วัดพรหมทินใต้ เป็นวัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี โดยมีโบราณสถาน , แหล่งขุดค้นทางโบราณคดี , พิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณ , หลวงพ่อพระพุทธพรหม สูง 9 เมตร (หล่อเสร็จในวันเดียว) และยังมีพระพนัสบดีที่ขุดค้นพบในบริเวณวัดซึ่งมีอายุกว่า 1,300 ปี ปัจจุบันมีพระอธิการสายันต์ อินทวัณโณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับวัดพรหมทินเหนือ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
- ทิศตะวันออก ติดกับตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
- ทิสตะวันตก ติดกับวัดสระเตยน้อย ตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
- ทิศใต้ ติดกับวัดบ้านคลอง ตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
ประวัติ
วัดพรหมทินใต้ และแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตั้งอยู่ที่บ้านพรหมทินใต้ หมู่ที่ 11 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี วัดพรหมทินใต้ สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2375 เดิมเรียกว่า วัดโพธิ์ศรีสว่าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พุทธศักราช 2380 พื้นที่ของวัดตั้งอยู่บนที่ราบสูง คณะสงฆ์สังกัดมหานิกาย มีที่ดิน 27 ไร่ 2 งาน 98 ตารางวา แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ท่านบอกว่าประมาณ 30-40 ปีก่อนมีการใช้สถานที่ของวัดเป็นโรงเรียนสำหรับใช้สอนเด็กๆในท้องถื่น และต่อมามีการสร้างโรงเรียนขึ้นทดแทน นั่นคือโรงเรียนบ้านพรหมทิน อยู่กึ่งกลางระหว่างวัดพรหมทินใต้และวัดพรหมทินเหนือ ซึ่งวัดนี้เคยมีเชื้อพระวงศ์เดินทางมาร่วมพิธีทอดกฐินหลายครั้ง เช่น ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร ซึ่งเป็นพระมารดาของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
การค้นพบซากโบราณสถาน
โบราณสถานของวัดมีสภาพเป็นเนินดิน ที่ถูกสร้างทับลงบนตัวโบราณสถานเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เมืองพรหมทินใต้แผนที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีลำน้ำโพนทองไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออก เนินดินมีการปลูกทำไร่พริกและปรับเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ปัจจุบันยังคงเหลือแนวอิฐทางใต้ และคูเมืองเดิมบ้างทางทิศตะวันออก และมีพระอุโบสถตั้งอยู่ด้านบนเนินดิน มีฐานอิฐล้อมรอบตัวโบสถ์ ด้านหลังมีเจดีย์สามองค์แต่ปัจจุบันเหลือเพียงเฉพาะฐานของเจดีย์เท่านั้น และนอกจากนี้ยังมีใบเสมาที่มีสภาพสมบูรณ์ประมาณ 5 ใบที่สามารถยังมองเห็นลวดรายได้อย่างชัดเจน และภายในพระอุโบสถก็มีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านนิยมมาสักการบูชาอยู่เสมอ คำเล่าว่าเมื่อประมาณร้อยกว่าปีได้มีชาวอิสานที่เดินทางมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อทำการค้าวัวควาย และได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่จนกลายเป็นหมู่บ้านและสืบลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน
การตั้งถิ่นฐานของชาวบ้าน
คำเล่าว่าเมื่อประมาณร้อยกว่าปีได้มีชาวอิสานที่เดินทางมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อทำการค้าวัวควาย และได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่จนกลายเป็นหมู่บ้านและสืบลูกสืบหลานมาจนถึงปัจจุบัน และในปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมใช้ภาษาลาวในการพูดคุยและสนทนากันอยู่ และมีการสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน น่าเป็นที่ชื่นชบว่าชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นเอาไว้อยู่เสมอ
พระพนัสบดี ศรีทวารวดี
