หน้าต่างกุหลาบ (อังกฤษ: rose window) โดยทั่วไปหมายถึงหน้าต่างทรงกลมซึ่งมักจะใช้ในการสร้างคริสต์ศาสนสถานโดยเฉพาะที่เป็นสถาปัตยกรรมกอทิก คำว่า “rose window” เริ่มใช้กันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 และ พจนานุกรมอ๊อกซฟอร์ดระบุว่า rose ในที่นี้หมายถึง ดอกกุหลาบ[1]
คำว่า “หน้าต่างกุหลาบ” มักจะหมายถึงหน้าต่างที่แบ่งเป็นซี่ ๆ ด้วยหิน กระจายออกไปจากเพลาศูนย์กลาง คำว่า “หน้าต่างกลม” มักจะใช้เฉพาะหน้าต่างกลมที่เป็นแบบที่ซับซ้อนซึ่งดูคล้ายกลีบกุหลาบหรือกลีบดาวเรืองซ้อน หน้าต่างกลมที่ไม่มีซี่ที่นิยมทำกันในโบสถ์ในประเทศอิตาลีเรียกว่า “หน้าต่างตา” (Ocular window หรือ oculus)
“หน้าต่างกลม” เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบกอทิกซึ่งจะเห็นได้จากในมหาวิหารทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส แต่แท้ที่จริงแล้วการสร้างหน้าต่างกลมเริ่มตั้งแต่ยุคกลาง การสร้างหน้าต่างกลมหันกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในสมัยสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิกเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 [ต้องการอ้างอิง]
ประวัติ
ที่มาของหน้าต่างกลมอาจจะพบในสถาปัตยกรรมโรมันที่เรียกว่า “อ็อคคิวลัส” (oculus) หรือ “ตา” ซึ่งเป็นช่องกลมกว้างบนเพดานให้แสงและอากาศส่องเข้ามาภายในสิ่งก่อสร้างได้ “อ็อคคิวลัส” ที่สำคัญที่สุดคือ อ็อคคิวลัสที่เป็นช่องเปิดกลมบนหลังคาของตึกแพนเธียน (Pantheon) ที่ โรม
ในศิลปะสมัยศาสนาคริสต์ยุคแรก และสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์มีตัวอย่างของการก่อสร้างลักษณะนี้ ซึ่งมักจะตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของโดมเช่นที่โบสถ์ Holy Sepulchre ที่กรุงเยรูซาเลม หรือบนจั่วตื้นแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิก เช่นที่โบสถ์นักบุญแอกเนสนอกกำแพง (Saint Agnes Outside the Walls) หรือที่มหาวิหารตอร์เชลโล (Torcello Cathedral) ที่ เวนิส[2]
หน้าต่างที่สร้างเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 8 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่เมืองเวนิสนั้นเจาะจากหินแผ่นเดียว หรือหน้าต่างครึ่งวงกลมที่แบ่งเป็นช่อง ๆ ที่ทำในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และหน้าต่างที่ทำต่อมาภายหลังที่ประเทศกรีซยังพอมีหลงเหลือให้ดูอยู่บ้าง[3]
หน้าต่างกลมเล็ก เช่น ที่โบสถ์นักบุญแอกเนสนอกกำแพงและมหาวิหารตอร์เชลโล และหน้าต่างที่ใช้ตกแต่งด้วยกระจกด้านภายในหน้าต่างกลมที่เว้าลึกเข้าไปในผนังยังคงทำกันต่อมาในการสร้างโบสถ์ที่ประเทศอิตาลีจนมารุ่งเรืองเอาเมื่อสมัยโรมาเนสก์
อีกประการหนึ่งที่ทำให้การสร้างหน้าต่างกลมมีความนิยมขึ้นในทวีปยุโรป ตามการสันนิษฐานโดยนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมนีอ็อตโต ฟอน ซิมสัน (Otto von Simson) ผู้กล่าวว่าหน้าต่างกลมมีรากฐานมาจากหน้าต่างรูปแปดเหลี่ยมที่ตกแต่งผนังภายนอกของปราสาทอุมเมยัด (Umayyad palace) ที่ ประเทศจอร์แดน ระหว่างปี ค.ศ. 740 ถึงปี ค.ศ. 750 ตามทฤษฎีแล้วผู้ที่นำการสร้างหน้าต่างลักษณะนี้เข้ามาในทวีปยุโรป คือผู้ที่กลับมาจากสงครามครูเสดโดยนำมาใช้ในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถาน[ต้องการอ้างอิง]
อ้างอิง
- ↑ Oxford English Dictionary, s.v. "rose-window" ([f. ROSE n. + WINDOW n.]).
- ↑ Bannister Fletcher, History of Architecture on the Comparative Method (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมโดยการเปรียบเทียบ)
- ↑ Bannister Fletcher
ดูเพิ่ม
สมุดภาพ
-
มหาวิหารชาทร์ (Chartres Cathedral) ประเทศฝรั่งเศส
-
มหาวิหารล็อง (Laon) ประเทศฝรั่งเศส
-
โบสถ์ออสคาร์เฟรดิคส (Oscar Frediks Church)
ประเทศสวีเดน
-
โบสถ์ซานตามาเรียเดลปี (Santa Maria del Pi)
ประเทศสเปน
-
วังประธานาธิบดี ที่ลิมา (Lima)
ประเทศเปรู
-
แซ็งต์ชาแปล (Sainte-Chapelle) ประเทศฝรั่งเศส แบบกอธิควิจิตร เป็นเรื่องไฟล้างโลก (Apocalypse)
-
มหาวิหารลิงคอล์น อังกฤษ ที่เรียกว่า “ตาบิชอป” (Bishop's Eye)
-
โบสถ์เกเดชนิส (Gedaechtniskirche) เมืองสเปเยอร์ (Speyer)
ประเทศเยอรมนี
-
หน้าต่างบริเวณนักบวชที่โบสถ์ฮิมเมลฟาร์ท (Himmelsfahrskirche) เมืองเดรสเดิน (Dresden) ประเทศเยอรมนี
-
หน้าต่างลวดลายดอกไม้เรขาคณิตแบบมัวร์ ที่มายอร์กา (Mallorca) ประเทศสเปน
-
หน้าต่างวาราทาห์ (Waratah window) โบสถ์นักบุญบีด (St Bede's)
ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยอัลเฟรด แฮนเดล (Alfred Handel)
-
โบสถ์เซ็นต์นิโคลัส เมืองริชมอนด์ (Richmond) อังกฤษ ออกแบบโดย
สถาปนิกจี. สก็อตต์ (G. Scott) ประกอบโดยวิลเลียม เวลส์ (William Wailes)
-
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น