สิทธิในสุขภาพ

ผู้ชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องสิทธิในสุขภาพในประเทศปากีสถาน

สิทธิในสุขภาพ (อังกฤษ: Right to health) เป็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (economic, social and cultural right) ว่าด้วยมาตรฐานสุขภาพขั้นต่ำสากลซึ่งทุกบุคคลพึงมีสิทธิใน แนวคิดเรื่องสิทธิในสุขภาพถูกระบุไว้ในความตกลงระหว่างประเทศหลายชุดเช่นในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities) การตีความและประยุกต์ใช้สิทธิในสุขภาพยังเป็นที่ถกเถียงกันเนื่องเพราะยังมีสิ่งที่จำเป็นต้องพิจารณาอยู่ เช่นการนิยามคำว่าสุขภาพ สิทธิขั้นต่ำใดที่รวมอยู่ในสิทธิในสุขภาพ และองค์กรหรือสถาบันใดที่มีความรับผิดชอบในการรับรองสิทธิในสุขภาพ

บทนิยาม

ธรรมนูญขององค์การอนามัยโลก (ค.ศ. 1946)

ผู้คนที่สุขภาพดีและมีความสุข

คำปรารภ (preamble) แห่งธรรมนูญขององค์การอนามัยโลกให้นิยามคำว่าสุขภาพอย่างกว้าง ๆ เป็น "สภาวะทางกาย จิต และสวัสดิภาพทางสังคมที่สมบูรณ์ มิใช่เพียงการไม่มีโรคและทุพพลภาพ"[1] ธรรมนูญให้นิยามคำว่าสิทธิในสุขภาพเป็น "การได้รับมาตรฐานสุขภาพที่ดีที่สุดที่เป็นได้" และระบุหลักการของสิทธินี้บางหลักการเช่นพัฒนาการของเด็กที่สุขภาพดี การเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์และประโยชน์ของมันอย่างยุติธรรม และมาตรการทางสังคมที่รัฐเป็นผู้จัดหาให้เพื่อรองรับสุขภาพที่เหมาะสม

แฟรงก์ พี. กราด ให้ความดีความชอบกับธรรมนูญขององค์การอนามัยโลกว่า "กล่าวอ้าง ... สาธารณสุขระหว่างประเทศร่วมสมัยทั้งหมด"[a] สถาปนาสิทธิในสุขภาพเป็น "สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะแยกออกจากบุคคลมิได้" ที่รัฐบาลไม่สามารถลดทอนได้แต่กลับกันจำเป็นต้องปกป้องและค้ำจุน[2] ธรรมนูญขององค์การอนามัยโลกเป็นการกำหนดอย่างเป็นทางการไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งสิทธิในสุขภาพเป็นครั้งแรก

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ค.ศ. 1948)

นักกิจกรรมชาวโรมาเนียต่อแถวเป็นรูปตัวเลข "25" โดยใช้ร่ม ซึ่งหมายถึงข้อ 25 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

ข้อ 25 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าวไว้ว่า "ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอต่อสุขภาพและสวัสดิการของตัวเองและของครอบครัวซึ่งรวมไปถึงอาหาร, เสื้อผ้า, ที่อยู่อาศัย และบริการทางแพทย์กับทางสังคมที่จำเป็น" ปฏิญญาสากลเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือพิการ และกล่าวถึงเป็นพิเศษเรื่องการให้การดูแลแก่ผู้ที่อยู่ในวัยเด็กและผู้ที่เป็นมารดา[3]

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นปฏิญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานฉบับแรก นาวี พิลเลย์ (Navi Pillay) ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเขียนไว้ว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน "แสดงถึงวิสัยทัศน์ที่ต้องถือสิทธิมนุษยชนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสิทธิพลเรือน, การเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม หรือวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แยกส่วนไม่ได้และต่างเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้และต่างพึ่งพากันและกัน"[4] ในทำนองเดียวกัน กรัสกินและคณะกล่าวว่าธรรมชาติที่เกี่ยวพันกันของสิทธิต่าง ๆ ในปฏิญญาสากลนั้นสร้าง "ความรับผิดชอบที่ขยายไปมากกว่าเพียงแค่การจัดหาบริการทางสุขภาพที่จำเป็นแต่ยังรวมไปถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพเองเช่นการศึกษา, ที่อยู่อาศัย และอาหารที่เหมาะสม และสภาพการทำงานที่พึงปรารถนา" และกล่าวเพิ่มอีกว่าการจัดหาสิ่งเหล่านี้ "เป็นสิทธิมนุษยชนในตัวมันเองและมีความจำเป็นเพื่อสุขภาพที่ดี"[5]

อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (ค.ศ. 1965)

สุขภาพถูกเขียนถึงอย่างสั้น ๆ ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination) ของสหประชาชาติซึ่งมีมติเห็นชอบในปี ค.ศ. 1965 และมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 1969 อนุสัญญานี้เรียกร้องให้รัฐห้ามปรามและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและรับประกันสิทธิในความเสมอภาคทางกฎหมายของทุกคนโดยไม่แยกแยะระหว่างเชื้อชาติ, สีผิว, สัญชาติ หรือชาติพันธุ์ และภายใต้บทบัญญัตินี้ก็มีการอ้างอิงถึงสิทธิในสาธารณสุข, บริการทางแพทย์, หลักประกันสังคม และบริการสังคม[6]

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966)

ภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม:
  ลงนามแล้วและให้สัตยาบันแล้ว
  ลงนามแล้วแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน
  ยังไม่ได้ลงนามและให้สัตยาบัน

