วัดมหาธาตุ (อำเภอเมืองยโสธร)

วัดมหาธาตุ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมหาธาตุ
ที่ตั้งถนนวารีราชเดช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร 35000
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์ และพระพุทธวรนาถมหาธาตุยโสธร (หลวงพ่อยิ้ม)
เจ้าอาวาสพระเทพวงศาจารย์ (สำลี คุตตสีโล ป.ธ.๖)
จุดสนใจพระธาตุอานนท์ และหอไตรกลางน้ำ (ศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น)
กิจกรรมงานนมัสการพระธาตุอานนท์ (จัดในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา
หอไตรกลางน้ำศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ สร้างด้วยไม้หันหน้าไปทางทิศใต้ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่แบ่งพื้นที่การใช้งานเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนห้องเก็บคัมภีร์ในตอนกลางกับส่วนระเบียงโดยรอบ

วัดมหาธาตุ ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองยโสธรมาตั้งแต่แรกสร้างเมือง ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองยโสธร อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ซึ่งภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง พระพุทธปรูปบูชาประจำเมืองที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย , พระธาตุอานนท์ พระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์แห่งเดียวในประเทศไทย และหอไตรกลางน้ำที่มีศิลปะงดงาม มีพระเทพวงศาจารย์ (สำลี คุตตสีโล)[1] เป็นเจ้าอาวาสวัดรูปปัจจุบัน

ประวัติ

เอกสารตำนานพื้นถิ่นกล่าวว่า ราวปี พ.ศ. 2313-2319 พระวรราชภักดี (พระวอ) ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง ท้าวก่ำ ท้าวทิดพรหม ซึ่งอพยพหนีภัยสงครามมาจากเมืองหนองบัวลำภู พระองค์ได้สร้างเมือง ณ ที่แห่งนี้ และสร้างวัดขึ้นในบริเวณดงผีสิง เรียกว่า วัดทุ่งสว่าง

ปี พ.ศ. 2321 ต่อมาท้าวฝ่ายหน้า (ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช ตำแหน่งพระประเทศราชครองนครจำปาศักดิ์) จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ขนาดใหญ่ที่วัดทุ่งสว่าง ปัจจุบันคือ พระธาตุอานนท์ และได้เรียกวัดทุ่งสว่างว่า วัดมหาธาตุ มาตั้งแต่บัดนั้น ภายในวัดมหาธาตุประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ คือ พระธาตุอานนท์ที่ไม่ปรากฏอายุสมัยการสร้างที่แน่ชัด แต่พบหลักฐานการบูรณะในปี พ.ศ. 2490

ปี พ.ศ. 2354 พระวิไชยวรราชสุริยวงศ์ขัตติยราชได้ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านู ซึ่งเป็นหลานพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาสักองค์ก่อน เป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาาสักสืบต่อไป จึงทำให้เจ้าราชวงศ์เมืองโขง (ท้าวคำสิงห์) ไม่เป็นที่พอใจที่จะทำราชการกับเจ้าผู้ครองนครจำปาสักองค์ใหม่ จึงได้พาครอบครัว และไพร่พลอพยพมาอยู่ที่บ้านสิงท่าดังเดิม พร้อมนำอัฐิพระวิไชยวรราชสุริยวงศ์ขัตติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) มาก่อเจดีย์บรรจุไว้ข้างองค์พระธาตุอานนท์ที่วัดมหาธาตุ เพราะเกรงว่าเจ้าผู้ครองนครจำปาสักองค์ใหม่ จะไม่เคารพอัฐิพระวิไชยวรราชสุริยวงศ์ขัตติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) และได้ปรับปรุงพัฒนาบ้านสิงห์ท่าให้ใหญ่โตรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก

ปี พ.ศ. 2373 สร้างหอไตรเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ที่พระครูหลักคำได้นำมาจากเวียงจันทน์

สิ่งสำคัญภายในวัด

พระแก้วหยดน้ำค้าง

พระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์

พระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์หรือ พระแก้วหยดน้ำค้าง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะสมัยเชียงแสน ในอดีตนั้นเคยประดิษฐานอยู่คู่กับพระแก้วมรกตในหอพระแก้วเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2011 และประทับอยู่เป็นสิริมงคลนานถึง 78 ปี หลังพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จมาครองนครหลวงพระบาง จึงมีความเห็นว่าสมควรอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระแก้วขาวไปไว้ที่ราชธานีล้านช้าง เพื่อให้ห่างไกลจากเงื้อมมือพม่าข้าศึก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระแก้วมรกตประทับอยู่ร่วมกันอีกครั้ง

