ฮานะ & อลิซ ปริศนาโรงเรียนหลอน (ญี่ปุ่น: 花とアリス殺人事件; อังกฤษ: The Case of Hana & Alice) คือภาพยนตร์อนิเมะขนาดยาว กำกับและเขียนบทโดยชุนจิ อิวะอิ เล่าเรื่องราวชีวิตของฮะนะและอลิส นักเรียนมัธยมที่พยายามสืบหาความจริงเกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการฆาตกรรมในโรงเรียนที่ตนเรียนอยู่ โดยเรื่องราวนี้เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง สองหัวใจหนึ่งความทรงจำ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2547 ของอิวะอิ ที่มีตัวละครหลักเป็นฮะนะกับอลิสเช่นกัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558[1] และได้รับการดัดแปลงเป็นมังงะโดยดาวแมน เซย์แมน เผยแพร่บนนิตยสารออนไลน์ "ยะวะระกะสปิริตส์" เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน[2]
เนื้อเรื่องย่อ
ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องของเทะสึโกะ อะริซุงะวะ หรือ อลิส (ยู อะโอะอิ) นักเรียนมัธยมต้นที่เพิ่งย้ายมาเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เธอได้รับข่าวว่าเคยเกิดเหตุฆาตกรรมในห้องเรียนที่เธอเรียนอยู่เมื่อ 1 ปีก่อน ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เธอจึงออกสืบหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว จนพบว่าคนคนเดียวที่น่าจะรู้ความจริงคือฮะนะ อะระอิ (แอนน์ ซุซุกิ) เด็กสาวที่เคยเรียนในห้องเรียนเดียวกัน แต่มีเหตุที่ทำให้เธอเอาแต่เก็บตัวอยู่ในบ้าน อลิสทำความรู้จักกับฮะนะและร่วมกันออกตามหาความจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็นมิตรภาพของทั้งคู่
ผู้พากย์เสียง
ผู้พากย์เสียงตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนใหญ่เคยแสดงในภาพยนตร์เรื่อง สองหัวใจหนึ่งความทรงจำ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่องนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นยู อะโอะอิ และแอนน์ ซุซุกิ ที่เคยรับบทเป็นอลิสและฮะนะ รวมถึงโชโกะ ไอดะ เซ ฮิระอิซุมิ ทะเอะ คิมุระ และโทะโมะฮิโระ คะกุ[3] โดยนักแสดงเหล่านี้นอกจากจะมารับหน้าที่พากย์เสียงตัวละครแล้ว อิวะอิยังให้พวกเขาเป็นแบบในการร่างตัวละครที่พวกเขาพากย์เสียงในร่างแรก ก่อนที่จะนำไปสร้างเป็นตัวละครแอนิเมชันฉบับสมบูรณ์ด้วย
รายชื่อผู้พากย์เสียงตัวละครสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้มีดังต่อไปนี้
การผลิต
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานภาพยนตร์อนิเมะขนาดยาวเรื่องแรกของชุนจิ อิวะอิ โดยอิวะอิทำหน้าที่กำกับ เขียนบท และแต่งเพลงประกอบด้วยตัวเอง
บทภาพยนตร์
อิวะอิเริ่มเขียนบทร่างแรกของภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงที่เขาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องสองหัวใจหนึ่งความทรงจำ โดยร่างนี้เขียนเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นปีที่ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกฉาย และใช้เวลาในการพัฒนาบท 10 ปี[4] อิวะอิตั้งใจให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนแนวคิดที่ว่า ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายดาย แต่ถึงจะไม่ใช่เรื่องง่ายเราก็ไม่จำเป็นจะต้องติดค้างอยู่กับความยากลำบากเหล่านั้น จากแนวคิดนี้ อิวะอิจึงกำหนดให้ตัวละครของเรื่องไม่หวั่นไหวต่อปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเพียงใดก็ตาม[5]
การสร้างตัวละครและการถ่ายทำ
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดยใช้เทคนิคโรโตสโคป ที่เริ่มต้นด้วยการสร้างฟุตเทจต้นแบบจากการนำนักแสดงที่เป็นทีมพากย์มาถ่ายทำฉากต่าง ๆ เก็บเอาไว้ (จิงิ คัมเบะ ผู้กำกับภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำหน้าที่กำกับภาพยนตร์ในฟุตเทจนี้) แล้วจึงนำฟุตเทจดังกล่าวเข้ากระบวนการโรโตสโคป โดยให้ทีมแอนิเมเตอร์วาดตัวละครด้วยการเฉดเซลและลงสีฉากหลังทับลงไปในฟุตเทจแบบเฟรมต่อเฟรม โดยเหตุผลที่อิวะอิเลือกใช้เทคนิคโรโตสโคปกับอนิเมะเรื่องนี้เป็นเพราะว่า เทคนิคนี้จะทำให้ตัวละครเคลื่อนไหวอย่างสมจริงและมีความเป็นมนุษย์มากกว่าเทคนิคอื่น ๆ[5]
นอกจากนั้น ในขั้นตอนการออกแบบตัวละคร อิวะอิยังได้ซะโตะโกะ โมะริกะวะ นักออกแบบตัวละครอนิเมะที่เคยร่วมงานกับสตูดิโอจิบลิในภาพยนตร์เรื่อง เจ้าแมวยอดนักสืบ (พ.ศ. 2545) มาช่วยทำหน้าที่ออกแบบด้วย[6]
ดนตรีและเพลงประกอบภาพยนตร์
สำหรับดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ อิวะอิได้นำดนตรีส่วนหนึ่งที่เคยใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องสองหัวใจหนึ่งความทรงจำกลับมาเรียบเรียงใหม่ และนำกลับมาใช้ร่วมกับดนตรีที่แต่งขึ้นใหม่อีก 20 เพลง นอกจากนั้น อิวะอิ ร่วมกับคุวะบะระ มะโกะ และชีนะ โคโตะเนะ ซึ่งรวมตัวกันในนามของวง "Hec & Pascal" ได้สร้างเพลง "fish in the pool" ขึ้นมาเป็นเพลงประจำภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย โดยอิวะอิเป็นผู้แต่งเนื้อร้อง มะโกะเป็นผู้เรียบเรียง และโคะโตะเนะเป็นผู้ขับร้อง[7][8]
การเข้าฉาย
ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 และถูกนำไปฉายในประเทศเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ประเทศนอร์เวย์เมื่อเดือนตุลาคม 2558 ประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 และประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 โดยการฉายในประเทศไทย เป็นการฉายแบบจำกัดโรงที่โรงภาพยนตร์เฮาส์ โรงภาพยนตร์ลิโด้ และโรงภาพยนตร์ควอเทียร์ซีเนอาร์ต[9]
นอกจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับเลือกให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์รายการต่าง ๆ ได้แก่ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแฟนเทเซีย (ประเทศแคนาดา) เทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชันบรัสเซลส์ (ประเทศเบลเยียม) เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮ่องกง (เขตปกครองพิเศษฮ่องกง) เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น (ประเทศไอร์แลนด์) เทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชันญี่ปุ่น (ประเทศเอสโตเนีย) เทศกาลภาพยนตร์ฟิวเจอร์ (ประเทศอิตาลี) เทศกาลสื่อศิลปะญี่ปุ่น (ประเทศญี่ปุ่น) เป็นต้น[10]
รางวัล
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น