สหประชาชาติให้นิยามสิทธิในสุขภาพในข้อ 12 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมปี ค.ศ. 1966 ไว้ว่า:[7]

ภาคีในกติกาฯ รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้ ขั้นตอนการดำเนินการโดยภาคีในกติกาฯ เพื่อบรรลุผลให้สิทธินี้เกิดขึ้นจริงอย่างสมบูรณ์จะต้องรวมถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับ:

การลดอัตราตายคลอดและภาวะการตายของทารก และเพื่อพัฒนาการของเด็กอย่างสุขภาพดี
การพัฒนาสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมและที่ทำงานในทุกด้าน
การป้องกัน รักษา และควบคุมโรคระบาด โรคประจำถิ่น โรคเหตุอาชีพ และโรคอื่น ๆ
การสร้างสภาวะที่รับประกันบริการทางแพทย์และการดุแลรักษาทั้งหมดแก่ทุกคนในเหตุการณ์ที่มีความเจ็บป่วย

ข้อวินิจฉัยทั่วไป หมายเลข 14 (ค.ศ. 2000)

ในปี ค.ศ. 2000 คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (CESCR) ได้แถลงข้อวินิจฉัยทั่วไปหมายเลข 14 ซึ่งกล่าวถึงประเด็นสำคัญอันเกิดขึ้นมาจากการนำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไปปฏิบัติใช้ ตามข้อที่ 12 และ "สิทธิในมาตรฐานสุขภาพที่สูงสุดเท่าที่เป็นไปได้"[8] ข้อวินิจฉัยทั่วไปใช้ภาษาเชิงปฏิบัติการที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่ออธิบายถึงเสรีภาพและสิทธิที่มีภายใต้สิทธิในสุขภาพ

ข้อวินิจฉัยทั่วไปอธิบายอย่างชัดเจนว่าสิทธิในสุขภาพไม่ได้หมายถึงสิทธิที่จะมีสุขภาพดี หากแต่เป็นชุดของเสรีภาพและสิทธิอันพึงมีที่จะอำนวยสภาวะทางชีวภาพและทางสังคมของบุคคลหนึ่งและรวมไปถึงทรัพยากรที่รัฐมี ซึ่งทั้งสองอาจขัดขวางสิทธิที่จะมีสุขภาพดีด้วยเหตุผลซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมและอิทธิพลของรัฐ ข้อที่ 12 ในกติกาฯ ให้รัฐมีหน้าที่รับรองว่าแต่ละบุคคลมีสิทธิในการเข้าถึงมาตรฐานสุขภาพที่สูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ และรายการไว้ซึ่ง 'เสรีภาพ' และ 'สิทธิ' (อย่างน้อยบางส่วน) อันพึ่งมีประกอบไปกับสิทธินั้น ๆ อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้กล่าวให้รัฐรับประกันว่าทุกบุคคลจะมีสุขภาพที่ดี หรือว่าทุกบุคคลจะยอมรับอย่างเต็มเปี่ยมในสิทธิและโอกาสซึ่งถูกระบุไว้ในสิทธิในสุขภาพ

ความสัมพันธ์กับสิทธิอื่น ๆ

อย่างเช่นในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อวินิจฉัยทั่วไปอธิบายถึงธรรมชาติที่เกี่ยวพันกันของสิทธิมนุษยชนโดยกล่าวว่า "สิทธิในสุขภาพเกี่ยวข้องและพึ่งพากับการทำให้สิทธิมนุษยชนด้านอื่น ๆ เป็นจริงขึ้นมา" และดังนั้นเป็นการเน้นในความสำคัญของการพัฒนาด้านสิทธิอื่น ๆ ในทางคล้ายกันข้อวินิจฉัยทั่วไปรับรองว่า "สิทธิในสุขภาพครอบคลุมปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมที่หลากหลายซึ่งส่งเสริมสภาพที่ทำให้ผู้คนสามารถมีชีวิตที่สุขภาพดีได้ และขยายรวมไปถึงตัวกำหนดสุขภาพที่อยู่เบื้องหลัง" ในแง่นี้ ข้อวินิจฉัยทั่วไปกล่าวว่าขั้นตอนซึ่งถูกระบุไว้ในข้อที่ 12 ไม่ได้ถูกจำกัดไว้เท่านั้นและเป็นเพียงการให้ตัวอย่าง

ความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพและสิทธิมนุษยชนซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้

ลิซา เมอร์คอฟสกี (Lisa Murkowski) ที่การประชุมนโยบายสุขภาพเสตทออฟรีฟอร์มอะแลสกาปี ค.ศ. 2019

ตาม โจนาธาน มันน์ (Jonathan Mann (WHO official)) สิทธิในสุขภาพกับสิทธิมนุษยชนเป็นแนวทางคู่กันสำหรับการกำหนดและพัฒนาสวัสดิภาพของมนุษย์ ในปี ค.ศ. 1994 มันน์และคณะได้ริเริ่ม "วารสารเฮลธ์แอนด์ฮิวแมนไรตส์" (Health and Human Rights) เพื่อเน้นความสำคัญของความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพและสิทธิมนุษยชนซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้

บทความซึ่งสำรวจการประสานงานกันระหว่างสุขภาพและสิทธิมนุษยชนที่เป็นไปได้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารนั้นฉบับแรก ในบทความนั้น มันน์และคณะบรรยายถึงโครงร่างสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างทั้งสองอขอบแขตซึ่งเชื่อมโยงกัน โครงร่างนี้ถูกแบบออกเป็นความสัมพันธ์สามส่วนใหญ่ ๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างแรกเป็นความสัมพันธ์ทางการเมือง มันน์และคณะกล่าวว่านโยบาย, โครงการ และการดำเนินการด้านสุขภาพมีผลกระทบกับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเมื่ออำนาจของรัฐถูกพิจารณาในขอบเขตของสาธารณสุข

