ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก
ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก ใบปิดภาพยนตร์
กำกับ แบรด เบิร์ด บทภาพยนตร์ แบรด เบิร์ด เนื้อเรื่อง
อำนวยการสร้าง แบรด ลูอิส นักแสดงนำ
กำกับภาพ
ตัดต่อ
ดนตรีประกอบ ไมเคิล จะคีโน บริษัทผู้สร้าง ผู้จัดจำหน่าย บวยนาวิสตาพิกเชอส์ ดิสทริบิวชัน วันฉาย
22 มิถุนายน ค.ศ. 2007 (2007-06-22 ) (โรงละครโกดัก )
29 มิถุนายน ค.ศ. 2007 (2007-06-29 ) (สหรัฐ)
26 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 (2007-07-26 ) (ไทย)
ความยาว 111 นาที ประเทศ สหรัฐ ภาษา อังกฤษ ทุนสร้าง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[ 1] ทำเงิน 623.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[ 2]
ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก (อังกฤษ : Ratatouille ) เป็นภาพยนตร์คอมพิวเตอร์แอนิเมชัน อเมริกันแนวตลกดรามา[ 3] ฉายเมื่อปี ค.ศ. 2007 สร้างโดย พิกซาร์ และจัดจำหน่ายโดย วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์ เป็นภาพยนตร์เรื่องที่แปดของพิกซาร์ เขียนบทและกำกับโดย แบรด เบิร์ด โดยรับช่วงต่อจาก ยาน พิงคาวา ในปี ค.ศ. 2005 และอำนวยการสร้างโดย แบรด ลูอิส จากความคิดเดิมของยาน พิงคาวา[ 4] ชื่อเรื่องของภาพยนตร์หมายถึงอาหารฝรั่งเศส ราตาตูย ซึ่งเป็นอาหารที่เสิร์ฟในตอนท้ายเรื่องและยังอ้างอิงถึงหนูซึ่งเป็นตัวละครหลัก ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของหนูที่มีชื่อว่า เรมี ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นเชฟและพยายามบรรลุเป้าหมายด้วยการเป็นพันธมิตรกับเด็กเก็บขยะของร้านอาหารในปารีส
ภาพยนตร์แสดงนำโดยการให้เสียงของ แพตตัน ออสวอลต์ เป็น เรมี หนูที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์ ผู้สนใจในการทำอาหาร, ลู โรมาโน เป็น อัลเฟรโด ลิงกวินี เด็กเก็บขยะที่มาเป็นเพื่อนกับเรมี, เอียน โฮล์ม เป็น สกินเนอร์ หัวหน้าพ่อครัว ของร้านอาหารของออกุสต์ กุสโต, จานีน กาโรฟาโล เป็น คอลเลตต์ ทาทูว์ เชฟย่างที่ร้านอาหารของกุสโตและเป็นเชฟผู้หญิงคนเดียวในร้าน, ปีเตอร์ โอทูล เป็น แอนทอน อีโก นักวิจารณ์ร้านอาหาร, ไบรอัน เดนเนฮี เป็น จังโก พ่อของเรมีและผู้นำเผ่าของเขา, ปีเตอร์ ซอห์น เป็น เอมิล พี่ชายของเรมี และ แบรด การ์เรตต์ เป็น ออกุสต์ กุสโต พ่อครัวที่เพิ่งเสียชีวิต
การพัฒนาของ ระ-ทะ-ทู-อี่ เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2000 เมื่อพิงคาวาเขียนแนวคิดดั้งเดิมของภาพยนตร์ ในปี ค.ศ. 2005 หลังพิงคาวาออกจากพิกซาร์ เบิร์ดได้รับการทาบทามให้กำกับภาพยนตร์และแก้ไขเนื้อเรื่อง เบิร์ดและทีมงานบางคนของภาพยนตร์เดินทางไปปารีสเพื่อหาแรงบันดาลใจ ทีมงานได้ปรึกษาพ่อครัวจากทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐ เพื่อสร้างแอนิเมชันอาหารที่ใช้ในภาพยนตร์ ลูอิสฝึกงานที่ร้านอาหาร เดอะเฟรนช์ลันดีย์ ของทอมัส เคลเลอร์ ซึ่งเคลเลอร์ได้พัฒนา คองฟิต์เบียลดี ซึ่งเป็นอาหารที่ใช้ในภาพยนตร์ ไมเคิล จะคีโน เป็นผู้แต่งดนตรีประกอบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากปารีสให้กับภาพยนตร์
ระ-ทะ-ทู-อี่ ฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 2007 ที่โรงละครโกดัก ในลอสแอนเจลิส , แคลิฟอร์เนีย และฉายทั่วไปในสหรัฐเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2007 ภาพยนตร์ทำเงิน 623.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง โดยชมในเรื่องบทภาพยนตร์, แอนิเมชัน, การให้เสียงและดนตรีประกอบของไมเคิล จะคีโน ภาพยนตร์ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และได้รับการเสนอชื่อในหลายรางวัล รวมไปถึง สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ระ-ทะ-ทู-อี่ ต่อมาได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งใน 100 ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 จากโพลของนักวิจารณ์นานาชาติประจำปี ค.ศ. 2016 ซึ่งจัดโดย บีบีซี [ 5]
โครงเรื่อง
เรมีเป็นหนูน้อยที่มีประสาทสัมผัสด้านรสชาติและกลิ่นที่เฉียบคมผิดปกติ ซึ่งฝันอยากจะเป็นเชฟเหมือนออกุสต์ กุสโต ไอดอลของเขาผู้ล่วงลับไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เอมิล น้องชายของเขาและ จังโก พ่อและหัวหน้าฝูงของเขา รวมไปถึงหนูในอาณานิคมของเขา สนใจอาหารเพื่อการยังชีพเท่านั้น เหล่าหนูอาศัยอยู่ในห้องใต้หลังคาของหญิงชรานอกเมืองปารีส แต่เมื่อเธอพบเหล่าหนู พวกเขาถูกบังคับให้อพยพ และเรมีก็แยกตัวออกจากคนอื่น ๆ ขณะที่เรมีกำลังสิ้นหวังอยู่ในท่อระบายน้ำ กุสโตในจินตนาการก็ได้ให้กำลังใจเรมี และในที่สุดเขาก็พบว่าตัวเองอยู่เหนือครัวของร้านอาหารกุสโตในปารีส
เมื่อเรมีสังเกตเห็นเด็กเก็บขยะคนใหม่ของร้านอาหาร อัลเฟรโด ลิงกวินี พยายามแก้ไขซุปที่เขาทำพัง เรมีกระโดดเข้ามาและแก้ไขข้อผิดพลาดของลิงกวินี ลิงกวินีจับเรมีได้ แต่ไม่เปิดเผยให้สกินเนอร์ อดีตรองหัวหน้าครัวของกุสโตและเจ้าของคนใหม่ของร้านอาหาร เห็น สกินเนอร์เผชิญหน้ากับลิงกวินีโทษฐานปลอมแปลงซุป แต่เมื่อซุปถูกเสิร์ฟโดยไม่ได้ตั้งใจและพิสูจน์ได้ว่าประสบความสำเร็จ คอลเลตต์ ทาทูว์ เชฟผู้หญิงคนเดียวของร้านอาหาร เกลี้ยกล่อมให้สกินเนอร์ไม่ไล่ลิงกวินีออก เพื่อรักษาคติของกุสโตที่ว่า "ไม่ว่าใครก็ทำอาหารได้" อย่างไรก็ตาม สกินเนอร์ต้องการให้ลิงกวินีทำซุปซ้ำเพื่อรักษางานของเขา สกินเนอร์มองเห็นเรมีพยายามหลบหนีและสั่งให้ลิงกวินีพาเขาออกไปข้างนอกและฆ่าเขา เมื่อพวกเขาอยู่คนเดียว ลิงกวินีพบว่าเรมีสามารถเข้าใจเขาได้ และเขาเกลี้ยกล่อมเรมีให้ช่วยเขาทำอาหารที่ร้านของกุสโต
ทั้งสองได้เรียนรู้ว่า เรมีสามารถชี้นำการเคลื่อนไหวของลิงกวินีได้เหมือนกับหุ่นกระบอก ด้วยการดึงผมของลิงกวินีในขณะที่เรมีซ่อนตัวอยู่ใต้หมวก ของเขา พวกเขาสามารถทำซุปร่วมกันและปรุงอาหารต่อที่ร้านของกุสโตได้อย่างสม่ำเสมอ ในตอนแรก คอลเลตต์เริ่มฝึกลิงกวินีในครัวอย่างไม่เต็มใจ แต่ก็ชื่นชมลิงกวินีที่เอาใจใส่คำแนะนำอย่างมืออาชีพของเธอ เรมีกลับมาพบกับเอมิลและเผ่าของเขาอีกครั้ง แต่ในขณะที่จังโกพยายามเกลี้ยกล่อมเรมีว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนนิสัยดูหมิ่นของมนุษย์ที่มีต่อหนู เรมียืนยันว่า "การเปลี่ยนแปลงคือธรรมชาติ"
สกินเนอร์รับรู้ผ่านจดหมายจากแม่ผู้ล่วงลับของลิงกวินีว่า ลิงกวินีเป็นลูกชายนอกสมรสของกุสโตและเป็นเจ้าของโดยชอบธรรมของร้านอาหาร เมื่อเรมีค้นพบจดหมายในห้องทำงานของสกินเนอร์ สกินเนอร์ไล่เรมีไปทั่วปารีสเพื่อเอามันมา แต่เรมีก็มอบมันให้ลิงกวินี ผู้ซึ่งบังคับให้สกินเนอร์ออกไป ร้านอาหารเจริญรุ่งเรืองเมื่อสูตรอาหารของเรมีเป็นที่นิยม ชีวิตของลิงกวินีก็ดีขึ้น และได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่โรแมนติกกับคอลเลตต์ อย่างไรก็ตามเมื่อลิงกวินีมีชื่อเสียงมากขึ้นจากเมนูอาหารของเรมี และพัฒนาความสัมพันธ์กับคอลเลตต์ ลิงกวินีก็ให้ความสำคัญกับเรมีน้อยลง
ในขณะเดียวกัน แอนทอน อีโก นักวิจารณ์อาหารที่ได้วิจารณ์เชิงลบเกี่ยวกับร้านอาหารของกุสโตโดยทางอ้อม ซึ่งได้นำไปสู่การเสียชีวิตของกุสโต ได้เรียนรู้ถึงความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นและประกาศว่าเขาจะรับประทานอาหารที่ร้านอาหารนั้น หลังจากที่ลิงกวินีหลงระเริงกับชื่อเสียงที่ได้รับจากการทำอาหารของเรมี แต่ไม่มีการกล่าวถึงเรมีที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเขาเแต่อย่างใด เขาและเรมีก็ทะเลาะกัน เรมีถูกกดดันจากเอมิลและเหล่าเพื่อนหนูและความหงุดหงิดของตัวเองที่เกิดจากลิงกวินี เขาจึงรีบนำเผ่าของเขาไปบุกค้นตู้เก็บอาหารของร้านอาหารเพื่อหาอาหารและแก้แค้นลิงกวินี แต่เมื่อลิงกวินีเข้ามาเพื่อขอโทษเรมี จึงทำให้เรมีรู้สึกผิด ระหว่างนั้นเขาพบการบุกค้นตู้เก็บอาหารของหนู ลิงกวินีจึงขับไล่หนูทั้งหมดออกไปด้วยความรู้สึกถูกหักหลังและโกรธ รวมถึงเรมีด้วย
