สมเด็จพระวันรัต นามเดิม จับ สุนทรมาศ ฉายา ตธมฺโม เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะสงฆ์ไทย เช่น เจ้าอาวาสวัดโสมนัสราชวรวิหาร เจ้าคณะภาค 16-17-18 (ธรรมยุต) และกรรมการมหาเถรสมาคม
ประวัติ
กำเนิด
สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า จับ สุนทรมาศ เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450 (นับแบบใหม่) เป็นบุตรคนที่สามของนายผุดและนางร่ม ภูมิลำเนาอยู่ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เมื่อโตขึ้นได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลวัดตะเครียะ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเกษตรชลธี) จนจบชั้นประถมศึกษา
อุปสมบท
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2466 ขณะอายุได้ 17 ปี ได้บบวชเป็นสามเณรที่วัดตะเครียะ โดยมีพระครูธรรมจักการาม (เทพ ตญาโณ) เจ้าอาวาสวัดประดู่หอม เจ้าคณะจังหวัดพัทลุงในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม จนสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ. 2467 และได้นักธรรมชั้นโทในปีถัดมา[1]
วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2469 ได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดศาลาหลวงล่าง โดยมีพระราชเมธี (จู อิสฺสรญาโณ) เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส เจ้าคณะจังหวัดสงขลาในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิจารณ์ศีลคุณ (แดง ปุปฺผโก) เจ้าอาวาสวัดตะเครียะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า ตธมฺโม[1]
พ.ศ. 2471 ได้ย้ายมาอยู่วัดเขมาภิรตาราม แล้วย้ายไปอยู่วัดพระยายัง เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางไปศึกษาที่วัดเทพศิรินทราวาส ศึกษาอยู่ 2 ปี ก็สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และสอบได้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2474 จึงสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 5 ประโยค ปีต่อมาพระครูวิจารณ์ธุรกิจ (แต้ม โฆสโก) ได้นำท่านไปฝากอยู่วัดโสมนัสวิหาร ท่านเล่าเรียนต่อมาจนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคในปี พ.ศ. 2485[2]
ศาสนกิจ
วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ขณะยั้งเป็นพระเปรียญ 7 ประโยค ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์ตรีในทางรจนา[3] หลังจากจบการศึกษาแล้ว ท่านได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ เช่น กรรมการตรวจประโยคบาลีสนามหลวง กรรมการนักธรรมสนามหลวง[2] เจ้าหน้าที่กองตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย
เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโสมนัสราชวรวิหารว่างลง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้เสด็จมาที่วัดและประกาศแต่งตั้งพระมหาจับเป็นผู้รักษาการแทนในหน้าที่เจ้าอาวาสตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489[4] ครั้นถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2491 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค 16-17-18 (ธรรมยุต) ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2507 ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมตั้งแต่ พ.ศ. 2512 และเป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตในปี พ.ศ. 2536 ตามลำดับ[5]
เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้น เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 13-18 เมษายน พ.ศ. 2532 สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม) ในฐานะสมเด็จพระราชาคณะผู้อาวุโสสูงสุดโดยพรรษาในขณะนั้น จึงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่วันที่ 13 เมษายาน พ.ศ. 2532 จนสมเด็จพระพุฒาจารย์กลับจากปฏิบัติศาสนกิจ[6]
ลำดับสมณศักดิ์
- 1 มีนาคม พ.ศ. 2489 ตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรมุนี[7]
- พ.ศ. 2494 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม[8]
- พ.ศ. 2496 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพในราชทินนามเดิม[8]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราลังการ วิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมประสาธน์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ได้รับสถาปนาเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระธรรมปัญญาจารย์ ปริยัติญาณโสภณ วิมลศีลาจารวัตร พุทธปริษัทปสาทกร สุนทรธรรมวินยวาที ตรีปิฎกวิภูสิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[10]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระวันรัต ปริยัติพิพัฒนพงศ์ วิสุทธิสงฆปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี[11]
- พ.ศ. 2535 รัฐบาลพม่าถวายสมณศักดิ์ อัครมหาบัณฑิต
มรณภาพ
สมเด็จพระวันรัต มรณภาพด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 เวลา 06.30 น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริอายุได้ 88 ปี 362 วัน พรรษา 70 ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาสมเด็จ 80 ปี วัดโสมนัสราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานโกศไม้สิบสองประกอบศพ และรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 7 คืน[12]
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 มหาเถรประวัติ, หน้า 17
- ↑ 2.0 2.1 มหาเถรประวัติ, หน้า 19
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ, เล่ม 53, ตอน 0 ง, 10 มกราคม 2479, หน้า 2589
- ↑ ความรู้เรื่องวัดโสมนัสวิหารในแง่มุมต่าง ๆ ที่ควรทราบ, หน้า 188
- ↑ ความรู้เรื่องวัดโสมนัสวิหารในแง่มุมต่าง ๆ ที่ควรทราบ, หน้า 191
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, เล่ม 106, ตอนที่ 67 ง, 27 เมษายน 2532, หน้า 2,996
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม 63, ตอน 15 ง, 19 มีนาคม 2489, หน้า 356
- ↑ 8.0 8.1 มหาเถรประวัติ, หน้า 21
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 74, ตอน 107 ง, 17 ธันวาคม 2500, หน้า 2,946
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 84, ตอน 128 ก ฉบับพิเศษ, 30 ธันวาคม 2510, หน้า 1-6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 95, ตอน 34 ก ฉบับพิเศษ, 27 มีนาคม 2521, หน้า 1-4
- ↑ ประวัติและผลงานสมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺมมหาเถร), หน้า 89-94
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. ISBN 974-417-530-3
- พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ). ประวัติและผลงานสมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺมมหาเถร). กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2550. 260 หน้า.
- พระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ). ความรู้เรื่องวัดโสมนัสวิหารในแง่มุมต่าง ๆ ที่ควรทราบ. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2557. 223 หน้า.
- วัดโสมนัส ราชวรวิหาร. มหาเถรประวัติ: สมุดภาพ ประวัติ และคำสอนของสมเด็จพระวันรัต (จับ ตธมฺโม สุนทรมาศ ป.ธ. ๙). กรุงเทพฯ : วัดโสมนัส ราชวรวิหาร, 2558. 179 หน้า. หน้า 16-23.