ศิลปะและสถาปัตยกรรมเมรอแว็งเฌียง

ถ้วยทองจากขุมทรัพย์กูร์ดอง
หอศีลจุ่มแซงต์-ฌอง, ปัวติเยร์

ศิลปะและสถาปัตยกรรมเมรอแว็งเฌียง (อังกฤษ: Merovingian art and architecture) คือศิลปะและสถาปัตยกรรมของราชวงศ์เมรอแว็งเฌียงของแฟรงก์ที่รุ่งเรืองระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ในบริเวณที่ปัจจุบันคือฝรั่งเศสและเยอรมนี

การเรืองอำนาจของราชวงศ์เมรอแว็งเฌียงในบริเวณกอลในคริสต์ศตวรรษที่ 5 นำความเปลี่ยนแปลงอันสำคัญมาสู่งานศิลปะ แต่ประติมากรรมถอยหลังไปเป็นเพียงงานแกะตกแต่งโลงหิน, แท่นบูชา และเฟอร์นิเจอร์ทางศาสนาอย่างง่าย ๆ แต่งานทองและงานศิลปะสาขาใหม่--การคัดเขียนหนังสือวิจิตร—ผสานงานวาดรูปสัตว์แบบ “อนารยชน” เข้ามาด้วย พร้อมด้วยลวดลายแบบตอนปลายสมัยโบราณ และอิทธิพลที่มาจากแดนไกลเช่นจากซีเรียและไอร์แลนด์ผสานเข้ามาในศิลปะเมรอแว็งเฌียง

สถาปัตยกรรม

การรวมราชอาณาจักรแฟรงก์ภายใต้โคลวิสที่ 1 (ราว ค.ศ. 466ค.ศ. 511) และผู้สืบครองต่อมาตรงกับช่วงเวลาที่เกิดความต้องการสูงในการสร้างคริสต์ศาสนสถานโดยเฉพาะสำนักสงฆ์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำนาจใหม่ของสถาบันคริสต์ศาสนาของสมัยเมรอแว็งเฌียง โครงสร้างมักจะต่อเนื่องมาจากธรรมเนียมการสร้างบาซิลิกาแบบโรมันแต่ก็แฝงอิทธิพลจากแดนไกลที่ไกลถึงซีเรียและอาร์มีเนีย ทางตะวันออกของราชอาณาจักรโครงสร้างจะทำด้วยไม้ แต่ทางตะวันตกส่วนใหญ่จะเป็นหิน รวมทั้งทางใต้ที่ต่อมาตกอยู่ใต้การปกครองของเมรอแว็งเฌียง คริสต์ศาสนสถานที่สำคัญส่วนใหญ่ได้รับการก่อสร้างขึ้นใหม่และโดยทั่วไปแล้วมากกว่าหนึ่งครั้ง โครงสร้างของสถาปัตยกรรมแบบเมรอแว็งเฌียงหลายแห่งได้รับการก่อสร้างขึ้นใหม่จากหลักฐานทางโบราณคดี คำบรรยายโดยนักบุญเกรกอรีแห่งทัวร์ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ของชนแฟรงก์” ถึงบาซิลิกาแซงต์มาร์แตงที่สร้างที่ตูร์โดยนักบุญเพอร์เพทัสทำให้เป็นที่น่าเสียดายที่สิ่งก่อสร้างดังว่าพังทลายไปจนหมดสิ้น เพราะตามการบันทึกบาซิลิกาแซงต์มาร์แตงเป็นคริสต์ศาสนสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรแฟรงก์ นักบุญเกรกอรีกล่าวว่าเป็นบาซิลิกาที่มีคอลัมน์หินอ่อนถึง 120 คอลัมน์, หอสองหอทางมุขตะวันออก และงานโมเสกอีกหลายชิ้น “แซงต์มาร์แตงเน้นแนวดิ่ง และการผสมผสานระหว่างองค์ประกอบที่ทำให้เกิดช่องว่างภายในสิ่งก่อสร้างที่ซับซ้อน และผสานกับลักษณะภายนอก ที่ถือกันว่าเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเด่นของลักษณะโรมานเนสก์”[1] สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ จากสมัยเมรอแว็งเฌียงที่สูญหายไปก็ได้แก่ฐานของมหาวิหารแซงต์เดอนีส์, บาซิลิกาเซนต์เจอเรียนที่โคโลญ และ แอบบีแซงต์แชร์แมงเดส์เพรส์ในปารีสที่ได้รับการบรรยายว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สวยงาม

แต่ก็มีสิ่งก่อสร้างอื่นที่ยังคงตั้งอยู่ให้ได้เห็นโดยเฉพาะหอศีลจุ่มที่หมดความนิยมกันไปซึ่งทำให้ไม่ได้รับการสร้างใหม่ เช่นที่เอ-ซอง-โปรวองซ์, ริเอซ, and เฟรฌูส์ที่ยังคงมีหอศีลจุ่มแปดเหลี่ยมคลุมด้วยหลังคาโดมบนเสาที่แสดงให้เห็นอิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันออก ลักษณะที่แตกต่างออกไปจากหอศีลจุ่มโปรวองซ์ ก็ได้แก่หอศีลจุ่มแซงต์-ฌองที่ปัวติเยร์ที่สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมขนามด้วยมุขสามมุข ตัวสิ่งก่อสร้างเดิมคงจะได้รับการต่อเติมเปลี่ยนแปลงหลายครั้งแต่ก็ยังคงรักษาการตกแต่งเสาหินอ่อนแบบเมรอแว็งเฌียงเอาไว้

ในบรรดาคริพท์จำนวนมากที่สร้าง ส่วนใหญ่สร้างตามลัทธินิยมของสมัย แต่ก็มีเพียงคริพท์ของแซงต์ซูแรงที่บอร์โดซ์, แซงต์ลอแรงท์ที่เกรอโนเบิล และ แอบบีฌูแรเท่านั้นที่ยังตั้งอยู่

ศิลปะอื่น ๆ

เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ฝีมือช่างของเมรอแว็งเฌียงคงจะเป็นที่เลื่องลือเพราะได้รับการนำเข้ามาสอนให้สร้างงานกระจกสีขึ้นในอังกฤษ และช่างหินเมรอแว็งเฌียงก็ได้เข้ามาทำงานก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานในอังกฤษ[2] ช่างหินเมรอแว็งเฌียงใช้เทคนิคที่เรียกว่า opus gallicum อย่างแพร่หลายและเป็นผู้รับผิดชอบในการนำเข้ามาใช้ในอังกฤษและต่อมาใช้โดยนอร์มันผู้นำไปใช้ในอิตาลี

งานหนังสือวิจิตรของเมรอแว็งเฌียงเพียงสองสามชิ้นเท่านั้นที่ยังคงมีเหลือให้ดูอยู่ ฉบับที่เขียนตกแต่งอย่างหรูหราที่สุดคือฉบับที่สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 8 “หนังสือประกอบพิธีเจลาเซียน” ที่ปัจจุบันเป็นของหอสมุดวาติกัน ที่ตกแต่งด้วยลวดลายเรขาคณิตและลายรูปสัตว์ ที่ไม่ซับซ้อนเท่าศิลปะเกาะของเกาะอังกฤษ

อ้างอิง

  1. V.I. Atroshenko and Judith Collins, The Origins of the Romanesque (Lund Humphries, London) 1985, p. 48. ISBN 085331487X
  2. Bede. The Lives of the Holy Abbots of Wearmouth and Jarrow.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!