วันต่อมา เรมีถูกจับโดยสกินเนอร์ แต่ถูกปล่อยให้เป็นอิสระโดยจังโกและเอมิล ลิงกวินีคืนดีกับเรมีและเปิดเผยความจริงกับพนักงานของเขา โดยทุกคนเดินออกไปทั้งหมด เพราะรู้สึกเหมือนถูกหลอกและถูกหักหลัง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นึกถึงคติของกุสโตแล้ว คอลเลตต์ก็กลับมาช่วย ด้วยความประทับใจในความมุ่งมั่นของเรมี จังโกและเผ่าของเขาจึงเสนอตัวเพื่อช่วย ทำอาหารภายใต้การดูแลของเรมี ขณะที่ลิงกวินีเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร โดยใช้โรลเลอร์สเก็ตเพื่อความรวดเร็ว เมื่อสกินเนอร์และผู้ตรวจการสาธารณสุขพยายามเข้าไปยุ่ง พวกเขาถูกจับมัดและปิดปาก เรมีได้สร้างราตาตูย รูปแบบหนึ่ง เมื่ออีโกทานแล้ว ทำให้เขานึกถึงการทำอาหารของแม่และประหลาดใจกับจานนี้ อีโกขอพบเชฟ แต่ได้รับแจ้งว่าเขาต้องรอจนกว่าลูกค้าในร้านจะกลับกันหมด เมื่อแนะนำเรมีให้อีโกรู้จัก อีโกก็ตกตะลึง อย่างไรก็ตาม เขาเขียนบทวิจารณ์ซึ่งระบุว่าเขาเข้าใจคติของกุสโตแล้ว และเรมีก็ "ไม่ด้อยกว่าเชฟที่เก่งที่สุดในฝรั่งเศสเลย"
สกินเนอร์และผู้ตรวจการสาธารณสุขได้รับการปล่อยตัว และร้านอาหารก็ปิดตัวลงเนื่องจากปัญหาด้านสุขอนามัย ซึ่งทำให้อีโกตกงานและขาดความน่าเชื่อถือในฐานะนักวิจารณ์ อย่างไรก็ตาม เรมี, ลิงกวินีและคอลเลตต์ เปิดร้านอาหารเล็ก ๆ ใหม่ซึ่งกลายเป็นที่ยอดนิยมชื่อว่า La Ratatouille โดยมีอีโกเป็นผู้ลงทุนและลูกค้าประจำ อาณานิคมหนูตั้งรกรากอยู่ในห้องใต้หลังคาของร้านอาหารเป็นบ้านหลังใหม่ของพวกมัน
ผู้พากย์เสียง
แพตตัน ออสวอลต์ เป็น เรมี ผู้กำกับ แบรด เบิร์ด เลือกออสวอลต์หลังเบิร์ดได้ยินสแตนด์อัพคอมเมดีเกี่ยวกับอาหารของเขา[ 6]
ลู โรมาโน เป็น อัลเฟรโด ลิงกวินี
เอียน โฮล์ม เป็น โจนาห์ รอเบิร์ต สกินเนอร์ พฤติกรรมของสกินเนอร์, ร่างการขนาดเล็กและภาษากาย นำบางส่วนมาจากนักแสดงและตลกชาวฝรั่งเศส หลุยส์ เดอ ฟูเนส [ 7] ชื่อของตัวละครตั้งชื่อตามนักจิตวิทยา บี. เอฟ. สกินเนอร์ [ 8]
ไบรอัน เดนเนฮี เป็น จังโก[ 9] พ่อของเรมี
ปีเตอร์ ซอห์น เป็น เอมิล พี่ชายของเรมี
ปีเตอร์ โอทูล เป็น แอนทอน อีโก รูปร่างหน้าตาของเขานำมาจาก หลุยส์ จูเวต์ [ 10]
แบรด การ์เรตต์ เป็น ออกุสต์ กุสโต เชฟที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของฝรั่งเศสที่เสียชีวิตด้วยอาการอกหักหลังได้รับการวิจารณ์เชิงลบโดยแอนทอน อีโก นักวิจารณ์หลายคนเชื่อว่า กุสโต ได้แรงบันดาลใจจากเชฟในชีวิตจริง แบร์นาร์ด ลอยโซ ที่ฆ่าตัวตายหลังจากสื่อคาดเดาว่าร้านอาหารเรือธงของเขา ลาโคตโดร์ กำลังจะถูกลดระดับมิชลินสตาร์ จากสามดาวเหลือสองดาว[ 11] ลาโคตโดร์ เป็นหนึ่งในร้านอาหารที่ แบรด เบิร์ดและคนอื่น ๆ มาเยี่ยมในฝรั่งเศส[ 12]
จานีน กาโรฟาโล เป็น คอลเลตต์ ทาทูว์ เชฟย่างที่ร้านอาหารของกุสโต เธอได้รับแรงบันดาลใจจากเชฟชาวฝรั่งเศส เฮเลน ดาร์โฮซ์ [ 13]
วิลล์ อาร์เนตต์ เป็น ฮอร์สต์ เคอร์ รองหัวหน้าครัว ชาวเยอรมันของสกินเนอร์
จูเลียส คัลลาฮาน เป็น ลาโล เชฟครัวร้อนที่ดูแลเมนูเนื้อและซอสของร้านกุสโตและคนขายปลา
คัลลาฮาน ยังให้เสียงเป็น ฟรองซัวส์ ผู้บริหารฝ่ายโฆษณาดูแลการตลาดอาหารแช่แข็งของสกินเนอร์ภายใต้ชื่อกุสโต
เจมส์ เรมาร์ เป็น ลารูส เชฟครัวเย็นของร้านกุสโต
จอห์น แรตเซนเบอร์เกอร์ เป็น มุสตาฟาร์ หัวหน้าบริกรของร้านกุสโต
เทดดี นิวตัน เป็น ทาลอง ลาบาร์ดี ทนายของสกินเนอร์
โทนี ฟูซิเล เป็น ปอมปีดู เชฟขนมหวานของร้านกุสโต
ฟูซิเล ยังให้เสียงเป็น เนดาร์ เลสซาร์ด ผู้ตรวจการสาธารณสุข ที่จ้างโดยสกินเนอร์ ส่วนในฉบับที่ฉายในสหราชอาณาจักร ตัวละครนี้ให้เสียงโดย เจมี ออลิเวอร์ [ 14]
เจก สไตน์เฟลด์ เป็น กิต อดีตหนูทดลองและสมาชิกในอาณานิคมของจังโก
แบรด เบิร์ด เป็น แอมบริสเตอร์ มินเนียน พ่อบ้านของอีโก
สเตฟาน รูซ์ เป็น ผู้บรรยายของช่องทำอาหาร
การสร้าง
ยาน พิงคาวา มีแนวคิดของภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2000
ยาน พิงคาวา สร้างแนวคิดของภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2000 โดยเขาเป็นผู้ออกแบบฉาก, ตัวละครและโครงเรื่องหลัก แต่เขาไม่เคยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเป็นทางการ[ 15] ในปี ค.ศ. 2004 พิกซาร์เพิ่ม บ๊อบ ปีเตอร์สัน เป็นผู้กำกับร่วมและเขาได้รับการควบคุมเฉพาะเนื้อเรื่อง เนื่องจากการขาดความมั่นใจในการพัฒนาเนื้อเรื่องของภาพยนตร์[ 17] คณะผู้จัดการของพิกซาร์จึงให้ แบรด เบิร์ด ผู้กำกับ รวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ทำหน้าที่แทนพิงคาวาในปี ค.ศ. 2005 ในขณะเดียวกัน ปีเตอร์สัน ออกจากโครงการเพื่อไปพัฒนาภาพยนตร์ ปู่ซ่าบ้าพลัง [ 18] [ 19] [ 20] เบิร์ดสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะแนวคิดที่แปลกประหลาดและความขัดแย้งที่ขับเคลื่อนมัน: หนูกลัวครัว แต่หนูก็อยากทำงานในครัว[ 6] เบิร์ดรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาพยนตร์สามารถสร้าง ตลกเจ็บตัว ได้มากมาย[ 18] ด้วยตัวละครของลิงกวินีที่มอบความสนุกสนานไม่รู้จบให้กับแอะนิเมเตอร์[ 22] เบิร์ดเขียนเนื้อเรื่องใหม่โดยให้มีเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้น เขาตัดบทกุสโตว์ให้น้อยลง แล้วไปเพิ่มบทให้กับสกินเนอร์และคอลเลตต์[ 23] และยังเปลี่ยนรูปลักษณ์ของหนูให้เหมือนมนุษย์ น้อยลง[ 24]
เพราะ ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก ตั้งใจให้มีภาพที่โรแมนติกและสวยงามของปารีส ทำให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ ของพิกซาร์[ 18] ผู้กำกับ แบรด เบิร์ด, ผู้อำนวยการสร้าง แบรด ลูอิส และทีมงานบางคน ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ในเมืองนี้เพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้อง โดยไปทัวร์รถจักรยานยนต์และรับประทานอาหารที่ร้านอาหารชั้นนำห้าแห่ง[ 12] เอียน โฮล์ม ได้รับเลือกเป็นนักแสดงในภาพยนตร์หลังเบิร์ดเห็นเขาใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ไตรภาค ในภาพยนตร์ยังมีฉากที่เกี่ยวกับน้ำอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือฉากในท่อระบายน้ำและมันซับซ้อนมากกว่าฉากวาฬสีน้ำเงิน ใน นีโม...ปลาเล็ก หัวใจโต๊...โต มีฉากหนึ่งที่ลิงกวินีตัวเปียกหลังเขากระโดดลงไปช่วยเรมีในแม่น้ำแซน พนักงานของพิกซาร์ (เคสเทน มิกดาล ผู้ประสานงานแผนกสี/เงา) กระโดดลงไปในสระว่ายน้ำของพิกซาร์และสวมชุดพ่อครัวและผ้ากันเปื้อน เพื่อดูว่าส่วนใดของชุดติดกับร่างกายของเขาและส่วนใดที่โปร่งแสงจากการดูดซึมน้ำ[ 25]
ภาพยนตร์ใช้ราตาตูยแบบดั้งเดิมที่ออกแบบโดยเชฟกูร์เมต์ ทอมัส เคลเลอร์ ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ คองฟีต์เบียลดี