ต่อมาได้มีผู้ลักพาพระแก้วขาวออกจากนครหลวงพระบางไปซ่อนไว้ที่เขาส้มป่อย และมีนายพราน 2 พี่น้อง ชื่อ พรานทึงและพรานเทือง ไปพบว่าจมอยู่ใต้สระน้ำจึงนำขึ้นมา ความเลื่องลือไปถึงเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ จึงให้ท้าวเพียผู้ใหญ่ไปสืบเอาพระแก้วขาวมา ขณะอัญเชิญมาถึงตำบลแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำเซโดนได้พากันพักแรมหนึ่งคืน พอรุ่งเช้าปรากฏว่าพระแก้วขาวหายไปจึง ให้คนเที่ยวค้นหา มีผู้ไปพบอยู่ที่บ้าน พรานทึงดังเดิม ท้าวเพียได้ทำพิธีขอขมาคารวะพระแก้วขาว โดยขออัญเชิญไปยังนครจำปาศักดิ์ได้สะดวกอย่าได้ลักหนีไปอีกเลย แต่ในระหว่างทางเกิดพายุทำให้พระแก้วขาวตกลงไปในน้ำหาอย่างไรก็ไม่พบ

เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ทรงกระทำพิธีกรรมบวงสรวงเทพารักษ์ ตั้งสัตยาธิษฐานขอให้ได้พระแก้วขาวกลับคืนมาเป็นสิริมงคล เมื่อสัมฤทธิผลจึงจัดงานฉลองสมโภชเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ต่อมาเมื่อพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ลำดับที่ 3 ได้ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแมตรีศก จุลศักราช 1173 (พ.ศ. 2354) ครองเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ 21 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา เป็นข้าหลวงแทนพระองค์ ไปพระราชทานเพลิงศพพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช และจัดการราชการบ้านเมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อทำการปลงศพของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชเสร็จแล้ว พระยากลาโหมราชเสนาพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาในเมือง จึงก่อเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ที่วัดเหนือ (ปัจจุบันคือวัดหอพระแก้ว) ในเมืองเก่าคันเกิง เรียกกันทั่วไปว่าในเวลานั้น "ธาตุหลวงเฒ่า" ปัจจุบันไม่มีใครรู้จักและเรียก

ภายหลังเสร็จการพระราชทานเพลิงศพของพระวิไชยวรราชสุริยวงศ์ขัตติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) และการจัดการราชการบ้านเมืองในนครจำปาศักดิ์แล้ว พระยากลาโหมราชเสนาจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวลงมายังกรุงเทพมหานคร เมือ่ปี พ.ศ. 2355 และเมื่อครั้งเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ยกกองทัพไปตีนครเวียงจันทน์ ท้าวอุปราชฝ่ายบุต ซึ่งเป็นบุตรของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 พร้อมท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) ได้ร่วมทำการรบด้วย โดยมีอัญญาพระครูหลักคำ (กุ) ผู้มีภูมิความรู้ถนัดในทางโหราศาสตร์ เป็นผู้ให้ฤกษ์และทำพิธีตัดไม้ข่มนาม ซึ่งเป็นพิธีปฐมกรรม อันเป็นการให้ขวัญและกำลังใจแก่ทหาร จึงทำให้การรบในครั้งนั้นประสบชัยชนะ

ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงทรงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี นำอุปราชฝ่ายบุต และอัญญาพระครูหลักคำ (กุ) เข้าเฝ้าโดยด่วนที่กรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอุปราชฝ่ายบุตเป็นพระสุนทรราชวงศา มหาขัตติยชาติ ประเทศราชชวาเวียง ดำรงรักษ์ภักดียศฦๅไกร ศรีพิไชยสงคราม พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทร ลำดับที่ 3 (พ.ศ. 2366-2400) พร้อมพระราชทานพระพุทธรูปบูชาสำคัญคือ พระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์ หรือ พระแก้วหยดน้ำค้าง อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองยโสธรในปัจจุบัน , พระราชทานเชลยศึกจากนครเวียงจันทน์ จำนวน 500 ครอบครัว และพระราชทานปืนใหญ่ไว้สำหรับเมืองยศสุนทร 1 กระบอก อันมีชื่อว่า "ปืนนางป้อง" ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ที่ศาลหลักเมืองยโสธรมาจนถึงปัจจุบัน

