วัดบ้านฆ้อง |
---|
Wat Bankong |
รูปอุโบสถและวิหารเล็ก |
สถาปนา | ต้นรัชกาลที่ 1 |
---|
ประเภท | วัดราษฎร์ |
---|
นิกาย | มหายาน |
---|
เจ้าอาวาส | พระครูโสภณกิตติคุณ |
---|
ที่ตั้ง | วัดบ้านฆ้อง เลขที่ 86 หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 70120 |
---|
|
วัดบ้านฆ้อง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ประวัติ
เมื่อต้นสมัยรัชกาลที่ 1 ต้นรัตนโกสินทร์ ได้มีครอบครัวลาวครอบครัวหนึ่ง เดินทางอพยพมาจากเมืองเวียงจันทร์ประเทศลาว โดยการนำของพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อพระอาจารย์มะนาวเชี่ยว เป็นพระทรงคุณพิเศษมีปัญญาสามารถรู้ภาษานกได้ และท่องมนต์คาถาบทหนึ่งๆ ได้เร็วมากชั่วปาดมะนาวขาดเท่านั้น ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า พระอาจารย์มะนาวเชี่ยว เวลานอนจำวัดไม่ใช้หมอน แต่ใช้ผลมะนาวแห้งหนุนศีรษะ ได้พาญาติโยมขึ้นช้างเดินทางมาด้วยกัน 4 คน คือ
- พระอาจารย์มะนาวเชี่ยว เป็นผู้นำทาง
- โยมชายไม่ปรากฏนาม เป็นผู้บังคับช้าง
- โยมหญิงชื่อผู้เฒ่าก้อ
- นางประทุมมา (เป็นคนทรงเจ้า)
ทั้ง 4 นี้ สันนิษฐานว่าคงเป็นเครือญาติกัน และได้นำตู้ใส่พระคัมภีร์ไวยากรณ์เป็นอักษรขอมลาวจารึกในใบลานมาด้วย 2 ตู้ (ขณะนี้ยังมีหลักฐานอยู่บนกุฏิวัดบ้านฆ้อง) ได้มาพักอาศัยอยู่ที่ศาลเจ้าปู่ตา ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบ้านฆ้องไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร เมื่อมาพักแล้วญาติโยมก็ออกแสวงหาอาหารพืชผักผลไม้ตามบริเวณใกล้ๆ ที่พัก ซึ่งเป็นดงไม้เบญจพรรณธรรมชาติมีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น วันหนึ่งจึงได้มาพบวิหารเล็กๆ อยู่หลังหนึ่งรูปคล้ายโบสถ์ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปศิลาและประดิษฐานอยู่ บริเวณรอบๆ วิหารมีซากโบราณวัตถุสลักหักพัง พืชพันธุ์ไม้ปกคลุมอยู่ทั่วๆ ไป มีสภาพคล้ายกับเป็นวัดร้าง โดยเฉพาะมีต้นตะเคียน ต้นพิกุลใหญ่ๆ หลายต้นมีอายุหลายชั่วอายุคนแล้วขึ้นอยู่มากมาย ในวัดร้างนี้ไม่มีใครทราบประวัติ พระอาจารย์มะนาวเชี่ยวได้ทราบข่าว จึงได้มาตรวจดูสถานที่เห็นเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม เป็นรมณียสถานที่ร่มรื่น เป็นที่อยู่อาศัยของพวกวิหานกกาทั้งหลาย จึงได้พาญาติโยมมาพักอาศัยอยู่ที่วัดร้างนี้ โดยย้ายที่พักจากศาลเจ้าปู่ตามาบูรณะซ่อมแซมทำเป็นที่อยู่อาศัย ครั้นอยู่มานานๆเข้าก็ได้มีครอบครัวลาวที่อบยพมาทีหลังได้มาอยู่สมทบอยู่เรื่อยๆจนปรากฏว่ามีประชาชนมาอยู่มากขึ้นทุกที จึงได้เกิดการขาดแคลนข้าวปลาอาหารน้ำดื่มน้ำใช้ พระอาจารย์มะนาวเชี่ยว จึงได้พาญาติโยมประชาชนทำการขุดสระขังน้ำเป็นสระขนาดใหญ่ขึ้นทางทิศตะวันตกของวัด