ส่วนที่สองคือความสัมพันธ์ผันกลับซึ่งกล่าวว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และมีการเรียกร้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพช่วยในการทำความเข้าใจผ่านการวัดและประเมินผลกระทบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสุขภาพและสวัสดิภาพ

ส่วนที่สามนำเสนอแนวคิดว่าการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกันโดยพื้นฐานผ่านความสัมพันธ์เชิงพลวัต แม้วรรณกรรมส่วนใหญ่สนับสนุนการมีอยู่ของความสัมพันธ์สองอย่างแรก สมมติฐานของความสัมพันธ์ที่สามยังไม่ถูกสำรวจถึงอย่างมากพอ

บทความสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วยการกล่าวว่าความสัมพันธ์เหล่านี้บอกเป็นนัยถึงผลกระทบเชิงปฏิบัติของปฏิสัมพันธ์ระหว่างและการดำเนินการที่เป็นอิสระจากกันของกิจกรรมทางสาธารสุขและสิทธิมนุษยชน จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างขอบเขตทั้งสอง มันน์และคณะกล่าวเพิ่มว่างานวิจัย, การศึกษา, ประสบการณ์ และการสนับสนุนล้วนจำเป็นสำหรับการทำความเข้าใจส่วนร่วมระหว่างทั้งสองอย่างนี้ เพื่อความเข้าใจและการพัฒนาสวัสดิภาพของมนุษย์ทั่วโลก

สุดท้ายแล้ว มันน์และคณะมีเจตนาบอกว่า ในขณะที่บริการทางสุขภาพและทางแพทย์ให้ความสนใจส่วนใหญ่กับสุขภาพของบุคคลโดยเฉพาะความเจ็บป่วยทางกายภาพและทุพพลภาพ สาธารณสุข (public health) ได้วิวัฒน์ความสนใจไปสู่วิธีการทำให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีมากกว่า[9] ตามบทนิยามนี้ ภารกิจของสาธารณสุขคือเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีและป้องกันปัญหาทางสุขภาพเช่นโรค, ทุพพลภาพ, การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ฯลฯ ความหมายดั้งเดิมของสุขภาพของแต่ละบุคคลซึ่งถูกเข้าใจโดยบริการสุขภาพเป็นเพียง "เงื่อนไขหนึ่งสำหรับสุขภาพที่ดี" และไม่ได้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า "สุขภาพ" พูดอีกแบบหนึ่งคือ เพียงบริการทางสุขภาพอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับสุขภาพอย่างที่แพทย์สาธารสุข (public health practitioner) เข้าใจ แต่ยังมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกและลบทั้งที่ชัดเจนและเล็กน้อยต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของประชากรมนุษย์ทั่วโลก

ความเป็นธรรมทางสุขภาพ

ข้อวินิจฉัยทั่วไปยังได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทางสุขภาพ (Health equity) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกกล่าวถึงในกติกาฯ หมายเหตุในเอกสารว่า "กติกาฯ ห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงบริการสุขภาพและตัวกำหนดสุขภาพเบื้องหลัง รวมถึงในวิธีการและสิทธิในการจัดหาสิ่งเหล่านั้น" มากไปกว่านั้น ความรับผิดชอบในการเยียวยาการเลือกปฏิบัติและผลกระทบของมันในด้านสุขภาพถูกมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของรัฐ: "รัฐมีหน้าที่พิเศษในการจัดหาประกันสุขภาพและสิ่งอำนายความสะดวกทางด้านบริการสุขภาพให้แก่ผู้ที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอ และในการป้องกันการเลือกปฏิบัติในการจัดหาบริการและการดูแลสุขภาพในบริเวณซึ่งเป็นที่หวงห้ามจากนานาชาติ" และยังเน้นความสำคัญเพิ่มเติมในเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติบนฐานของเพศ, อายุ, ทุพพลภาพ หรือสมาชิกภาพในชุมชนพื้นเมือง

ความรับผิดชอบของรัฐและองค์การระหว่างประเทศ

ส่วนต่อมาของข้อวินิจฉัยทั่วไปแจกแจงภาระหน้าที่ของประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศในการมุ่งสู่สิทธิในสุขภาพ โดยหน้าที่ต่าง ๆ ของประชาชาติถูกแบ่งออกเป็นสามหมวดหมู่: หน้าที่ที่จะเคารพ, หน้าที่ที่จะปกป้อง และหน้าที่ที่จะทำให้สิทธิในสุขภาพบรรลุขึ้นจริง ตัวอย่างเช่น (ไม่ใช่ทั้งหมด) การป้องกันการเลือกปฏิบัติในการได้รับหรือการจัดหาบริการสุขภาพ, การยกเลิกข้อจำกัดในการเข้าถึงการคุมกำเนิดหรือการวางแผนครอบครัว, การห้ามมิให้มีมีการปฏิเสธการเช้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ, การลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม, การห้ามมิให้มีเวชปฏิบัติที่อยู่บนฐานของวัฒนธรรมที่เป็นภัยหรือถูกบังคับ, การรับรองการเข้าถึงตัวกำหนดสุขภาพทางสังคมอย่างเป็นธรรม และการชี้แนวทางการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล, บุคคลากร และอุปกรณ์ทางแพทย์ที่เหมาะสม ในส่วนภาระหน้าที่ของประชาคมนานาชาติประกอบไปด้วยการยอมให้สามารถใช้บริการสุขภาพในประเทศอื่นได้, การป้องกันการละเมิดทางสุขภาพในประเทศอื่น, การร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่เหตุการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติ และการหลีกเลี่ยงไม่ใช้มาตรการคว่ำมาตรสินค้าหรือบุคคลากรทางแพทย์เพื่ออิทธิพลทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ

อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

ภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)
  ลงนามแล้วและให้สัตยาบันแล้ว
  ให้สัตยาบันโดยภาคยานุวัติหรือสืบสิทธิ
  รัฐซึ่งยังไม่เป็นที่รับรองแต่ยินยอมปฏิบัติตามอนุสัญญา
  ลงนามเท่านั้น
  มิได้ลงนาม

ข้อ 12 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบปี ค.ศ. 1979 ของสหประชาชาติร่างเค้าโครงการปกป้องผู้หญิงจากการถูกเลือกปฏิบัติเมื่อเข้ารับบริการสุขภาพและสิทธิของผู้หญิงในการได้รับบริการสุขภาพเฉพาะเพศ ข้อที่ 12 ฉบับเต็มกล่าวว่า:[10]

ข้อ 12:

  1. รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งหมดเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านบริการสุขภาพเพื่อรับประกันการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพรวมถึงบริการที่เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวบนฐานของความเท่าเทียมระหว่างบุรุษและสตรี
  2. แม้มีบทบัญญัติในวรรค 1 ของข้อนี้ รัฐภาคีจะรับประกันการบริการที่เหมาะสมซึ่งเกี่ยวกับการตั้งครรภ์, การคลอดบุตร และระยะหลังคลอดต่อสตรี โดยให้บริการแบบให้เปล่าเมื่อจำเป็น รวมถึงการให้โภชนาการที่เพียงพอระหว่างการตั้งครรภ์และระยะหลั่งน้ำนม

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
  ภาคี
  ลงนามแล้วแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน
  มิได้ลงนาม

สุขภาพถูกกล่าวถึงในหลายกรณีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (ค.ศ. 1989) ข้อ 3 เรียกร้องให้ภาคีรับประกันให้สถาบันและสถานที่สำหรับการดูแลเด็กปฏิบัติตามมาตรฐานสุขภาพ ข้อ 17 รับรองสิทธิของเด็กในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสวัสดิภาพทางกายและจิตของตนเอง ข้อ 23 กล่าวถึงสิทธิของเด็กพิการโดยเฉพาะซึ่งรวมถึงบริการทางสุขภาพ, การฟื้นฟูสภาพ และการดูแลป้องกัน ข้อ 24 วางเค้าโครงสุขภาพเด็กอย่างลงรายละเอียดและกล่าวว่า "รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับมาตรฐานทางสุขภาพที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นได้ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการรักษาความเจ็บปวดและการฟื้นฟูสุขภาพ รัฐภาคีจะพยายามดำเนินการเพื่อรับประกันว่าไม่มีเด็กคนใดที่ถูกลิดรอนสิทธิของตัวเองในการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพ" มาตรการต่าง ๆ เพื่อการนำบทบัญญัติไปปฏิบัติถูกระบุไว้ในอนุสัญญาดังนี้:[11][12]

  • ลดการเสียชีวิตของทารกและเด็ก
  • รับประกันการให้การช่วยเหลือทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่จำเป็นต่อเด็กทุกคน โดยเน้นการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน
  • ต่อสู้กับโรคภัยและทุพโภชนาการซึ่งรวมถึงที่อยู่ในขอบข่ายของสาธารณสุขมูลฐานผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่พร้อมแล้วและผ่านการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและน้ำดื่นที่สะอาดอย่างเพียงพอนอกเหนือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้โดยพิจารณาถึงอันตรายและความเสี่ยงของมลภาวะแวดล้อม
  • รับประกันบริการสุขภาพที่เหมาะสมแก่มารดาทั้งก่อนและหลังคลอด
  • รับประกันว่าทุกส่วนของสังคมโดยเฉพาะบุพการีและเด็กจะได้รับข้อมูลข่าวสาร, การเข้าถึงการศึกษา และการสนับสนุนการใช้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสุขภาพและโภชนาการเด็ก, ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, อนามัยและสุขาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม และการป้องกันอุบัติเหตุ
  • พัฒนาบริการสุขภาพเชิงป้องกัน, การแนะแนวแก่บุพการี และบริการกับการศึกษาด้านการวางแผนครอบครัว

เว็บไซต์องค์การอนามัยโลกแสดงความคิดเห็นว่า "อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นขอบข่ายทางกฎหมายและเชิงบรรทัดฐานสำหรับงานขององค์การอนามัยโลกในขอบเขตด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนที่กว้าง"[13] เจฟฟรีย์ กอลด์ฮาเกน เสนออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเป็น "แม่แบบสำหรับการรณรงค์ด้านเด็ก" และเสนอการนำไปใช้เป็นโครงร่างสำหรับการลดความไม่เสมอภาคและการพัฒนาผลลัพธ์ในด้านสุขภาพเด็ก[14]