ความท้าทายของผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คือการสร้างอาหารที่มาจากการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์และทำให้อาหารดูน่าอร่อย โดยปรึกษาเชฟกูร์เมต์ทั้งในสหรัฐและฝรั่งเศส[ 24] และเหล่าแอะนิเมเตอร์ไปเรียนทำอาหารที่โรงเรียนสอนการประกอบอาหารบริเวณซานฟรานซิสโก เพื่อทำความเข้าใจกับเกี่ยวกับงานในครัวเชิงพาณิชย์ [ 26] ไมเคิล วอร์ช ผู้จัดการแผนกฉาก/เค้าโครง เชฟมืออาชีพที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการทำอาหารจากสถาบันสอนทำอาหารก่อนจะมาทำงานที่พิกซาร์ ช่วยสอนและปรึกษาเหล่าแอะนิเมเตอร์ขณะทำงาน เขายังเตรียมอาหารที่ใช้โดยแผนก ศิลป์, เงา/สี, เอฟเฟกส์และปั้นฉาก[ 27] [ 28] ทอมัส เคลเลอร์ เชฟชื่อดังอนุญาตให้แบรด ลูอิส มาฝึกงานที่ครัวของเขา เดอะเฟรนช์ลันดีย์ ในฉากไคล์แมกซ์ของภาพยนตร์ เคลเลอร์ออกแบบเมนูตามชื่อเรื่องในรูปแบบแฟนซีและมีหลายชั้นสำหรับให้ตัวละครหนูทำอาหาร ซึ่งเขาเรียกว่า "คองฟีต์เบียลดี " เพื่อเป็นเกียรติแก่ ชื่อภาษาตุรกีดั้งเดิม [ 26] ภาพยนตร์ใช้เทคนิคการกระเจิงแสงใต้พื้นผิว กับผักและผลไม้ แบบเดียวกับที่ใช้ผิวหนังใน รวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก [ 29] ในขณะที่โปรแกรมใหม่ให้เนื้ออินทรีย์และการเคลื่อนไหวแก่อาหาร[ 30] การแสดงถึงความรู้สึกทางจิตใจของตัวละครในขณะที่กำลังชื่นชมอาหารประกอบด้วยดนตรี, บทสนทนาและศิลปะนามธรรม รสชาติของภาพเป็นอุปลักษณ์ ที่สร้างขึ้นโดยแอะนิเมเตอร์ มิเชล กานเย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของ ออสการ์ ฟิชชินเงอร์ และนอร์แมน แม็คลาเรน [ 31] ฝ่ายศิลป์ถ่ายรูปผลิตผลที่แตกต่างกันสิบห้าชนิด เพื่อสร้างกองปุ๋ยหมักที่เหมือนจริง เช่น แอปเปิล , เบอร์รี , กล้วย , เห็ด , ส้ม , บรอกโคลี และผักกาดหอม เพื่อดูกระบวนการเน่าเปื่อย[ 32]
นักแสดงพยายามทำให้สำเนียงฝรั่งเศสของพวกเขาเหมือนจริงและเข้าใจได้ จอห์น แรตเซนเบอร์เกอร์ บอกว่าเขามักจะหลุดสำเนียงเป็นสำเนียงอิตาลี[ 12] เจสัน ดรีมเมอร์ นักออกแบบของพิกซาร์กล่าวว่า "ตัวละครส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบในขณะที่ยาน [พิงคาวา] ยังคงผู้กำกับอยู่… เขามีความสนใจในการแกะสลักอย่างแท้จริง"[ 33] พิงคาวา กล่าวว่า นักวิจารณ์อาหาร อีโก นั้นออกแบบให้คล้ายกับแร้ง [ 34] ตัวละครมนุษย์ได้รับการออกแบบและเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องใช้นิ้วเท้า เพื่อเป็นการประหยัดเวลา[ 35]
แดบบี ดูคอมมัน ผู้เชี่ยวชาญหนู (หรือรู้จักในชื่อ "แรตเลดี") ให้คำปรึกษาเรื่องลักษณะและนิสัย ของหนู[ 36] พร้อมกับข้อมูลเชิงลึกในสวนที่สภาพแวดล้อมเหมือนธรรมชาติของดูคอมมัน ที่มีหนูเลี้ยงนั่งอยู่ในโถงทางเดินเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี เพื่อให้เหล่าแอะนิเมเตอร์สามารถศึกษาการเคลื่อนไหวของขน , จมูก, หู, อุ้งเท้า และหาง ของสัตว์ขณะวิ่ง[ 29]
สื่อส่งเสริมการขายสำหรับอินเทล ให้เครดิตแพลตฟอร์มของพวกเขาสำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพร้อยละ 30 ในซอฟต์แวร์การแสดงผล พวกเขาใช้ ระ-ทะ-ทู-อี่ ในสื่อการตลาดบางส่วน[ 37] [ 38]
ภาพยนตร์เคลื่อนไหวด้วยเทคนิคดั้งเดิมมากกว่าการจับการเคลื่อนไหว เบิร์ดระบุเรื่องนี้ในเครดิตเพราะเขารู้สึกว่า ภาพยนตร์มีแนวโน้มที่จะใช้การจับการแสดงแบบตามเวลาจริงในภาพยนตร์แอนิเมชันแทนวิธีการแบบเฟรมต่อเฟรมที่เขา "รักและภูมิใจที่เราได้ใช้" ในภาพยนตร์เรื่องนี้[ 39]
เพลงประกอบ
ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของพิกซาร์ที่แต่งเพลงประกอบโดย ไมเคิล จะคีโน ต่อจาก รวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก และภาพยนตร์เรื่องที่สองของพิกซาร์ที่ไม่ได้แต่งเพลงประกอบโดย แรนดี นิวแมน หรือทอมัส นิวแมน จะคีโนแต่งเพลงธีมของเรมีไว้สองเพลง เพลงหนึ่งเกี่ยวกับเขากับอาณานิคมหนู และอีกเพลงหนึ่งเกี่ยวกับความหวังและความฝันของเขา เขายังแต่งเพลงธีมคู่หูสำหรับทั้งเรมีและลิงกวินีที่จะเล่นเมื่อพวกเขาอยู่ด้วยกัน นอกจากเพลงประกอบแล้ว ยังเขียนเพลงธีมหลัก "Le Festin" เป็นเพลงที่เกี่ยวกับเรมีและความฝันของเขาที่จะเป็นเชฟ คามิลล์ ศิลปินชาวฝรั่งเศส ได้รับการว่าจ้างให้ร้องเพลง "Le Festin" หลังจะคีโนฟังเพลงของเธอและรับรู้ว่าเธอเหมาะกับเพลงมากที่สุด เป็นผลให้เพลงเป็นภาษาฝรั่งเศสในทุกภาษาของภาพยนตร์[ 43]
เพลงประกอบใน ระ-ทะ-ทู-อี่ ทำให้จะคีโนได้รับการเสนอชื่อครั้งแรกรางวัลออสการ์ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และรางวัลแกรมมี สาขาอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม [ 44] จะคีโนกลับมาแต่งเพลงประกอบให้กับภาพยนตร์ของพิกซาร์อีกครั้งในปี ค.ศ. 2009 เรื่อง ปู่ซ่าบ้าพลัง [ 43]
1. "Le Festin" (คามิลล์ ) 2:50 2. "Welcome to Gusteau's" 0:38 3. "This Is Me" 1:41 4. "Granny Get Your Gun" 2:01 5. "100 Rat Dash" 1:47 6. "Wall Rat" 2:41 7. "Cast of Cooks" 1:41 8. "A Real Gourmet Kitchen" 4:18 9. "Souped Up" 0:50 10. "Is It Soup Yet?" 1:16 11. "A New Deal" 1:56 12. "Remy Drives a Linguini" 2:26 13. "Colette Shows Him le Ropes" 2:56 14. "Special Order" 1:58 15. "Kiss & Vinegar" 1:54 16. "Losing Control" 2:04 17. "Heist to See You" 1:45 18. "The Paper Chase" 1:44 19. "Remy's Revenge" 3:24 20. "Abandoning Ship" 2:55 21. "Dinner Rush" 5:00 22. "Anyone Can Cook" 3:13 23. "End Creditouilles" 9:16 24. "Ratatouille Main Theme" 2:09
การฉาย
ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก แต่เดิมตั้งใจจะฉายในปี ค.ศ. 2006 แต่ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 วันฉายเปลี่ยนไปเป็นปี ค.ศ. 2007 เนื่องจาก ดิสนีย์ /พิกซาร์ เปลี่ยนวันฉายของ 4 ล้อซิ่ง...ซ่าท้าโลก จากเดิมฉายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 เป็นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2006[ 45]
ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก ฉายรอบปฐมทัศน์โลกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 2007 ที่ โรงละครโกดัก , ลอสแอนเจลิส[ 46] ภาพยนตร์ฉายรอบทั่วไปในหนึ่งสัปดาห์ต่อมา โดยมีภาพยนตร์สั้นเรื่อง ลิฟทิด ฉายก่อนภาพยนตร์ ระ-ทะ-ทู-อี่ ในโรงภาพยนตร์ โดยภาพยนตร์สั้นดังกล่าวได้รับการเสนอชื่อรางวัลออสการ์ เมื่อต้นปี ค.ศ. 2007[ 47] ภาพยนตร์ฉายรอบทดลองเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 2007 ที่โรงภาพยนตร์ฮาร์กินส์ซินีคาพรีใน สกอตส์เดล, แอริโซนา โดยมีตัวแทนของพิกซาร์มารับคำติชมจากผู้ชม[ 48] บ๊อบ ไอเกอร์ ซีอีโอของดิสนีย์ ได้ประกาศฉายภาพยนตร์อีกครั้งในรูปแบบ 3 มิติ ที่การประชุมผู้ถือหุ้นของดิสนีย์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2014[ 49]
การตลาด
ฉลากด้านหน้าของไวน์ Ratatouille ที่วางแผนไว้ ซึ่งได้รับการส่งเสริมโดย ดิสนีย์, พิกซาร์และคอสต์โก ต่อมาถูกถอดออกเนื่องจากการใช้ตัวการ์ตูน
ตัวอย่างภาพยนตร์แรกของ ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก เปิดตัวครั้งแรกพร้อมกับการฉายภาพยนตร์ 4 ล้อซิ่ง...ซ่าท้าโลก (2006) โดยเป็นฉากดั้งเดิมที่เรมีขโมยชีสจากถาดรถเข็นในร้านกุสโตว์และถูกไล่ล่าจนถึงในครัว แล้วก็ตัดไปยังฉากแยกของหนูที่อธิบายให้ผู้ชมฟังโดยตรงว่าทำไมเขาถึงเสี่ยงเช่นนี้ ฉากนี้ก็ไม่ได้ปรากฏในภาพยนตร์ ซึ่งเหมือนกับตัวอย่างภาพยนตร์แรกหลายตัวของพิกซาร์[ 50]
ตัวอย่างภาพยนตร์ที่สองปล่อยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2007[ 51] มีการจัดทัวร์ที่ชื่อว่า เดอะแรทาทุย บิกชีตทัวร์ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 พร้อมสาธิตการทำอาหารและตัวอย่างภาพยนตร์[ 52] นักพากย์เสียง ลู โรมาโน เข้าร่วมทัวร์ในซานฟรานซิสโกเพื่อแจกลายเซ็น[ 53]
