สารัตถปกาสินี

สารัตถปกาสินี คือ คัมภีร์อรรถกถา อธิบายและชี้แจงเนื้อความในพระสุตตันตปิฎก หมวดสังยุตตนิกาย โดยจัดทำคำอธิบายตามที่แบ่งตามวรรคต่าง ๆ ในหมวดย่อยของสังยุตตนิกาย กล่าวคือ สคาถวรรค, นิทานวรรค, ขันธวารวรรค, สฬายตนวรรค และมหาวารวรรค[1][2]

ผู้แต่ง

สารัตถปกาสินี เป็นผลงานของพระพุทธโฆษาจารย์ หรือพระพุทธโฆสะ มหาเถระปราชญ์สำคัญชาวชมพูทวีป ซึ่งเดินทางไปยังเกาะลังกาด้วยความประสงค์จะแปลอรรถกถาพระไตรปิฎกภาษาสิงหลในลังกาทวีปกลับเป็นภาษามคธ[3] ในเวลาต่อมาพระพุทธโฆสะได้แต่งตามคำอาราธนาของพระโชติปาลเถระ ซึ่งเคยอยู่ร่วมสำนักกันที่กัญจิปุระทางตอนใต้ของอินเดีย เมื่อใกล้จะถึง พ.ศ. 1000 โดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหลชื่อมหาอรรถกถา[4]

เนื้อหา

คัมภีร์สารัตถปกาสินีนี้ พระอรรถกถาจารย์ให้คำอธิบายเนื้อหาในสังยุตตนิกาย ทั้งในด้านหลักธรรม และในด้านภาษาศาสตร์ เช่น ในอรรถกถาปาเถยยสูตา แสดงถึงลักษณะของการอธิบายคำศัพท์ที่สำคัญ และความหมายนัยยะต่าง ๆ ของศัพท์นั้น ๆ ความว่า "บทว่า ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งสะเบียง อธิบายว่า บุคคลยังศรัทธาให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมให้ทาน ย่อมรักษาศีล ย่อมทำอุโบสถกรรมด้วยเหตุนี้แหละ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งสะเบียง ดังนี้ บทว่า สิริ ได้แก่ ความเป็นใหญ่ บทว่า อาสโย ได้แก่เป็นที่อาศัย จริงอยู่ โภคะทั้งหลายย่อมมาจากทางบกบ้าง ทางน้ำบ้างมุ่งหน้าเฉพาะผู้เป็นใหญ่เท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าสิริเป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ ดังนี้ บทว่า ปริกสฺสติ ได้แก่ ย่อมฉุดคร่าไป" ดังนี้[5]

ตัวอย่างที่เด่นชัดของการอธิบายหลักธรรม เช่น การขยายความคำว่า "พุทธะ" ว่ามีอยู่ ประเภท คือ สัพพัญญูพุทธะ ปัจเจกพุทธะ จตุสัจจพุทธะ และสุตพุทธะ ดังปรากฏในอรรถกถาอัปปฏิวัทิตสูตร ว่า "ในพุทธะเหล่านั้น ผู้บำเพ็ญบารมี 30 ทัศ แล้วบรรลุพระสัมมาสัมโพธิ ชื่อว่า พระสัพพัญญูพุทธะ ผู้บำเพ็ญบารมีสิ้น 2 อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป จึงบรรลุด้วยตนเอง ชื่อว่า พระปัจเจกพุทธะ พระขีณาสพผู้สิ้นอาสวะโดยไม่เหลือ ชื่อว่า จตุสัจจพุทธะ ผู้เป็นพหูสูต ชื่อว่า สุตพุทธะ"[6] นอกจากนี้ ยังปรากฏตัวอย่างในอรรถกถาทุติยอัปปมาทสูตร ได้มีการอธิบายอริยมรรคมีองค์ 8 และลักษณะของมรรค[7]

ทั้งนี้ พระอรรถกถาจารย์ยังได้ยกชาดกและนิทานมาประกอบการอธิบายพระสูตรและเนื้อความในสังยุตตนิกายไว้อย่างน่าสนใจ เช่น ในอรรถกถาสัพภิสูตร ได้มีการยกเรื่องอำนาจและผลของการรักษาของศีลว่า มีบุรุษผู้นึกถึงศีลของตนในยามประสบกับภยันตรายจากคลื่นยักษ์ซัดจนเรือเจียนล่ม เมื่อผู้คนบนเรือเห็นชายผู้นั้นไม่หวั่นไหว จึงไต่ถาม ทราบความว่าเขาตั้งมั่นในศีลดีแล้ว จึงไม่มีความหวาดกลัว ชนทั้ง 700 คน บนเรือจึงขอรับศีลตามลำดับ จนกระทั่งน้ำท่วมเรือจนจมตายหมดทั้งลำ แต่ด้วยความที่รับศีล 5 เป็นสรณะแล้ว ชนทั้งหมดจึงไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ "เพราะอาศัยศีลอันตนรับเอาในเวลาใกล้ตาย" เป็นต้น[8]

นอกจากจะอธิบายธรรม และคำศัพท์ในพระสูตรแห่งสังยุตตนิกายทั้งหมดแล้ว คัมภีร์สารัตถปกาสินียังให้ความรู้ด้านอื่น ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาในสังยุตตนิกาย เช่น การอธิบายขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมของอินเดียโบราณ ที่เป็นบริบทแวดล้อมในยุคพุทธกาล เช่น การอธิบายพระเวท 5 คัมภีร์ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาพราหมณ์ คือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท อถรรพเวทและอิติหาสะ[9]

คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

  1. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 79
  2. พระสุธีวรญาณ. (2542). หน้า 145 - 156
  3. พระเมธีรัตนดิลก. ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎกบาลี.
  4. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 73
  5. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 314
  6. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 58
  7. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 487 - 488
  8. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 154 - 155
  9. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 73

บรรณานุกรม

  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • พระสุธีวรญาณ. (2542). เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • พระเมธีรัตนดิลก. ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎกบาลี. คณะพุทธศาสตร์. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. สังยุตตนิกาย

ตัวบทคัมภีร์

สารตฺถปกาสินี (บาลี)

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!