กิลเบิร์ต หัวใจไม่มีวันจบ ชื่อไทยฉบับฉายโรง โดย นนทนันท์ (อังกฤษ : What's Eating Gilbert Grape?) คือภาพยนตร์อเมริกันปี พ.ศ. 2536 แนวครอบครัว กำกับโดย ลาซเซ ฮัลสตรอม ประพันธ์บทภาพยนตร์โดย ปีเตอร์ เฮดจ์ส และนำแสดงโดย จอห์นนี เดปป์ จูเลียตต์ เลวิส และลีโอนาโด ดิคาปริโอ เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของปีเตอร์ เฮดจ์ส (ผู้ประพันธ์บทภาพยนตร์เรื่องนี้) ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2534 สถานที่ที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้คือเมืองแมนเนอร์ รัฐเท็กซัส
เนื้อเรื่องย่อ
เรื่องเล่าถึงชีวิตของกิลเบิร์ต เกรป (จอห์นนี เดปป์) ชายหนุ่มชาวชนบทในเอนโดรา เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในรัฐไอโอวา เขาอาศัยอยู่กับครอบครัวที่ประกอบไปด้วยบอนนี เกรป (ดาร์เลน เคตส์) มารดาผู้เป็นโรคอ้วนและมีรูปร่างใหญ่โตเกินขนาด อาร์นี เกรป (ลีโอนาโด ดิคาปริโอ) น้องชายที่พิการทางสมอง เอมี เกรป (ลอรา ฮาร์ริงตัน) พี่สาวคนโต และเอลเลน เกรป (แมรี เคต สเคลล์ฮาร์ดต์) น้องสาวคนเล็ก หน้าที่ประจำของกิลเบิร์ตคือการปกป้องดูแลอาร์นี และทำงานในร้านขายของชำของสองสามีภรรยาตระกูลแลมสันที่กำลังประสบปัญหาจากการเข้ามาแย่งตลาดของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งใหม่ที่ชื่อ "ฟูดแลนด์"
ส่วนชีวิตส่วนตัวของเขา กิลเบิร์ตมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวอย่างลับ ๆ กับเบตตี คาร์เวอร์ (แมรี สตีนเบอร์เกน) หญิงที่อาศัยในเอนโดราเหมือนกัน เธอคนนี้เป็นแม่บ้านลูกสองและภรรยาของเคน คาร์เวอร์ (มาร์ก จอร์แดน)
ต่อมา กิลเบิร์ตได้พบกับเบคกี (จูเลียตต์ เลวิส) หญิงสาวที่เดินทางมาพร้อมกับยายของเธอโดยใช้รถบ้านเป็นพาหนะ แต่เดินทางต่อไม่ได้เพราะรถบ้านคันนั้นเสีย ทั้งเบคกีและกิลเบิร์ตเริ่มสานความสัมพันธ์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้ไปถึงเบตตี เธอพยายามยื้อความสัมพันธ์ลับ ๆ กับกิลเบิร์ตเอาไว้ แต่สุดท้ายหลังจากที่พบกว่ากิลเบิร์ตไม่ยอมรับตัวเธออีกแล้วและสามีของเธอก็ถึงแก่กรรมจากอุบัติเหตุ เธอก็ตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองเพื่อค้นหาชีวิตใหม่
หลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านไป กิลเบิร์ตกับเบคกีต่างมีความรักให้แก่กัน ขณะที่อาร์นีก็เริ่มสร้างปัญหาให้กับกิลเบิร์ตมากขึ้น ตั้งแต่แอบปีนขึ้นไปบนหอเก็บน้ำในเมืองจนถูกตำรวจจับ ทำเค้กที่เอมีทำไว้เพื่อใช้ในงานเลี้ยงวันเกิดครบ 18 ปีของตัวอาร์นีเองพัง ไปจนถึงแอบกินเค้กที่กิลเบิร์ตซื้อมาแทนเค้กของเอมีก่อนงานวันเกิดจริง ๆ ปัญหาต่าง ๆ ที่อาร์นีก่อขึ้นมาประกอบกับแรงกดดันจากชีวิตและครอบครัวทำให้กิลเบิร์ตบันดาลโทสะและทำร้ายร่างกายอาร์นีในวันที่อาร์นีแอบกินเค้กก้อนนั้น เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้อาร์นีตกใจและโกรธจนหนีออกจากบ้านในขณะที่กิลเบิร์ตก็ขับรถออกจากบ้านเพื่อไปหาเบคกีด้วยอาการสำนึกในสิ่งที่ทำลงไป