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

ข้อ 25 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities) (ค.ศ. 2006) ระบุว่า "คนพิการมีสิทธิที่จะได้รับมาตรฐานสุขภาพที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติบนฐานของทุพพลภาพ" วรรคย่อยในข้อ 25 กล่าวว่ารัฐภาคีจะให้บริการสุขภาพที่มี "ความหลากหลาย, คุณภาพ และมาตรฐาน" เดียวกันกับที่ผู้อื่นได้รับแก่ผู้พิการ รวมไปถึงบริการที่จำเป็นต่อการป้องกัน, ระบุ และจัดการทุพพลภาพโดยเฉพาะ บทบัญญัติเพิ่มเติมยังระบุว่าชุมชนท้องถิ่นควรสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการและบริการดูแลนั้นควรได้รับอย่างเท่าเทียมกับในทางภูมิศาสตร์ และมีข้อความเพิ่มเติมซึ่งต่อต้านการปฏิเสธหรือการจัดหาแบบไม่เท่าเทียมกันของบริการทางสุขภาพ (รวมถึง "อาหารและน้ำ" กับ "ประกันชีวิต") บนฐานของทุพพลภาพ[15]

นิยามในวรรณกรรมวิชาการ

ในขณะที่สิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ถูกจัดเป็นสิทธิเชิงลบในเชิงทฤษฎีซึ่งมีหมายความเป็นสิทธิในบริเวณที่สังคมไม่สามารถแทรกแซงหรือจำกัดได้ผ่านการกระทำทางการเมือง เมอร์วิน ซัสเซอร์ (Mervyn Susser) กล่าวว่าสิทธิในสุขภาพเป็นสิทธิที่ท้าทายและมีเอกลักษณ์เป็นพิเศษเพราะมันมักถูกกล่าวว่าเป็นสิทธิเชิงบวกซึ่งเป็นสิทธิที่สังคมมีหน้าที่จัดหาทรัพยากรและโอกาสให้แก่ประชากรทั่วไป

ซัสเซอร์ให้ข้อกำหนดสี่ข้อที่เขามองว่าอยู่ภายใต้สิทธิในสุขภาพ: การเข้าถึงบริการทางสุขภาพและทางแพทย์อย่างเสมอภาค, ความพยายามทางสังคมอย่าง "สุจริตใจ" ที่จะส่งเสริมสุขภาพที่เท่าทียมกันท่ามกลางกลุ่มสังคมต่าง ๆ, การมีหนทางในการวัดและประเมินความเป็นธรรมทางสุขภาพ, และการมีระบบการเมืองสังคมที่เท่าเทียมเพื่อให้ทุก ๆ ฝ่ายมีเสียงในการรณรงค์และส่งเสริมในเรื่องสุขภาพ โดยมีหมายเหตุว่าแม้สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งมาตรฐานขั้นในการเข้าถึงทรัพยากรด้านสุขภาพระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับประกันหรือบังคับให้ทุก ๆ คนมีสุขภาวะที่เสมอกันเนื่องมาจากความแตกต่างทางชีวภาพในสถานะทางสุขภาพในตัวของแต่ละคน[16] การแยกแยะระหว่างสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากคำวิจารณ์แนวคิด "สิทธิในสุขภาพ" ที่พบเห็นได้บ่อยนั้นมักบอกว่ามันเป็นสิทธิที่เรียกร้องหามาตรฐานทางสุขภาพที่เป็นไปไม่ได้และปรารถนาที่จะมีสถานะทางสุขภาพซึ่งเป็นนามธรรมและแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละคนหรือแต่ละสังคม[17]

ในขณะที่ซัสเซอร์จัดว่าบริการสุขภาพเป็นสิทธิเชิงบวก พอล ฮันต์ (Paul Hunt) โต้แย้งมุมมองนี้และอ้างว่าสิทธิในสุขภาพยังรวมถึงสิทธิเชิงลบบางสิทธิด้วยเช่นการคุ้มครองจากจากการถูกเลือกปฏิบัติและสิทธิที่จะไม่การรักษาทางแพทย์โดยไม่ได้รับการยินยอมโดยสมัครใจจากผู้รับบริการ อย่างไรก็ตามฮันต์ก็ยอมรับว่าสิทธิเชิงบวกบางสิทธิเช่นความรับผิดชอบของสังคมต่อการให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่ความต้องการทางสุขภาพของผู้ที่ไม่ได้รับการบริการที่เพียงพอหรือเปราะบางนั้นก็รวมอยู่ในสิทธิในสุขภาพด้วย[18]

พอล ฟาร์เมอร์ (Paul Farmer) เขียนถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพในบทความของเขา "The Major Infectious Diseases in the World - To Treat or Not to Treat." (แปลว่า "โรคติดเชื้อหลัก ๆ ในโลก - รักษาหรือไม่รักษา") โดยเขาพูดถึง "ช่องว่างของผลลัพธ์" (outcome gap) ระหว่างกลุ่มประชากรที่ได้รับการแทรกแซงทางสุขภาพและกลุ่มที่ไม่ได้รับ คนจนไม่ได้รับการรักษาแบบเดียวกันกับคนที่มีฐานนะทางการเงินหรือบางทีก็อาจไม่ได้รับการรักษาเลย ราคาของยาและการรักษาที่สูงทำให้เกิดปัญหาการได้รับการดูแลที่เท่าเทียมในประเทศยากจน เขากล่าวว่า "ความเป็นเลิศโดยไร้ความเสมอภาคจวนจะเป็นทวิบถ (dilemma) หลักทางด้านสิทธิมนุษยชนในด้านการบริการสุขภาพของศตวรรษที่ 21"[19]

