เจดีย์ชเวมอดอ (พม่า : ရွှေမောဓော ဘုရား , ออกเสียง: [ʃwèmɔ̀dɔ́ pʰəjá] ; มอญ : ကျာ်မုဟ်တ , ออกเสียง: [tɕaɪʔmṵtú] ) เป็นเจดีย์สำคัญในเมืองพะโค (หงสาวดี) ประเทศพม่า มีความสูง 114 เมตร (374 ฟุต) ถือเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศพม่า แต่เจดีย์ชเวดากอง ในเมืองย่างกุ้ง มักได้รับการบันทึกว่าเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศ 98 เมตร (322 ฟุต) เพราะประดิษฐานบนเนินเขา เชื่อกันว่าเจดีย์ชเวมอดอเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระเขี้ยวแก้ว ของพระโคตมพุทธเจ้า เจดีย์ชเวมอดอ เจดีย์ชเวดากอง และพระธาตุไจที่โย่ เป็นเจดีย์ที่มีชื่อเสียงที่ชาวมอญ สร้างขึ้น เทศกาลประจำปีเฉลิมฉลองเจดีย์ชเวมอดอจัดในช่วงเดือนดะกู้ ตามปฏิทินพม่า [ 1]
ประวัติ
เจดีย์ชเวมอดอมีชื่อเรียกในภาษามอญ ซึ่งคนไทย คุ้นเคยกับชื่อนี้คือ พระธาตุมุเตา แปลว่า "จมูกร้อน" เพราะกล่าวกันว่าเจดีย์องค์นี้สูงมาก ต้องแหงนหน้ามองจนต้องกับแสงแดด ปัจจุบันเจดีย์ชเวมอดอมีความสูงที่ 114 เมตร เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศพม่า
มีการสันนิษฐานว่าเจดีย์ชเวมอดอสร้างขึ้นราวประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10 ตั้งแต่สมัยอาณาจักรมอญ เรืองอำนาจ เดิมเจดีย์ชเวมอดอมีความสูง 21 เมตร (69 ฟุต) สร้างโดยชาวมอญ ตามตำนานเล่าว่าพ่อค้าชาวมอญสองคนชื่อ มหาศาลและจุลศาล ได้เดินทางไปอินเดียสมัยพุทธกาลและได้รับพระเกศาธาตุจากพุทธองค์ นำกลับมาประดิษฐาน ณ เจดีย์ชเวมอดอ[ 2] [ 3] ภายหลังได้มีการบรรจุพระเขี้ยวแก้วไว้ในเจดีย์เมื่อปี ค.ศ. 982[ 3]
เมื่อพะโคกลายมาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรหงสาวดี พระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาได้เพิ่มสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ให้กับเจดีย์และบริเวณโดยรอบ ในสมัยของพระเจ้าราชาธิราช ทรงสร้างเจดีย์ขนาดเล็ก 160 องค์รอบเจดีย์เมื่อ ค.ศ. 1390[ 4] ในสมัยของพระเจ้าธรรมเจดีย์ ได้โปรดให้มีการสร้างพระวิหาร และหล่อระฆัง ถวายในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 สมัยของพระเจ้าบุเรงนอง ค.ศ. 1556 ได้มีการสร้าง ที่ (ฉัตร) พร้อมอัญมณีจากมงกุฎของพระองค์ถวาย และสร้างเจดีย์ 52 องค์ซึ่งเป็นช่วงพระชนมายุของพระองค์ขณะนั้น[ 3] ค.ศ. 1796 พระเจ้าปดุง ทรงบูรณะเจดีย์ให้สูง 90 เมตร (295 ฟุต) และถวายฉัตรใหม่ ทำให้มีความสูงโดยรวม 98.8 เมตร (324 ฟุต)[ 5] [ 6]
กล่าวกันว่าก่อนที่พระเจ้าบุเรงนองจะออกทำศึกคราใด จะทรงมานมัสการเจดีย์นี้ก่อนทุกครั้ง ซึ่งในปัจจุบันจุดที่เชื่อว่าพระองค์ทำการสักการะก็ยังปรากฏอยู่ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งยกทัพมาตีพะโคก็ได้เสด็จมานมัสการเช่นกัน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเจดีย์ได้รับความเสียหายเนื่องจากแผ่นดินไหวหลายครั้ง รวมทั้งในปี ค.ศ. 1912, ค.ศ. 1917 และ ค.ศ. 1930 ยอดเจดีย์ก่อนปี ค.ศ. 1917 ที่พังลงมายังคงอยู่ในบริเวณจุดเดิม[ 1] งานบูรณะเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1951 แล้วเสร็จใน ค.ศ. 1954[ 7] เจดีย์ใหม่มีความสูง 114 เมตร (374 ฟุต) ความสูงโดยรวมถึงยอดฉัตรคือ 125 เมตร (410 ฟุต)[ 6]
ในประเทศไทย มีเจดีย์จำลองของเจดีย์ชเวมอดออยู่ที่วัดชมภูเวก อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งอยู่ในชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญ[ 8] และที่วัดปรมัยยิกาวาส บนเกาะเกร็ด ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญเช่นเดียวกัน[ 9]
คลังภาพ
อ้างอิง
↑ 1.0 1.1 Zaw Winn (28 April 2008). "Shwemawdaw Pagoda welcomes in the New Year" . Myanmar Times . เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 5 March 2012 .
↑ Zaw Winn 2008
↑ 3.0 3.1 3.2 De Thabrew 2014: 20
↑ Pan Hla 2005: 194
↑ White 1923: 183
↑ 6.0 6.1 Chihara 1996: 253
↑ Oriental Culture: Shwemawdaw Pagoda
↑ ร่วมรากเดียวกัน , รายการทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2556
↑ หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี . กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2547, หน้า 38
บรรณานุกรม
Chihara, Daigoro (1996). Jan Fontein (บ.ก.). "Hindu–Buddhist Architecture". Studies in Asian Art and Archaeology . Leiden: E.J. Brill. XIX . ISBN 90-04-10512-3 .
De Thabrew, W. Vivian (2014). Buddhist Monuments and Temples of Myanmar and Thailand . ISBN 978-1-4918-9621-1 .
Pan Hla, Nai (2005) [1968]. Razadarit Ayedawbon (ภาษาพม่า) (8th printing ed.). Yangon: Armanthit Sarpay.
Zaw Winn (28 April 2008). "Shwemawdaw Pagoda welcomes in the New Year" . Myanmar Times . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 8 November 2011. สืบค้นเมื่อ 5 March 2012 .
A.J. Page, บ.ก. (1917). "Pegu District" . Burma Gazetteer . Rangoon: Government Printing Burma. A .
White, Herbert Thirkell (1923). Burma: Provincial Geographies of India . Cambridge University Press.
"Shwemawdaw Pagoda" . Oriental Culture. สืบค้นเมื่อ 28 July 2024 .
แหล่งข้อมูลอื่น