลุ่มอื่นๆ ที่ตัดสินใจหันมาใช้วิธีนำเอาเพลงดังๆ จากประเทศสหรัฐอเมริกามาแปลภาษาให้เป็นภาษาญี่ปุ่นและนำมาร้องคัฟเวอร์จนโด่งดัง แต่พอถึงยุคที่ทั่วประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีโทรทัศน์หรือวิทยุเป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้ประชากรได้มีโอกาสฟังหรือชมภาพการแสดงและเพลงของต้นฉบับจากประเทศสหรัฐอเมริกาจริงๆ ความนิยมที่จะบริโภคผลงานคัฟเวอร์เช่นนี้ก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ
ทศวรรษที่ 1970–1980: นิวมิวสิค, ซีตีป็อป, วาเซป็อป
ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 ถึงกลางทศวรรษที่ 80 กระบวนการการสร้างเพลงเริ่มมีความซับซ้อนในด้านการเรียบเรียงและการใช้เครื่องดนตรีมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะเรียกเพลงที่เกิดจากกระบวนเช่นนี้ว่า "นิวมิวสิก" เพลงนิวมิวสิก หลายๆ เพลงจะมีเนื้อหาที่สนองความต้องการของสังคมอย่างเรื่องความรักหรือเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างนักร้องญี่ปุ่นแนวนิว มิวสิก ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็ได้แก่ ทากูโระ โยชิดะ และ โยซูอิ อิโนอูเอะ
ในยุคเดียวกันนั้น เพลงแนว "ซิตีป็อป " ก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในญี่ปุ่น เพลงแนวนี้จะเป็นเพลงที่ให้ผู้ฟังได้สัมผัสกับกลิ่นไอบรรยากาศของเมืองใหญ่ในญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ถือเป็นเมืองหลักที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดเพลงแนวนี้ขึ้นมาหลายต่อหลายเพลง
หลังจากนั้นหลายปีต่อมาในช่วงที่เพลงซิตีป็อปกลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษที่ 2010 และช่วงต้นทศวรรษที่ 2020 โดยเพลงพลาสติกเลิฟ ของมาริยะ ทาเกอูจิ ซึ่งวางจำหน่ายในปี 1984 ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในทั่วโลกหลังฉบับรีมิกซ์ ความยาว 6 นาทีได้ถูกอัปโหลดขึ้นบนยูทูบ ในปี 2017 และมียอดเข้าชมถึง 24 ครั้งในเวลาอันสั้น ก่อนที่จะถูกนำออกด้วยปัญหาลิขสิทธิ์[ 2] ต่อมาวิดีโอได้ถูกแก้ไขปัญหาลิขสิทธิ์เสร็จสิ้นในปี 2019 และมียอดเข้าชมสะสมมากกว่า 60 ล้านครั้ง รวมไปถึงเพลงมาโยนากะโนะโดอะ (สเตย์วิธมี) ของมิกิ มัตสึบาระ ที่วางจำหน่ายในปี 1979 สืบเนื่องจากในช่วงปี 2020 "มาโยนากาโนะโดอะ" ได้รับความนิยมระลอกใหม่จากผู้ฟังทั่วไป นิตยสาร "บิลบอร์ด " ได้ระบุว่าคลื่นลูกใหม่นี้มาจากนักร้องชาวอินโดนีเซีย Rainych ผู้ทำดนตรีคัฟเวอร์เพลงญี่ปุ่นเป็นปกติอยู่แล้ว ได้ปล่อยคัฟเวอร์เพลง "มาโยนากะโนะโดอะ" บนช่องยูทูบเมื่อเดือนตุลาคม ทำให้เพลงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในประเทศอินโดนีเซีย ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลก จากนั้นเพลงปรากฏบนชาร์ตยอดนิยมของบริการสตรีมดนตรี ทั้งสปอติฟาย และแอปเปิลมิวสิก ในช่วงเวลาเดียวกัน เพลงนี้ยังถูกนำไปใช้ประกอบเทรนด์ บนสื่อติ๊กต็อก ซึ่งแสดงวิดีโอผู้คนเปิดเพลงนี้ขึ้นและมีคุณแม่ชาวญี่ปุ่นร้องตามโดยทันทีเมื่อได้ยิน[ 3]
