สมเด็จพระราชินีนาถแห่งกัสติยา (ค.ศ. 1479–1555)
สมเด็จพระราชินีนาถฆัวนาแห่งกัสติยาและอารากอน (6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1479 – 12 เมษายน ค.ศ. 1555) หรือที่เรียกว่า ฆัวนาผู้บ้าคลั่ง (Juana la Loca) เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งกัสติยา ในปี ค.ศ. 1504 และสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอารากอน ในปี ค.ศ. 1516 จนกระทั่งสวรรคต ในปี ค.ศ. 1555 พระราชธิดาในพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 เมื่อมีพระชนมายุ 16 พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับฟิลลิพผู้ทรงโฉม อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1496 การอภิเษกสมรสเป็นไปเพื่อการสร้างความมั่นคงทางการเมืองของสเปน สานความสัมพันธ์กับราชวงศ์ต่าง ๆ ในยุโรปเช่นเดียวกัน กับการอภิเษกสมรสของพระโอรสธิดาองค์อื่น ๆ
ต้นเหตุและเรื่องราวแห่งความวิปลาส
หลังจากการอภิเษกสมรส เจ้าชายเฟลิเปพระราชสวามีของพระนางมีพระนิสัยเจ้าชู้มาก ไม่ค่อยสนใจพระนาง มักทำองค์ให้เจ้าหญิงฆัวนาทรงหึงพระองค์และทะเลาะกันบ่อยครั้งด้วยความรักพระราชสวามีอย่างมากจึงคอยติดตามตลอดเวลาไม่ว่าพระราชสวามีจะเสด็จที่ใด ต่อมาเมื่อเจ้าหญิงอีซาเบลและเจ้าชายฆวนพระเชษฐภคินีและพระเชษฐาที่ทรงสนิทสนมสิ้นพระชนม์ลงในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างมาก ทรงมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปเป็นทรงเก็บพระองค์มากขึ้น ใน ค.ศ. 1504 สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 เสด็จสวรรคตลง เจ้าหญิงฆัวนาจึงทรงขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระมารดาเป็นสมเด็จพระราชินีฆัวนา ในขณะที่พระราชบิดา พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอนยังมีพระชนม์ชีพอยู่
การสวรรคตของพระเจ้าเฟลิเป
ภายหลังพระเจ้าเฟลิเปที่ 1 แห่งกัสติยา (เฟลิเปรูปหล่อ) สวรรคตอย่างกะทันหันยังความโศกเศร้าพระทัยแก่พระนางฆัวนาเป็นล้นพ้น (มีการสันนิษฐานว่าอาจทรงต้องยาพิษ โดยพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 มีส่วนรู้เห็นด้วย)ทรงกันแสงและกรีดร้องตลอดเวลามิเป็นทรงงานราชการบริหารบ้านเมืองใด ๆ อีก ต่อมาจึงเริ่มมีกระแสข่าวลือไปทั่วว่าพระราชินีทรงอยู่กินกับพระบรมศพพระราชสวามี โดยทรงกอดและจุมพิตพระบรมศพทุก ๆ คืนแต่ความจริงคือพระนางทรงได้รับข่าวลือว่า พระบรมศพถูกขโมยไปจึงทรงเปิดดูเท่านั้น เมื่อมีการเคลื่อนย้ายพระบรมศพไปฝังยังเมืองกรานาดาทางตอนใต้ของสเปน พระนางมิให้หญิงใดเข้าใกล้พระบรมศพพระราชสวามี ทั้งนางกำนัล นางรับใช้ แม้แต่แม่ชีด้วยทรงหึงหวงพระราชสวามีมาก ตลอดเวลาที่เดินทางทรงสั่งให้เปิดดูพระบรมศพทุกวัน ถึงกับทรงกอดลูบพระบรมศพ จนเป็นที่น่าสังเวศแก่ข้าราชบริภารทั้งหลายที่เห็น
การถูกขัง
พระเจ้าเฟรนันโดที่ 2 พระราชบิดาจึงได้ดำเนินการเสนอต่อสภาประกาศให้ สมเด็จพระราชินีฆัวนา เป็นบุคคลไร้ความสามารถ จากการที่ทรงเสียพระสติและมีคำสั่งกักบริเวณสมเด็จพระราชินีนาถผู้เสียสติไว้ที่ปราสาททอเดซียัส แล้วรวบอำนาจในการปกครองมาไว้ที่พระองค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทน
ตำนาน
พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีในราชวงศ์ตรัสตามาราเองก็มีหลายพระองค์ที่ประสบชะตากรรมเช่นนี้ โดยมีเรื่องเล่าอ้างถึงเหตุที่ต้องเป็นไปเช่นนี้จากคำสาปในช่วงที่มีการรวมชาติสเปนในปี ค.ศ. 1479 โดยการสมรสกันระหว่าง พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 เป็นการรวมอาณาจักรใหญ่ 2 อาณาจักรบนคาบสมุทรไอบีเรียเข้าด้วยกันสร้างความแข็งแกร่งแก่อาณาจักรคริสต์เพื่อต่อต้านมุสลิมและชาวยิว ซึ่งภายหลังเหลือที่มั่นสุดท้ายอยู่ที่กรานาดาในขณะที่อาณาจักรคริสต์แผ่ขยายอำนาจรุกคืบลงไปยึดพื้นที่คืนมาจากพวกมัวร์ ในที่สุดก็สามารถยึดกรานาดาได้ในปี ค.ศ. 1492 แค่ช่วงที่เข้ายึด (กรานาดาแตก) ก็ปรากฏว่ามีการสังหารชาวยิวและมุสลิมจำนวนมากที่หนีออกจากกรานาดาไม่ทัน มีการออกพระราชกฤษฎีกาอารัมบา ให้ชาวยิวเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์โรมันคาทอลิกไม่ก็ต้องออกไปจากสเปน ซึ่งต่อมาพวกมุสลิมก็ต้องทำตามด้วยเมื่อมีผู้ไม่ปฏิบัติตามจึงเกิดการประหารชาวยิวและมุสลิมเป็นจำนวนมากในช่วงนั้น มีเรื่องเล่าว่าในการประหารชีวิตชาวยิวที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา ซึ่งครานั้นพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีเสด็จทอดพระเนตรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์, ขุนนางและข้าราชบริพารจุดไฟเผาชาวยิวทั้งเป็น มีชาวยิวที่โกรธแค้นผู้หนึ่งตะโกนสาปแช่งออกมาจากกองไฟขณะถูกเผาว่าขอให้พระราชวงศ์ของพระองค์วิบัติในที่สุด ว่ากันว่าพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 ถึงกับตกพระทัย ตะลึงถึงกับประชวรพระวาโยตกจากพระเก้าอี้ และนี่คงเป็นต้นเหตุคำสาปวิปลาสแห่งราชวงศ์สเปนเพราะหลังจากนั้นไม่กี่ปีเจ้าชายฆวน และเจ้าหญิงอีซาเบลผู้เป็นพระมเหสีในพระเจ้ามานูแวลที่ 1 พระเชษฐาและพระเชฐภคินีของเจ้าหญิงฆัวนาก็สิ้นพระชนม์ในเวลาอันไล่เลี่ยกัน และไม่กี่ปีต่อมาเจ้าชายมีเกลพระโอรสของเจ้าหญิงอีซาเบลก็สิ้นพระชนม์ สร้างความปวดร้าวใจแก่สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลพระราชมารดาเป็นอย่างมาก
กลับเข้าสู่เรื่อง
มิเพียงสมเด็จพระราชินีนาถฆัวนาเท่านั้นที่มีการกล่าวว่าทรงเสียสติ แม้แต่พระมารดา สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลเองก็มีพระอาการเช่นนี้อ่อน ๆ เหมือนกัน และเชื้อสายราชวงศ์นี้ส่วนมากก็จะมีพระชนม์ไม่ยืนยาวและไม่ค่อยสมประกอบแม้แต่สมเด็จพระอัยยิกาของเจ้าหญิงฆัวนาเองก็มีพระสติวิปลาสเช่นกัน
บั้นปลายพระชนม์
ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและการสวรรคต
สมเด็จพระราชินีนาถฆัวนาทรงให้พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ โดยพระนางเป็นผู้สำเร็จราชการปกครองร่วมกับพระราชโอรสพระเจ้าการ์โลสที่ 1ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1510 พระนางเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1555 พระบรมศพประดิษฐานอยู่ที่กรานาดา
พระราชโอรส/ธิดา
พงศาวลี
พงศาวลีของสมเด็จพระราชินีนาถฆัวนาแห่งกัสติยา
|
|
ดูเพิ่ม