พระธาตุอานนท์

พระธาตุอานนท์หรือพระธาตุยโสธร ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ เป็นพระธาตุเก่าแก่ที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1218 ผู้ก่อสร้างคือ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ ชาวเวียงจันทน์ กับ เอียงเวธา ชาวขอม เมื่อสร้างเสร็จจึงอัญเชิญพระอัฐิของ พระอานนท์ มาบรรจุไว้ ซึ่งพระอัฐิของพระอานนท์ที่นำมาบรรจุใน พระธาตุอานนท์ นั้น ถูกบรรจุไว้ในผอบ ชั้นนอกเป็นหีบเงิน 3 ชั้น ชั้นถัดไปเป็นหีบทอง 7 ชั้น ถัดจากนั้นเป็นหีบแก้วไพฑูรย์ 2 ชั้น (รวมเป็นหีบ 12 ชั้น) แล้วมีผ้ากะจ๋าคำ(ผ้าลายทอง) ห่อไว้อีก 500 ชั้น ถัดเข้าไปเป็นผ้าสีขาวอ่อนนุ่มเหมือนสำลีห่อพระอัฐิธาตุอยู่

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการสร้าง พระธาตุอานนท์ ต่อ ๆ กันมาว่า เจตตานุวิน และ จินดาชานุ ชาวเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน หลังจากออกบวชทำความเพียรได้ 3 ปี 25 วัน ทั้งคู่ก็เห็นว่าชาวเมืองเวียงจันทน์ต่างนับถือ พากันไปกราบไหว้ ดอนปู่บาว จึงคิดนำของศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่ ดอนปู่บาว เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่ง ๆ ขึ้น ดังนั้น จึงออกธุดงค์โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี 10 เดือน 11 วัน เดินทางมาถึงเมืองเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ปกครองโดย ท้าวพระยา ซึ่งขณะนั้นชาวเมืองกำลังก่อสร้างเจดีย์องค์หนึ่งอยู่ ครั้นก่อสร้างเสร็จ ท้าวพระยา จึงเข้าไปอัญเชิญพระอัฐิธาตุ ซึ่งต้องไขประตูเข้าไป 3 ชั้น จึงจะพบหีบพระอัฐิธาตุ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงสอบถามชาวเมืองได้จนได้ความว่าเป็นพระอัฐิธาตุของ พระอานนท์ พระเถระคนสำคัญของพระพุทธเจ้า ซึ่งเล่ากันว่า พระอานนท์ นิพพานบนอากาศกลางแม่น้ำโรหิณี (กั้นระหว่าง กรุงกบิลพัสดุ์ กับ กรุงเทวทหะ) พระองค์ได้อธิษฐานร่างกายให้แตกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งตกลงทางกรุงกบิลพัสดุ์ ส่วนที่สองตกลงทางกรุงเทวทหะ เจตตานุวิน ได้ฟังดังนั้นจึงจัดเครื่องสักการะบูชา แล้วอธิษฐานจิตขอเห็นอภินิหาร ซึ่งก็บังเกิดมีลมพัดห่อผ้าอัฐิธาตุ (ห่อผ้ากะจ๋าคำ) ลอยขึ้นสู่อากาศเป็นอัศจรรย์ เจตตานุวิน จึงอธิษฐานจิตให้ห่อผ้าพระอัฐิธาตุลอยลงมา ห่อผ้าก็ลอยลงมาเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก

ต่อมา เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงอ้อนวอนขอแบ่งพระอัฐิธาตุจาก ท้าวพระยา อยู่หลายวัน จน ท้าวพระยา ใจอ่อนยอมแบ่งผงธุลีประมาณเต็มเปลือกไข่นกกระเรียน กับอัฐิธาตุ 1 องค์ ประมาณเท่าดอกสังวาลย์ (คล้ายดอกลีลาวดี) ให้ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงเดินทางกลับเมืองเวียงจันทน์ และเตรียมจัดสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระอัฐิธาตุที่ ดอนปู่ปาว แต่ชาวเมืองเวียงจันทน์ไม่ยินยอม ด้วยหาว่าผิดผีบ้านผีเมือง ทั้งยังขับไล่ออกจากเมือง เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงหนีมาอยู่กับเจ้าเมืองขอม ชื่อว่า เอียงเวธา ครั้นผ่านไป 3 ปี จึงชักชวนให้ เอียงเวธา เป็นผู้นำสร้างเจดีย์ ซึ่ง เอียงเวธา ได้เลือกสถานที่สร้างเจดีย์ที่ ดงผีสิง (จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน) ป่าทึบขนาดใหญ่ ไกลจากบ้านคนประมาณ 1.2 กิโลเมตร ใช้เวลาสร้างเจดีย์ 8 เดือน 25 วัน จึงแล้วเสร็จ