สิทธิมนุษยชนในบริการสุขภาพ

บริการสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน

แง่หนึ่งของสิทธิในสุขภาพสามารถมองในอีกทางหนึ่งได้เป็น "สิทธิมนุษยชนในบริการสุขภาพ" ซึ่งรวมถึงสิทธิของผู้รับและผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ โดยอย่างหลังนั้นมักถูกละเมิดโดยรัฐ[20] สิทธิของผู้รับบริการสุขภาพมี: สิทธิในความเป็นส่วนตัว (right to privacy), ข้อมูลข่าวสาร, ชีวิต และการดูแลที่มีคุณภาพ รวมไปถึงเสรีภาพจากการเลือกปฏิบัติ, การทรมาน และ การปฏฺิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (cruel, inhumane, or degrading treatment)[20][21] กลุ่มบุคคลชายขอบเช่นผู้ย้ายถิ่นหรือพลัดถิ่น, ชนกลุ่มน้อย (minority group) ทางชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติ, ผู้หญิง, ชนกลุ่มน้อยทางเพศ (sexual minority) และผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้นมีความเสี่ยง (social vulnerability) โดยเฉพาะต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในบริบทของบริการสุขภาพ[22][23] ตัวอย่างเช่น ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติอาจถูกแบ่งแยกออกไปให้ใช้แผนกที่มีคุณภาพต่ำกว่า ผู้พิการอาจถูกกักตัวและโดนบังคับให้รับการรักษาทางแพทย์ ผู้ใช้ยาเสพติดอาจถูกปฏิเสธการรักษาอาการเสพติด ผู้หญิงอาจถูกบังคับให้รับการตรวจภายในและถูกปฏิเสธไม่ให้รับการทำแท้งที่ช่วยชีวิต ผู้ชายที่ถูกต้องสงสัยว่ารักร่วมเพศอาจถูกบังคับให้รับการตรวจในทวารหนัก และผู้หญิงซึ่งอยู่ในกลุ่มบุคคลชายขอบและบุคคลข้ามเพศอาจถูกบังคับทำหมัน (compulsory sterilization)[23][24]

สิทธิของผู้ให้บริการมี: สิทธิในมาตรฐานสภาพการจ้างที่มีคุณภาพ, สิทธิที่จะสมาคมอย่างเสรี และสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนบนฐานของศีลธรรมของตนเอง[20] ผู้ให้บริการสุขภาพมักประสบกับการถูกละเมิดสิทธิของตนเอง ตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการสุขภาพมักถูกบังคับให้ปฏิบัติขั้นตอนซึ่งตรงข้ามกับศีลธรรมของตนเอง, ปฏิเสธการให้การดูแลตามมาตรฐานที่ดีที่สุดแก่กลุ่มบุคคลชายขอบ, ฝ่าฝืนการรักษาความลับของผู้ป่วย และปกปิดอาชญกรรมต่อมนุษยชาติและการทรมาน โดยเฉพาะในประเทศที่มีหลักนิติธรรมที่อ่อนแอ[25][26] มากไปกว่านั้น ผู้ให้บริการที่ไม่ยอมทำตามแรงกดดันเหล่านี้ก็มักถูกกดขี่ขมเหงหรือรังแก[25] ณ ปัจจุบันมีการพูดคุยอย่างมากมายเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง "จิตสำนึกของผู้ให้บริการ" ซึ่งจะสงวนไว้ซึ่งสิทธิของผู้ให้บริการที่จะละเว้นจากการปฏิบัติตามขั้นตอนที่ไม่เป็นไปตามหลักศีลธรรมของตนเอง เช่นการทำแท้ง[27][28]

กลไกการต่อสู้และป้องกันการละเมิดสิทธิขอผู้รับและผู้ให้บริการผ่านการปฏิรูปกฎหมายนั้นเป็นแนวทางที่มีอนาคตที่ดี แต่ทว่าในประเทศที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน (ประเทศที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาใหม่และกำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูป) และในสถานที่ที่มีหลักนิติธรรมซึ่งอ่อนแอ แนวทางการปฏิรูปผ่านกฎหมายนั้นจำกัด[20] ในขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดรูปแบบทรัพยากรและเครื่องมือสำหรับนักกฎหมาย, ผู้ให้บริการ และผู้ป่วยที่มีความสนใจในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในด้านการดูแลผู้ป่วยขึ้นมา[20]

สิทธิในบริการสุขภาพตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญสองในสามของทั้งหมดมีบทบัญญัติซึ่งกล่าวถึงสุขภาพหรือบริการสุขภาพ[29] ในบางกรณี สิทธิเหล่านี้สามารถดำเนินการสู่กระบวนการในศาลได้[30] แนวโน้มการปฏิรูปรัฐธรรมนูญรอบโลกมักมีการปกป้องสิทธิในสุขภาพ และการทำให้สามารถดำเนินคดีบนฐานของสิทธินี้ได้[30] ทว่าประเทศสหรัฐอเมริกาในระดับสหรัฐไม่ได้เป็นไปตามแนวโน้มเดียวกัน[31] อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐมีการรณรงค์เรียกร้องสนับสนุนให้มีการยอมรับสิทธิในสุขภาพอยู่ในรัฐธรรมนูญ[32] และในที่ที่รัฐธรรมนูญยอมรับในสิทธิในสุขภาพที่สามารถนำไปพิจารณาในศาลได้ การตอบสนองจากศาลกลับมีความหลากหลาย[33]