เมื่อไปถึงรถบ้านของเบคกี เขาพบว่าอาร์นีกำลังอยู่กับเบคกีด้วย โดยในขณะนั้นเบคกีกำลังชวนอาร์นีที่กลัวน้ำ (ซึ่งมีสาเหตุมาจากครั้งหนึ่งเขาเคยถูกกิลเบิร์ตปล่อยทิ้งไว้ในอ่างอาบน้ำข้ามคืนโดยไม่ได้ตั้งใจ) ลงมาเล่นน้ำในบ่อใกล์กับที่เธอพำนักอยู่เพื่อเป็นการบำบัดโรคกลัวน้ำนี้ ซึ่งอาร์นีก็ยอมลงเล่นน้ำกับเธอด้วยดี ก่อนที่เธอจะส่งเขากลับไปให้เอมีและเอลเลนที่ออกมาตามหาอาร์นีในค่ำคืนวันนั้น การกระทำของเบคกีทำให้กิลเบิร์ตพอใจอย่างมาก
ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันที่ครอบครัวเกรปจัดงานเลี้ยงวันเกิดครบ 18 ปีให้กับอาร์นี กิลเบิร์ตตัดสินใจกลับมาร่วมงานเลี้ยงครั้งนี้และขอโทษอาร์นีในสิ่งที่ทำลงไป ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีเมื่อพี่ชายและน้องชายกลับมาคืนดีอีกครั้ง แต่หลังจากงานเลี้ยงวันนั้น บอนนี แม่ของพวกเขาก็ถึงแก่กรรมอย่างสงบ โดยก่อนสิ้นใจเธอได้กล่าวชื่นชมกิลเบิร์ตว่าเขาคือ "อัศวินในชุดเกราะที่ส่องแสงแวววาว" (knight in shimmering armor) และเขาก็เติบโตขึ้นแล้ว
ในการเคลื่อนย้ายศพของบอนนีที่มีขนาดใหญ่ (ขนาดที่กิลเบิร์ตมักใช้พรรณนาให้เบคกีฟังเสมอว่าเท่ากับปลาวาฬ) นั้น ทางการของเมืองจะเข้ามาช่วยเหลือโดยจะใช้เครนมายกและใช้เฮลิคอปเตอร์ในการเคลื่อนย้าย จากวิธีดังกล่าวทำให้ลูก ๆ ทั้ง 3 ที่ประกอบไปด้วยกิลเบิร์ต เอมี และเอลเลน กลัวว่าจะทำให้ศพของแม่เป็นจุดเด่นให้ชาวเมืองหัวเราะเยาะได้ เพราะรูปร่างของบอนนีเป็นที่โจษขานกันในหมู่ชาวเมืองอยู่แล้วว่าประหลาด พวกเขาจึงคิดหาวิธีอื่นในการเคลื่อนย้าย จนในที่สุดกิลเบิร์ตก็ตัดสินใจไม่ย้ายศพของแม่ออกจากบ้าน แต่ได้จุดไฟเผาบ้านทั้งหลังที่มีศพของบอนนีนอนอยู่ในนั้นแทน
หนึ่งปีต่อมาหลังจากนั้น ครอบครัวเกรปที่เหลืออยู่ได้แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตของตนเอง มีแต่กิลเบิร์ตก็ยังทำหน้าที่ดูแลอาร์นีเช่นเดิม ภาพสุดท้ายที่ผู้ชมได้เห็นคือทั้งสองได้พบกับเบคกีอีกครั้ง นับตั้งแต่ที่เธอจากเมืองเอนโดราไปเมื่อปีที่แล้ว เธอโดยสารรถบ้านที่ขับมาโดยยายของเธอเช่นเดิม แต่คราวนี้เธอได้รับกิลเบิร์ตและอาร์นีไปร่วมเดินทางและใช้ชีวิตกับเธอด้วย
นักแสดง
การเข้าฉายและรายได้
ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาวันที่ 17 ธันวาคม 2536 โดยฉายแบบจำกัดโรงภาพยนตร์ ก่อนที่จะฉายแบบไม่จำกัดโรงอีกครั้งในวันที่ 4 มีนาคม 2537[1] สำหรับรายได้รวมในสัปดาห์แรกที่เข้าฉายนั้นอยู่ที่
2,104,938 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนรายได้รวมภายในประเทศนั้น อยู่ที่ 10,032,765 ดอลลาร์สหรัฐ[2]
การตอบรับ
ตัวภาพยนตร์ได้รับการตอบรับที่ค่อนไปในเชิงบวกจากนักวิจารณ์จำนวนมาก โดยผู้ที่เข้ามาวิจารณ์ผ่านเว็บไซต์รอตเทนโทเมโทส์ 32 จาก 36 คนยกให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในระดับ "fresh" ทำให้ได้รับคะแนนคิดเป็นร้อยละ 90[3] สอดคล้องกับที่นักวิจาร์ภาพยนตร์อาชีอย่างโรเจอร์ เอเบิร์ต จากนิตยสารชิคาโกซัน-ไทมส์ ได้กล่าวไว้ว่า "(ภาพยนตร์เรื่องนี้) เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีมนต์เสน่ห์ที่สุดแห่งปี"[4]
ส่วนทางด้านนักแสดงก็ได้รับการตอบรับในด้านบวกเช่นกัน ทอดด์ แมคคาร์ที จากเว็บไซต์วาไรอิตี กล่าวถึงจอห์นนี เดปป์ ในบทบาทของกิลเบิร์ตว่า "เดปป์สามารถคุมความเป็นศูนย์กลางของภาพยนตร์ด้วยลักษณะท่าทางที่น่าดึงดูดใจเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม"[5] ส่วนแจเนต แมสลิน จากนิวยอร์กไทมส์ กล่าวชมการแสดงของลีโอนาโด ดิคาปริโอ ในบทอาร์นีว่า "คนที่เป็นสุดยอดของหนังเรื่องนี้จริง ๆ คนคุณดิคาปริโอ ที่ทำให้การเคลื่อนไหวของอาร์นีน่าขนลุกและดูมีชีวิตชีวา...การแสดงของเขานั้นแหลมคมตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง"[6] ซึ่งในส่วนของดิคาปริโอนั้นเอเบิร์ตก็ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า เขาสมควรได้รับรางวัลอคาเดมีที่เขามีชื่อเข้าชิง[4] (ในงานประกาศรางวัลอคาเดมีครั้งที่ 66 ดิคาปริโอได้รับการคัดเลือกให้เข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย)
รางวัลที่ได้รับ
รางวัล
|
สาขารางวัล
|
ผู้ได้รับการเสนอชื่อ
|
ผล
|
รางวัลอคาเดมี (ออสการ์, พ.ศ. 2537, สหรัฐอเมริกา)
|
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
|
ลีโอนาโด ดิคาปริโอ
|
ได้รับการเสนอชื่อ
|
รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ชิคาโก (พ.ศ. 2537)
|
นักแสดงดาวรุ่ง (Emerging Actor)
|
ลีโอนาโด ดิคาปริโอ
|
ได้รับรางวัล
|
ลูกโลกทองคำ (พ.ศ. 2537, สหรัฐอเมริกา)
|
การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงสมทบชายในภาพยนตร์
|
ลีโอนาโด ดิคาปริโอ
|
ได้รับการเสนอชื่อ
|
สมาคมโรงภาพยนตร์ศิลปะเยอรมัน (รางวัลภาพยนตร์สมาคม - เงิน, พ.ศ. 2538)
|
ภาพยนตร์ต่างประเทศ
|
ลาซเซ ฮัลสตรอม
|
ได้รับรางวัล
|
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเลิฟอีสโฟลลี (รางวัลอโฟรไดต์ทองคำ, พ.ศ. 2536, ประเทศบัลแกเรีย)
|
ลาซเซ ฮัลสตรอม
|
ได้รับรางวัล
|
คณะกรรมการวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งชาติ (พ.ศ. 2536, สหรัฐอเมริกา)
|
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
|
ลีโอนาโด ดิคาปริโอ
|
ได้รับรางวัล
|
ข้อมูลจากเว็บไซต์ imdb.com[7]
เชิงอรรถ
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
อ้างอิง
- ↑ "What's Eating Gilbert Grape (1993) - Weekend Box Office Results," boxofficemojo.com เรียกข้อมูล 24 ตุลาคม 2552
- ↑ "What's Eating Gilbert Grape (1993)," boxofficemojo.com เรียกข้อมูล 24 ตุลาคม 2552
- ↑ "What's Eating Gilbert Grape Movie Reviews, Pictures," rottentomatoes.com เรียกข้อมูล 25 ตุลาคม 2552
- ↑ 4.0 4.1 Roger Ebert. "What's Eating Gilbert Grape เก็บถาวร 2009-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," rogerebert.suntimes.com (March 4, 1994.) เรียกข้อมูล 25 ตุลาคม 2552
- ↑ Todd McCarthy. "What's Eating Gilbert Grape Review," variety.com (December 6, 1993.) เรียกข้อมูล 25 ตุลาคม 2552
- ↑ Janet Maslin. "Movie Review: What's Eating Gilbert Grape," movies.nytimes.com (December 17, 1993.) เรียกข้อมูล 25 ตุลาคม 2552
- ↑ "What's Eating Gilbert Grape (1993) - Awards," imdb.com เรียกข้อมูล 25 ตุลาคม 2552
|
---|
คริสต์ทศวรรษที่ 1970 | |
---|
คริสต์ทศวรรษที่ 1980 | |
---|
คริสต์ทศวรรษที่ 1990 | |
---|
คริสต์ทศวรรษที่ 2000 | |
---|
คริสต์ทศวรรษที่ 2010 | |
---|