สุนทรวัน (เบงกอล : সুন্দরবন ; "ป่างาม")[ 1] [ 2] เป็นพื้นที่ป่าชายเลน ในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่เกิดจากการบรรจบกันระหว่างแม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร และแม่น้ำเมฆนา ในอ่าวเบงกอล มีอาณาเขตเริ่มตั้งแต่แม่น้ำหุคลี ในรัฐเบงกอลตะวันตก ของอินเดีย ไปจนจรดแม่น้ำพเลศวร ในภาคขุลนา ของบังกลาเทศ ประกอบด้วยป่าชายเลนทึบ ป่าชายเลนโปร่ง ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร ที่ลุ่มราบน้ำขึ้นถึง และที่ว่างเปล่าทุรกันดาร และมีธารน้ำและร่องน้ำขึ้นลงตัดผ่านหลายสาย พื้นที่คุ้มครองสี่แห่งในสุนทรวันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ของยูเนสโก ได้แก่ อุทยานแห่งชาติสุนทรวัน , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสุนทรวันตะวันตก , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสุนทรวันใต้ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสุนทรวันตะวันออก [ 3]
สุนทรวันครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร (3,900 ตารางไมล์) โดยผืนป่าในภาคขุลนาครอบคลุมพื้นที่ 6,017 ตารางกิโลเมตร (2,323 ตารางไมล์) และในรัฐเบงกอลตะวันตกครอบคลุมพื้นที่ 4,260 ตารางกิโลเมตร (1,640 ตารางไมล์) ในเขต 24 ปรคณาใต้ และเขต 24 ปรคณาเหนือ [ 4] ชนิดพรรณไม้ที่พบมากคือ หงอนไก่ใบเล็ก (Heritiera fomes ) และตาตุ่มทะเล (Excoecaria agallocha ) ป่าชายเลนแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของพรรณสัตว์ ป่า 453 ชนิด ซึ่งรวมถึงนก 290 ชนิด ปลา 120 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 42 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 35 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 8 ชนิด[ 5]
แม้จะมีคำสั่งห้ามฆ่าหรือจับสัตว์ป่าทั้งหมดนอกเหนือจากปลาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิด แต่ปรากฏรูปแบบที่สม่ำเสมอของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ลดลงหรือการสูญเสียชนิดพันธุ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และปรากฏว่าคุณภาพของระบบนิเวศสุนทรวันกำลังเสื่อมโทรมลง[ 6] [ 7] กรมป่าไม้มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารและจัดการอุทยานแห่งชาติสุนทรวันในรัฐเบงกอลตะวันตก ส่วนในบังกลาเทศมีการจัดตั้งแขวงป่าไม้ขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2536 เพื่ออนุรักษ์ป่า โดยมีหัวหน้าอนุรักษ์ป่าไม้ประจำการที่นั่นนับแต่นั้น แม้รัฐบาลของสองประเทศจะมีความมุ่งมั่นในการสงวนรักษาป่า แต่สุนทรวันก็ยังตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามด้วยสาเหตุทั้งจากธรรมชาติและจากมนุษย์ ใน พ.ศ. 2550 การขึ้นฝั่งของไซโคลนซิดร์ ที่บังกลาเทศสร้างความเสียหายแก่พื้นที่ร้อยละ 40 ของสุนทรวัน ป่ายังประสบภาวะเค็ม เพิ่มขึ้นเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและปริมาณน้ำจืดที่ลดลง ตามรายงานของยูเนสโกใน พ.ศ. 2559 คาดกันว่าโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินรามปาล ซึ่งมีการเสนอให้สร้างขึ้นในตำบลรามปาล อำเภอพาเครหาฏ ภาคขุลนา ห่างจากสุนทรวันไปทางทิศเหนือ 14 กิโลเมตร (8.7 ไมล์) จะสร้างความเสียหายเพิ่มเติมแก่ป่าชายเลนที่เป็นเอกลักษณ์ผืนนี้[ 8]
แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของสุนทรวัน
อ้างอิง
↑ Biswas, S. (2000). "সুন্দর" . Samsad Bengali-English dictionary . Calcutta: Sahitya Samsad. p. 1017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2019-09-18. สืบค้นเมื่อ 2019-07-10 .
↑ Biswas, S. (2000). "বন" . Samsad Bengali-English dictionary . Calcutta: Sahitya Samsad. p. 717. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2019-09-18. สืบค้นเมื่อ 2019-07-10 .
↑ Giri, C.; Pengra, B.; Zhu, Z.; Singh, A.; Tieszen, L. L. (2007). "Monitoring mangrove forest dynamics of the Sundarbans in Bangladesh and India using multi-temporal satellite data from 1973 to 2000". Estuarine, Coastal and Shelf Science . 73 (1−2): 91−100. Bibcode :2007ECSS...73...91G . doi :10.1016/j.ecss.2006.12.019 .
↑ Pani, D. R.; Sarangi, S. K.; Subudhi, H. N.; Misra, R. C.; Bhandari, D. C. (2013). "Exploration, evaluation and conservation of salt tolerant rice genetic resources from Sundarbans region of West Bengal" (PDF) . Journal of the Indian Society of Coastal Agricultural Research . 30 (1): 45–53.
↑ Iftekhar, M. S.; Islam, M. R. (2004). "Managing mangroves in Bangladesh: A strategy analysis" (PDF) . Journal of Coastal Conservation . 10 (1): 139–146. doi :10.1652/1400-0350(2004)010[0139:MMIBAS]2.0.CO;2 .
↑ The Hindu "Climate change impact: Sunderbans steadily losing its famed mangroves"
↑ Manna, S.; Chaudhuri, K.; Bhattacharyya, S.; Bhattacharyya, M. (2010). "Dynamics of Sundarban estuarine ecosystem: Eutrophication induced threat to mangroves" . Saline Systems . 6 : 8. doi :10.1186/1746-1448-6-8 . PMC 2928246 . PMID 20699005 .
↑ Iftekhar Mahmud (24 September 2016), "Unesco calls for shelving Rampal project" , Prothom Alo , สืบค้นเมื่อ 13 October 2016 [ลิงก์เสีย ]