ในขณะที่ทำการขุดอยู่นั้นปรากฏว่าได้พบฆ้องใหญ่มหึมาจมดินอยู่ใบหนึ่งประชาชนที่ขุดต่างก็ดีอกดีใจช่วยกันขุดเป็นการใหญ่ จนกระทั่งขุดขึ้นมาทำการเช็ดล้างทำความสะอาดจนเรียบร้อยแล้วก็ได้นำมาแขวนไว้ที่กิ่งต้นพิกุลใหญ่ มีขาดใหญ่กว่าล้อเกวียนสมัยโบราณเนื้อคล้ายทองสัมฤทธิ์ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ประชาชนทั้งหลายก็เอาไม้มาตีบ้าง เอาอิฐมาเคาะตีบ้าง ตีฆ้องใหญ่กันอย่างสนุกสนาน ตีเท่าไหร่ก็ไม่มีเสียงดัง แต่พอเลิกตีชั่วขณะหนึ่งฆ้องใหญ่จขะดังกังวานคำรามลั่นสนั่นหวั่นไหวครางกระหึ่มสะเทือนไปทั่วบริเวณวัด ในบัดดลนั้นเอง ก็เกิดปาฎิหาริย์อัศจรรย์ธรรมชาติที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กล่าวคือ ท้องฟ้าที่มีแสงแดดอันเจิดจ้าพลันกลับมืดครึ้ม มีเมฆหมอกมาปิดบังดวงอาทิตย์เกิดพายุลมร้ายพัดมาดังสนั่งหวั่นไหวท้องฟ้าลั่นปั่นป่วนต้นไม้น้อยใหญ่เอนเอียงไปมา ป่านว่าฟ้าดินจะถล่มฝูงวิหกนกกา ทั้งหลายส่งเสียงร้องระทมในนภากาศ ประชาชนแตกตื่นอกสั่นขวัญหาย ความตกใจกลัวเสมือนหนึ่นางพญามารร้ายจะมาแดฆ่าเอาชีวิต ปานใดก็ปานนั้นเกิดชลมุนวุ่นวายโกลาหน อลหม่าน
พระอาจารย์มะนาวเชี่ยวเห็นเกิดเหตุการณืเข้าขั้นวิกฤติ จึงให้นางปทุมมาเชิญเจ้าเข้าทรงประทับทำนายทายทักว่าเป็นเหตุเพทพานประการใดหนอจึงได้เกิดเหตุร้ายอัศจรรย์เช่นนี้ เมื่อเจ้าเข้าประทับทรงแล้วจึงยืนขึ้นประกาศในท่ามกลางฝูงชนว่าสูเจ้าทั้งหลายคิดการใหญ่อันเกินควร อันว่าฆ้องใหญ่กายสิทธิ์ใบนี้มีเทพเจ้ารักษาอยู่ ไม่คู่ควรแก่กับปุถุชนคนธรรมดาจะนำมาใช้ เป็นของคู่บ้านคู่เมือง เป็นคู่บุญบารมีของเจ้าฟ้ามหากษัตริย์มาหลายชั่วอายุคนแล้วในอดีต ถ้าขุดขึ้นมาใช้จะเกิดเหตุเภทภัยต่างๆนานาจะเกิดทุกข์โศกโรคภัย ฆ้องใหญ่ดังไปถึงไหนประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อนไปถึงนั้นให้นำไปฝังไว้ที่เดิมแล้วประชาชนจะอยู่ร่มเย็นเป็นสุขเมื่อทราบดังนั้น พระอาจารย์มะนาวเชี่ยวจึงสังให้ญาติโยมคนขุดทั้งหลายช่วยกันนำไปฝังไว้ที่เดิม แล้วหาแหล่งน้ำขุดสระขังน้ำใหม่ต่อไป เทพเจ้าดีใจหายโกรธจึงดลบันดาลให้ฆ้องใหญ่ได้แสดงอภินิหารอีก คือในค่ำคืนนั้นฆ้องใหญ่ได้ดังขึ้นเอง เสียงเสนาะเพราะจับใจส่งเสียงวังเวงแว่วในยามราตรีที่เงียบสงัดทุกคนในหมู่บ้านก็ได้ยินเสียงครึ่งหลับครึ่งตื่นคล้ายๆกับละเมอฝัน พอรุ่งเช้าต่างคนก็มาเล่าสู่กันฟังทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้ยินเสียงฆ้องดังเสนาะเพราะจริงๆ ฝูงชนคนทั้งหลายก็โจษจันเรื่องลือกันไปทั่วทุศานุทิศ พระอาจารย์มะนาวเชี่ยว จึงได้เป่าร้องประกาศให้ประชาชนคนทั้งหลายในหมู่บ้าน