วัดพรหมทินใต้ได้มีการขุดค้นพบพระพุทธรูปเก่าชื่อว่าพระพนัสบดี ปัจจุบันทางวัดได้จัดเก็บไว้ที่กุฏิของเจ้าอาวาส ก่อนที่ทางวัดจะขุดค้นพบพระดังกล่าวได้มีชายในหมู่บ้านคนหนึ่งชื่อ นายทอง โพธะนัน ได้นิมิตถึงพระพนัสบดี พอรุ่งเช้าได้นำวัวมากินหญ้าที่วัด และได้ทำการขุดตรงบริเวณที่ตนได้ฝันถึงอยู่หลายวัน แต่ก็ยังขุดไม่พบอะไร และเป็นที่น่าแปลกว่าเมื่อนายทองขุดที่ไรก็ยิ่งรู้สึกง่วงนอน และในขณะเดียวกันนายสมบัติ ฉลาดคิด จึงได้ทำการติดต่อกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี เพื่อขอเครื่องมือในการขุดมาช่วยทำการขุดบริเวณดังกล่าว และอีกไม่นานก็ขุดพบก้อนหินประหลาดชิ้นหนึ่งในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2535 และหลังจากนั้นทางวัดได้ทำการติดต่อกรมศิลปากรเพื่อทำการตรวจสอบดูว่าสิ่งที่ขุดพบคืออะไร ซึ่งทำการตรวจสอบแล้วพบว่าสิ่งที่ขุดพบคือ พระพนัสบดี
พระพนัสบดี วัดพรหมทินใต้เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีอายุประมาณ 1,200-1,300 ปี และเป็นศิลปะที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับศิลปะมอญในภาคกลาง แกะสลักจากหินสีดำ ประทับยืนบนหลังสัตว์ประหลาดซึ่งเป็นสัตว์ที่เกิดจากจินตนาการ องค์ประทับยืนจีวรห่อหุ้ม พระเกศาหมุ่น พระกรรณยาวจรดพระพาหา พระหัตถ์ทั้งสองข้างตั้งฉากกับพระวรกาย กริยาทรงแสดงธรรม ความสูงจากพระบาทถึงพระเกศ 21 เซนติเมตร วัดพรหมทินใต้ได้ถวายนามเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ว่า พระพนัสบดี ศรีทวารวดี วัดพรหมทินใต้
โบราณสถานวัดพรหมทินใต้
โบราณสถานวัดพรหมทินใต้ ประกอบไปด้วยแนวกำแพงรอบนอกทั้งสองด้าน และด้านในก็มีแนวกำแพงล้อมรอบตัวโบราณสถานและมีใบเสมา ส่วนด้านหลังนั้นมีฐานเจดีย์ 3 องค์ ซึ่งตั้งอยู่บนเนินดิน ซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ มีประวัติการสร้างที่ยาวนานนับพันปี เป็นสถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และและภายในพระอุโบสถนั้นประกอบไปด้วยพระประธานและพระพุทธรูปอื่นๆอีกหลายองค์ ตัวพระอุโบสถนั้นสร้างด้วยสังกะสีที่ชาวบ้านพรหมทินใต้ร่วมกันสร้างขึ้น ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ที่สำคัญอีกที่หนึ่ง และกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ใน พ.ศ. 2479
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน
ปัจจุบันตัวของโบราณสถานวัดพรหมทินใต้นั้นชาวบ้านเรียกว่าโบสถ์เก่าที่ชาวบ้านร่วมใจกันสร้างโดยใช้สังกะสี และนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานเอาไว้ภายใน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อโบสถ์ ซึ่งตัวโบราณสถานไม่มีการปรับแต่งหรือเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะเพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานเอาไว้ให้คงเดิมจนถึงปัจจุบัน และมีการปลูกฝังให้ลูกหลานรู้จักการอนุรักษ์และพัฒนาท้องถิ่น ทั้งทางด้านพิธีกรรมและประเพณีที่สื่บทอดกันมาแต่โบราณ
โบราณสถานวัดพรหมทินใต้ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งโบราณสถานแห่งนี้เป็นที่ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา สภาพทั่วไปเป็นลักษณะเป็นพระอุโบสถดังปรากฏใบเสมาอยู่ล้อมรอบ และนอกจากนั้นยังมีองค์เจดีย์อยู่สามองค์ ต่อมาในสมัยอยุธยาได้มีการสร้างทับลงไปในตัวโบราณสถานเดิมและในปัจจุบันมีสภาพเป็นเนินดิน บริเวณรอบๆมีลำน้ำใหลผ่าน ซึ่งบริเวณเป็นที่ราบสูงของภาคกลางอยู่ทางทิศตะวันตกสภาพทั่วไปในปัจจุบันจะเหลือเพียงฐานของโบราณสถาน และใบเสมาอยู่ประมาณ 4-5 ใบ ในส่วนของเจดีย์ด้านหลังก็เหลือเพียงฐานเท่านั้น
การพัฒนาโบราณสถาน
ในอดีตนั้นบริเวณโดยรอบนั้นเป็นท้องทุ่งนามาก่อน หลังจากที่มีการสร้างวัดจึงได้มีการขยายพื้นที่ของวัดให้มีพื้นที่เพียงพอ และความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจึงได้มีการซื้อที่ดินถวายให้กับวัดจึงได้มีการพัฒนาจากทุ่งนาให้เป็นวัดจนถึงปัจจุบัน และตั้งแต่มีการขุดค้นแต่งซากโบราณสถานแห่งนี้ ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ก็มีการพัฒนาและปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณสถานและวัตถุตลอดยังเป็นสถานที่ศึกษาประวัติความเป็นมาตั้งแต่ยุคทวารวดี อยุธยา มาจนถึงยุคปัจจุบัน ในปัจจุบันได้มีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนในการพัฒนา และนอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบซากโครงกระดูกที่มีอายุราว 3,000 ปีอีกด้วย ประกาศขึ้นทะเบียน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 906 วันที่ 2 สิงหาคม 2479