ดิสนีย์และพิกซาร์กำลังวางแผนนำไวน์แบรนด์ Ratatouille ที่ผลิตในฝรั่งเศสไปจำหน่ายในร้าน คอสต์โก ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2007 แต่แผนดังกล่าวก็ยกเลิก เนื่องจากการร้องเรียนจากสถาบันไวน์แคลิฟอร์เนีย อ้างถึงมาตรฐานในการติดฉลากที่จำกัดการใช้ตัวการ์ตูนเพื่อหลีกเลี่ยงการดึงดูดผู้ดื่มที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์[ 54]
ในสหราชอาณาจักร แทนที่จะปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ โฆษณาที่มีเรมีและเอมิลได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ก่อนภาพยนตร์ฉาย เพื่อรณรงค์ไม่ซื้อภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์[ 55] นอกจากนี้ ตัวละครหลักยังถูกใช้เป็นโฆษณาสำหรับ นิสสัน โน้ต โดยเรมีและเอมิลดูโฆษณาต้นฉบับที่รถปกติไม่สามารถใส่สัมภาระได้หมดจนระเบิดออกมา แต่นิสสัน โน้ตสามารถใส่ได้ปกติ และเอมิลก็ล้อเลียนพร้อมกับแคมเปญโฆษณา "กว้างขวางอย่างน่าประหลาดใจ"[ 56]
ดิสนีย์และพิกซาร์กังวลว่าผู้ชม โดยเฉพาะเด็ก จะไม่คุ้นเคยกับคำว่า "ratatouille" และการออกเสียง ชื่อเรื่องของภาพยนตร์จึงใส่การสะกดตามหลักสัทศาสตร์ในตัวอย่างภาพยนตร์และบนใบปิดภาพยนตร์[ 57] ด้วยเหตุผลที่คล้ายกัน ในภาพยนตร์ที่ฉายในอเมริกา ข้อความบนหน้าจอภาษาฝรั่งเศสจึงถูกพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เช่น ชื่อตำราอาหารของกุสโตว์และป้ายบอกพนักงานครัวให้ล้างมือ แต่ในฉบับภาษาอังกฤษของประเทศอังกฤษ จะแสดงผลเป็นภาษาฝรั่งเศส ในแคนาดา ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในโรงภาพยนตร์โดยมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษ แต่ในดีวีดี ข้อความส่วนใหญ่ (รวมถึงเจตจำนงของกุสโต) เป็นภาษาฝรั่งเศส[ 58]
โฮมมีเดีย
ปกกล่องแผ่นดีวีดีของภาพยนตร์
ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก วางจำหนายในรูปแบบบลูเรย์ และดีวีดี ในอเมริกาเหนือเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 โดย วอลต์ดิสนีย์สตูดิโอส์โฮมเอนเทอร์เทนเมนต์ [ 59] ภาพยนตร์แอนิเมชันสั้นเรื่องใหม่มีเรมีและเอมิลปรากฏอยู่มีชื่อว่า ยัวร์เฟรนด์เดอะแรต บรรจุเป็นคุณสมบัติพิเศษ โดยหนูทั้งสองพยายามที่จะชักชวนผู้ชม ซึ่งเป็นมนุษย์ ให้ต้อนรับหนูเป็นเพื่อน แสดงให้เห็นถึงประโยชน์และความเข้าใจผิดของหนูที่มีต่อมนุษยชาติผ่านตัวอย่างทางประวัติศาสตร์หลายประการ ภาพยนตร์สั้นความยาว 11 นาทีใช้แอนิเมชันสามมิติ, แอนิเมชั่นสองมิติ, ไลฟ์แอ็กชันและแม้แต่แอนิเมชันสต็อปโมชัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของพิกซาร์[ 60]
ในแผ่นยังรวมภาพยนตร์แอนิเมชันสั้นชื่อว่า ลิฟทิด ที่ฉายก่อนภาพยนตร์ ระ-ทะ-ทู-อี่ ในช่วงระหว่างการฉายในโรงภาพยนตร์ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาววัยรุ่นที่พยายามจะลักพาตัวมนุษย์ที่กำลังหลับอยู่ ตลอดทั้งเรื่อง เขาได้รับการให้คะแนนโดยมนุษย์ต่างดาวผู้ใหญ่ในลักษณะที่ชวนให้นึกถึงการทดสอบใบขับขี่ เรื่องสั้นทั้งเรื่องไม่มีบทพูด ซึ่งเป็นเรื่องปกติของภาพยนตร์สั้นของพิกซาร์ที่ไม่ได้อิงตามภาพยนตร์ก่อนหน้านี้[ 61] นอกจากนี้ยังมีในแผ่นยังมีคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ ได้แก่ ฉากที่ถูกตัดทิ้ง, เบื้องหลังภาพยนตร์ที่มี แบรด เบิร์ด พูดคุยเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์และเชฟ ทอมัส เคลเลอร์ พูดคุยเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ในการทำอาหารเรื่อง "ไฟน์ฟูดแอนด์ฟิล์ม", ไข่อีสเตอร์ สี่ฟอง ถึงแม้ว่าแผ่นบลูเรย์โซนเอจะมีภาษาฝรั่งเศส แต่ในดีวีดีโซน 1 นั้นไม่มี ยกเว้นบางแผ่นที่วางจำหน่ายในแคนาดา
ยอดจำหน่ายของแผ่นดีวีดีในช่วงสัปดาห์แรก (6–11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007) อยู่ที่ 4,919,574 ชุด (เทียบเท่ากับ 73,744,414 ดอลลาร์สหรัฐ) ติดอันดับดีวีดีที่ขายดีทีสุดในช่วงเวลานั้น ยอดจำหน่ายของแผ่นดีวีดีทั้งหมดอยู่ที่ 12,531,266 ชุด (เทียบเท่ากับ 189,212,532 ดอลลาร์สหรัฐ) กลายเป็นดีวีดีภาพยนตร์แอนิเมชันที่ขายดีที่สุดอันดับที่สองในปี ค.ศ. 2007 ตามหลัง เพนกวินกลมปุ๊กลุกขึ้นมาเต้น [ 62] ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก วางจำหน่ายในรูปแบบโฟร์เคบลูเรย์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 2019[ 63]
ภาพยนตร์ลอกเลียนแบบ
นิตยสาร อิฟ อธิบายว่า ราทาทูอิง ภาพยนตร์แอนิเมชันบราซิล วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2007 "ลอกเลียนแบบ" ภาพยนตร์ ระ-ทะ-ทู-อี่ [ 64] มาร์โก เอาเรลิโอ คาโนนิโก จากหนังสือพิมพ์บราซิล ฟอลห์าดีเอส.เปาลู อธิบายว่า ราทาทูอิง ลอกเลียนแบบ ระ-ทะ-ทู-อี่ เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ราทาทูอิง มีความคล้ายคลึงกับ ระ-ทะ-ทู-อี่ มากพอที่จะรับประกันการฟ้องร้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ กระทรวงวัฒนธรรมบราซิล ได้โพสต์บทความของ มาร์โก เอาเรลิโอ คาโนนิโก ลงบนเว็บไซต์[ 65] ปัจจุบัน ยังไม่พบแหล่งข้อมูลที่ระบุว่าพิกซาร์จะดำเนินการทางกฎหมายกับภาพยนตร์ดังกล่าว
การตอบรับ
การตอบรับจากนักวิจารณ์
เว็บไซต์รวบรวมบทวิจารณ์ รอตเทนโทเมโทส์ รายงานว่าภาพยนตร์ได้รับคะแนนที่อนุมัติแล้ว 96% ด้วยคะแนนเฉลี่ย 8.50/10 จาก 251 บทวิจารณ์ ฉันทามติของเว็บไซต์ระบุว่า: "ระ-ทะ-ทู-อี่ ดำเนินเรื่องรวดเร็วและตื่นตาตื่นใจ เป็นอีกหนึ่งผลงานที่สนุกสนานเฮฮา และเป็นฮีโรที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ในเส้นเรื่องหลักของพิกซาร์"[ 66] บนเว็บไซต์ เมทาคริติก มีคะแนนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 96 จาก 100 จาก 37 บทวิจารณ์[ 67] เป็นภาพยนตร์พิกซาร์ที่มีคะแนนสูงที่สุด[ 68] และภาพยนตร์ที่มีคะแนนสูงสุดอันดับที่สี่สิบแปดของเว็บไซต์[ 69] แบบสำรวจผู้ชมโดย ซีนะมาสกอร์ ให้เกรดภาพยนตร์ "A" จากเกรด A ถึง F[ 70]
เอ. โอ. สกอตต์ จาก เดอะนิวยอร์กไทมส์ เรียก ระ-ทะ-ทู-อี่ ว่า "เป็นงานศิลปะยอดนิยมที่แทบไม่มีที่ติ เช่นเดียวกับภาพเหมือนโน้มน้าวใจมากที่สุดชิ้นหนึ่งของศิลปินที่เคยมุ่งมั่นที่จะถ่ายทำ" เขาจบการวิจารณ์ด้วยคำที่เรียบง่ายว่า "ขอบคุณ" ให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ เป็นการสะท้อนถึงตัวละคร แอนทอน อีโก ในภาพยนตร์[ 71] วอลลี แฮมมอนด์ จาก ไทม์เอาต์ ให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ห้าดาวเต็ม และกล่าวว่า "การทดสอบสำหรับหนูน้อย การนึกถึงอดีตเล็กน้อยและการที่ชายเป็นใหญ่ในครัวสมัยใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเกี่ยวกับการเพิ่มภาพยนตร์ที่น่ารื่นรมย์เรื่องนี้ให้กับวิหารแพนธีออนของพิกซาร์"[ 72] แอนเดรีย กรอนวัลล์ จาก ชิคาโกรีดเดอร์ ให้บทวิจารณ์ภาพยนตร์ในเชิงบวก โดยกล่าวว่า "การทำงานร่วมกันครั้งที่สองของ แบรด เบิร์ดกับพิกซาร์ นั้นมีความทะเยอทะยานและมีสมาธิมากกว่าภาพยนตร์ รวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก ของเขาที่ได้รับรางวัลออสการ์"[ 73] โอเวน กลีเบอร์แมน จาก เอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี ให้คะแนนภาพยนตร์เกรด B โดยกล่าวว่า "ระ-ทะ-ทู-อี่ มีความมหัศจรรย์ทางเทคนิคของพิกซาร์ โดยไม่มีรสชาติของพิกซาร์เต็มรูปแบบ มันคือของหวานที่ยอดเยี่ยมของแบรด เบิร์ด ไม่ได้น่าทึ่งมากเพียงแค่กินได้ของหวาน"[ 74] ปีเตอร์ ทราเวอร์ส จาก