วงศ์เต่าแก้มแดง (อังกฤษ: Terrapin, Pond turtle, Marsh turtle) เป็นวงศ์ของเต่าวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อว่า Emydidae
เป็นเต่าที่มีลักษณะคล้ายกับเต่าในวงศ์เต่านา (Bataguridae) คือ มีกระดองที่โค้งกลมเหมือนกัน กระดองท้องใหญ่เหมือนกัน ในบางสกุลจะมีบานพับที่กระดองท้อง เช่น Terrapene แต่กระดูกแอนกูลาร์ของขากรรไกรล่างไม่เชื่อมติดกับกระดูกอ่อนเมคเคล กระดูกออคซิพิทัลเป็นชิ้นแคบ การหุบขากรรไกรล่างเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผ่านไปกระดูกโพรโอติก และขากรรไกรติดกับพื้นผิวของก้านกระดูกโพรโอติกที่อยู่ในซัยโนเวียลแคปซูล กระดองท้องไม่มีกระดูกมีโสพลาสทรอน มีกระดูกพลาสทรอนไปเชื่อมต่อกับขอบนอกของกระดองหลังที่มีร่องแบ่งเป็นกระดูกชิ้นเล็กจำนวน 11 คู่ กระดูกเชิงกรานเชื่อมติดกับกระดองท้องในลักษณะที่ยืดหยุ่นได้
เป็นเต่าที่มีวงศ์ขนาดใหญ่ จึงแบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ย่อย ๆ (ดูในตาราง) มีทั้งหมด 10 สกุล ราว 50 ชนิด พบแพร่กระจายพันธุ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย ทั้งในทวีปยุโรป, อเมริกาเหนือ และบางส่วนของอเมริกาใต้
เต่าตัวผู้โดยมากจะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียมาก และมีความแตกต่างระหว่างเพศมาก จนเห็นได้ชัดเจน กินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ หรือบางสกุลหรือบางชนิดก็กินได้ทั้ง 2 อย่าง
โดยชนิดที่ใหญ่ที่สุด คือ เต่าแก้มแดง (Trachemys scripta) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "เต่าญี่ปุ่น" ที่นิยมเลี้ยงกันเป็นสัตว์เลี้ยงจนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทยด้วย[2] โดยสามารถโตเต็มที่ได้ถึง 60 เซนติเมตร และขนาดเล็กที่สุด คือ เต่าจุด (Clemmys guttata) ที่โตเต็มที่มีความยาวกระดองเพียง 10-12 เซนติเมตร เท่านั้น
ขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ โดยฝังไข่ไว้ในหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำ โดยเต่าเพศเมียจะวางไข่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และลูกเต่าจะฟักเป็นตัวในช่วงปลายฤดูร้อน[3]
การจำแนก
จำแนกออกได้เป็น 10 สกุล ใน 2 วงศ์ย่อย[1]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง