วัดโพธาราม (บ้านคอยเหนือ) |
---|
|
|
ชื่อสามัญ | วัดโพธาราม (บ้านคอยเหนือ) |
---|
ที่ตั้ง | เลขที่ 119 หมู่ที่ 4 ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี 72140 |
---|
ประเภท | วัดราษฎร์ |
---|
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
---|
ก่อตั้ง | สมัยอยุธยาตอนปลาย |
---|
พระประธาน | พระพุทธชินราช (จำลอง) |
---|
พระพุทธรูปสำคัญ | หลวงพ่อเพชร หลวงพ่อเงิน หลวงพ่อทอง |
---|
เจ้าอาวาส | พระครูใบฎีกาสุริยัณห์ จันทรัตน์ สิริปญฺโญ (รักษาการ) |
---|
มหามงคล | รูปเหมือนหลวงพ่อกอง บนศาลาการเปรียญ |
---|
จุดสนใจ | วิหาร (อุโบสถเก่า) สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย |
---|
หมายเหตุ | |
---|
|
|
---|
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | โบราณสถานวัดโพธาราม ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี |
---|
ขึ้นเมื่อ | 25 มกราคม พ.ศ. 2556 |
---|
เป็นส่วนหนึ่งของ | รายชื่อโบราณสถานในจังหวัดสุพรรณบุรี |
---|
เลขอ้างอิง | 0010631 |
---|
|
---|
|
|
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดโพธาราม ตั้งอยู่เลขที่ 119 หมู่ที่ 4 ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดราษฎร์ คณะสงฆ์มหานิกาย เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรณบุรี คณะสงฆ์ ภาค14
ประวัติ
เดิมชื่อ วัดบ้านคอยเหนือ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าว้า ฝั่งตะวันออก ห่างจากท่าคอย ราว 1 กิโลเมตร ตามพระราชพงศาวดารบันทึกว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกทัพมาปะทะข้าศึกบริเวณนี้ ครั้งสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135
วัดสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน สันนิษฐานจากโบราณวัตถุ โบราณสถาน ที่ปรากฏ คือ ใบเสมา วิหาร (อุโบสถหลังเก่า) มีรูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จึงสันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นอย่างน้อย[1]
เมื่อ พ.ศ. 2480 ทางวัดปรับสภาพภูมิประเทศในวัด ได้ขุดพบเครื่องปั้นดินเผา อาวุธโลหะ ดาบ โล่ ขอ ง้าว สภาพผุพังจำนวนหนึ่ง ต่อมา พ.ศ. 2524 กรมชลประทานขุดลอกแม่น้ำบริเวณวัด พบอาวุธโลหะลักษณะเป็นดาบ โล่ จมอยู่ในท้องน้ำอีกจำนวนหนึ่ง สภาพชำรุดผุพังทั้งสิ้น จากลักษณะที่พบมีผู้สันนิษฐานว่าอาจมีอายุอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา[2]
ที่ดินตั้งวัดมีพื้นที่จำนวน 33 ไร่ 52 ตารางวา ได้รับอนุญาตตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2345[3] ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2487 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร[4]
เป็นวัดซึ่งมีอดีตเจ้าอาวาส คือ พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) เป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน วัตถุมงคลของท่านได้รับความนิยม[5]
เป็นโบราณสถาน หมายเลขทะเบียน 0010631 ของกรมศิลปากรที่ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2556[6]
-
ภาพวิหาร ก่อนบูรณะ ถ่ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550
-
ภาพวิหาร ก่อนบูรณะ ถ่ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550
-
ภาพวิหาร ก่อนบูรณะ ถ่ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550
-
ภาพวิหาร ก่อนบูรณะ ถ่ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550
-
ภายในวิหาร ก่อนบูรณะ ถ่ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550
-
ใบเสมาหินทรายแดง ในวิหาร ถ่ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550
ทำเนียบเจ้าอาวาส
ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดโพธาราม อดีตถึงปัจจุบัน เท่าที่พบข้อมูล[1]
ลำดับ
|
รายนาม
|
เริ่มวาระ
|
สิ้นสุดวาระ
|
หมายเหตุ
|
1
|
เจ้าอธิการอินทร์
|
-
|
-
|
เจ้าอาวาส, เจ้าคณะหมวดบ้านคอย, สมัยรัชกาลที่ 5
|
2
|
พระยวง
|
-
|
-
|
ผู้รั้ง
|
3
|
พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง ภูฆัง โอภาสโก)
|
-
|
พ.ศ. 2486
|
รักษาการ
|
|
|
พ.ศ. 2486
|
พ.ศ. 2508
|
เจ้าอาวาส, เจ้าคณะตำบลบางงาม, มรณภาพ
|
4
|
พระมหาคำพร ปรีชาศิลป์ เมธงฺกุโร
|
พ.ศ. 2508
|
พ.ศ. 2510
|
รักษาการ
|
5
|
พระมหาสมพร รอดนวล
|
พ.ศ. 2511
|
-
|
รักษาการ
|
6
|
พระอธิการบัว สุคนฺโธ
|
-
|
-
|
รักษาการ
|
|
|
พ.ศ. 2515
|
-
|
เจ้าอาวาส
|
7
|
พระใบฎีกาบุญเทียม อริญฺชโญ
|
พ.ศ. 2523
|
พ.ศ. 2533
|
เจ้าอาวาส, ลาสิกขา
|
8
|
พระครูศรีประจันตคณารักษ์ (สมทรง พลเสน โชติปญฺโญ) ป.ธ.3
|
พ.ศ. 2533
|
-
|
เจ้าคณะอำเภอ, รักษาการ
|
9
|
พระเอ๋ อร่ามแสง
|
-
|
-
|
