วงศ์ปลากุเรา (อังกฤษ: Threadfins) เป็นวงศ์ปลาในอันดับ Perciformes ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polynemidae (/โพ-ลี-นี-มิ-ดี/)
มีรูปร่างทั่วไปเป็นทรงกระบอก ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย หัวและจะงอยปากทู่ ปากกว้างอยู่ด้านล่างของจะงอยปาก ตาเล็กอยู่ตอนปลายของหัวและมีเยื่อไขมันบาง ๆ คลุม ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอนอยู่ห่างกัน ตอนแรกเป็นก้านแข็งสั้น ตอนท้ายเป็นก้านอ่อน ครีบหางเว้าลึก ครีบอกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนบนเป็นครีบยาวแหลม ส่วนล่างเป็นเส้นยาวแยกออกเป็นเส้นตั้งแต่ 4 - 14 เส้น มีความยาวแล้วแต่ชนิด เกล็ดเป็นแบบสากมีขนาดเล็กละเอียด
เป็นปลากินเนื้อ โดยกินกุ้ง, ปลา หาเหยื่อและสัมผัสได้ด้วยครีบอกที่เป็นเส้น มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พบในเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยมากเป็นปลาทะเล พบในน้ำกร่อยและน้ำจืดเพียงไม่กี่ชนิด มีทั้งหมด 8 สกุล 38 ชนิด มีขนาดใหญ่สุดได้ถึง 2 เมตร คือ ปลากุเราแอฟริกา (Polydactylus quadrifilis) พบในประเทศไทยประมาณ 10 ชนิด เช่น ปลากุเรา 4 หนวด (Eleutheronema tetradactylum) เป็นต้น แต่มีเพียง 3 ชนิดเท่านั้นที่พบในน้ำจืด คือ ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 7 เส้น (Polynemus paradiseus), ปลาหนวดพราหมณ์ทอง (P. melanochir) และ ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 14 เส้น (P. multifilis) นอกจากนี้แล้วยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย สำหรับปลาที่พบในน้ำจืด[1]
อ้างอิง
- ↑ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 257 หน้า. หน้า 139. ISBN 974-00-8738-8
แหล่งข้อมูลอื่น