วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร |
---|
|
ชื่อสามัญ | วัดมหาธาตุ วัดมหาธาตุเชลียง วัดพระปรางค์ วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง |
---|
ที่ตั้ง | ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย |
---|
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร |
---|
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
---|
เจ้าอาวาส | พระเทพวชิรเวที,ดร. (บุญโรจน์ จนฺทปญฺโญ/พุ่มไม้ ป.ธ.9, พธ.บ., กศ.ม., พธ.ด.) |
---|
ความพิเศษ | โบราณสถาน ผงจากปูชนียสถานนี้ใช้เป็นมวลสารทำพระสมเด็จจิตรลดา |
---|
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1] สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นวัดที่มีความสำคัญมาแต่โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 โดยวัดนี้เป็นวัดสำคัญในเขตเมืองเชลียงมาแต่เดิม ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 และในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปปราบชุมชนพระฝางเมืองสวางคบุรี แล้วได้เสด็จสมโภชพระบรมธาตุเมืองเชลียงนี้ด้วย และวัดนี้ยังเป็นที่สรงน้ำมูรธาภิเษก สำหรับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติมาแต่ครั้งโบราณกาล
วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับแหล่งโบราณสถานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง โดยมีพระอุโบสถตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกตามแนวแกนเดิมของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง
ประวัติ
ไม่มีหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่ดูจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว วัดนี้มีอายุตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ คือ ประมาณ 800 ปีมาแล้วเป็นอย่างต่ำ ซึ่งความจริงอาจสามารถกำหนดอายุได้มากกว่านี้เพราะที่ตั้งของวัดมีลักษณะเป็นศูนย์กลางของชุมชนหรือเมืองบริเวณนี้ คือ เมืองเชลียง ซึ่งเป็นเมืองที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับยุคทวารวดี
วัดนี้เป็นวัดสำคัญของเมืองเชลียง ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในศิลาจารึกหลักที่ 1 และในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปปราบชุมนุมพระฝางเมืองสวางคบุรี แล้วได้เสด็จสมโภชพระบรมธาตุเมืองเชลียงนี้ด้วย และวัดนี้ยังเป็นที่สรงน้ำมูรธาภิเษก สำหรับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติมาแต่ครั้งโบราณกาล
โบราณสถานภายในวัด
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สำคัญมีดังนี้
ปรางค์ประธาน
ปรางค์ประธานวัดก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนเสร็จแล้วลงสีชาดทับ ลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ประมาณไว้ที่ พุทธศักราช 2017 ภายในองค์พระปรางค์มีสถูปรูปดอกบัวตูมขนาดเล็กโผล่ขึ้นมาคล้ายถูกสร้างครอบทับ น่าจะบรรจุสิ่งของสำคัญสำหรับการบูชาอยู่ ชาวบ้านเรียกกันว่า "หัวใจพระพุทธเจ้า" ตามผนังภายใน
องค์ปรางค์พบว่ามีร่องรอยเดิมคงมีจิตรกรรมฝาผนัง แต่ลบเลือนไปมากเขียนด้วยสีแดงแบบโบราณ ลายพรรณพฤกษา ส่วนบริเวณเรือนธาตุด้านหน้ามีบันไดขึ้นองค์ปรางค์ได้
ลักษณะฐานปรางค์องค์นี้ มีเป็นวิหารคด 3 ชั้น ก่อผนังทึบ และเจาะช่องแสง ฐานปรางค์แผ่ขยายกว้างออกไปทั้ง 3 ด้าน (ด้านหน้าเป็นพระวิหาร) คล้ายสร้างครอบสถูปหรือเจดีย์ที่สำคัญไว้ภายใน มีอายุอยู่
ในช่วงก่อนสุโขทัยตอนต้น เนื่องจากขุดค้นพบฐานโบราณคดีก่อด้วยอิฐอยู่ใต้ฐานพระวิหารหลวง นอกจากนี้ยังพบกระเบื้องเชิงชายรูปนางอัปสรและเทวดา ซึ่งมีลักษณะร่วมสมัยศิลปะเขมรแบบบายน เช่นเดียวกับลายปูนปั้นยอดซุ้มประตูกำแพงวัด ซึ่งทำเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อยู่ด้านบนทั้ง 4 ทิศ ด้านล่างเป็นรูปเทพธิดานั่งในกรอบ ซุ้มด้านล่างเป็นรูปนางอัปสรร่ายรำ
ฐานพระวิหารหลวงพ่อโตอยู่ด้านหน้าพระปรางค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ประทับอยู่ตรงกลางขนาบด้วยพระพุทธรูปขนาดเล็กประทับยืนทั้ง 2 ข้าง ถัดจากพระพุทธรูปปางมาร
วิชัยทางด้านขวามีพระพุทธรูปปั้นปางลีลาที่มีลักษณะงดงาม
กำแพง
กำแพงวัดเป็นศิลาแลงแท่งกลมขนาดใหญ่ปักเรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 60 เมตร ยาว 90 เมตร มีคานทับหลังกำแพง มีทางเข้าออกด้านหลัง เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคา ยอดเหนือซุ้มขึ้นไปปั้นปูนเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
มณฑปพระอัฏฐารส
มณฑปพระอัฏฐารสอยู่ด้านหลังของพระธาตุมุเตา เดิมน่าจะเป็นมณฑปพระสี่อริยาบท ต่อมาได้ซ่อมแซมดัดแปลงภายในซุ้มคูหายังมีพระพุทธรูปปูนปั้นยืนอยู่ เดิมเป็นมณฑปมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา
วิหารสองพี่น้อง
วิหารสองพี่น้องอยู่ทางซ้ายพระอัฏฐารส ก่อด้วยศิลาแลง มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 2 องค์อยู่บนแท่นพระ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าฐานวิหารสองพี่น้องก่อทับโบราณสถานที่ก่ออิฐ ข้างขวาพระวิหารหลวงพ่อสองพี่น้องพบฐานรอยพระพุทธบาทด้วย ลักษณะพระพุทธรูปทั้งสององค์เป็นพุทธศิลป์แบบสุโขทัยที่มีความงดงามยิ่ง แต่ทั้งนี้เศียรพระองค์น้องหรือองค์ด้านหน้า ชาวบ้านเล่ากันว่า กรมศิลปากรตัดเอาของจริงไป แล้วปั้นของใหม่มาสรวมแทน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ปรากฏมีคนร้ายหักนิ้วพระพุทธรูปให้ได้รับความเสียหาย
โบสถ์
โบสถ์ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร ปัจจุบันทางวัดได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลังโดยสร้างทับโบสถ์เดิม ยังปรากฏรากฐานศิลาแลงด้านหลังพระอุโบสถพอเป็นที่สังเกต รวมทั้งใบเสมาหินชนวนคู่ รอบพัทธสีมาก็จัดว่าเป็นของที่มีมาแต่โบราณ โดยพัทธสีมาของพระอุโบสถนี้สันนิษฐานว่านำมาจากเมืองสุโขทัยเก่า เพราะเหมือนกับรูปแบบที่พบมากมายในเมืองสุโขทัย อีกทั้งเมืองศรีสัชนาลัยไม่มีแหล่งหินชนวนในลักษณะนี้ ภาพถ่ายเก่าบางแหล่งยังพอสังเกตได้ว่าก่อนที่จะมีการสร้างโบสถ์ใหม่ทับลงไป ส่วนที่เหลืออยู่ขณะนั้น คือ เสา ผนังด้านหลัง และองค์พระประธานที่มีสภาพชำรุด แต่พอสังเกตเห็นได้ว่ามีพุทธศิลป์พระพักตร์ค่อนไปทางอยุธยา และมีขนาดย่อมกว่าองค์พระประธานในวิหารหลวงหน้าองค์พระปรางค์ประธานวัด
โบราณสถานและโบราณวัตถุอื่นๆ ภายในวัด
- องค์พระปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ
- ยอดนพศูลกาไหล่ทองคำ
- เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดเล็กในห้ององค์พระปรางค์
- เพดานดาวไม้จำหลัก สกุลช่างสุโขทัย (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย)
- ประตูจำหลัก สกุลช่างสุโขทัย (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย)
- ร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังสีเอกรงค์
- ปล่องปริศนาลงใต้ท้ององค์พระปรางค์
- พระวิหารหลวง ใหญ่ขนาด 7 ห้อง สร้างด้วยศิลาแลง
- หลวงพ่อโต ศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4.08 เมตร
- พระพุทธรูปปางลีลาปูนปั้น ศิลปะสุโขทัยคลาสสิก
- พระพุทธรูปยืนปูนปั้น
- ผนังพระวิหารหลวงแบบช่องแสง สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย
- พระอุโบสถ
- ซุ้มพระร่วง พระลือ
- เจดีย์ทิศทั้งสี่
- ระเบียงคดและวิหาร
- กำแพงแก้ว
- ซุ้มประตูรูปพรหมพักตร์
- เสาพระประทีบรอบองค์พระปรางค์
- เจดีย์ยอดด้วน
- พระอัฏฐารศ
- ฐานวิหารหลวงพ่อธรรมจักร
- พระวิหารหลวงพ่อสองพี่น้อง
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร
17°25′46″N 99°48′44″E / 17.4295°N 99.8122°E / 17.4295; 99.8122
พระอารามหลวงชั้นเอก |
---|
ชนิดราชวรมหาวิหาร | | |
---|
ชนิดราชวรวิหาร | |
---|
ชนิดวรมหาวิหาร | |
---|