วัดโมคลาน

วัดโมคลาน สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ ณ บ้านโมคลาน หมู่ที่ 12 ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประวัติ

“ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอญ 

 โมคลานตั้งก่อน เมืองคอนตั้งหลัง 

ข้างหน้าพระยัง ข้างหลังพระภูมิ

ศรีมหาโพธิ์ เจ็ดโบสถ์แปดวิหาร เก้าทวารสิบเจดีย์”

บทกลอนนี้แสดงให้เห็นความเก่าแก่ของบ้านโมคลานซึ่งเป็นชุมชนโบราณ ที่มีอายุประมาณ 4,000 - 5,000 ปีมาแล้ว ได้มีการศึกษาสำรวจชุมชนโมคลานตั้งแต่ พ.ศ. 2500 พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย

ใน พ.ศ. 2511 ศาสตราจารย์ลูฟส์ (H.H.E.Loofs) แห่งโครงการสำรวจทางโบราณคดีไทย-อังกฤษ ได้เข้าสำรวจและมีความเห็นว่า เนินโบราณสถานของโมคลาน หรือแนวหินตั้งจัดอยู่ในวัฒนธรรมหินใหญ่ และห่างจากเนินโบราณสถานโมคลานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งแต่เดิมเป็นพรุลึกมากเรียกว่า "ทุ่งน้ำเค็ม" ปัจจุบันตื้นเขิน ชาวบ้านได้ขุดพบเงินเหรียญแบบฟูนัน จึงสันนิษฐานว่า บ้านโมคลานอาจเป็นชุมชนเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการติดต่อกับชุมชนภายนอก

จากหลักฐานที่พบทั้งเทวสถาน โบราณวัตถุในศาสนาพราหมณ์ สระน้ำโบราณ แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายในบ้านโมคลาน แต่ต่อมาอิทธิพลของพุทธศาสนาได้เข้ามาแพร่หลายในบ้านโมคลานเพราะพบหลักฐานโบราณวัตถุสถานทางศาสนาพุทธอยู่มากเช่นเดียวกัน แต่โบราณสถานทางศาสนาของบ้านโมคลานคงจะถูกทอดทิ้งไปเป็นเวลานาน อาจจะก่อนหรือพร้อมกับการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวไทยมุสลิม จากรัฐไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู ตั้งแต่ พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของบ้านโมคลาน จึงเป็นไทยมุสลิม ร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 เป็นชาวไทยพุทธ

ความเป็นมาของวัดโมคลาน

ประมาณ พ.ศ. 1111 - 1116 คือสมัยทวารวดี ปรากฏว่าวัดนี้มีพระสงฆ์ฝ่ายมหายานปกครองอยู่ คือ รับช่วงจากลัทธิพราหมณ์ หลักฐานที่ยืนยันได้คือ

1. มีอุทกโธรณี

2. มีเสาหินปักเรียงรายเป็นเขตพุทธาวาสแบบลัทธิมหายาน

แล้ววัดนี้มีอายุยืนยาวมาถึงสมัยที่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ทราบว่ามีลัทธิหนึ่งซึ่งกำลังเจริญงอกงาม อยู่ในทวีปลังกาเรียกว่าลัทธิลังกาวงศ์ หรือลัทธิหินยานก็เรียกว่าโดยมีพระสงฆ์จากไทย เขมร พม่า ไปศึกษาพระธรรมวินัย จนกระทั่ง ลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย จนปัจจุบันนี้วัดโมคลานรับลัทธินี้เข้าไว้

หลังจากนั้นราว พ.ศ. 1800 - 1900 สมัยสุโขทัย วัดพระโมคลาน จึงร้างเพราะไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เนื่องจากท้องที่เป็นที่ทุรกันดาร จนกระทั่งสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเจ้ากรมข้างซ้ายของเมืองนครไปครอบครองเป็นที่รักษาข้าง เรียกว่า “ข้างซ้าย” ตลอดมา จนเมืองนครเลิกตำแน่งข้างซ้าย ข้างขวา ข้างกลาง จึงมีพระสงฆ์เข้ามาตั้งสำนักสงฆ์ ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนนั้นบ้านเมืองเข้าสู่กลียุค มีภัยต่าง ๆ เข้ารบกวน

ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระภิกษุสงฆ์องค์หนึ่ง มีนามว่า “ท่านครูป่าน” ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มบูรณะพระบรมธาตุ จึงไปนิมนต์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัดโมคลานมาไว้ ณ. วัดพระมหาธาตุ มีนามว่า “พระพวย” ปัจจุบันนี้ พระพวย ประดิษฐานอยู่ที่วิหารโพธิ์ลังกา ด้านหน้าวิหารเขียน และนอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสมัยทราวดี ซึ่งจัดว่าสมบูรณ์ที่สุดในภาคใต้ ที่นำมาจากวัดโมคลาน

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 - รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระสงฆ์ไปจำพรรษา ณ วัดโมคลาน อยู่ได้เป็นเวลาไม่นานปรากฏว่าวัดได้ร้างไปอีก

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2480 - พ.ศ. 2481 มีพระสงฆ์มาจำพรรษาที่วัดพระโมคลานอีกครั้ง มี “พระกระจาย” เป็นสมภารได้เข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์เกี่ยวกับผลอาสิน ก็มี มะพร้าว เป็นต้น เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้าง มีกุฏิ 3 หลัง วิหาร 1 หลัง จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2483 วัดพระโมคลาน ก็ร้างอีก ส่วนกุฏิก็ได้เกิดการชำรุดทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา ส่วนวิหารนั้นก็ยกให้เป็นสถานศึกษา โรงเรียนประชาบาลเป็นต้นมา

ปี พ.ศ. 2496 ได้มีสมภาร “ท่านช่วง อินโขโต” มาอยู่จำพรรษา ได้สร้างกุฏิไม้หลังใหญ่ขึ้น 1 หลังและหลังเล็ก ๆ อีก 4 หลัง และปลูกมะพร้าวอีกหลายร้อยต้น และมีพระสงฆ์มาจำพรรษาปีละหลายรูป

ต่อมาปี พ.ศ. 2499 “ท่านช่วง” ได้ออกจากวัดโมคลานไปจำพรรษาที่ วัดนาควารี อ.ปากพนัง จ. นครศรีธรรมราช และมี “พระสงวน ถาวรธรมฺโม” รักษาการแทนเจ้าอาวาส

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2504 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูประทวน และได้พัฒนาวัดพระโมคลาน มาเป็นลำดับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2511 ได้รับพระราชทาน “คามสีมา” และมีพระสงฆ์จำพรรษามาตลอด

ในปี พ.ศ. 2525 พระครูสงวน ถาวรธรมฺโม ลาสิกขาบถ ทางคณะสงฆ์ ได้แต่งตั้งให้ “พระจัด วฑณฺโน” มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระโมคลาน ตั้งแต่วันที่ 15 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา และท่านได้ดำเนินการพัฒนาวัดโมคลานในด้านต่าง ๆ เสมอมา แต่ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ ที่อยู่ในพื้นที่ ที่เป็นชาวไทย ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมากกว่าชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ พระจัด วฑณฺโน ก็ไม่ท้อถอย และได้สร้างศาลาโรงธรรมศาลา กว้าง 14 เมตรยาว 36 เมตร ขึ้น 1 หลัง เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เสมอมา และสร้าง กุฏิทำด้วยไม้ จำนวน 7 หลัง 

หลักฐานที่พบโบราณสถานและโบราณวัตถุ

พระพุทธรูป พบขณะขุดแต่งปรับพื้นลานดินภายในกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ จำนวน 2 องค์ ได้แก่

พระพุทธรูปประทับยืน ปางประทานธรรม (ปางวิตรรกะ) ศิลปะผสมผสานระหว่างอิทธิพลมอญ (ทวารวดี) และเขมร กำหนดอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 - กลางพุทธศตวรรษที่ 19

อีกองค์เป็นพระพุทธรูปทรงเทริด ปางมารวิชัย อิทธิพลศิลปะเขมรและท้องถิ่น อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 นอกจากพระพุทธรูปที่พบจากการขุดแต่ง ยังมีพระพุทธรูปที่สำคัญอีกองค์หนึ่งซึ่งมีหลักฐานว่าเดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดโมคลาน คือ พระพวย สำริด ปางประทานอภัย ศิลปะอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วิหารโพธิ์ลังกา ด้านหน้าวิหารเขียน วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