สำหรับลักษณะของพระธาตุอานนท์ เจดีย์เป็นทรงสี่เหลี่ยมหรือทรงพรหมสี่หน้า ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 81 เมตร ก่ออิฐถือปูนเอวฐานคอดเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ มีซุ้ม 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ยอดธาตุมียอดปลีเล็กแซมทั้ง 4 ด้าน ยอดกลางทรงสี่เหลี่ยมสอบ มี 2 ชั้น รูปแบบการก่อสร้างคล้ายกับพระธาตุก่องข้าวน้อยฐาน ทุก ๆ ปีในช่วงเดือนมีนาคมทางวัดจะจัดให้มีงานสมโภชพระธาตุอานนท์ขึ้นเป็นประจำ โดยจัดในวันขึ้น 13 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 3 ตามฮีตคลองของชาวอีสาน คือเดือนมีนาคม ในคืนแรกจะจัดพิธีสมโภชองค์ พระธาตุอานนท์ ผู้ที่มาร่วมงานแต่งกายด้วยชุดขาว ทำพิธีตลอดคืน ส่วนในคืนที่สองและคืนที่สามมีมหรสพรื่นเริงสมโภชตลอดคืน

พระพุทธโลกนาถมหาธาตุยโสธร

พระพุทธโลกนาถมหาธาตุยโสธร พระพุทธรูปปางมารวิชัยเก่าแก่ที่สำคัญของวัด ประดิษฐานเป็นพระประธานแต่ครั้งพระอุโบสถยังเป็นสิมหลังเก่า ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานสูง มีฉัตรทอง 5 ชั้นห้อยลงมาจากเพดาน ฐานพระชั้นบนเป็นฐานกรีบบัว ประดับชายผ้าทิพย์ห้อยลงมาด้านหน้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้ประทานนามพระพุทธรูปดังกล่าวว่า "พระพุทธโลกนาถมหาธาตุยโสธร" เมื่อ วันที่ 9 กันยายน 2556

กู่เจ้านครบรรจุอัฐิของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช

กู่พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาสัก พระองค์ที่ 3

พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช มีพระนามเดิมว่า ท้าวฝ่ายหน้า หรือ ท้าวหน้า (ตามเอกสารของราชการไทย) สมภพเมื่อปี พ.ศ. 2269 ที่นครเวียงจันทน์ เป็นพระโอรสของพระวรราชปิตา (พระตา) แห่งนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน กับพระนางบุศดี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าอุปราชนองแห่งนครเวียงจันทน์ และเป็นพระอนุชาของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) พระประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีองค์แรก

และต่อมาได้อพยพหนีราชภัยจากพระเจ้าสิริบุญสาร แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ มาพร้อมกันกับกลุ่มของพระวอและท้าวคำผง หลังสิ้นสงครามกับนครเวียงจันทน์ ใน พ.ศ. 2318 แล้ว พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระปทุมราชวงศา ได้พาไพร่พลของตนเองจากเวียงดอนกองไปตั้งเมืองอุบลที่บ้านห้วยแจระแม

ต่อมาราวปี พ.ศ. 2329 ท้าวฝ่ายหน้าพร้อมกับเจ้านางอูสา แลท้าวคำสิงห์ผู้เป็นหลาน นำไพร่พลส่วนหนึ่งไปตั้งมั่นเป็นกองนอกอยู่ที่บ้านสิงห์ท่า (ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองยศสุนทรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 หรือคือ จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน)