โรลลิงสโตน ให้คะแนนภาพยนตร์ สามดาวครึ่งจากสี่ดาว โดยกล่าวว่า "อะไรที่ทำให้ ระ-ทะ-ทู-อี่ เป็นเรื่องตลกขบขันและจริงใจเช่นนี้คือวิธีที่เบิร์ดพยายามจะปล่อยให้มันแอบเข้ามาหาคุณ และเพลงประกอบมากมายจากไมเคิล จะคีโน ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สมบูรณ์แบบสำหรับมื้ออาหารแสนอร่อย"[ 75] เจมส์ เบอราดิเนลลี จาก รีลวิวส์ ให้คะแนนภาพยนตร์ สามดาวจากสี่ดาว โดยกล่าวว่า "สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการใช้เวลาในโรงภาพยนตร์กับลูก ๆ หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการอะไรที่เบากว่าและเน้นฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อยกว่าอาหารภาคฤดูร้อนทั่วไป ระ-ทะ-ทู-อี่ มีอาหารจานหลักแสนอร่อย"[ 76] คริสตี เลอเมียร์ จาก แอสโซซิเอเต็ดเพรส ให้บทวิจารณ์ภาพยนตร์ในเชิงบวก โดยกล่าวว่า "ระ-ทะ-ทู-อี่ ปราศจากการอ้างอิงวัฒนธรรมป๊อปที่ไร้เหตุผลซึ่งทำให้เกิดภัยพิบัติแก่ภาพยนตร์แนวนี้มากมาย มันบอกเล่าเรื่องราว มันเป็นโลกของเรามาก แต่ไม่เคยนำเสนอเรื่องตลกที่ดูธรรมดา" [ 77] จัสติน ชาง จาก วาไรตี ให้บทวิจารณ์ภาพยนตร์ในเชิงบวก โดยกล่าวว่า "ปรมาจารย์เชฟที่พิกซาร์ได้ผสมผสานส่วนผสมที่เหมาะสมทั้งหมด—วาจาและไหวพริบด้านภาพที่มากมาย, จังหวะตลกเจ็บตัวอันชาญฉลาด, บางสิ่งบางอย่างของฝรั่งเศสในปริมาณที่น้อยมาก— เพื่อสร้างส่วนผสมที่อบอุ่นและไม่อาจต้านทานได้"[ 78]
ไมเคิล ฟิลลิปส์ จาก ชิคาโกทริบูน ให้คะแนนภาพยนตร์สี่ดาวเต็ม โดยกล่าวว่า "ภาพยนตร์อาจเป็นแอนิเมชันและเต็มไปด้วยหนู แต่ชีพจรของภาพยนตร์ทำให้มนุษย์ยินดี และคุณไม่เคยเห็นภาพยนตร์คอมพิวเตอร์แอนิเมชันที่มีภาพที่สวยงามและรายละเอียดเท่านี้มาก่อน"[ 79] โรเจอร์ มัวร์ จาก ออร์แลนโดเซนติเนล ให้คะแนนภาพยนตร์สามดาวจากห้าดาว โดยกล่าวว่า พิกซาร์ทำสูตรเวทมนตร์ของพวกเขาหายหรือเปล่า ระ-ทะ-ทู-อี่ เต็มไปด้วยภาพแอนิเมชันทั่วไป, การไล่ล่าเล็กน้อย, มุกตลกสองสามเรื่อง, ไม่ค่อยขำเท่าไหร่"[ 80] สกอตต์ ฟาวน์ดัส จาก แอลเอวีกลี ให้บทวิจารณ์ภาพยนตร์ในเชิงบวก โดยกล่าวว่า "เบิร์ดได้นำวัตถุดิบของการแสดงรอบบ่ายสำหรับเด็กที่ตัวละครเหมือนมนุษย์มาตีให้เป็นเครื่องดื่มที่เข้มข้นไม่น้อยไปกว่าหลักการของการสร้างสรรค์ทางศิลปะ"[ 81] สตีเฟน เร จาก เดอะฟิลาเดลเฟียอินไควเรอร์ ให้คะแนนภาพยนตร์สามดาวครึ่งจากสี่ดาว โดยกล่าวว่า "ด้วย ระ-ทะ-ทู-อี่ เบิร์ดได้นำเสนอไม่ใช่แค่เรื่องราวที่ยอดเยี่ยมและมีไหวพริบอีกครั้ง แต่ยังให้ภาพที่สวยงามตระการตาเช่นกัน"[ 82]
แบรด เบิร์ด กับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ครั้งที่สองของเขา
เรเน รอดริเกซ จาก ไมอามีแฮรัลด์ ให้คะแนนภาพยนตร์สามดาวจากสี่ดาว โดยกล่าวว่า "ระ-ทะ-ทู-อี่ เป็นภาพยนตร์ที่ตรงไปตรงมาและเป็นสูตรสำเร็จที่สุดจากพิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ แต่ก็เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีเสน่ห์และน่าประทับใจที่สุด"[ 83] แจ็ค แมทธิวส์ จาก นิวยอร์กเดลีนิวส์ ให้คะแนนภาพยนตร์สี่ดาวเต็ม โดยกล่าวว่า "เวทมนตร์ของพิกซาร์ยังคงดำเนินต่อไปด้วย ระ-ทะ-ทู-อี่ ของแบรด เบิร์ด ซึ่งเป็นภาพยนตร์ตลกรูปแบบคอมพิวเตอร์แอนิเมชันที่งดงามและสร้างสรรค์อย่างน่าอัศจรรย์"[ 84] เดวิด แอนเซน จาก นิวส์วีก ให้บทวิจารณ์ภาพยนตร์ในเชิงบวก โดยกล่าวว่า "ภาพยนตร์ที่เข้มข้นราวกับซอสเบียร์ยองเนส สดชื่นราวกับเชอร์เบทราสเบอร์รี และคาดเดาได้น้อยกว่าพวกคำอุปมาอุปไมยและคำคุณศัพท์ของอาหารที่นักวิจารณ์ทุกคนจะผลิตมันออกมา โอเค อีกนิดจะเสร็จแล้ว: มันอร่อยมาก"[ 85] ปีเตอร์ ฮาร์ตลับ จาก ซานฟรานซิสโกโครนิเคิล ให้คะแนนภาพยนตร์สี่ดาวเต็ม โดยกล่าวว่า "ระ-ทะ-ทู-อี่ ไม่เคยท่วมท้น แม้ว่าจะเต็มไปด้วยฉากโลดโผน, ความโรแมนติก, เนื้อหาทางประวัติศาสตร์, ดรามาครอบครัวและข้อความที่จริงจังเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ"[ 86] ริชาร์ด คอร์ลิสส์ จาก ไทม์ ให้บทวิจารณ์ภาพยนตร์ในเชิงบวก โดยกล่าวว่า "ตั้งแต่วินาทีที่เรมีก้าวเข้ามา, ล้มลง, ไปจนถึงความสุขสุดท้าย ระ-ทะ-ทู-อี่ พาความมีชีวิตชีวาและความลึกที่ทำให้พิกซาร์แตกต่างและเหนือกว่าสตูดิโอแอนิเมชันอื่น"[ 87] โรเจอร์ อีเบิร์ต จาก ชิคาโกซัน-ไทม์ ให้คะแนนภาพยนตร์สี่ดาวเต็ม โดยกล่าวว่า "ภาพยนตร์แอนิเมชันหลายเรื่องได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคต่อ โดยเฉพาะ เชร็ค แต่ ระ-ทะ-ทู-อี่ ของแบรด เบิร์ดคือเรื่องแรกที่ทำให้ผมอยากได้มัน"[ 88] ปีเตอร์ ฮาวเวลล์ จาก โทรอนโตสตาร์ ให้คะแนนภาพยนตร์สี่ดาวเต็ม โดยกล่าวว่า "ถ้าเบิร์ดไปในเส้นทางที่ปลอดภัย เขาคงปล้นเราด้วยตัวการ์ตูนเรื่องใหม่ที่ยอดเยี่ยมในตัวเรมี ซึ่งเหมือนกับภาพยนตร์ที่แสดงด้วยแอนิเมชันที่เพ้อฝันและเหมือนมีชีวิตในทันที ผมเลือกภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของพิกซาร์"[ 89]
โจ มอร์เกนสเติร์น จาก เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล ให้บทวิจารณ์ภาพยนตร์ในเชิงบวก โดยกล่าวว่า "ตัวละครที่ไม่อาจต้านทานได้, แอนิเมชันที่น่าทึ่งและภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งเป็นฉบับแฟนตาซีของนักชิมอาหาร ยังคงรักษาระดับของการสร้างสรรค์ที่สนุกสนานที่ไม่เคยมีให้เห็นในความบันเทิงของครอบครัวตั้งแต่ รวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก "[ 90] เคนเนท ทูรัน จาก ลอสแอนเจลิสไทมส์ ให้คะแนนภาพยนตร์สี่ดาวครึ่งจากห้าดาว โดยกล่าวว่า "ระ-ทะ-ทู-อี่ ของแบรด เบิร์ด กล้าหาญมากจนคุณต้องตกหลุมรักฮีโรที่ไม่น่าจะเป็นไปได้"[ 91] มิเรียม ดิ นุนซิโอ จาก ชิคาโกซัน-ไทม์ ให้คะแนนภาพยนตร์สามดาวครึ่งจากสี่ดาว โดยกล่าวว่า ระ-ทะ-ทู-อี่ จะทำให้คุณสงสัยว่าทำไมแอนิเมชันต้องซ่อนอยู่หลังสิ่งที่ปกคลุมว่า 'มันเป็นภาพยนตร์สำหรับเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็จะชอบเช่นกัน' อันนี้สำหรับพ่อกับแม่ และเด็ก ๆ ก็ชอบเหมือนกัน"[ 92] ไมเคิล บูท จาก เดอะเดนเวอร์โพสต์ ให้คะแนนภาพยนตร์สามดาวครึ่งจากสี่ดาว โดยกล่าวว่า "นักเขียนและผู้กำกับแบรด เบิร์ด ยังคงขับเคลื่อน ระ-ทะ-ทู-อี่ โดยไม่ต้องหันไปใช้มุกตลกของสัตว์น่ารักหรือการแสดงตลกแบบวัฒนธรรมป๊อป ที่ทำลายภาพยนตร์แอนิเมชันล่าสุดหลาย ๆ เรื่อง"[ 93] เดสสัน ทอมป์สัน จาก เดอะวอชิงตันโพสต์ ให้บทวิจารณ์ภาพยนตร์ในเชิงบวก โดยกล่าวว่า "ระ-ทะ-ทู-อี่ ไม่ได้เน้นชีวิตร่วมสมัยที่ผิวเผินและมากกว่าที่คุ้นเคย มันหวนกลับไปสู่ยุคที่เก่ากว่าของดิสนีย์ เมื่อการ์ตูนดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่สง่างามยิ่งขึ้นด้วยตัวละครที่เฉียบขาดน้อยลง"[ 94]
บ็อกซ์ออฟฟิศ
ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก ฉายในโรงภาพยนตร์ในอเมริกาเหนือจำนวน 3,940 โรง และเปิดตัวในวันหยุดสุดสัปดาห์อันดับที่หนึ่ง โดยทำเงิน 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[ 95] เป็นการเปิดตัวที่ทำเงินได้ต่ำที่สุดของพิกซาร์ตั้งแต่ ตัวบั๊กส์ หัวใจไม่บั๊กส์ ในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถานที่ที่ภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง ทำลายสถิติเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ทำเงินในวันเปิดตัวสูงที่สุด และทำเงินในบ็อกซ์ออฟฟิศสูงสุดหลายสัปดาห์ติดต่อกัน แทนที่ภาพยนตร์ ไททานิค [ 96] [ 97] ในสหราชอาณาจักร ภาพยนตร์เปิดตัวที่อันดับหนึ่งโดยทำเงินมากกว่า 4 ล้านปอนด์[ 98] ภาพยนตร์ทำเงิน 206.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสหรัฐและแคนาดาและทำเงินทั่วโลก 623.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นภาพยนตร์พิกซาร์ที่ทำเงินสูงสุดอันดับที่เจ็ด[ 99]
