หมู่พเฏศวรมนเทียร (อังกฤษ: Bateshwar temples; IAST: baṭeśvar) เป็นกลุ่มมนเทียรเกือบ 200 แห่งที่สร้างจากหินทรายในตอนเหนือของรัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมโบสถ์พราหมณ์แบบนคร สมัยหลังคุปตะ-คุรชร-ปรติหารตอนต้น[1][2] ตั้งอยู่ห่างไป 35 กิโลเมตร (22 ไมล์) ทางเหนือของนครควาลิยัร และ 30 กิโลเมตร (19 ไมล์) ทางตะวันออกของเมืองใกล้สุด โมเรนา หมู่มนเทียรเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในเพื้นที่ขนาด 25 เอเคอร์ (10 เฮกตาร์) และมีทั้งมนเทียรพระศิวะ พระวิษณุ ศักติเทวี ไปจนถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หมู่มนเทียรเหล่านี้ตั้งอยู่บนชายฝั่งของแม่น้ำจัมพัล บนเนินเขาใกล้กับหมู่บ้านปฑาวลี (Padavali) มนเทียรเหล่านี้สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 8-10[1] และน่าจะตั้งชื่อตามภูเตศวรมนเทียร ซึ่งเป็นมนเทียรพระศิวะและใหญ่ที่สุดในหมู่มนเทียร มนเทียรส่วนใหญ่พังทลายลงในศตวรรษที่ 13 โดยเป็นที่เข้าใจว่าอาจะเกิดจากแผ่นดินไหว[1]
หลายมนเทียรในปัจจุบันได้รับการบูรณะโดยกรมสำรวจโบราณคดีอินเดียในปี 2005
น้กประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย ไมเคิล ไมชเตอร์ (Michael Meister) กำหนดอายุของมนเทียรที่เก่าที่สุด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ควาลิยัร ว่าสร้างขึ้นในสมัย ค.ศ. 750-800[3] และระบุว่าความโดดเด่นสำคัญของหมู่มนเทียรนี้คือแนวคิดการก่อสร้างศาลแบบ มณฑปิกา ("Mandapika shrine") ในอินเดียกลาง ซึ่งเป็นการลดทอนแนวคิดการออกแบบมนเทียรกลับสู่แนวคิดพื้นฐานที่เรียบง่าย การออกแบบนี้ปรากฏบันทึกเป็นภาษาสันสกฤตเรียกว่า ศิลามณฑปิกา (sila mandapika; "มณฑปหิน")
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Subramanian, T.S. (16–29 Jan 2010). "Restored Glory". Frontline, Volume 27 – Issue 02. สืบค้นเมื่อ 17 January 2010.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Madhya Pradesh (India)-Directorate of Archaeology & Museums (1989). Puratan, Volumes 6–7. Dept. of Archaeology and Museums, Madhya Pradesh. p. 113.
- ↑ Michael W. Meister (1976), Construction and Conception: Maṇḍapikā Shrines of Central India, East and West, Vol. 26, No. 3/4 (September - December 1976), page 415, Figure 21 caption, context: 409-418