สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)Highland Research and Development Institute (Public Organization) |
ตราสัญลักษณ์ของสถาบัน |
ที่ทำการของสถาบัน |
ภาพรวมสถาบัน |
---|
ก่อตั้ง | 15 ตุลาคม พ.ศ. 2548; 19 ปีก่อน (2548-10-15) |
---|
สถาบันก่อนหน้า | |
---|
ประเภท | องค์การมหาชน |
---|
เขตอำนาจ | เขตพัฒนาพื้นที่สูง |
---|
สำนักงานใหญ่ | - เลขที่ 65 หมู่ 1 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
- ชั้น 8 อาคารกรมวิชาการเกษตร ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
|
---|
งบประมาณต่อปี | 531,643,300 บาท (พ.ศ. 2568)[1] |
---|
ฝ่ายบริหารสถาบัน | - วิรัตน์ ปราบทุกข์, ผู้อำนวยการ
- เพชรดา อยู่สุข, รองผู้อำนวยการ
- อาณดา นิรันตรายกุล, รองผู้อำนวยการ
|
---|
ต้นสังกัดสถาบัน | กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |
---|
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของสถาบัน |
---|
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. (อังกฤษ: Highland Research and Development Institute (Public Organization)) เป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทองค์การมหาชน มีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่
ความหมายของพื้นที่สูง
ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 ให้ความหมายของพื้นที่สูงว่า "พื้นที่ที่เป็นภูเขา หรือพื้นที่ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลห้าร้อยเมตรขึ้นไป หรือพื้นที่ที่อยู่ระหว่างพื้นที่สูงตามที่คณะกรรมการกำหนด"
พื้นที่สูงในประเทศไทยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 67.22 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 53 ของพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน แพร่ น่าน ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เลย สุโขทัย กำแพงเพชร กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี พื้นที่ตั้งชุมชนบนที่สูงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ประมาณร้อยละ 88 ของหมู่บ้านมีการคมนาคมยากลำบาก ทำให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปดำเนินงานบนพื้นที่สูงได้ไม่ทั่วถึง นอกจากนี้พื้นที่สูงยังคงมีปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย และการบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง
ในเชิงสังคม ประชากรบนพื้นที่สูงประกอบด้วยชาวเขาเผ่าต่าง ๆ 15 เผ่า มีจำนวนประชากรประมาณ 1,070,354 คน (ประมาณ 270,886 ครัวเรือน) ใน 4,205 กลุ่มบ้านใน 20 จังหวัด (สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง, 2561) โดยส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในจังหวัดภาคเหนือ 13 จังหวัด จำนวน 851,282 คน หรือร้อยละ 88.22 ของประชากรชาวเขาทั้งประเทศ โดยจังหวัดเชียงใหม่มีชาวเขามากที่สุด จำนวน 244,291 คน (ร้อยละ 25.31) รองลงมาคือจังหวัดตากและจังหวัดเชียงราย มีจำนวน 130,065 คน และ 130,054 คน ตามลำดับ (ร้อยละ 13.47)
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนงานโครงการหลวงและขยายผลงานโครงการหลวงในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมบนที่สูงของประเทศไทยให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน โดยมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2548[2] เพื่อเป็นกระบวนการและกลไกในการเสริมสร้างงานวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรม การเสริมสร้างและการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น การเก็บรักษาคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ การถ่ายทอดองค์ความรู้จากโครงการหลวง และการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนบนพื้นที่สูง ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู ป่าต้นน้ำลำธาร รวมทั้งการแลกเปลี่ยนทางวิชาการในระดับนานาชาติเพื่อ ให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม ในอันที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ขยายวัตถุประสงค์ให้สามารถบริหารจัดการสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองครองราชย์ 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา[3] และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสวนแห่งนี้ว่า อุทยานหลวงราชพฤกษ์ และต่อมาสำนักราชเลขาธิการแจ้งชื่อภาษาอังกฤษว่า "Royal Park Rajapruek"[4][5]
พื้นที่เป้าหมาย
- สถาบันได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในระยะแรก เพื่อการถ่ายทอดความรู้และการพัฒนาเป็น 4 พื้นที่ คือ พื้นที่โครงการหลวง พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง พื้นที่โครงการ "รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน" และพื้นที่โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการหลวงและพัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูง และได้เพิ่มพื้นที่ดำเนินงานที่ได้รับการสนับสนุนงานประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะ ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน น่าน กำแพงเพชร แพร่ ตาก ลำปาง อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก โดยมีจำนวนกลุ่มบ้าน 1,066 กลุ่มบ้าน ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำ 8 ลุ่มน้ำหลัก 48 ลุ่มน้ำสาขา
ภารกิจหลัก
สนับสนุนและรักษาซึ่งพันธกิจของโครงการหลวงในการวิจัยและพัฒนา เผยแพร่และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
- ด้านงานวิจัย เพื่อสนับสนุนงานวิจัยโครงการหลวง และการวิจัยและพัฒนาผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รวมทั้งเพื่อพัฒนาองค์ความรู้จากความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
- ด้านงานส่งเสริมและขยายผล โดยการนำองค์ความรู้โครงการหลวงและเชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัย เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และนำไปสู่การพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงให้เกิดความยั่งยืน
- ด้านงานพัฒนาเครือข่ายและความเป็นหุ้นส่วนในความร่วมมือด้านต่าง ๆ โดยการสร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนงานวิจัย งานพัฒนา อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ทั้งภายในสถาบัน โครงการหลวง และหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
- ด้านงานพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์ให้เป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้และเป็นจุดเชื่อมโยงการแสดงผลงานวิจัยและพัฒนา ผลงานโครงการหลวงและพื้นที่สูง
- ด้านงานบริหารและพัฒนาองค์กร เพื่อเสริมสร้างองค์กรให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง
อ้างอิง