รางวัล
ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 80 และได้รับการเสนอชื่ออีกสี่สาขา ได้แก่ ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม , สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยม , สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม , สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม โดยแพ้ให้กับภาพยนตร์ ตราบาปลิขิตรัก , ปิดเกมล่าจารชน คนอันตราย (สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยมและสาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม) และ จูโน่ โจ๋ป่องใจเกินร้อย ตามลำดับ[ 100] [ 101] ภาพยนตร์ได้รับการเสนอชื่อรางวัลออสการ์ห้าสาขา ทำลายสถิติเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ได้รับการเสนอชื่อสูงสุดในเวลานั้น โดยแซง อะลาดิน , บริษัทรับจ้างหลอน (ไม่) จำกัด , นีโม...ปลาเล็ก หัวใจโต๊...โต และ รวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก ที่ได้รับการเสนอชื่อรางวัลออสการ์สี่สาขา ณ ปี ค.ศ. 2013 ระ-ทะ-ทู-อี่ , ปู่ซ่าบ้าพลัง และ ทอย สตอรี่ 3 เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันได้รับการเสนอชื่อรางวัลออสการ์มากที่สุดอันดับที่สอง รองจาก โฉมงามกับเจ้าชายอสูร และ วอลล์ - อี หุ่นจิ๋วหัวใจเกินร้อย (หกสาขา)[ 101]
นอกจากนี้ ระ-ทะ-ทู-อี่ ได้รับการเสนอชื่อรางวัลแอนนี จำนวน 13 สาขา โดยได้รับการเสนอชื่อสองครั้งในสาขาเอฟเฟกต์ภาพเคลื่อนไหวยอดเยี่ยม โดยแพ้ให้กับภาพยนตร์ เซิร์ฟอัพ ไต่คลื่นยักษ์ซิ่งสะท้านโลก และได้รับการเสนอชื่อสามครั้งในสาขาการพากย์เสียงยอดเยี่ยมในการสร้างภาพยนตร์ ได้แก่ จานีน กาโรฟาโล, เอียน โฮล์มและแพตตัน ออสวอลต์ โดยเอียน โฮล์มเป็นผู้ได้รับรางวัล[ 102] ภาพยนตร์ได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมจากหลายสมาคม ได้แก่ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชิคาโก ,[ 103] คณะกรรมการวิจารณ์แห่งชาติ ,[ 104] รางวัลแอนนี,[ 102] นักวิจารณ์ภาพยนตร์ออกอากาศ ,[ 105] รางวัลแบฟตา และรางวัลลูกโลกทองคำ [ 106]
สิ่งสืบทอด
วิดีโอเกม
วิดีโอเกมที่ดัดแปลงจากภาพยนตร์ มีชื่อว่า ระ-ทะ-ทู-อี่ วางจำหน่ายสำหรับเครื่องคอนโซลหลักทั้งหมดและเครื่องเล่นวิดีโอเกมพกพาในปี ค.ศ. 2007 โดยมีเกมที่ลงเฉพาะเครื่อง นินเท็นโด ดีเอส ชื่อว่า ระ-ทะ-ทู-อี่: ฟูดเฟรนซี วางจำหน่ายในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2007 ระ-ทะ-ทู-อี่ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ปรากฏตัวใน คิเนครัช: อะดิสนีย์-พิกซาร์แอดเวนเจอร์ วางจำหน่ายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2012 สำหรับเครื่อง เอกซ์บอกซ์ 360 [ 107] เรมีปรากฏตัวในวิดีโอเกม คิงดอมฮาตส์ III โดยเขาเป็นหัวหน้าพ่อครัวในร้านอาหารของสกรูจ แมกดัก และเข้าร่วมมินิเกมทำอาหารกับโซระ เขาถูกเรียกว่า "พ่อครัวตัวน้อย" ในเกมเท่านั้น เนื่องจากเขาไม่พูดและไม่สามารถเปิดเผยชื่อของเขาให้กับตัวละครได้[ 108]
เครื่องเล่นสวนสนุก
เครื่องเล่นสวนสนุกดิสนีย์ที่สร้างจากภาพยนตร์สร้างขึ้นใน วอลต์ดิสนีย์สตูดิโอส์พาร์ก , ดิสนีย์แลนด์ปารีส ชื่อว่า ระ-ทะ-ทู-อี่ : ลาวองเจอโททาลิมองทกคีเดอเรมี โดยอิงจากฉากในภาพยนตร์และใช้เทคโนโลยีเครื่องเล่นแบบไร้ราง ในเครื่องเล่นดังกล่าว ผู้เล่นจะถูก "ย่อส่วนให้เหลือขนาดเท่าหนู"[ 109] ในงาน 2017 ดี23เอกซ์โป ดิสนีย์ประกาศว่าเครื่องเล่นดังกล่าวจะถูกสร้างขึ้นที่ แฟรนซ์พาวิเลียน ในเวิลด์โชว์เแคสของเอ็ปคอต [ 110] และเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2021 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 50 ปีของ วอลต์ดิสนีย์เวิลด์ และวันครบรอบ 39 ปีของเอ็ปคอต
ละครเพลงอย่างไม่เป็นทางการ
เมื่อปลายปี ค.ศ. 2020 ผู้ใช้แอปโซเชียลมีเดีย ติ๊กต็อก รวมตัวกันสร้าง ละครเพลงที่อิงจากภาพยนตร์ โดยเป็นการนำเสนอคอนเสิร์ตเสมือนจริง สร้างโดยซีวิวโปรดักชันส์ สตรีมเป็นเวลา 72 ชั่วโมงบน ทูเดย์ทิกซ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2021 เพื่อแสวงหากำไรให้กับกองทุนนักแสดง จากผลกระทบของการระบาดทั่วของโควิด-19 ละครเพลงกำกับโดย ซิกซ์ ร่วมสร้างและร่วมกำกับโดย ลูซี มอสส์ จากบทที่ดัดแปลงโดย ไมเคิล แบรสลินและแพทริก โฟลีย์ ทั้งคู่ร่วมบริหารอำนวยการสร้างคอนเสิร์ตกับ เจเรมี โอ. แฮร์ริส นักแสดงประกอบด้วย เควิน แชมเบอร์ลิน เป็น กุสโต, แอนดรูว์ บาร์ท เฟลด์แมน เป็น ลิงกวินี, ไททัส เบอร์เจสส์ เป็น เรมี, แอดัม แลมเบิร์ต เป็น เอมิล, เวย์น เบรดี เป็น จังโก, พริสซิลลา โลเปซ เป็น เมเบิล, แอชลีย์ พาร์ก เป็น คอลเลตต์, อังเดร เดอ ชีลด์ส เป็น แอนทอน อีโก, โอเวน ทาบากะ เป็น แอนทอน อีโก วัยเด็ก และ แมรี เทสตา เป็น สกินเนอร์ คอนเสิร์ตระดมทุนให้กับกองทุนนักแสดงได้มากกว่า 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[ 111] [ 112] [ 113] [ 114] [ 115]
การอ้างอิงในวัฒนธรรมสมัยนิยม
ภาพยนตร์เรื่องนี้มักได้รับการกล่าวถึงในวัฒนธรรมสมัยนิยมตั้งแต่ออกฉาย โดยมีการกล่าวถึงหรือล้อเลียนในรายการต่าง ๆ เช่น แซเทอร์เดย์ไนต์ไลฟ์ มายเนมอีสเอิร์ล เดอะซิมป์สันส์ ดับเครื่องชน คนดีแตก Key & Peele ออเรนจ์ อีส เดอะ นิว แบล็ค ทีนไททันส์ โก! Difficult People สาวกวนป่วนสวรรค์ ณ กาลครั้งหนึ่ง และ บรู๊คลิน ไนน์-ไนน์ เช่นเดียวกับในภาพยนตร์เรื่อง 5 ปีอลวน ฝ่าวิวาห์อลเวง (ค.ศ. 2012) และ เดอะ ซุยไซด์ สควอด (ค.ศ. 2021) และในภาพยนตร์ตลกตอนพิเศษเรื่อง หนีร้อนมาหนาวรัก ของนักแสดงตลกจอห์น มูลานีย์
การล้อเลียน ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก เป็นโครงเรื่องสำคัญในภาพยนตร์เรื่อง ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส ใน ค.ศ. 2022 ในช่วงต้นของภาพยนตร์ ตัวละครหลัก เอเวอลีน หวัง (แสดงโดย มิเชล โหย่ว ) พยายามอธิบายแนวคิดที่หลากหลายของ "การกระโดดข้ามบท" กับครอบครัวของเธอโดยใช้ภาพยนตร์พิกซาร์ เป็นการเปรียบเทียบ เพียงเพื่อจะจำผิดว่ามันเกี่ยวกับแรคคูนและชื่อแรคคาคูนี่ ต่อมาในหนึ่งในจักรวาลคู่ขนาน เอเวอลินเป็นเชฟเท็ปปังยากิ ที่ทำงานร่วมกับเชฟเท็ปปังยากิอีกคนชื่อแชด (แสดงโดย แฮร์รี่ ชัม จูเนียร์ ) ซึ่งถูกแรคคาคูนี่ (ให้เสียงพากย์โดยแรนดี นิวแมน ) เชิดหุ่นเหมือนกับเรมีและลิงกวินี ระหว่างการตัดต่อฉากสุดอลังการของภาพยนตร์ เอเวลินเปิดโปงแรคคาคูนี่และถูกหน่วยงานดูแลควบคุมสัตว์จับตัวไป ก่อนที่เอเวลินจะเปลี่ยนใจและช่วยแชดช่วยเหลือแรคคาคูนี่จากหน่วยงานดูแลควบคุมสัตว์ มีรายงานว่ามันได้รับแรงบันดาลใจจากพ่อของโจนาธาน หวัง ผู้อำนวยการสร้างที่ชอบจำชื่อภาพยนตร์ยอดนิยมผิด[ 116] มุขตลกได้รับการอธิบายโดย ไอจีเอ็น ว่าเป็น "หนึ่งในไฮไลท์ของภาพยนตร์เรื่องนี้"[ 117] ขณะที่อลิสัน เฮอร์แมนจาก เดอะริงเกอร์ ตั้งข้อสังเกตภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องเกี่ยวกับ "คุณธรรมของความคิดสร้างสรรค์ภายใต้ข้อจำกัดทางวัตถุ"[ 118]
อ้างอิง
↑ Cieply, Michael (April 24, 2007). "It's Not a Sequel, but It Might Seem Like One After the Ads" . The New York Times . สืบค้นเมื่อ April 11, 2021 .
↑ "Ratatouille (2007)" . Box Office Mojo . Amazon.com . สืบค้นเมื่อ August 4, 2010 .