บทวิจารณ์

ฟิลิป บาร์โลว์ (Philip Barlow) เขียนว่าบริการสุขภาพไม่ควรถูกถือเป็นสิทธิมนุษยชนเนื่องจากความยากลำบากในการจำกัดความผลที่เกิดขึ้นและ 'มาตรฐานขั้นต่ำ' ภายใต้สิทธินี้นั้นจะถูกกำหนดไว้ตรงไหน นอกจากนั้นบาร์โลว์กล่าวว่าสิทธิต่าง ๆ ก่อให้เกิดหน้าที่ที่ผู้อื่นต้องมีเพื่อปกป้องและรับรองสิทธินั้น และใครจะแบกรับความรับผิดชอบทางสังคมของสิทธิในสุขภาพนั้นก็ยังไม่ชัดเจน[34] จอห์น เบิร์กลีย์ (John Berkeley) ได้วิจารณ์เพิ่มเติมไปในทางที่เห็นด้วยกับบาร์โลว์ว่าสิทธิในสุขภาพนั้นไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบในการรักษาสุขภาพตัวเองของปัจเจกบุคคลอย่างเพียงพอ[35]

ริชาร์ด ดี แลมม์ (Richard D Lamm) แย้งการทำให้บริการสุขภาพเป็นสิทธิ เขาให้นิยามสิทธิว่าเป็นสิ่งที่ต้องคุ้มครองไม่ว่าอย่างไรก็ตาม และเป็นแนวคิดที่ถูกให้นิยามและตีความโดยระบบตุลาการ การทำให้บริการสุขภาพเป็นสิทธิจะทำให้รัฐบาลต้องนำทรัพยากรจำนวนมากมาใช้จ่ายเพื่อจัดหาบริการให้แก่ประชาชน เขากล่าวว่าระบบบริการสุขภาพนั้นอยู่บนสมมติฐานที่ไม่ถูกต้องว่าทรัพยากรมีไม่จำกัด ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดยับยั้งไม่ให้รัฐบาลสามารถจัดหาบริการสุขภาพที่เหมาะสมให้แก่ทุกคนได้โดยเฉพาะในระยะยาว ความพยายามที่จะให้บริการสุขภาพที่ "เป็นประโยชน์" แก่ทุกคนด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอาจนำไปสู่การล่มสลายของเศรษฐกิจ แลมม์กล่าวว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในการสร้างสังคมที่สุขภาพดี และเพื่อสร้างสังคมที่สุขภาพดีทรัพยากรควรถูกนำไปใช้ในทางสังคมด้วย[36]

อีกหนึ่งคำวิจารณ์ของสิทธิในสุขภาพคือว่ามันเป็นไปไม่ได้ อิมแร เจ พี โลฟเฟลอร์ (Imre J.P. Loefler) อ้างว่าภาระด้านการเงินและโลจิสติกส์ที่การรับรองบริการสุขภาพสำหรับทุกคนจะสร้างขึ้นมานั้นไม่สามารถแบกรับได้ และข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะมีสิทธิซึ่งเป้าหมายคือการต่อชีวิตออกไปไม่สิ้นสุด โลฟเฟลอร์เสนอว่าเป้าหมายที่จะพัฒนาสุขภาพของประชากรนั้นจะดีกว่าถ้าหันไปสนใจเรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจสังคมแทนการมุ่งสู่การมีสิทธิในสุขภาพอย่างเป็นทางการ[37]

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

  1. แปลจาก "claiming ... the full area of contemporary international public health,"

