อิสเซ ซางาวะ

อิสเซ ซางาวะ
Issei Sagawa
เกิด26 เมษายน 2492
เมืองโคเบะ จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น
เสียชีวิต24 พฤศจิกายน 2565 (73 ปี)
โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อาชีพนักเขียน นักแสดง นักวิจารณ์ นักพูด
ส่วนสูง1.45 m (4 ft 9 in)
สถานะทางคดีปล่อยตัวแล้ว
ข้อหาฆ่าผู้อื่น บริโภคเนื้อมนุษย์
บทลงโทษไม่มี
(ให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย โดยควบคุมไว้ในโรงพยาบาลคนโรคจิต เพราะวินิจฉัยว่า วิกลจริตถึงขนาดที่ไม่สามารถสู้คดีได้)
วันที่11 มิถุนายน ค.ศ. 1981
สถานที่ปารีส, ฝรั่งเศส
อาวุธปืนล่าสัตว์

อิสเซ ซางาวะ (ญี่ปุ่น: 佐川 一政โรมาจิSagawa Issei; 26 เมษายน 2492 — )[1] เป็นชายชาวญี่ปุ่นซึ่งฆ่าและกินเนื้อของเรเน ฮาร์ตเวลต์ (Renée Hartevelt) เพื่อนหญิงชาวฮอลันดา ในปี 2524 ครั้นได้รับการปล่อยตัวแล้ว ก็ได้มีชื่อเสียงอยู่ในประเทศแม่โดยอาศัยความที่สาธารณชนสนใจในการกระทำความผิดของเขาเป็นทางทำมาหาเลี้ยงชีพ

ต้นชีวิต

ซางาวะเกิดในครอบครัวมั่งมี ณ เมืองโคเบะ จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น ครอบครัวส่งเขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยปารีส

การฆ่า

วันที่ 11 มิถุนายน 2524 ซางาวะขณะอายุได้สามสิบสองปี เป็นนักศึกษาคณะวรรณกรรมเปรียบเทียบ วิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne Academy) กรุงปารีส และเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับเรเน ฮาร์ตเวลต์ ผู้ตาย ได้เชิญผู้ตายมารับประทานอาหารเย็นที่ห้องชุดของเขาในซอยเอร์ล็องแฌร์ 10 (Rue Erlanger 10) อ้างว่าให้มาพูดคุยกันเรื่องแปลบทกลอนภาษาเยอรมันที่จะใช้ในห้องเรียน เมื่อผู้ตายมาถึง ซางาวะให้เธออ่านบทกลอนนั้นให้ฟัง แล้วใช้ปืนไรเฟิลยิงเข้าที่สันคอเธอขณะที่เธอนั่งหันหลังให้เขาจนเธอถึงแก่ความตาย[2] ภายหลัง ซางาวะเบิกความว่า เขายิงเธอแล้วก็ตกใจเองจนถึงแก่สิ้นสติล้มลง แต่เมื่อตื่นขึ้นก็เข้าใจว่า ตนกำลังดำเนินการตามความอยากรับประทานเนื้อของผู้ตายอยู่ จากนั้น เขาร่วมประเวณีกับศพผู้ตายจนสำเร็จความใคร่ แล้วใช้ฟันขบเคี้ยวตะโพกศพผู้ตายหมายจะบริโภคเนื้อผู้ตายสด ๆ แต่เมื่อพบว่าทำไม่ได้ จึงออกไปซื้อมีดแล่เนื้อมาแล่ศพผู้ตายออกรับประทานดิบ ๆ โดยเริ่มจากส่วนตะโพกและน่องก่อน เขาใช้เวลาสองวันรับประทานอวัยวะหลาย ๆ ส่วนของศพ โดยพรรณนาในภายหลังว่า เนื้อมนุษย์เป็นดังเนื้อปลาทูนาที่ "นุ่ม" และ "ไม่เหม็นคาว" ครั้นแล้ว ก็ชำแหละศพที่เหลือเป็นชิ้น ๆ เตรียมนำไปทิ้งในทะเลสาบไกล ๆ แต่มีผู้มาพบเห็นเข้าคาหนังคาเขาและร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานจึงเข้าจับกุมเขาและยึดชิ้นส่วนร่างกายของผู้ตายที่แช่อยู่ในตู้เย็นเป็นของกลาง[2]

ซางาวะว่า ตนเองเป็น "ผู้ชายอ่อนแอ รูปทราม และร่างเล็ก" (เขาสูงหนึ่งร้อยห้าสิบสองเซนติเมตร) และที่เลือกผู้ตายเป็นเพราะผู้ตายมีสุขภาพดีทั้งมีรูปโฉมโนมพรรณน่ารัก อันเป็นคุณลักษณะที่ซะงะวะเห็นว่าตนเองไม่มี เขาจะได้ "ดูดซับพลังงานของเธอ"[3][4]