ได้รักษาศีลทำบุญให้ทานแล้ว อุทิศส่วนกุศลไปให้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและเทพเจ้าผู้เรืองฤทธิ์เจ้ากรรมนายเวรตลอดทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย จงได้เสวยทิพย์สุขในสรวงสวรรค์และขอตั้งชื่อวัดร้างนี้ว่า วัดบ้านฆ้องใหญ่ เป็นมงคลนามมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
นับตั้งแต่นั้นมาประชาชนก็อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสูขตลอดมา มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม เหมือนไทยภาคอีสานทุกประการ ปัจจุบันชาวบ้านฆ้องยังพูดภาษาลาวอยู่และคนเฒ่าคนแก่ก็ยังชำนาญในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าไหม เมื่อมีประชาชนอยู่หนาแน่นชาวบ้านฆ้องพวกหนึ่งได้อพยบไปทำมาหากินในเขตอำเภอบ้านโป่ง เมื่ออยู่นานๆต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งในเขตตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่งเรียกว่า วัดบ้านฆ้องน้อย ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นวัดที่มีความเจริญทัดเทียมกับวัดบ้านฆ้องใหญ่ มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเหมือนกัน จนมีคำพังเพยว่า "ฆ้องน้อย ฆ้องใหญ่" ไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน
ลำดับเจ้าอาวาส
วันบ้านฆ้องใหญ่ได้มีเจ้าอาวาสปกครองสืบต่อๆ กันมาตามลำดับ ดังนี้
- พระอาจารย์มะนาวเชี่ยว เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก และเป็นชื่อผู้ตั้งวัดบ้านฆ้องใหญ่
- พระอาจารย์ปทุมมา
- พระอาจารย์แจ้ง
- พระอาจารย์สด
- พระอาจารย์ดำ
- พระอาจารย์หริ่ว
- พระอาจารย์พั่ว
- พระอาจารย์ปัด
- พระอธิการหลน
- พระอธิการชื่น
- เจ้าอธิการย่น ฐิตฺปญฺโญ (พระครูพิพิธธรรมาภิรมย์)
- พระอธิการยศ กิตฺติโสภโณ (พระครูโสภณกิตฺติคุณ)
- พระครูโสภณกิตฺติคุณ (ด้วง สวาคโต) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
หลักฐานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
- ตู้ใส่พระคัมภีร์มาจากเวียงจันทร์ จำนวน 2ตู้
- วิหารเล็กอยู่ในบริเวณโบสถ์ (ได้บูรณะซ่อมแซมใหม่)
- ศาลเจ้าปู่ตา อยู่ทางทิศเหนือของวัด ประมาณ 500 เมตร
- เจดีย์บรรจุอัฏฐิพระอาจารย์มะนาวเชี่ยว
- เจดีย์บรรจุอัฏฐิผู้เฒ่าเจ้าก้อ
- เจดีย์บรรจุอัฏฐิพระอาจารย์สด
- มณฑปประดิษฐานรูปปั้นเจ้าอธิการย่น (พระครูพิพิธธรรมาภิรมย์)
- ต้นตะเคียนและต้นพิกุล ต้นพิกุลที่แขวนฆ้องหมดอายุไขแล้ว คงเหลือแต่ลูกหลานอยู่ตามบริเวณวัด
อ้างอิง
- หน้งสือที่ระลึกในงานปิดทองฝังลูกนิมิตวัดบ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พ.ศ. 2529