วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ประเทศไทยมีการเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557[1] ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรุงเทพมหานคร ผู้ประท้วงซึ่งรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" (อังกฤษ: Free Youth) ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ การยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้ประท้วงระบุเหตุผลว่า รัฐบาลได้ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดทั่วของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และการปล่อยละเลยให้บุคคลสำคัญจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่กักตัว 14 วัน จึงเป็นเหตุผู้ประท้วงไม่ไว้วางใจในการทำงานของรัฐบาล, การหยุดคุกคามประชาชน เนื่องจากมีการอ้างความมั่นคงเพื่อปิดปากประชาชน และยัดข้อหาให้ผู้ชุมนุม และ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นการสืบทอดอำนาจระบอบเผด็จการ ผู้ประท้วงกำหนดระยะเวลาให้รัฐบาลตอบสนองภายใน 2 สัปดาห์ มิฉะนั้นผู้ประท้วงจะทำการยกระดับการชุมนุมต่อไป[2]
สาเหตุการประท้วงเกิดจากเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งผู้ชุมนุมมองว่า มีวัตถุประสงค์แอบแฝงเพื่อห้ามการชุมนุมทางการเมือง[3][4] โดยการชุมนุมเริ่มต้นในเวลา 17:00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 2,500 คน มีประกาศจะปักหลักค้างคืนจนถึงเวลา 08:00 แต่ในช่วงเวลา 00:00 กลุ่มผู้ประท้วงประกาศยุติการชุมนุม เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย[5] ส่วน ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการประวัติศาสตร์ เตือนผู้ชุมนุมอย่าชุมนุมค้างคืน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา[6]
วันที่ 19 กรกฎาคม เกิดการประท้วงขึ้นอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอุบลราชธานี[7]
วันที่ 22 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรม "อิสานสิบ่ทน" ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพิ่มขึ้นมา แฮชแท็ก #อีสานสิบ่ทน พุ่งติดเทรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทยอย่างรวดเร็ว[8]
วันเดียวกัน กลุ่ม "มศว คนรุ่นเปลี่ยน" จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อ "ชมสวน" หมายความถึง สวนที่กรุงเทพมหานครนำต้นไม้กระถางมาวางโดยรอบบริเวณ ซึ่งมีการยกออกไปในภายหลัง[9]
จากนั้นการประท้วงได้ลามไปทั่วประเทศ มีการจัดระเบียบการเดินขบวนในกว่า 20 จังหวัดในวันที่ 23 กรกฎาคม[10] บางมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสั่งห้ามบุคลากรและนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมการชุมนุมและห้ามจัดการชุมนุมในพื้นที่โดยอ้างเหตุความกังวลเรื่องโควิด-19 พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกและกลุ่มนิยมรัฐบาลชี้ว่าการกระทำบางอย่างของนักศึกษาอาจเข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย วันที่ 24 กรกฎาคม ที่จัตุรัสท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีการจัดการนั่งยึดพื้นที่โดยกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจาก 4 มหาวิทยาลัยในจังหวัด นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่ง[11] วันที่ 27 และ 29 กรกฎาคม คนไทยที่กรุงลอนดอน ในสหราชอาณาจักร และนครนิวยอร์กในสหรัฐ ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วย[12]
วันที่ 25 กรกฎาคม กลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBT) ชื่อ เสรีเทย เดินขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องกฎหมายสมรสเพศเดียวกันนอกเหนือจากข้อเรียกร้องสามข้อของเยาวชนปลดแอก[13] วันที่ 26 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยใช้ตัวการ์ตูนแฮมทาโร่ ตอนแรกเป็นการเคลื่อนไหวออนไลน์ทางทวิตเตอร์ จนกระทั่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 3,000 คน[9] วันที่ 29 กรกฎาคม มีการชุมนุมเกิดขึ้นหลายที่ทั่วประเทศ เช่น ที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ มีการชุมนุมของประชาชนราว 1,000 คน ก่อนหน้านี้ แกนนำ 4 คนถูกตั้งข้อหาซึ่งนัดเข้ามอบตัวในวันที่ 30 กรกฎาคม, ที่จังหวัดน่าน มีผู้ชุมนุมราว 100 คน ใช้แฮชแท็ก #คิดว่าน่านจะทนหรอ #น่านกระซิบลุง, ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีผู้ชุมนุม 200 คน ใช้สโลแกนว่า "นครสวรรค์จะไม่ทน เราจะสู้ จนกว่าตะได้ประชาธิปไตยคืนมา", ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีการชุมนุมของกลุ่ม "สุพรรณจะไม่ทน" จำนวน 150 คน และที่จังหวัดนนทบุรี ผู้ชุมนุมร่วมร้องเพลงแฮมทาโร่[14]
วันที่ 30 กรกฎาคม มีการจัดการประท้วงโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้ง 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายใต้แฮชแท็ก #สามพระจอมจะยอมได้ไง ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตกรุงเทพมหานคร[15] วันเดียวกัน มีการชุมนุมของกลุ่มอาชีวะ 2 กลุ่ม ได้แก่ "กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ" ที่แสดงจุดยืน "พิทักษ์" สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งกล่าวหาว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอก "ท้าทาย ต่อต้าน หรือกระทั่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์" มีจำนวนประมาณ 110 คน จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกกลุ่มหนึ่งคือ "อาชีวะเพื่อประชาชน" และกลุ่ม "ฟันเฟืองประชาธิปไตย" ที่แสดงจุดยืนเข้ากับผู้ชุมนุม[16]
รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ระบุว่า จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรมแล้ว 75 ครั้งใน 44 จังหวัด ในจำนวนนี้ 5 กิจกรรมไม่สามารถจัดได้เพราะมีการคุกคามและปิดกั้นของทางการ[17]
อ้างอิง