ก่อนปี 2553 ทางวัดและชาวบ้าน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการเสนอเรื่องไปทางจังหวัดเพื่อให้ทางจังหวัดนำไปดำเนินการต่อ และโบราณสถานวัดพรหมทินใต้ได้รับการบูรณะและปรับแต่งโดยกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และมีการขุดค้นค้นและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้
แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตั้งอยู่ที่วัดพรหมทินใต้ หมู่ที่ 11 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ปี พ.ศ. 2529 กรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจในเขตจังหวัดลพบุรี ซึ่งได้พบเมืองโบราณหลายแห่งรวมไปถึงแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ จากการสำรวจครั้งนั้นพบหลักฐานประเภทเศษภาชนะดินเผาตั้งแต่เนื้อธรรมดาจนถึงเนื้อแกร่ง ไม่ค่อยมีการตกแต่งมากนักเพราะว่าน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในชุมชน และยังพบเครื่องถ้วยแบบจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง ภาชนะรูปแบบไหขอม เครื่องเคลือบจากกลุ่มเตาศรีสัชนาลัย รวมทั้งยังพบภาษาบาลี อักษรปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 11-12) และอักษรปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 13)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นและขุดแต่งภายในวัดพรหมทินใต้ บริเวณด้านข้างพระอุโบสถหลังเก่า โดยได้ทำการบูรณะพระอุโบสถหลังเก่าหลังเก่าในสมัยอยุธยา
ในปี พ.ศ. 2547 ผศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธิ์ นำคณะนักศึกษาจากภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการขุดค้นบริเวณด้าน ทิศตะวันตกของ พระอุโบสถ หลักฐานที่พบได้แก่โครงกระดูกมนุษย์ สิ่งที่พบร่วมกับโครงกระดูก เช่น ภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ (เกือบทั้งหมด
มีการตกแต่งผิวด้วยการขัดมัน) ชั้นดินมีความหนาเฉลี่ยประมาณ 100 เซนติเมตร เป็นชั้นที่วางตัวอยู่ถัดขึ้นมาจากชั้นดินก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลายหลักฐานที่พบ เช่น ภาชนินเผาแบบต่างๆโดยเฉพาะภาชนะแบบมีสัน ลูกปัดแก้ว เบี้ยดินเผา ชิ้นส่วนพวยกา หินดุ ฯลฯ (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-13)
พบโครงกระดูกพร้อมภาชนะดินเผารูปทรงต่าง ๆ กำไลสำริด ลูกปัด เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเหล็ก สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งอาจจะรวมถึงยุคสำริดตอนปลาย
หลวงพ่อพระพุทธพรหม
พระพุทธพรหม หรือ หลวงพ่อพระพุทธพรหม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพรหมทินใต้ หมู่ที่ 11 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีความสูง 9 เมตร ไม่รวมฐาน ภายในบรรจุสิ่งของอันมีค่าและรวมไปถึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อให้ประชาชนได้บูชาสัการะ ซึ่งทำการหล่อเสร็จในวันเดียว คือ วันอาทิตย์ที่ 4 เดือนมีนาคม 2555 โดยมีผู้บริจาคหลักคือ คุณนิรันดร พานทอง , คุณสุมะนา พานทอง ประธานสร้างหลวงพ่อพระพุทธพรหม
ถาวรวัตถุภายในวัด
- พระอุโบสถ 1 หลัง ซึ่งไม่รวมกับโบราณสถานของวัด
- ศาลาการเปรียญ 2 หลัง หลังแรกใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาในงานระดับย่อม ส่วนศาลาหลังใหม่ปัจจุบันยังก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จเพราะเป็นศาลาขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
- วิหาร 1 หลัง (ประดิษฐานพระพนัสบดี ศรีทวารวดี) ด้านบนศาลาการเปรียญหลังใหม่
- กุฏิสงฆ์ มีทั้งหมดทั้งหมด 3 หลัง
- พิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดแสงวัตถุโบราณ 1 หลัง
- ฌาปณสถาน 1หลัง
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
อ้างอิง