1. หลักหิน มีหลักหินแสดงขอบเขตของโบราณสถานหรือเขตวัดจำนวนหลายแนวแต่ละแนวปักหลักหินเป็นแนวตรงกันไปทุกๆต้นปักเป็นระยะห่างเท่า ๆ กัน

2. ซากเจดีย์ พบอยู่ทางทิศตะวันออกของแนวหลักหินแนวแรก มีลักษณะคล้ายจอมปลวก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร มีผู้คนจำนวนมากได้ขุดหาสมบัติ เพราะพบลายแทง ได้พบของมีค่าหลายอย่าง เช่น แหวนทองคำ,เงิน และทอง เป็นต้น

3. ซากเทวสถาน พบใกล้ ๆ ซากเจดีย์ ได้ค้นพบหินที่เป็นชิ้นส่วนของอาคารวางระเกะระกะอยู่บนเนินทั้งธรณีประตู กรอบประตู เสา ฐานเสา ต่อมาได้นำชิ้นส่วนของอาคารเหล่านี้มาสร้างกุฏิทางทิศเหนือของเนินโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2488ในปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยของเสากุฏิดังกล่าวอยู่ ชิ้นส่วนของอาคารที่นำมาสร้างกุฏินี้ส่วนหนึ่งเป็นหินที่มีการสลักลวดลายด้วย ส่วนโบราณวัตถุหลายชิ้นที่พบบนเนินโบราณสถาน ได้เคลื่อนย้ายออกมาวางไว้ตามบริเวณโคนต้นไม้ทางทิศเหนือของเนิน

4. โยนิโทรณะ ได้พบโยนิโทรณะในซากของเทวสถานหลายชิ้น แต่บางชิ้นก็ไม่สมบูรณ์ส่วนศิวลึงค์ในเทวสถานนั้นพระภิกษุรูปหนึ่งได้เคลื่อนย้ายออกไปนอกชุมชนโบราณโมคลาน

5. พระพุทธรูปปูนปั้น ได้พบพระพุทธรูปปูนปั้นซึ่งชำรุดขนาดสูงราว 50 เซนติเมตร จำนวน 1 องค์ ปัจจุบันและอง เล็กอีก 2 องค์ตอนนี้ประดิษฐานอยู่ที่โบสถ์ ที่ยังสร้างไม่เสร็จ มาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว และพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปมากมายทั้งบริเวณบนเนินโบราณสถานและใต้ต้นจันทน์ทางทิศเหนือของเนิน ปัจจุบันเศียรพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งยังประดิษฐานอยู่ในวิหารของวัดโมคลาน

6. สระน้ำโบราณ ทางทิศตะวันออกของเนินโบราณสถานมีสระน้ำโบราณอยู่ 3 สระ สระน้ำโบราณเหล่านี้มีขนาดใหญ่มาก ขุดเป็นแนวไปตามสันทรายสระแรกห่างจากเนินโบราณสถานประมาณ 50 เมตร และสระสุดท้ายซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 ถึง60เมตรอยู่ห่างจากเนินโบราณสถานมากที่สุดคือ ประมาณ 100 เมตร

7. กำแพงแก้ว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

- กำแพงแก้วด้านทิศเหนือ ขนาด 40x0 เมตร ก่อล้อมโบราณสถานหมายเลข1,2,3 และ 4 อยู่ข้างใน มีประตูทางเข้าเป็นขั้นบันไดด้านทิศเหนือ และทิศใต้ตรงข้ามกับโบราณสถานหมายเลข 1 ภายในเป็นลานปูอิฐ ความหนา 1 แผ่นอิฐด้านราบ

- กำแพงแก้วด้านทิศใต้ ขนาด 60x82 เมตร ปัจจุบันพื้นที่ภายในกำแพงแก้วเป็นอาคารโรงเรียนโมคลานประชาสรรค์ สนามเด็กเล่น บางส่วนของสนามฟุตบอล และพบฐานอาคารโบราณสถานก่ออิฐจำนวน 2 หลัง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 6.20x8.50 เมตร และ9.50x11.50 เมตร ตามลำดับ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกุฏิ 

กำแพงแก้วทั้ง 2 ส่วนหน้าจะสร้างขึ้นพร้อมกับวิหารและเจดีย์ กำแพงแก้วด้านทิศเหนือ

คงเป็นส่วนพุทธาวาส ส่วนกำแพงแก้วด้านทิศใต้คงเป็นส่วนสังฆาวาส

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!