สมัย ปานอินทร์

สมัย ปานอินทร์
เกิดสมหมาย อินทร์คชสาร
พ.ศ. 2483
ประเทศไทย
เสียชีวิต23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 (อายุ 59 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการยิง
ชื่ออื่นเอียง
พิศสมัย
เจ้าแม่ล็อก 4
มีชื่อเสียงจากเป็นนักโทษประหารหญิงคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าโดยประเทศไทย
ส่วนสูง164 cm (5 ft 5 in)
สถานะทางคดีถูกประหารชีวิต
พิพากษาลงโทษฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 เพื่อจำหน่าย
บทลงโทษประหารชีวิต
คู่หูนางสมใจ ทองโอ
นางมาลี เดชาภิรมย์
นายอรุณศักดิ์ หงษ์สร้อยคำ
ด.ช.เล็ก (นามสมมุติ)
วันที่ถูกจับ
30 มิถุนายน พ.ศ. 2537
จำคุกที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

สมัย ปานอินทร์ ( พ.ศ. 2483 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542) เป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิตหญิงคนที่ 3 ของประเทศไทย ในความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีน โดยเป็นนักโทษประหารหญิงคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในประเทศไทย โดยเธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ถูกประเทศไทยประหารชีวิตในรอบ 20 ปีหลังจากกิ่งแก้ว ลอสูงเนินถูกประหารชีวิตในปี พ.ศ. 2522 และยังเป็นบุคคลแรกที่ถูกประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งถูกตัดสินโดยศาล ไม่ใช่คำสั่งพิเศษ[1][2]

ประวัติ

สมัยเกิดที่ประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ. 2483 เธอไม่ได้เรียนหนังสือ โดยเธอได้มีส่วนร่วมในการค้าขายยาเสพติดกับครอบครัวของนางสมใจ ทองโอ โดยสมาชิกในครอบครัวของสมใจทุกคนมีส่วนร่วมในการค้าขายเฮโรอีน ซึ่งระพิน พุ่มเมืองสามีของสมใจ ลูกชายและลูกสาวของสมใจถูกจับกุมในข้อหาจำหน่ายยาเสพติด และถูกคุมขังในเรือนจำ แต่ระพินไม่สามารถทนความยากลำบากระหว่างติดคุกที่เรือนจำกลางบางขวาง จึงกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการแขวนคอภายในเรือนจำ เมื่อปีพ.ศ. 2534 โดยเฮโรอีนถูกรับซื้อมาจากพ่อค้ายาเสพติดจากภาคเหนือจำนวน 15 -20 ถุงต่อครั้ง แล้วนำมาแบ่งใส่หลอดขาย ซึ่งสมัยจะนำเฮโรอีนไปขายที่ชุมชนคลองเตยล็อกที่ 4 ทำให้เธอได้รับฉายาว่าเจ้าแม่ล็อก 4 ซึ่งเธอได้นำเฮโรอีนไปขายมาเป็นเวลานานแล้ว[3]

ก่อนที่เธอจะถูกจับกุมในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2537 เธอมีประวัติอาชญกรรมที่ถูกเก็บบันทึกไว้ในฐานข้อมูลด้านทะเบียนอาชญกรรมทั้งหมด 12 คดี ได้แก่ คดีแรกในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2508 เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ แผนก ๒ กก.๗ป. จับกุมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและถูกศาลอาญาตัดสินจำคุก 4 เดือน คดีที่สองเธอถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 ในความผิดฐานรับของโจร เหตุเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร คดีที่สามเธอถูกสถานีตำรวจนครบาลท่าเรือจับกุมในข้อหาการพนันไพ่แปดเก้า เธอถูกตัดสินจําคุก 45 วัน ปรับ 800 บาท ให้รอลงอาญา เป็นเวลา 1 ปี ส่วนคดีที่ 4 - 12 เธอถูกจับกุมในข้อหาการพนันไพ่ป็อกแปดเก้ากับไพ่ผสมสิบ ยกเว้นคดีที่ 6 ซึ่งเธอถูกจับกุมในข้อหาเป็นภัยต่อสังคม[4]

การจับกุมและการพิจารณาคดี

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2537 สมัย ซึ่งในขณะนั้นอายุ 54 ปี พร้อมกับนางมาลี เดชาภิรมย์ อายุ 39 ปี , นางสมใจ ทองโอ อายุ 56 ปี , เด็กชายเล็ก (นามสมมุติ) อายุ 14 ปี และนายอรุณศักดิ์ หงษ์สร้อยคำ อายุ 20 ปี ถูกจับกุมที่บ้านในซอยรามอินทรา 15 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ระหว่างการตรวจค้นที่บ้าน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสืบสวนจนพบว่ามีการลักลอบขายยาเสพติด จึงออกหมายค้นและนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจค้นบ้าน จากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบ เฮโรอีนตราสิงห์โตคู่เหยียบโลก 5 ถุง น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม เฮโรอีนบรรจุในหลอดพลาสติก 2800 หลอด, วิทยุติดตามตัว 1 เครื่อง, หลอดพลาสติก 5000 หลอดและโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง[5][6]

ในการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สมัยได้ให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่า เดินทางมาที่บ้านเพื่อขอยืมเงินจากสมใจไปซื้อบ้าน โดยขณะลงจากบันไดเพื่อออกจากบ้านก็ถูกจับกุม ซึ่งตนเองไม่รู้เรื่องอะไรเลย ส่วนสมใจได้สารภาพว่าค้าขายเฮโรอีนทั้งครอบครัว ซึ่งเฮโรอีนทั้งหมดในบ้านซื้อมาจากพ่อค้ายาเสพติดในภาคเหนือ แล้วนำเฮโรอีนบรรจุใส่หลอดเพื่อนำไปขายยังชุมชนคลองเตย หลังจากการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สรุปสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานส่งให้อัยการเพื่อสั่งฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้[7]

ต่อมาศาลชั้นต้นได้พิพาษาประหารชีวิตสมัย โดยสมใจ และอรุณศักดิ์ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต มาลีถูกตัดสินจำคุก 50 ปี ส่วนเด็กชายเล็ก ถูกศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาให้กักขังที่สถานพินิจเด็กและเยาวชน ต่อมาสมัยได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อขอลดโทษ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนประหารชีวิต จึงยื่นฎีกาแต่ศาลฎีกาพิพากษายืนประหารชีวิต เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2541 เธอจึงทำหนังสือทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ แต่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นให้ยกฎีกาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2542 เนื่องจากประวัติการจับกุม 12 ครั้งของเธอ[8][9]

การประหารชีวิต

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 เมื่อเวลา 16.10 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ย้ายตัวสมัยจากทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพมหานคร ไปยังเรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของเรือนจำกลางบางขวางได้เบิกตัวสิบเอกประยุทธ ผลพันธ์ในความผิดฐานฆาตกรรมแพทย์ประจำโรงพยาบาลรวมแพทย์ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อปี พ.ศ. 2537[10] และตะปอยโฮ ชาวกะเหรี่ยงผู้ก่อเหตุฆาตกรรมอดีตภรรยาและลูกของเธอ 2 คน ที่อำเภอสีคิ้ว เมื่อปี พ.ศ. 2539[11] จากแดนที่ 1 มายังหมวดผู้ช่วยเหลือ เมื่อสมัยนั่งลงบนเก้าอี้ในหมวดผู้ช่วยเหลือ สมัยก็ทราบว่าจะถูกประหารชีวิต ทำให้เธอร้องไห้ออกมา ประยุทธซึ่งนั่งอยู่ด้านข้างจึงพูดปลอบใจว่า"อย่าร้องไห้ไปเลยครับ พวกผม 2 คนก็กำลังจะถูกประหารชีวิตเหมือนกัน พวกเราทำความผิดไว้ ผลกรรมก็ต้องตามมาเป็นเรื่องธรรมดา" ซึ่งประยุทธได้ถามสมัยว่ากระทำความผิดอะไรซึ่งเธอตอบว่าคดีผงขาว ซึ่งเธอไม่รู้ตัวว่าจะถูกนำตัวมาประหารชีวิต สมัยได้ขอพี่เลี้ยงเพื่อคุยโทรศัพท์กับลูกสาว แต่คำขอก็ถูกปฏิเสธเนื่องจากผิดกฎระเบียบของเรือนจำ หลังจากพิมพ์ลายนิ้วมือและอ่านคำสั่งยกฎีกา สมัยเขียนจดหมายและพินัยกรรมได้ช้าเนื่องจากไม่เคยเรียนหนังสือจึงให้เจ้าหน้าที่ของทัณฑสถานหญิงกลางเขียนให้ตามคำบอก โดยมีใจความว่า"ขอให้ลูกๆทุกคนอย่าได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ขอให้ดูแม่เป็นตัวอย่าง เงินทองที่ค้าขายยาเสพติดมาได้นั้น ไม่คุ้มค่ากับการที่ต้องมาวิ่งเต้นสู้คดี สุดท้ายชีวิตก็ต้องมาสูญสิ้นไปอีก" หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำอาหารมื้อสุดท้ายมา แต่นักโทษทั้งสามไม่มีใครรับประทานอาหารมื้อสุดท้าย สมัยได้ขอเหล้า เพื่อให้จิตใจมีความกล้าเพิ่มขึ้น แต่ก็ถูกปฏิเสธเนื่องจากกฎระเบียบของเรือนจำ จึงขอกาแฟแทนและได้กินส้มที่เจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์หญิงมอบให้สมัย แล้วเธอได้ขอบุหรี่มาสูบเพื่อพยายามควบคุมอารมณ์ของตนเอง[12] หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้นำตัวของทั้งสามคนไปฟังเทศน์ ก่อนจะนำสมัยมาประหารชีวิตก่อนเป็นคนแรก หลังจากนำตัวของสมัยมัดกับหลักประหาร เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้กระซิบบอกลาและให้ท่องพุทโธไว้ สมัยจึงท่องพุทโธออกมาเสียงดัง ทำให้เจ้าหน้าที้พี่เลี้ยงกระซิบบอกสมัยให้ท่องพุทโธในใจ สมัยจึงตอบกลับว่าจะให้ท่องในใจใช่ไหม ได้ตกลง[13]สมัยถูกประหารชีวิตเมื่อเวลา 17.45 น. โดยเพชรฆาต เชาวเรศน์ จารุบุณย์ ใช้กระสุนจำนวน 7 นัด สำหรับสมัย[14] หลังจากนั้นจึงนำตัวประยุทธ์และตะปอยโฮมาประหารชีวิตพร้อมกัน โดยประยุทธกับตะปอยโฮ ถูกประหารชีวิตเมื่อเวลา 18.10 น.[15] โดยสมัยนับเป็นนักโทษประหารหญิงคนล่าสุดที่ถูกประหารชีวิตในประเทศไทย และเป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิตคนที่ 294 ของประเทศไทยด้วยการยิงเป้า[16][17][18][19][20][4]