เขาถูกขังไว้สองปีจึงถูกไต่สวน ครอบครัวของเขาจัดทนายความชั้นหนึ่งมาว่าความให้ และตุลาการฌอง-ลุย บรูฌวีแยร์ (Jean-Louis Bruguière) พิจารณาแล้วเห็นว่า เขาวิกลจริตถึงขนาดที่ไม่สามารถสู้คดีได้ จึงสั่งให้ควบคุมตัวเขาไว้บำบัดในโรงพยาบาลโรคจิตโดยไม่มีกำหนด[2] ระหว่างนั้น อินุฮิโกะ โยะโมะตะ นักเขียนชาวญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมเขาและสัมภาษณ์เรื่องการฆ่าเพื่อนเขียนเป็นหนังสือชื่อ อินเดอะฟ็อก (In the Fog; "ในฝรั่งเศส") ออกเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่น [2] ต่อมา ประเทศฝรั่งเศสส่งเขากลับไปบำบัดต่อที่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอน โดยโรงพยาบาลมัตสึซาวะ (Matsuzawa Hospital) รับควบคุมเขาต่อ บรรดานักจิตวิทยาตรวจแล้วเห็นพ้องต้องกันว่า เขาไม่ได้วิกลจริต แต่มีกมลสันดานชั่ว[2] อย่างไรก็ดี ฝ่ายบ้านเมืองญี่ปุ่นไม่สามารถดำเนินคดีต่อเขาได้ เพราะศาลฝรั่งเศสบอกปัดไม่ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ โดยให้เหตุผลว่า คดีสิ้นสุดลงแล้วในประเทศฝรั่งเศส เพราะฉะนั้น ซางาวะจึงแจ้งออกจากโรงพยาบาลเองเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2529 และได้รับอิสรภาพนับแต่นั้น[2] มีผู้กังขาและวิพากษ์วิจารณ์การปล่อยเขาเป็นอันมาก[2]

ชีวิตหลังได้รับการปล่อยตัว

มีหนังสือหลายเล่มเขียนถึงฆาตกรรมที่เขาได้กระทำ กับทั้งมีภาพยนตร์จำนวนหนึ่งได้รับบันดาลใจจากเรื่องราวของเขาด้วย เป็นต้นว่า ภาพยนตร์สั้นเรื่อง อดอเรชัน (Adoration) ซึ่งโอลิเวียร์ สโมลเดอส์ (Olivier Smolders) กำกับและเผยแพร่ในปี 2529[5] ภาพยนตร์สารคดีชื่อ แคนนิบัลซูเปอร์สตาร์ (Cannibal Superstar) ความยาวสี่สิบเจ็ดนาที สถานีโทรทัศน์เวียซัตเอกซ์พลอเรอร์ ผลิตเผยแพร่ในปี 2529 และภาพยนตร์สารคดีชื่อ วีบีเอสมีตส์: อิสเซซะงะวะ (VBS Meets: Issei Sagawa) ซึ่งวีบีเอสทีวีผลิตเผยแพร่ในปี 2554[6]

ฝ่ายซะงะวะเองได้แสดงเป็นตัวละครที่เรียก "ถ้ำมองวิปริต" (sadosexual voyeur) ในภาพยนตร์แนวฉวยโอกาสชื่อ อุวะกิซุมะชิโจะกุเซะเมะ (浮気妻 恥辱責め) แปลว่า "เมียไม่ซื่อต้องทรมานให้อาย" ซึ่งฮิซะยะซุ ซะโต (Hisayasu Satō) กำกับเผยแพร่ในปี 2535[7] ซะงะวะยังได้เขียนหนังสือชื่อ โชเน็งเอ (Shōnen A) แปลว่า "เด็กชายเอ" เพื่อวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เซโตะ ซะกะกิบะระ (Seito Sakakibara) เด็กชายวัยสิบสี่ปีซึ่งเอกสารราชการเรียกโดยใช้นามสมมุติว่า "เด็กชายเอ" ฆ่าตัดศีรษะและทำร้ายเด็กคนอื่นหลายคนต่อเนื่องกันในเมืองโคเบะเมื่อปี 2540[8] เขามีชื่อเสียงพอสมควร มีนักพูดนักวิจารณ์เข้าเยี่ยมและสนทนาด้วยเป็นนิจ[9] เขายังเขียนบทความวิจารณ์ร้านอาหารลงนิตยสาร สปา (Spa) ด้วย[10]

ซะงะวะเสียชีวิตจากอาการปอดบวมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงพยาบาลในกรุงโตเกียว ขณะอายุได้ 73 ปี

อ้างอิง

  1. "Issei Sagawa: Cannibal Killer". Learning History. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-01. สืบค้นเมื่อ September 30, 2018.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Morris, Steven (September 20, 2007). "Issei Sagawa: Celebrity Cannibal". New Criminologist, the On-line Journal of Criminology. New Criminologist. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-14. สืบค้นเมื่อ July 26, 2009.
  3. Ramsland, Katherine. "The Cannibal Celebrity: Issei Sagawa". TruTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-04-08. สืบค้นเมื่อ September 26, 2009.
  4. Luzajic, Lorette C. "The Sweetest Taboo: An Anthropology of Anthropophagy". Gremolata. สืบค้นเมื่อ September 26, 2009.
  5. Knoll, Paul (April 25, 2007). "Bard of Brooklyn". Metro Times. สืบค้นเมื่อ September 26, 2009.
  6. "VBS Meets: Issei Sagawa" (ภาษาอังกฤษ). VICE Staff. 2011.
  7. "Issei Sagawa". IMDb. สืบค้นเมื่อ September 26, 2009.
  8. Issei Sagawa at Goodreads
  9. Kushner, Barak. (1997). "Cannibalizing Japanese Media: The Case of Issei Sagawa". Journal of Popular Culture, vol. 31 (3), p. 56
  10. Henshall, Kenneth G. Dimensions of Japanese society: gender, margins and mainstream. rev.ed. Palgrave Macmillan, London 1999 p.207

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!