อ้างอิง

  1. Constitution of the World Health Organization (PDF). Geneva: World Health Organization. 1948. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 March 2014. สืบค้นเมื่อ 14 October 2013.
  2. Grad, Frank P. (Jan 2002). "The Preamble of the Constitution of the World Health Organization" (PDF). Bulletin of the World Health Organization. 80 (12): 981–4. PMC 2567708. PMID 12571728. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 17 October 2013. สืบค้นเมื่อ 14 October 2013.
  3. Universal Declaration of Human Rights, United Nations, 1948, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2017, สืบค้นเมื่อ 29 June 2017
  4. Pillai, Navanethem (Dec 2008). "Right to Health and the Universal Declaration of Human Rights". The Lancet. 372 (9655): 2005–2006. doi:10.1016/S0140-6736(08)61783-3. PMID 19097276.
  5. Gruskin, Sofia; Edward J. Mills; Daniel Tarantola (August 2007). "History, Principles, and Practice of Health and Human Rights". The Lancet. 370 (9585): 449–455. doi:10.1016/S0140-6736(07)61200-8. PMID 17679022.
  6. International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination, United Nations, 1965, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 October 2013, สืบค้นเมื่อ 7 November 2013
  7. International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights, United Nations, 1966, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 November 2013, สืบค้นเมื่อ 7 November 2013
  8. General Comment No. 14. Geneva: UN Committee on Economic, Social and Cultural Rights. 2000. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 September 2009. สืบค้นเมื่อ 5 August 2009.
  9. "Health and Human Rights" (PDF). cdn2.sph.harvard.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-03-08. สืบค้นเมื่อ 11 December 2018.
  10. Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women. New York: United Nations. 1979. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 April 2011. สืบค้นเมื่อ 29 June 2017.
  11. Convention on the Rights of the Child. New York: United Nations. 1989. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 January 2015. สืบค้นเมื่อ 7 November 2013.
  12. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพิธีสารเลือกรับ (PDF). กรมกิจการเด็กและเยาวชน. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2021. สืบค้นเมื่อ 9 May 2021.
  13. "Child Rights". World Health Organization. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 November 2013. สืบค้นเมื่อ 5 November 2013.
  14. Goldhagen, Jeffrey (กันยายน 2003). "Children's Rights and the United Nations Convention on the Rights of the Child". Pediatrics. 112 (Supp. 3): 742–745. PMID 12949339. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 สิงหาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2013.
  15. "Article 25 – Health | United Nations Enable". United Nations. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 October 2017. สืบค้นเมื่อ 20 October 2017.
  16. Susser, Mervyn (Mar 1993). "Health as a Human Right: An Epidemiologist's Perspective on the Public Health". American Journal of Public Health. 83 (3): 418–426. doi:10.2105/ajph.83.3.418. PMC 1694643. PMID 8438984.
  17. Toebes, Brigit (Aug 1999). "Towards an Improved Understanding of the International Human Right to Health". Human Rights Quarterly. 21 (3): 661–679. doi:10.1353/hrq.1999.0044. JSTOR 762669. PMID 12408114.
  18. Hunt, Paul (มีนาคม 2006). "The Human Right to the Highest Attainable Standard of Health: New Opportunities and Challenges". Transactions of the Royal Society of Tropical Medicine and Hygiene. 100 (7): 603–607. doi:10.1016/j.trstmh.2006.03.001. PMID 16650880. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 สิงหาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2013.
  19. Farmer, Paul (2001). "The Major Infectious Diseases in the World – to Treat or Not to Treat?". New England Journal of Medicine. 345 (3): 208–210. doi:10.1056/NEJM200107193450310. PMID 11463018.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 Beletsky L, Ezer T, Overall J, Byrne I, Cohen J (2013). "Advancing human rights in patient care: the law in seven transitional countries". Open Society Foundations. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 June 2013. สืบค้นเมื่อ 14 June 2013.
  21. "Health and human rights: a resource guide". Open Society Foundations. Open Society Institute. 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 January 2012. สืบค้นเมื่อ 14 June 2013.
  22. Ezer T. (May 2013). "making laws work for patients". Open Society Foundations. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 July 2013. สืบค้นเมื่อ 14 June 2013.
  23. 23.0 23.1 J Amon. (2010). "Abusing patients: health providers' complicity in torture and cruel, inhuman or degrading treatment". World Report 2010, Human Rights Watch. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 July 2015. สืบค้นเมื่อ 4 December 2016.
  24. Ezer T. (May 2013). "Making Laws Work for Patients". Open Society Foundations. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 July 2013. สืบค้นเมื่อ 14 June 2013.
  25. 25.0 25.1 International Dual Loyalty Working Group. (1993). "Dual Loyalty & Human Rights in Health Professional Practice: Proposed Guidelines & Institutional Mechanisms" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 7 March 2013. สืบค้นเมื่อ 14 June 2013. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  26. F Hashemian; และคณะ (2008). "Broken laws, broken lives: medical evidence of torture by US personnel and its impact" (PDF). Physicians for Human Rights. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 11 February 2011. สืบค้นเมื่อ 7 November 2013.
  27. "Rule aims to protect health providers' right of conscience". CNNHealth.com. CNN. 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 March 2016. สืบค้นเมื่อ 14 June 2013.
  28. T Stanton Collett. (2004). "Protecting the healthcare provider's right of conscience". Trinity International University, the Center for Bioethics and Human Dignity. 10 (2): 1, 5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 September 2015. สืบค้นเมื่อ 14 June 2013.
  29. Katharine G. Young. "The Comparative Fortunes of the Right to Health: Two Tales of Justiciability in Colombia and South Africa." Harvard Human Rights Journal 26, no.1 (2013): 179–216.
  30. 30.0 30.1 Rosevear, E., Hirschl, R., & Jung, C. (2019). Justiciable and Aspirational Economic and Social Rights in National Constitutions. In K. Young (Ed.), The Future of Economic and Social Rights (Globalization and Human Rights, pp. 37–65). Cambridge: Cambridge University Press. https://www.cambridge.org/core/books/future-of-economic-and-social-rights/2C2C20AE05EC2C48FB2807739843D610 doi:10.1017/9781108284653.003
  31. Versteeg, Mila and Zackin, Emily, American Constitutional Exceptionalism Revisited (26 March 2014). 81 University of Chicago Law Review 1641 (2014); Virginia Public Law and Legal Theory Research Paper No. 2014-28. Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=2416300
  32. "Health Care As a Human Right". americanbar.org. สืบค้นเมื่อ 2 May 2020.
  33. Yamin, Alicia Ely; Gloppen, Siri Gloppen (2011). Litigating Health Rights, Can Courts Bring More Justice to Health?. Harvard University Press. ISBN 9780979639555.
  34. Barlow, Philip (31 July 1999). "Health Care Is Not a Human Right". British Medical Journal. 319 (7205): 321. doi:10.1136/bmj.319.7205.321. PMC 1126951. PMID 10426762.
  35. Berkeley, John (4 August 1999). "Health Care Is Not a Human Right". British Medical Journal. 319 (7205): 321. doi:10.1136/bmj.319.7205.321. PMC 1126951. PMID 10426762. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 May 2014.
  36. Lamm, R. (1998), "The case against making healthcare a "right."", American Bar Association: Defending Liberty Pursuing Justice, American Bar Association, vol. 25 no. 4, pp. 8–11, JSTOR 27880117
  37. Loefler, Imre J.P. (26 June 1999). ""Health Care Is a Human Right" Is a Meaningless and Devastating Manifesto". British Medical Journal. 318 (7200): 1766. doi:10.1136/bmj.318.7200.1766a. PMC 1116108. PMID 10381735.

แหล่งข้อมูลอื่น

บรรณานุกรม

  • Andrew Clapham, Mary Robinson (eds), Realizing the Right to Health, Zurich: rüffer & rub, 2009.
  • Bogumil Terminski, Selected Bibliography on Human Right to Health, Geneva: University of Geneva, 2013.
  • Judith Paula Asher, The Right to Health: A Resource Manual for Ngos, Dordrecht: Martinus Nijhoff Publishers, 2010. I

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!