↑ "Ratatouille (2007)" . American Film Institute . สืบค้นเมื่อ July 27, 2022 .
↑ Chang, Justin; Chang, Justin (2007-06-18). "Film Review: Ratatouille" . Variety (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2022-09-20 .
↑ "The 21st Century's 100 greatest films" . BBC. August 23, 2016. สืบค้นเมื่อ December 16, 2016 .
↑ 6.0 6.1 Drew McWeeny (May 21, 2007). "Moriarty Visits Pixar To Chat With Brad Bird And Patton Oswalt About RATATOUILLE!" . Ain't It Cool News . สืบค้นเมื่อ May 21, 2007 .
↑ "Ratatouille, le film" (ภาษาฝรั่งเศส). Telemoustique. August 8, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ December 11, 2007. สืบค้นเมื่อ December 22, 2007 .
↑ Sciretta, Peter (June 16, 2007). "Ratatouille Fun Facts" . /Film. สืบค้นเมื่อ April 11, 2021 .
↑ "Ratatouille Script" . Scribd . สืบค้นเมื่อ October 14, 2018 .
↑ "Louis De Funès, Louis Jouvet, Charles De Gaulle... Le jour de gloire est arrivé. Et au diable les " freedom fries " !" (ภาษาฝรั่งเศส). Lesoir.be. August 1, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ January 2, 2008. สืบค้นเมื่อ December 22, 2007 .
↑ Molly Moore and Corinne Gavard (August 14, 2007). "A Taste of Whimsy Wows the French" . The Washington Post . สืบค้นเมื่อ August 14, 2007 .
↑ 12.0 12.1 12.2 "Parlez-vous Francais" . Yahoo!. May 22, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ May 26, 2007. สืบค้นเมื่อ May 23, 2007 .
↑ Moore, Molly; Gavard, Corinne (August 14, 2007). "A Taste of Whimsy Wows the French" . The Washington Post . สืบค้นเมื่อ November 16, 2014 .
↑ Huxley, Thomas (October 2, 2007). "Naked Chef in UK Ratatouille" . Pixar Planet. สืบค้นเมื่อ April 11, 2021 .
↑ Leo N. Holzer (มิถุนายน 29, 2007). "Pixar cooks up a story" . The Reporter . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ กรกฎาคม 2, 2007. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 29, 2007 .
↑ Steve Daly. "Brad Bird cooks up "Ratatouille" " . Entertainment Weekly . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ May 6, 2008.
↑ 18.0 18.1 18.2 Bill Desowitz (April 25, 2007). "Brad Bird Offers an Early Taste of Ratatouille" . Animation World Magazine. สืบค้นเมื่อ May 22, 2007 .
↑ Jim Hill (June 28, 2007). "Why For did Disney struggle to come up with a marketing campaign for Pixar's latest picture? Because the Mouse wasn't originally supposed to release "Ratatouille" " . Jim Hill Media. สืบค้นเมื่อ July 1, 2007 .
↑ Germain, David (June 26, 2007). "Pixar Perfectionists Cook 'Ratatouille' " . The Washington Post . สืบค้นเมื่อ January 15, 2008 .
↑ "Linguini a la Carte" . Yahoo!. May 22, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ May 26, 2007. สืบค้นเมื่อ May 23, 2007 .
↑ Helen O'Hara (June 28, 2007). "First Look: Ratatouille". Empire . p. 62.
↑ 24.0 24.1 Scott Collura & Eric Moro (เมษายน 25, 2007). "Edit Bay Visit: Ratatouille" . IGN . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ พฤศจิกายน 9, 2009. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 22, 2007 .
↑ "The Technical Ingredients" . Disney Pictures. สืบค้นเมื่อ May 23, 2007 .
↑ 26.0 26.1 Stacy Finz (June 28, 2007). "Bay Area flavors food tale: For its new film 'Ratatouille,' Pixar explored our obsession with cuisine" . San Francisco Chronicle . สืบค้นเมื่อ June 29, 2007 .
↑ "Cooking 101" . Disney Pictures. สืบค้นเมื่อ May 23, 2007 .
↑ Kim Severson (June 13, 2007). "A Rat With a Whisk and a Dream" . The New York Times . สืบค้นเมื่อ June 30, 2007 .
↑ 29.0 29.1 Anne Neumann (April 25, 2007). "Ratatouille Edit Bay Visit!" . Comingsoon.net. สืบค้นเมื่อ May 21, 2007 . [ลิงก์เสีย ]
↑ "Cooking Up CG Food" . ComingSoon.net. May 24, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ May 26, 2007. สืบค้นเมื่อ May 24, 2007 .
↑ Gagné, Michael. "Taste Visualization for Pixar's Ratatouille" . Gagne International. สืบค้นเมื่อ July 9, 2007 .
↑ "Ratatouille (review)" . Radio Free Entertainment. สืบค้นเมื่อ July 1, 2007 .
↑ Robertson, Barbara. "Fish, Rats, Chefs and Robots" . CGSociety. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ August 8, 2007. สืบค้นเมื่อ July 7, 2007 .
↑ Bruce R. Miller (June 30, 2007). "Book shows how 'Ratatouille' was made" . Sioux City Journal . สืบค้นเมื่อ June 30, 2007 .
↑ "Ratatouille Concept Art and Fun Facts!" . CanMag. June 16, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2021-08-28. สืบค้นเมื่อ July 8, 2011 .
↑ Cynthia Hubert (June 22, 2007). "Rat fanciers hope animated film will help their pets shed bad PR". Sacramento Bee .
↑ Desowitz, Bill (July 3, 2007). "Intel Helps Disney/Pixar Cook Up Ratatouille" . Animation World Network . สืบค้นเมื่อ October 6, 2015 .
↑ Desowitz, Bill (June 29, 2007). "Ratatouille Pixar Style: Bon Appétit" . Animation World Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ October 12, 2013. สืบค้นเมื่อ October 6, 2015 .
↑ "Twitter" . Twitter (ภาษาอังกฤษ).
↑ James Christopher Monger (June 26, 2007). "Ratatouille [Original Soundtrack] – Michael Giacchino | Songs, Reviews, Credits, Awards" . AllMusic . สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Graydon, Danny. "Empire's Ratatouille Soundtrack Review" . Empire . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ February 22, 2014. สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Andrew Granade (June 25, 2007). "Ratatouille (2007)" . Soundtrack. สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ 43.0 43.1 Lussier, Germain (September 2, 2011). "Michael Giacchino Talks The Music Of Pixar (D23 Expo)" . /Film. สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ "Michael Giacchino IMDB" .
↑ "Pixar-Disney delay Cars release" . BBC News . December 8, 2004. สืบค้นเมื่อ April 11, 2021 .
↑ D'Alessandro, Anthony (June 25, 2007). "Audiences in on 'Ratatouille' pack" . Variety . สืบค้นเมื่อ December 22, 2007 .
↑ Eric Vespe (June 9, 2007). "Quint orders a giant plate of RATATOUILLE and eats it up!!!" . Ain't It Cool News . สืบค้นเมื่อ June 10, 2007 .
↑ Huxley, Thomas (June 9, 2007). "Report from Pixar Screening of Ratatouille" . Pixar Planet. สืบค้นเมื่อ October 5, 2013 .
↑ Koch, Dave (March 18, 2014). "Incredibles Animated Sequel" . Big Cartoon News . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ March 19, 2014. สืบค้นเมื่อ March 18, 2014 .
