วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ประวัติ
วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม หรือเรียกกันว่า วัดทะเลน้อย ตามชื่อหมู่บ้านเพราะบริเวณนี้กล่าวกันว่าเดิมเป็นทะเล[1] สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่พระเจ้าตากสินให้ชาวบ้านสร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับทหารที่เสียชีวิตจากวีรกรรมทุ่งเพลงบ้านทะเลน้อยเมื่อครั้งก่อนเข้าตีเมืองจันทบูรในช่วงกลาง พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากทรงช้างพระที่นั่ง คีรีบัญชรพร้อมกำลังทหารยกทัพออกจากเมืองระยองมาตั้งค่ายพักที่วัดนี้จนสามารถตีเมืองจันทบูรได้
มีเรื่องเล่ากันว่ามีหลักฐานสำคัญคือ แท่นรองพระบาท ที่เชื่อกันว่าเป็นของที่อยู่คู่กับบัลลังก์ มีลวดลายแบบจีนผสมอยู่ทุกส่วน ลงรักปิดทองด้วยฝีมือช่างชั้นสูง[2]
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2323 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534[3] เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร
เมื่อพระเจ้าตากปราบดาภิเษกแล้วโปรดเกล้าฯ ให้นำบัลลังก์ที่ประทับของพระองค์ พร้อมด้วยตู้ลายรดน้ำ และพระพุทธรูปที่มีโครงสานด้วยหวายฉาบปูนมาถวายที่วัดเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม" เพื่อเชิดชูเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ปัจจุบันบัลลังก์ หรือ พระแท่น จัดแสดงอยู่ที่ ห้องธนบุรี-รัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร
เสนาสนะและโบราณวัตถุ
อุโบสถหลังเก่า มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ลดชั้น มุงกระเบื้องว่าวซ้อนกัน ด้านหน้าและด้านข้างมีปีกนกคลุม เครื่องลำยองไม้แกะสลัก เชิงชายประดับด้วยไม้ฉลุลาย หน้าบันไม้กระดาน อุดเรียบตีแนวตั้ง ด้านหน้ามีประตูเข้าออก 2 ช่อง กรอบประตูตกแต่งด้วยลายเส้นนูน ซุ้มประตูทรงโค้งประดับด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษาปูนปั้นทาสี แบบลายใบเทศ ศิลปะจีนผสมผสานกับศิลปะตะวันตก ผนังด้านหลังทึบตันมีเสาประดับผนังตรงกึ่งกลางด้าน ด้านข้างมีเสาประดับผนังแบ่งออกเป็น 5 ห้อง ด้านหน้า 4 ห้อง เป็นช่องหน้าต่าง ห้องสุดท้ายเป็นผนังทึบ หน้าต่างช่องแรกและช่องสุดท้ายมีกรอบและซุ้มรูปสามเหลี่ยมประดับลายพันธุ์พฤกษาแบบลายใบเทศกึ่งกลางซุ้มเป็นรูปดอกไม้และเหรียญอีแปะจีน กรอบหน้าต่างและซุ้มโค้งคล้ายซุ้มหน้านางประดับลายพันธุ์พฤกษาแบบลายใบเทศ สันนิษฐานว่าอุโบสถหลังเก่านี้น่าจะสร้างขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ 4–5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เจดีย์ทรงระฆัง ตามประวัติกล่าวว่า เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2430 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2445 ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ก่ออิฐถือปูน ที่ฐานประทักษิณ มีบันไดทางขึ้น องค์ระฆังกลม ส่วนยอดเดิมชำรุดหักพัง และได้ซ่อมแซมขึ้นใหม่เป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมรองรับมาลัยเถาและปลียอด
นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุอีกมากมาย เช่น ตู้ลายรดน้ำ บัลลังก์ มีดดาบ และของเก่า[4]
อ้างอิง