ปี พ.ศ. 2334 เกิดเหตุกบฏอ้ายเชียงแก้วที่อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ทางฝ่ายนครจำปาศักดิ์ไม่สามารถรับมือได้ เนื่องจากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ในเวลานั้น ถึงแก่พิราลัยกะทันหันหลังจากได้รับทราบข่าวศึก (ก่อนหน้านั้นพระเจ้าองค์หลวงฯ เองก็ประชวรเรื้อรังมานานแล้ว) ท้าวหน้าได้ร่วมมือกับพระประทุมราชวงศา (ท้าวคำผง) พระประเทศราชผู้ครองเมืองอุบล ผู้เป็นพี่ชาย ยกทัพไปปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วจนราบคาบ และท้าวฝ่ายหน้าได้จับตัวอ้ายเชียงแก้วประหารชีวิตที่แก่งตะนะ (อยู่ในแม่น้ำมูล ระหว่างอำเภอพิบูลมังสาหารกับอำเภอสิรินธรในปัจจุบัน) ก่อนหน้าที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึงตามรับสั่งจากกรุงเทพฯ ด้วยความดีความชอบในครั้งนี้ ทำให้ท้าวหน้าได้รับการแต่งตั้งเป็น "พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช"[2] พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ พระองค์ที่ 3

พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชถึงแก่พิราลัย เมื่อวันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแมตรีศก จุลศักราช 1173 (พ.ศ. 2354) สิริรวมพระชนม์ 85 ปี ครองนครจำปาศักดิ์ ได้ 21 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา เป็นข้าหลวงแทนพระองค์ นำหีบศิลาหน้ามาพระราชทานเพลิงศพพระวิไชยราชสุริยวงษ์ขัติยราช อันเป็นเกียรติยศสูงสุดที่พระมหากษัตริย์สยามพระทานแก่ขุนนางสยาม บรรดาศักดิ์พระประเทศราช และจัดการราชการบ้านเมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อทำการปลงศพของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชเสร็จแล้ว พระยากลาโหมราชเสนาพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาในเมือง จึงก่อเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ที่วัดเหนือ (ปัจจุบันคือวัดหอพระแก้ว) ในเมืองเก่าคันเกิง เรียกกันทั่วไปในเวลานั้นว่า "ธาตุหลวงเฒ่า" [3] ปัจจุบันไม่มีใครรู้จักและเรียกเช่นนี้

ต่อมาในปีเดียวกันนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านู หลานพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้านครจำปาศักดิ์องค์ก่อน เป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์สืบต่อไป จึงทำให้เจ้าราชวงศ์เมืองโขง (ท้าวคำสิงห์) ท้าวฝ่ายบุต และไพร่พลส่วนหนึ่งไม่เป็นที่พอใจที่จะทำราชการกับเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ จึงได้พาญาติวงศ์ และไพร่พลอพยพมาอยู่ที่บ้านสิงท่าดังเดิม พร้อมนำอัฐิพระวิไชยวรราชสุริยวงศ์ขัตติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) ก่อขึ้นเป็นเจดีย์ข้างองค์พระธาตุอานนท์ที่วัดมหาธาตุ และนำอัฐิมาบรรจุไว้ เพราะเกรงว่าเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ จะไม่เคารพอัฐิพระองค์

หอไตร

สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2373 โดยพระครูหลักคำ (กุ) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ รูปที่ 3 ตัวอาคารหอไตรสร้างด้วยไม้ตั้งอยู่กลางสระน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุอานนท์ เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลาน พร้อมพระไตรปิฏก และตำราต่างๆ ซึ่งพระครูหลักคำ (กุ) เป็นผู้นำมาจากนครเวียงจันทน์ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะแบบหอไตรภาคอีสานทั่วไป มีทางเดินโดยรอบติดกันใต้ชายคา บริเวณนี้เป็นที่เก็บรักษาตู้พระธรรม หีบพระธรรม เสลี่ยงชั้นวางคัมภีร์ซึ่งนำมาจากเวียงจันทน์ ซุ้มประตูและบานประตูไม้สลักลวดลายเครือเถาลงรักปิดทองอย่างสวยงาม การตกแต่งฝาผนังมีลวดลาย ซึ่งเป็นลักษณะผสมแบบภาคกลางสันนิษฐานว่า หอไตรน่าจะสร้างขึ้นประมาณสมัยรัชกาลที่ 4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โบราณคดี

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดมหาธาตุ ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 กรกฎาคม 2491 และกำหนดเขตที่ดินในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 มิถุนายน 2524 เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา เฉพาะหอไตรได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2551 ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย[4]

อ้างอิง

  1. พระเทพวงศาจารย์ (สำลี คุตฺตสีโล ป.ธ.๖)
  2. ชื่อตาม พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร
  3. พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร
  4. วัดมหาธาตุ (อำเภอเมืองยโสธร)

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!