↑ Ratatouille Teaser , สืบค้นเมื่อ 2021-08-29
↑ "New Ratatouille Trailer Coming Friday" . ComingSoon.net. March 19, 2007. สืบค้นเมื่อ March 19, 2007 .[ลิงก์เสีย ]
↑ Desowitz, Bill (May 11, 2007). "Ratatouille to Kick Off With 'Big Cheese Tour' " . Animation World Network. สืบค้นเมื่อ August 7, 2016 .
↑ Ponto, Arya (July 16, 2007). "Ratatouille Big Cheese Slide With Lou Romano" . JustPressPlay. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ September 26, 2007. สืบค้นเมื่อ July 17, 2007 .
↑ Lifster, Marc (July 28, 2007). "Disney backs out of wine promotion" . Los Angeles Times . สืบค้นเมื่อ August 1, 2007 .
↑ "Ratatouille's Ratatouille fights movie piracy" . The Film Factory. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ October 14, 2007. สืบค้นเมื่อ December 23, 2007 .
↑ "Nissan Note Exploding Cars It's Possible" . Visit4Info. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ October 11, 2007. สืบค้นเมื่อ April 11, 2021 .
↑ Eggert, Brian (June 29, 2007). "Ratatouille review" . DeepFocusReview.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2007-10-17. สืบค้นเมื่อ October 15, 2007 .
↑ Graser, Marc (June 15, 2007). "Pixar hopes auds find 'Ratatouille' tasty" . Variety . สืบค้นเมื่อ October 15, 2007 .
↑ "Disney Serves Up 'Ratatouille' on Blu-ray this November" . High-Def Digest. August 10, 2007. สืบค้นเมื่อ August 20, 2007 .
↑ Lee, Patrick (October 30, 2007). "Rat DVD Has First Pixar 2-D Toon" . SCI FI Wire. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ December 30, 2007. สืบค้นเมื่อ October 30, 2007 .
↑ Huxley, Thomas (October 15, 2006). "First Lifted Review" . Pixar Planet. สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ "Top-Selling DVDs of 2007" . The Numbers. สืบค้นเมื่อ January 11, 2011 .
↑ Landy, Tom (July 24, 2019). "RATATOUILLE, INSIDE OUT, and Six More Pixar Titles Bound for 4K Ultra HD Blu-ray this September!" . Hi-Def Digest . สืบค้นเมื่อ December 27, 2020 .
↑ Brown, Peter (January 21, 2008). "Clip of the Week: RATATOING - BRAZIL RIPOFF OF RATATOUILLE" . If . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ January 23, 2008. สืบค้นเมื่อ April 11, 2021 .
↑ Canônico, Marco Aurélio. "Vídeo Brinquedo faz sucesso com desenhos como "Os Carrinhos" e "Ratatoing" " . Folha de S.Paulo (ภาษาโปรตุเกส). Ministry of Culture (Brazil). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ April 29, 2008. These descriptions bring to mind Cars and Ratatouille , the latest two feature films by North American giant Pixar, a part of Disney
↑ ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก ที่รอตเทนโทเมโทส์
↑ "All-Time High Scores: The Best-Reviewed Movies" . Metacritic . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ June 9, 2008. สืบค้นเมื่อ March 17, 2008 .
↑ "Pixar Animation Studios' Scores" . Metacritic . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2016-03-24. สืบค้นเมื่อ January 26, 2016 .
↑ "Best Movies of All Time" . Metacritic . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2016-03-17. สืบค้นเมื่อ March 25, 2016 .
↑ Kilday, Gregg (2 July 2007). " 'Ratatouille' runs table" . The Hollywood Reporter . moviegoers sampled by CinemaScore rewarded it with an A rating. So in addition to attracting the family crowd, the picture should have ongoing adult appeal.
↑ Scott, A. O. (June 29, 2007). "Voilà! A Rat for All Seasonings" . The New York Times . สืบค้นเมื่อ January 15, 2008 .
↑ Wally Hammond (October 8, 2007). "Ratatouille" . Time Out . สืบค้นเมื่อ October 6, 2015 .
↑ "Ratatouille" . Chicago Reader . 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2007-07-02.
↑ Gleiberman, Owen (July 6, 2007). "Ratatouille" . Entertainment Weekly . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-11-08. สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Travers, Peter (June 25, 2007). "Ratatouille : Review" . Rolling Stone . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2007-06-28.
↑ "Reelviews Movie Reviews" . Reelviews.net. June 29, 2007. สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Lemire, Christy. " 'Ratatouille' is visually marvelous, surprisingly sophisticated dish" . The Augusta Chronicle (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2021-09-15. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15 .
↑ Justin Chang (June 18, 2007). "Ratatouille" . Variety . สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Phillips, Michael. "Metromix. Movie review: Ratatouille " . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ July 15, 2007. สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Moore, Roger (June 29, 2007). "Rats: You can't carry a 'toon by blathering on about food" . Orlando Sentinel . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ February 6, 2014. สืบค้นเมื่อ February 6, 2014 .
↑ Foundas, Scott (June 27, 2007). "Ratatouille: Rat Can Cook" . สืบค้นเมื่อ September 11, 2021 .
↑ Rea, Steven (June 29, 2007). "You'll smell a ... terrific 'toon, starring a rat" . The Philadelphia Inquirer . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ October 6, 2015 .
↑ "Movie: Ratatouille" . December 1, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ June 23, 2007. สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ "A rat to catch!" . Daily News . New York. June 29, 2007. สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Ansen, David (June 28, 2007). "Ansen on 'Ratatouille' " . Newsweek . สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Hartlaub, Peter (June 28, 2007). " "Ratatouille" is a feast for the eyes" . San Francisco Chronicle . สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Corliss, Richard (June 7, 2007). "Savoring Pixar's Ratatouille" . TIME . สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Ebert, Roger (August 30, 2007). "Waiter, there's a rat in my soup" . Chicago Sun-Times . สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 – โดยทาง RogerEbert.com.
↑ Howell, Peter (June 29, 2007). "Feast your eyes" . Toronto Star . สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Morgenstern, Joe (June 29, 2007). "Pixar Cooks With Joy, Inventiveness In 'Ratatouille' " . The Wall Street Journal . สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Turan, Kenneth (June 29, 2007). "This is no dirty rat" . Los Angeles Times . สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Di Nunzio, Miriam (June 29, 2007). "A vermin in Paris finds his inner foodie" . Chicago Sun-Times . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ July 1, 2007. สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Booth, Michael (June 28, 2007). "Oui! A rich foodie treat, with a great view" . The Denver Post . สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ Thomson, Desson (June 29, 2007). " 'Ratatouille': A Classic Recipe" . The Washington Post . สืบค้นเมื่อ February 5, 2014 .
↑ McClintock, Pamela (July 1, 2007). "Audiences chow down on "Ratatouille" " . Variety . เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ January 27, 2016. สืบค้นเมื่อ April 11, 2021 .
↑ Hayhurst, David (August 9, 2007). "Record breaking 'Ratatouille' " . Variety (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ June 6, 2020 .
↑ Barnes, Brooks (October 22, 2007). "France Embraces Disney, Thanks to a Rat" . The New York Times (ภาษาอังกฤษ). ISSN 0362-4331 . สืบค้นเมื่อ June 6, 2020 .
↑ "UK Film Box Office: Oct. 12 – Oct. 14" . UK Film Council . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ November 2, 2007. สืบค้นเมื่อ December 22, 2007 .
↑ "Pixar Box Office History" . The Numbers. สืบค้นเมื่อ July 31, 2010 .
↑ "Winners and Nominees – 80th Academy Awards" . Academy of Motion Picture Arts and Sciences. January 6, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ October 12, 2013. สืบค้นเมื่อ January 6, 2009 .
↑ 101.0 101.1 "Nominees & Winners of the 2008 (80th) Academy Awards | Academy of Motion Picture Arts & Sciences" . Academy of Motion Picture Arts and Sciences. August 24, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ October 12, 2013. สืบค้นเมื่อ October 5, 2013 .
↑ 102.0 102.1 "Annie Awards 2007 nominations" . International Animated Film Association . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ December 4, 2008. สืบค้นเมื่อ March 9, 2009 .
↑ "Chicago Film Critics Awards – 1998-07" . Chicago Film Critics Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-04-20. สืบค้นเมื่อ March 9, 2009 .
↑ "Awards for 2007" . National Board of Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ December 11, 2007. สืบค้นเมื่อ March 9, 2009 .
↑ "The 13th Critics Choice Awards winners and nominees" . Broadcast Film Critics Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ May 30, 2012. สืบค้นเมื่อ March 10, 2009 .
↑ "Hollywood Foreign Press Association 2008 Golden Globe Awards for the year ended December 31, 2007" . HFPA. December 13, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ December 15, 2007. สืบค้นเมื่อ December 22, 2007 .
↑ Narcisse, Evan (December 8, 2011). "Pixar Teams Up With Microsoft For Kinect Rush" . Kotaku . สืบค้นเมื่อ December 9, 2011 .
↑ Frank, Allegra (June 11, 2018). "Kingdom Hearts 3 trailer features a new, lovable Pixar character" . Polygon . Vox Media, Inc. สืบค้นเมื่อ January 25, 2019 .
↑ "Ratatouille: The Adventure – L'Aventure Totalement Toquée de Remy" . DLP Today . July 30, 2012. สืบค้นเมื่อ October 9, 2014 .
↑ Barnes, Brooks (July 15, 2017). "Disney Vows to Give Epcot a Magical, Long-Overdue Makeover" . The New York Times . สืบค้นเมื่อ July 16, 2017 .
↑ Alter, Rebecca (November 19, 2020). "Broadway Is Closed, But Ratatouille the Musical Is Cooking on TikTok" . Vulture (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ November 20, 2020 .
↑ Dickson, E. J. (November 18, 2020). "An Oral History of 'Ratatouille: The Musical' " . Rolling Stone (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ November 22, 2020 .
↑ Meyer, Dan (December 9, 2020). "Ratatouille: The TikTok Musical Streaming Concert to Benefit The Actors Fund" . Playbill . สืบค้นเมื่อ December 9, 2020 .
↑ Meyer, Dan (December 17, 2020). "Original Video Creators Tapped to Provide Music for Ratatouille: The TikTok Musical; Lucy Moss to Direct" . Playbill . สืบค้นเมื่อ December 24, 2020 .
↑ Evans, Greg (December 28, 2020). " 'Ratatouille: The TikTok Musical' All-Star Cast To Include Wayne Brady, