สถาบันมัคส์ พลังค์ เพื่อจิตเวชศาสตร์ (เยอรมัน : Max-Planck-Institut für Psychiatrie ) เป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ ปัจจุบันอำนวยการโดยเอลีซาเบ็ท บินเดอร์ (Elisabeth Binder) และ Alon Chen สถาบันแห่งนี้เป็นหนึ่งในสถาบัน 81 แห่งในสมาคมมัคส์ พลังค์ [ 1]
ประวัติ
สถาบันก่อตั้งขึ้นในฐานะสถาบันวิจัยจิตเวชแห่งเยอรมนี (เยอรมัน : Deutsche Forschungsanstalt für Psychiatrie ) โดยพระเจ้าลูทวิชที่ 3 แห่งบาวาเรีย ในมิวนิก เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 กำลังหลักที่อยู่เบื้องหลังสถาบันคือจิตแพทย์เอมิล เครเพลิน (Emil Kraepelin)[ 2] [ 3] [ 4] ในคริสต์ทศวรรษ 1930 สถาบันได้รับเงินทุนจำนวนมากจากเจมส์ โลเอ็บ[ 5] เช่นเดียวกันจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ในปี ค.ศ. 1924 สถาบันได้เข้าร่วมกับสมาคมไกเซอร์-วิลเฮ็ล์มเพื่อการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ (เยอรมัน : Kaiser-Wilhelm-Gesellschaft zur Förderung der Wissenschaften )
ในปี 1928 มีการเปิดอาคารใหม่ของสถาบัน ณ เลขที่ 2 ถนนคราเอเพอลีน อาคารนี้ได้รับทุนสนับสนุนหลักจากการบริจาค 325,000 ดอลลาร์โดยมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ภายใต้การนำของหัวหน้าแผนก Walther Spielmeyer, Ernst Rüdin, Felix Plaut, Kurt Schneider และ Franz Jahnel สถาบันได้รับชื่อเสียงระดับนานาชาติในฐานะสถาบันชั้นนำด้านการวิจัยทางจิตเวช[ 6]
แอร์นสท์ รือดิน (Ernst Rüdin) ผู้เป็นนักศึกษาของ Kraepelin เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันในปี ค.ศ. 1931 ในขณะที่ยังเป็นหัวหน้าฝ่ายพันธุศาสตร์อีกด้วย นอกเหนือจากการส่งเสริมชื่อเสียงทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ สถาบันได้พัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระบอบนาซี รือดิน (พร้อมด้วยออยเกน ฟิชเชอร์ (Eugen Fischer) จากสถาบันไกเซอร์วิลเฮล์มเพื่อมานุษยวิทยา กรรมพันธุ์มนุษย์ และสุพันธุศาสตร์ ) เข้าร่วมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาล รือดินเขียนคำอธิบายอย่างเป็นทางการซึ่งสนับสนุนกฎหมายบังคับทำหมัน เขาเป็นผู้สนับสนุนตัวยงที่เพื่อนร่วมงานเรียกเขาว่า "Reichsführer for Sterilization" (ผู้นำจักรวรรดิด้านการทำหมัน)[ 7] [ 8] Felix Plaut (ในปี ค.ศ. 1935) และ Kurt Neubürger ถูกไล่ออกจากสถาบันเนื่องจากเป็นชาวยิว[ 6] [ 9] สำเนาบันทึกการบรรยายของรือดินแสดงให้เห็นว่าการสอนของเขาที่สถาบันมีลักษณะต่อต้านกลุ่มเซมิติก [ 10] สถาบันได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้รับการวางโครงการอย่างเปิดเผยเพื่อส่งเสริมเป้าหมายของระบอบนาซี[ 11] กองทุนสถาบันบางกองทุนดูเหมือนใช้ไปเพื่อสนับสนุนงานของ Julius Duessen กับ Carl Schneider พนักงานสถาบันที่มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค ซึ่งเป็นงานวิจัยทางคลินิกที่เริ่มต้นเกี่ยวกับการฆาตกรรมเด็ก[ 12] [ 8] [ 13] [ 14]
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งอำนวยความสะดวกของสถาบันได้รับความเสียหายอย่างหนัก[ 6] หลังสงคราม รือดินอ้างว่าเขาเป็นเพียงนักวิชาการ ได้ยินแต่เพียงข่าวลือเรื่องการสังหารผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลใกล้เคียง และเขาเกลียดชังพวกนาซี เขาได้รับการสนับสนุนจากอดีตเพื่อนร่วมงานของสถาบัน Josef Kallmann (ซึ่งเป็นนักสุพันธุศาสตร์) ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวโดยเสียค่าปรับ 500 มาร์คเยอรมัน [ 10]