ทั้งเพลงแนวนิวมิวสิก และเพลงแนวซิตีป็อป ต่างก็มีความคล้ายคลึงกัน ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน เพลงหลายๆ เพลงที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงนั้นก็มักจะมีทั้งความเป็นนิวมิวสิกและซิตีป็อปผสมอยู่ในตัว ดังนั้นในเวลาต่อมาจึงได้เกิดชื่อ "วาเซ ป็อป" ขึ้น เพื่อมาใช้อธิบายเพลงแนวนิวมิวสิกและซิตีป็อปรวมกัน
ทศวรรษที่ 1990–2000: เจป็อป
จนกระทั่งในทศวรรษที่ 90 คำว่า "เจป็อป" ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อที่จะนำมาใช้อธิบายลักษณะเพลงป็อปดังๆ หลายๆ เพลงในช่วงนั้นแทนคำว่า "วาเซป็อป"
ศิลปินเจป็อปที่มีชื่อเสียงในช่วงนั้น ส่วนมากจะเป็นนักร้องหญิง ตัวอย่างเช่น โยโกะ โอกิโนเมะ , ชิซาโตะ โมริทากะ และวิงก์ (ซาชิโกะ ซูซูกิ กับ โชโกะ ไอดะ ) เป็นต้น ส่วนนักร้องเจป็อปที่เป็นผู้ชายก็มีอยู่เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ฮิการุ เก็นจิ วงบอยแบนด์ ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2530 มีเอกลักษณ์คือสมาชิกติดโรลเลอร์สเก็ต ในปัจจุบันหลังจากยุบวงในปี พ.ศ. 2537 สมาชิกในวงต่างก็แยกย้ายไปมีชื่อเสียงในทางของตัวเอง และอีกคนหนึ่งก็คือ เอกิจิ ยาซาวะ ร็อกเกอร์หนุ่มที่ผันแนวมาร้องเพลงป็อป และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อเขาได้เซ็นสัญญากับบริษัทบันทึกเสียงวอรเนอร์ ไพโอเนียร์ ในปีพ.ศ. 2523 (เขาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ ณ แถบชายฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา และได้สร้างอัลบั้มเพลงที่นี่ไว้ 3 อัลบั้มด้วยกัน ได้แก่ ยากาซาวะ, อิทส์ จัสท์ ร็อก เอ็น’ โรล, และ แฟลช อิน เจแปน อัลบั้มทั้งหมดได้ส่งไปจำหน่ายในหลายประเทศ แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในด้านการโฆษณานัก)
นักร้องเจป็อปที่น่าจดจำอีกคนหนึ่งก็คือ "เซโกะ มัตสึดะ " เธอคนนี้เป็นนักร้องหญิงชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังอย่างมากในช่วงต้นทศววรษที่ 80 โดยเพลงที่นำความสำเร็จมาให้เธอเพลงหนึ่งคือเพลงภาษาอังกฤษที่เธอร้องเอาไว้ในอัลบั้ม อีเทอนัล " (อัลบั้มนี้ออกจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2534) รวมไปถึงเพลงซิงเกิลอย่าง "อานาตานิ ไอตากุเตะ (มิสซิงยู) " ในปี พ.ศ. 2539 ก็ประสบความสำเร็จในช่วงทศวรรษที่ 90 เช่นกัน
ผลงานเพลงของมัตสึดะยังเคยครองอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงของนักร้องหญิงญี่ปุ่นติดต่อกันอย่างยาวนานที่สุด แต่สถิตนั้นก็ถูกทำลายไปโดยผลงานของอายูมิ ฮามาซากิ
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 70 ได้มีการกำเนิดขึ้นของวงร็อกที่ชื่อ จาเงะ แอนด์ อัสกะ ซึ่งสมาชิกของวงประกอบไปด้วยนักร้องสองคนได้แก่ จาเงะ (ชูจิ ชิบาตะ ) และ เรียว อัสกะ (ชิเงอากิ มิยาซากิ ) พวกเขาทั้งสองคนได้ร่วมกันสร้างผลงานเพลงมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 70 จนมาถึงปลายทศวรรษที่ 2000 (พ.ศ. 2522 – พ.ศ. 2552) และกลับมามีผลงานอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 จนถึงปี พ.ศ. 2562