เชาวเรศน์ จารุบุณย์ได้กล่าวถึงการประหารชีวิตสมัยว่า "เจ้าหน้าที่หลายๆคนสงสารสมัย และบางคนถึงกับขอถอนตัว"[21]

อ้างอิง

  1. นักโทษประหาร...ในบันทึก'เพชฌฆาต'
  2. รายนามเพชฌฆาตที่ทำหน้าที่ยิงเป้า ของเรือนจำกลางบางขวาง
  3. คำสารภาพของนักโทษประหาร
  4. 4.0 4.1 ปิดตำนานเพชฌฆาต, p. 251-264
  5. ON NOVEMBER 23, SAMAI PAN-INTARA, 59, A CONVICTED DRUG...
  6. NEWS - Thailand executes first woma
  7. นักโทษประหาร...ในบันทึก'เพชฌฆาต'
  8. คำสารภาพของนักโทษประหาร
  9. The Last Executioner Page 1
  10. ON NOVEMBER 23, SAMAI PAN-INTARA, 59, A CONVICTED DRUG...
  11. PUBLIC AI Index: ASA 39/05/99 24 November 1999 ...
  12. The Last Executioner Page 15
  13. “เจ้าแม่ล็อก4” คำพิพากษาสั่งตาย นักโทษประหารหญิงคนสุดท้าย
  14. "Newsmakers: Making News Why Just Jimmy Lai". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-17. สืบค้นเมื่อ 2023-12-17.
  15. Execution of woman is first in 20 years
  16. คำสารภาพของนักโทษประหาร
  17. รายนามเพชฌฆาตที่ทำหน้าที่ยิงเป้า ของเรือนจำกลางบางขวาง
  18. ลมหายใจ "เพชฌฆาต"...เชาวเรศน์ จารุบุณย์
  19. ACTION URGENTE
  20. NEWS - Thailand executes first woman
  21. นักโทษประหาร...ในบันทึก'เพชฌฆาต'

บรรณานุกรม

  • อรรถยุทธ พวงสุวรรณ (2546). คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร. กรุงเทพ: มติชน. ISBN 9743229752.
  • 'เชาวเรศน์ จารุบุณย์ (2553). ปิดตำนาน เพชณฆาต. กรุงเทพ: Thinkplus. ISBN 978-974-235-886-0.
ก่อนหน้า
สมคิด วรรณโชติ , อนันต์ โคตรสมบัติ , สุรศักดิ์ ยิตซัง , อำนาจ เอกพจน์ และ สมพร เชยชื่นจิตร
บุคคลที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในประเทศไทย
สมัย ปานอินทร์ , ประยุทธ ผลพันธ์ และ ตะปอยโฮ
ถัดไป
ลาวิน
ก่อนหน้า
กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน
ผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2477
สมัย ปานอินทร์
ถัดไป
ไม่มี

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!