ในปี ค.ศ. 1954 สถาบันถูกรวมเข้ากับสมาคมมัคส์ พลังค์ (ในฐานะสถาบันต่อเนื่องของสมาคมไกเซอร์-วิลเฮ็ล์มเพื่อการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ ภายใต้การบำรุงรักษาสมาคมของปี 1917) สถาบันถูกแบ่งออกเป็นสถาบันพยาธิวิทยาสมองและสถาบันทางคลินิก ทั้งสองแห่งตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนน Kraepelinstraße สิบสองปีต่อมาในปี ต.ศ. 1966 สถาบันได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันมัคส์ พลังค์ เพื่อจิตเวชศาสตร์ ในปีเดียวกันมีการเปิดคลินิกวิจัยแห่งใหม่ ณ เลขที่ 10 ถนน Kraepelinstraße[ 6]
ในปี ค.ศ. 1984 ได้มีการปรับปรุงแผนกภายในสถาบันขนานใหญ่ แผนกทฤษฎีของสถาบันถูกย้ายไปที่อาคารใหม่ในเขตมาร์ทินส์รีด ทางตะวันตกของเมืองมิวนิก แผนกประสาทเคมี ประสาทสัณฐานวิทยา ประสาทเภสัชวิทยา และประสาทสรีรวิทยาถูกย้ายไปที่ดังกล่าว แผนกคลินิก แผนกพฤติกรรมวิทยาและจิตวิทยายังคงอยู่ที่ถนน Kraepelinstraße ส่วนศูนย์วิจัยอิสระจิตพยาธิวิทยาและจิตบำบัดถูกปิดลง[ 6]
ในปี ค.ศ. 1989 อาคารของสถาบันที่ถนน Kraepelinstraße ได้รับการปรับปรุงและถูกขยายด้วยการเพิ่มปีกห้องปฏิบัติการใหม่[ 6]
ในปี ค.ศ. 1998 ได้มีการแยกแผนกทฤษฎีและแผนกคลินิกของสถาบันออกจากกัน แผนกทฤษฎีของสถาบันถูกตั้งชื่อใหม่เป็นสถาบันประสาทวิทยามัคส์ พลังค์ โดยที่แผนกคลินิกยังคงใช้ชื่อเดิมคือ "สถาบันมัคส์ พลังค์ เพื่อจิตเวชศาสตร์"[ 6]
การวิจัย
สถาบันเป็นหนึ่งในศูนย์วิจัยชั้นนำด้านจิตเวชศาสตร์ แพทย์ นักจิตวิทยา และนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ทำการวิจัยเกี่ยวกับจิตเวชและการพัฒนาการวินิจฉัยและการรักษา[ 15]
ในแต่ละปีมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในเส้นทางทางคลินิกที่แตกต่างกัน การเก็บข้อมูลด้านรูปแบบปรากฏ ของผู้ป่วยที่ครอบคลุมพร้อมการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดและของเหลว จิตพยาธิวิทยาทางคลินิกและการทดสอบทางประสาทจิตวิทยา วิธีการทางประสาทสรีรวิทยา เทคนิคการสร้างภาพประสาท และการวิเคราะห์โปรตีนและยีนถูกใช้เป็นพื้นฐานในการตรวจสอบสาเหตุของโรคทางจิตเวชและระบบประสาทที่ซับซ้อน[ 15]
แนวคิดของสถาบันอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการวิจัยทางคลินิกและห้องปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยทำงานในหัวข้อต่าง ๆ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะความเครียดผิดปกติหลังเหตุสะเทือนใจ ภาวะซึมเศร้า จิตเภสัชวิทยา การหลับ และหัวข้ออื่น ๆ[ 16]
สถาบันประกอบด้วยคลินิกขนาด 120 เตียงพร้อมห้องปฏิบัติการวิจัยเกี่ยวกับสรีรวิทยาการนอนหลับ หอผู้ป่วยพิเศษหลายแห่ง คลินิกกลางวันสำหรับภาวะซึมเศร้าและจิตเวช และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ สำหรับชีววิทยาเซลล์และโมเลกุล[ 16]
บริการทางการแพทย์
สถาบันให้บริการทางการแพทย์สำหรับความผิดปกติทางจิตเวชและระบบประสาท มีโรงพยาบาล คลินิกกลางวันสำหรับภาวะซึมเศร้าและจิตเวช และคลินิกผู้ป่วยนอกหลายแห่ง โรงพยาบาลประกอบด้วยหอผู้ป่วยแผนกจิตเวช 4 แห่งและแผนกประสาท 1 แห่งรวม 120 เตียง รักษาผู้ป่วยในประมาณ 2,000 คนต่อปี[ 17]
สถาบันยังให้การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล ความผิดปกติของการนอนหลับ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคมอร์บัสพาร์กินสัน เป็นต้น[ 17]
อ้างอิง
↑ "Max Planck Institutes" . Max Planck Society. สืบค้นเมื่อ 2014-07-29 .
↑ Engstrom, Eric J., Wolfgang Burgmair, and Matthias M. Weber. "Psychiatric Governance, Völkisch Corporatism, and the German Research Institute of Psychiatry in Munich (1912–26)." History of Psychiatry 27, no. 1/2 (2016): 38-50, 137-52.
↑ Engstrom, Eric J et al. "Psychiatrie und Politik im Dienste des deutschen Volkes." In Emil Kraepelin: Kraepelin in München II, 1914-1921, ed. Wolfgang Burgmair, Eric J. Engstrom and Matthias M. Weber, 17-82. Munich: Belleville, 2009.
↑ Engstrom, Eric J. et al. "Wissenschaftsorganisation als Vermächtnis." In Emil Kraepelin: Kraepelin in München, Teil III: 1921-1926, edited by Wolfgang Burgmair, Eric J. Engstrom, and Matthias Weber, 17-71. Munich: belleville, 2013.
↑ Burgmair, Wolfgang, and Matthias M. Weber. "'Das Geld ist gut angelegt, und du brauchst keine Reue zu haben': James Loeb, ein deutsch-amerikanischer Wissenschaftsmäzen zwischen Kaiserreich und Weimarer Republik." Historische Zeitschrift 277 (2003): 343-378.
↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 "History of the Institute" . Max Planck Institute of Psychiatry. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2008-12-22. สืบค้นเมื่อ 2008-08-05 .
↑ Science and Inhumanity: The Kaiser-Wilhelm/Max Planck Society William E. Seidelman MD, 2001
↑ 8.0 8.1 The Missing Gene Jay Joseph , 2006, pg142-
↑ Hippius, Hanns; Hans-Jürgen Möller; Norbert Müller; Gabriele Neundörfer-Kohl (2007). The University Department of Psychiatry in Munich: From Kraepelin and His Predecessors to Molecular Psychiatry . Springer. p. 94. ISBN 978-3-540-74016-2 .
↑ 10.0 10.1 Genetic Research in Psychiatry and Psychology Under the Microscope Jay Joseph. Pg 33-, 48. Original source: Created Nazi Science of Murder Victor H Berstein, 1945, August 21, PM Daily
↑ Baltic Eugenics: Bio-Politics, Race and Nation in Interwar Estonia, Latvia and Lithuania 1918-1940 : Volker Roelcke: 3. Eliot Slater and the Institutionalization of Psychiatric Genetics in the United Kingdom pg 304
↑ Man, Medicine, and the State Pg 73-
↑ Medicine and Medical Ethics in Nazi Germany: Origins, Practices, Legacies Chapter by V. Roelcke, Pg106
↑ Program and practice of psychiatric genetics at the German Research Institute of Psychiatry under Ernst Rudin: on the relationship between science, politics and the concept of race before and after 1993 by V. Roelcke, 2002
↑ 15.0 15.1 "Research" . Max Planck Institute of Psychiatry. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-07-29. สืบค้นเมื่อ 2014-07-29 .
↑ 16.0 16.1 "Profile" . Max Planck Institute of Psychiatry. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-07-29. สืบค้นเมื่อ 2014-07-29 .
↑ 17.0 17.1 "Medical services" . Max Planck Institute of Psychiatry. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-07-29. สืบค้นเมื่อ 2014-07-29 .
แหล่งข้อมูลอื่น
48°10′25.16″N 11°34′34.09″E / 48.1736556°N 11.5761361°E / 48.1736556; 11.5761361