ต่อมาในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษที่ 90 กระแสความนิยมแนวเพลงก็เริ่มเปลี่ยนไปจากร็อกกลายมาเป็นป็อปแดนซ์ จึงส่งผลให้วงร็อกแบบจาเงะ แอนด์ อัสกะ เป็นอันต้องตกรุ่นไปในที่สุด
ทศวรรษที่ 90 ถือเป็นช่วงเวลาที่วงการเพลงญี่ปุ่นได้ผลิตนักร้องเจป็อปออกมาเป็นจำนวนมาก โดยในรอบสิบปีนี้ แต่ละปีจะมีศิลปินหรือกลุ่มศิลปินเจป็อปต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมามีชื่อเสียงและครองใจตลาดใหญ่เอาไว้ เริ่มตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ. 2536 ศิลปินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนั้นก็คือ ซาร์ด , แวนด์ส , ดีน , บีซ และ เซาวเธอร์น ออล สตาร์ส ต่อจากนั้นในปี พ.ศ. 2537 ถึง พ.ศ. 2540 ผู้ที่ครองตลาดเจป็อปกลุ่มต่อมาก็คือศิลปินในตระกูล "ทีเค" (เท็ตซึยะ โคมูโระ ), นามิเอะ อามูโระ , แม็กซ์ (เดอะ ซูเปอร์ มังกีส์ ) และสปีด นอกจากนั้นในช่วงปลายของยุคทศวรรษที่ 90 มอร์นิงมูซูเมะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นซูเปอร์ไอดอลเจป็อปที่โด่งดังมากในปัจจุบันก็เพิ่งจะเริ่มก่อตั้งกลุ่มครั้งแรกในปีพ.ศ. 2540
มอร์นิงมูซูเมะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 และยังคงสานต่อความโด่งดังอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันด้วยการค้นหาสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามาหมุนเวียนตลอดในแต่ละปี และก่อนหน้านั้นมอร์นิงมูซูเมะเคยนำรูปแบบ “ซับยูนิต” จากโอเนียงโกะ คลับ วงไอดอลหญิงที่โด่งดังในช่วงทศวรรษที่ 80 มาใช้ด้วย รวมถึงวงไอดอลญี่ปุ่นอย่างเอเคบีโฟร์ตีเอท ที่ก่อตั้งในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2000 ก็โด่งดังไม่แพ้มอร์นิงมูซูเมะด้วยเช่นกันในปัจจุบัน
ในช่วงนั้นของปลายยุคทศวรรษที่ 90 มอร์นิงมูซูเมะและสปีดต่างก็สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากผลงานของพวกเธอสามารถขายได้เกินล้านก๊อปปี้ และนอกจากนั้นทั้งสองกลุ่มนี้ยังมีแนวเพลงแบบป็อป-เทคโนที่คล้ายกันอีกด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 อันดับที่ 1 ของชาร์ตเพลงเจป็อป ก็เปลี่ยนมือมาเป็นของวิชวล เค และชัซนะ และในปี พ.ศ. 2542 ก็เป็นการปิดท้ายทศวรรษ 90 ด้วยความนิยมในตัวนักร้องหญิงอย่างอูทาดะ ฮิคารุ และอายูมิ ฮามาซากิ
โดยเฉพาะอูทาดะ เธอเป็นทั้งนักร้อง และนักประพันธ์เพลงที่ทรงอิทธิพลของวงการเพลงญี่ปุ่นผู้หนึ่ง เธอคือผู้ที่นำเอากระแสอาร์แอนด์บี เข้ามาสู่เจป็อปผ่านทางเพลงซิงเกิลแรกของเธอที่ชื่อ "ออโตแมติก/ไทม์วิลเทลล์ " นอกจากนั้นแล้วผลงานอัลบั้ม "เฟิสต์เลิฟ " ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของเธอ ก็สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 9,500,000 ก๊อปปี้ ซึ่งถือเป็นสถิติของอัลบั้มเพลงที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาลของญี่ปุ่น และเป็นยอดขายที่ไม่เคยมีผลงานอัลบั้มแรกของศิลปินญี่ปุ่นคนใดเคยทำได้สูงเท่านี้มาก่อนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเพลงอาร์&บีของอูทาดะ จะถูกหูผู้จำนวนมหาศาล แต่แนวเพลงกระแสหลักที่คนส่วนใหญ่ยังนิยมกันอยู่ในขณะนั้น ก็ยังคงเป็นเพลงป็อปเช่นเดิม ทำให้เกิดศิลปินแนวเจป็อปคนอื่นๆ อย่าง ไม คูรากิ , คูมิ โคดะ , มิกะ นากาชิมะ , ไอ โอตสึกะ และอามิ ซูซูกิ ก็ได้ขึ้นมาประดับวงการเรื่อยมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 90 และต้นทศวรรษที่ 2000