รักษาการ
|
10
|
พระบรรเจิด ปฏิจิตฺโต
|
พ.ศ. 2534
|
พ.ศ. 2536
|
รักษาการ
|
11
|
พระจำหริด อำไพเราะ สนฺติกโร
|
-
|
พ.ศ. 2537
|
รักษาการ
|
12
|
พระครูพิพัฒน์สุวรรณาภรณ์ (วิชัย เผือกวงศ์ จนฺทโชโต)
|
พ.ศ. 2538
|
-
|
เจ้าคณะตำบล, รักษาการ
|
13
|
พระวิวัฒน์ กลฺยาโณ
|
-
|
-
|
รักษาการ
|
14
|
พระอธิการประเสริฐ มณีวงษ์ กตปุญฺโญ
|
-
|
-
|
เจ้าอาวาส, ลาออก
|
15
|
พระสุนทร มูลนิสาร ธมฺมวโร
|
-
|
พ.ศ. 2553
|
รักษาการ, มรณภาพ
|
16
|
พระสุริยัณห์ จันทรัตน์ สิริปุญฺโญ
|
พ.ศ. 2553
|
พ.ศ. 2554
|
รักษาการ
|
17
|
พระครูวินัยธรภัคพล อัครธัญกร ฐานกโร
|
พ.ศ. 2554
|
พ.ศ. 2566
|
เจ้าอาวาส, ลาออก
|
18
|
พระครูใบฎีกาสุริยัณห์ จันทรัตน์ สิริปญฺโญ
|
พ.ศ. 2566
|
ปัจจุบัน
|
รักษาการ
|
|
|
|
|
|
-
ภายนอกวิหาร ปัจจุบัน
-
อุโบสถ และกำแพงแก้ว
-
อุโบสถ และซุ้มเสมา
-
พระพุทธชินราช (จำลอง)
ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถาน
- วิหาร (อุโบสถหลังเก่า) สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน บริเวณโดยรอบตัวอาคารในอดีต มีใบเสมาหินทรายแดงรูปแบบสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่อื่น) ตัวอาคารมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมส่วนฐานแอ่นโค้งคล้ายท้องสำเภา อันเป็นรูปแบบนิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย วิหารหลังนี้มีช่องประตูเป็นรูปแบบเฉพาะ คือ อยู่ริมขอบด้านหน้า แทนที่จะเป็นบริเวณกึ่งกลางอย่างที่พบเห็นโดยทั่วไป รูปแบบนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับวิหารที่วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี และวิหารที่วัดหนองหลวง อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นลักษณะนิยมในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแถบนี้ ในอดีตมีการซ่อมแซมวิหารหลังนี้แล้วหลายครั้ง กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2551 ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556[6]
- พระพุทธรูปในวิหาร มีพระนามว่า หลวงพ่อเพชร หลวงพ่อเงิน และหลวงพ่อทอง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่วิหาร ในอดีตถูกโจรกรรมทุบทำลายเสียหาย ต่อมาทางวัดจึงดำเนินการบูรณะขึ้นใหม่
- อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยการอุปถัมภ์ของพระครูสุวรรณวิสุทธิ์ (เจริญ ปภาโส) อดีตเจ้าคณะอำเภอดอนเจดีย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดธัญญวารี จัดงานผูกพัทธสีมาระหว่างวันที่ 9 - 17 มกราคม พ.ศ. 2536 ( 9 วัน 9 คืน)
- พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธชินราช (จำลอง) คณะศิษยานุศิษย์เสด็จพ่อเทพจักรี สร้างถวายเป็นพระประธานประจำอุโบสถ ประดิษฐานเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535
- มณฑปหลวงพ่อกอง สร้างโดยคณะศิษย์พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) โดยการนำของนายประนันท์ นางนวลปราง ศรีหมากสุก เพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อกอง เมื่อ พ.ศ. 2536
- รูปเหมือนหลวงพ่อกอง พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) อดีตเจ้าอาวาส ปัจจุบันประดิษฐานบนศาลาการเปรียญ
เทศกาล และงานประจำปี
วันบูรพาจารย์ พิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน วันคล้ายวันมรณภาพพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 พีระศักดิ์ สุนทรวิภาต. (2561). ประวัติวัด คณะสงฆ์มหานิกาย ในอำเภอศรีประจันต์. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
- ↑ ประนันท์ ศรีหมากสุก. (2536). ที่ระลึกเนื่องในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ผูกพัทธสีมา และฉลองสิ่งปลูกสร้าง วัดโพธาราม ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี 9-17 มกราคม 2536. พิมพ์ครั้งที่ 1. สุพรรณบุรี: เซ็นทรัลมีเดีย แอนด์ แอดเวอร์ไทซิ่ง.
- ↑ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานวิสุงคามสีมา (ให้วัดที่มีชื่อในบัญชีท้ายประกาศ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตามเขตที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น)ประกาศ ณ วันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2487), เล่ม 61, ตอน 58 ก, 19 กันยายน 2487, หน้า 837
- ↑ เล่า เรื่อง "พระ ". (2562, 19 ธันวาคม). พระครูโอภาสพุทธิคุณ หรือ #หลวงพ่อกอง โอภาโส วัดโพธาราม (วัดบ้านคอยเหนือ) จ.สพรรณบุรี[Status update]. Facebook.
- ↑ 6.0 6.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน [โบราณสถานวัดโพธาราม จังหวัดสุพรรณบุรี], เล่ม 130, ตอนพิเศษ 56 ง, 7 พฤษภาคม 2556, หน้า 54