หนูหิน (ลาว: ຂະຍຸ; ข่าหนู, ขะหยุ) เป็นสัตว์ฟันแทะชนิดหนึ่ง ที่เพิ่งได้รับการอนุกรมวิธานและค้นพบเจอเมื่อปี ค.ศ. 2005
หนูหินมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Laonastes aenigmamus (เป็นภาษาละติน คำแรกมีความหมายว่า "ผู้อาศัยอยู่ในหิน" และคำหลังหมายถึง "หนูประหลาด" [2]) มีความยาวตลอดทั้งตัวประมาณ 40 เซนติเมตร มีรูปร่างคล้ายหนู มีขนปกคลุมลำตัวสีเทาเข้ม แต่มีหางเป็นพวงเหมือนกระรอก และเท้าเป็นพังผืดคล้ายอุ้งเท้าของเป็ด ส่วนเท้าหลังแผ่ออกกว้างเป็นรูปตัววี ทำมุมกับลำตัว ทำให้เดินอุ้ยอ้ายเชื่องช้าและไม่สามารถป่ายปีนได้ มีหนวดยาวและนัยน์ตากลมมน ออกหากินในเวลากลางคืน และไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ปัจจุบันพบในเขตภูเขาหินปูนแขวงคำม่วน ประเทศลาวเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และถือเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Laonastes[3]
หนูหินจัดได้ว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตชนิดหนึ่ง ที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในวงศ์เดียวกันนั้นได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้วตั้งแต่เมื่อ 11 ล้านปีก่อน โดยมีหลักฐานเป็นซากดึกดำบรรพ์พบในมณฑลซานตง ทางตอนใต้ของประเทศจีน
หนูหินนั้นเป็นสัตว์ที่ชาวพื้นเมืองรับประทานเป็นอาหารโดยปกติอยู่แล้ว แต่ว่าเพิ่งจะมาเป็นรู้จักของชาวโลกในกลางปี ค.ศ. 2005 จากการบันทึกเทปวิดีโอของ เดวิด เรดฟิลด์ (David Redfield) นักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกจากมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต และ อุทัย ตรีสุคนธ์ นักดูนกชาวไทยที่ได้เข้าไปสำรวจสิ่งมีชีวิตที่นั่น แต่ว่าก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 2004 ได้มีนักอนุรักษ์ธรรมชาติและนักสัตววิทยาชาวอเมริกันผู้หนึ่งได้พบกับหนูหินมาแล้ว จากการที่เป็นอาหารย่างไม้ขายในตลาดสดของแขวงคำม่วน ซึ่งเขาเชื่อว่าต้องเป็นสัตว์ชนิดใหม่อย่างแน่นอน[4]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Laonastes aenigmamus ที่วิกิสปีชีส์