ส่วนศิลปินที่ดูเหมือนจะโด่งดังและมีชื่อเสียงเกือบตลอดทั้งทศวรรษนั้นก็คือ "สแมป " วงบอยแบนด์ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2531 โดยเป็นแบ็กอัพให้กับวงบอยแบนด์อย่าง "ฮิคารุ เก็นจิ" ก่อนที่จะปรากฏตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2534 จนถึงปี พ.ศ. 2559 สแมปจะมีการยุติการทำกิจกรรม [ 4]
เมื่อเข้าสู่ "คริสต์ทศวรรษ 2000" (พ.ศ. 2543 – พ.ศ. 2552) โดยเฉพาะช่วงกลางทศวรรษ แนวเพลงอาร์&บี และฮิพฮ็อพ ต่างก็เข้ามามีอิทธิพลต่อวงการเพลงของญี่ปุ่นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เนื้อหาของเพลงที่สร้างออกมาในช่วงนี้ ก็เริ่มที่จะประเดียดไปในทางล่อแหลม ลามกอนาจาร และยุยงในเรื่องที่ไม่ดีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ศิลปินหลาย ๆ คนที่เคยร้องแต่เพลงที่มีเนื้อหาพื้น ๆ ธรรมดา ต้องปรับมาร้องเพลงที่มีเนื้อหาที่กล้า และหยาบกร้านเช่นนี้กันเกือบหมด
ในขณะเดียวกัน เจป็อปบางส่วน ยังได้รับอิทธิพลจากแนวเพลงอินดี้ ด้วย เช่น ผลงานของโคอิโกะ นักร้องหญิงแนวป็อป อาร์&บี จากค่ายเพลงอินดี้ในเมืองมิยาซากิ เป็นต้น
ทศวรรษที่ 2010–2020
จุดกำเนิดของศิลปินเจป็อป
ในประเทศญี่ปุ่น การที่จะกลายเป็นศิลปินแนวเจป็อปที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงได้นั้น ส่วนใหญ่แล้วมีอยู่สองหนทางด้วยกัน หนทางแรกคือ เริ่มต้นด้วยการเข้าไปสมัครคัดเลือกเป็นนักแสดง หรือนักร้อง ในบทบาทรองเสียก่อน อย่างเช่น ร้องเพลงประกอบโฆษณา หรือเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา แล้วค่อยขยับฝีมือไปแสดงหรือร้องเพลงในงานที่ใหญ่กว่าเดิม เช่น แสดงละครโทรทัศน์หรือร้องเพลงประกอบละคร เป็นต้น
ส่วนหนทางที่สองคือ ไปเข้าร่วมโครงการคัดเลือกคนที่มีทักษะด้านการร้อง การเต้นเพื่อเป็นสมาชิกของวงไอดอลนั้นๆ วิธีนี้ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมมาแล้วหลายตัวอย่าง เช่น มอร์นิงมูซูเมะ , เอเคบีโฟร์ตีเอท , โนกิซากะโฟร์ตีซิกซ์ รวมถึงวงไอดอลหญิงวงอื่น เป็นต้น
รายชื่อศิลปินเจป็อปในประเทศญี่ปุ่น
สำหรับรายชื่อของศิลปินเพลงเจป็อปทั้งเดี่ยวและกลุ่ม ให้ดูที่หน้ารายชื่อศิลปินเจป็อป
ผลที่มีต่อวัฒนธรรมสมัยนิยม
เจป็อปเป็นแนวเพลงที่มีการบูรณาการให้เข้ากับวัฒนธรรมประชานิยม ของญี่ปุ่นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอนิเมะ , ร้านค้า, โฆษณา , ภาพยนตร์ , รายการวิทยุ , รายการโทรทัศน์ และวิดีโอเกม
ในอนิเมะและรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เป็นละครโทรทัศน์ เพลงประกอบทั้งเปิดและปิดของรายการเหล่านี้เกือบทุกรายการก็เป็นเพลงเจป็อปทั้งหมเ โดยในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี อนิเมะและละครแต่ละเรื่องจะมีการเปลี่ยนเพลงประกอบเหล่านี้ประมาณสี่ครั้งด้วยกัน ทำให้เพลงประกอบทั้งหมดในหนึ่งเรื่องหรือหนึ่งฤดูกาลเฉลี่ยแล้วมีประมาณ 8 เพลง และถ้าหากเปรียบเทียบเรื่องจำนวนเพลงประกอบกับของละครซีรีส์อเมริกันที่ออกฉายมาอย่างยาวนานที่สุดเรื่อง "มือใหม่ปราบผี " ซึ่งมีทั้งหมดเจ็ดฤดูกาลตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ. 2546 เพลงประกอบรายการของญี่ปุ่นแต่ละเรื่องก็ยังมีจำนวนมากกว่า โดยในเรื่องนั้นมีเพลงประกอบทั้งหมด 30 เพลง แต่ในอนิเมะญี่ปุ่นหนึ่งเรื่องที่ออกฉายด้วยจำนวนเวลาเดียวกัน กลับมีเพลงประกอบเต็มๆ ทั้งหมดถึง 56 เพลงและอย่างน้อยจะต้องมีเพลงซิงเกิลของเรื่องอีก 1 เพลงด้วย
นอกจากอนิเมะและรายการโทรทัศน์แล้ว แม้กระทั่งรายการข่าวของญี่ปุ่นบางรายการ ก็ยังนำเอาเพลงเจป็อปมาเปิดประกอบในเครดิตช่วงท้ายเหมือนกัน
ส่วนในวงการวิดีโอเกม เพลงเจป็อปก็ยังได้เข้าไปมีส่วนเป็นเพลงประกอบด้วย อย่างในเกมขายดีของค่ายสแควร์เอนิกซ์ ที่ชื่อว่า "คิงดอมฮาตส์ " ทั้งภาคหนึ่งและสอง ก็ได้เพลงของอูทาดะ ฮิคารุมาใช้เป็นเพลงประกอบ และนอกจากนั้น เพลง "อีซี บรีซี " ของอูทาดะเองก็ยังนำไปใช้โปรโมทเครื่องเกมพกพาอย่างนินเท็นโด ดีเอส ด้วย
อายุในวงการเพลงของศิลปินเจป็อป
ผลงานของศิลปินเจป็อปคนหนึ่งๆ ส่วนมากจะมีอัลบั้มเพียงหนึ่งชุดและเพลงซิงเกิลอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นมาพวกเขาก็จะหมดชื่อเสียงและหายเข้ากลีบเมฆไป ซึ่งก็เป็นเรื่องยากอยู่เช่นกันที่ศิลปินเจป็อปจะมีชีวิตอยู่ในวงการเพลงได้มากกว่านี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากศิลปินเจป็อปคนไหนหรือกลุ่มใดสามารถคงความนิยมและดำรงตนเองอยู่เป็นเวลาสิบปีขึ้นไปได้ ก็ถือว่าเป็นศิลปินที่ยอดเยี่ยมมาก
กระแสเพลงเจป็อปในประเทศไทย
ในประเทศไทย กระแสเพลงเจป็อป ได้เริ่มเข้ามาเป็นที่นิยมในราวปี พ.ศ. 2539 จากเพลง "บายบาย " (バイバイ。) ของนานาเซะ ไอกาวะ จากอัลบั้มเรด ซึ่งเพลงนี้ถือว่าเป็นเพลงที่โด่งดังและเป็นตัวจุดเกิดกระแสความนิยมเพลงเจป็อปในประเทศไทย
สำหรับความนิยมเพลงแนวเจป็อปในประเทศไทยช่วงยุคเริ่มต้นจะอยู่ควบคู่กับความนิยมนักแสดงของซีรีส์ละครญี่ปุ่นที่ถูกนำมาฉายตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ในช่วงเวลานั้น สำหรับนักร้องและนักแสดงที่ต้องทำงานควบคู่กัน เช่น นางาเสะ โทโมยะ เป็นนักร้องนำวงโทคิโอะ ที่โด่งดังในประเทศไทยจากการเป็นพระเอกในละครซีรีส์ญี่ปุ่นของยุคนั้น รวมถึงนักร้องและสมาชิกของวงสแมป อย่างทากูยะ คิมูระ นอกจากจะเป็นนักร้องแล้ว คิมูระก็เป็นนักแสดงในยุคนั้นเช่นเดียวซึ่งทำให้ความนิยมต่อเนื่องไปถึงงานเพลงของวงสแมปด้วย
ในส่วนของเพลงประกอบละครที่ทำให้กระแสเพลงแนวเจป็อปเป็นที่นิยม เช่น เพลงประกอบละครจากเรื่อง "อดีตฝันวันวาน " ซึ่งนำแสดงโดยทากาชิ คาชิวาบาระ กับมิกิ ซากาอิ อย่างเพลง "โซราโมะ โทเบรุฮาซุ " ของวงสปิทซ์ โดยเพลงนี้ได้ขึ้นอันดับ 1 ของโอริคอน ชาร์ตและมียอดจำหน่าย 1.5 ล้านแผ่น รวมไปถึงละครเรื่อง "สวรรค์ลำเอียง "[ 5] ซึ่งโนริโกะ ซากาอิ ได้แสดงเป็นตัวหลักของเรื่องนี้และร้องเพลงประกอบละครเรื่องนี้อย่าง "อาโออิ อูซางิ " ซึ่งเป็นเพลงซิงเกิลที่ 27 ของเธออีกด้วย[ 6] [ 7] [ 8]
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่น
อ้างอิง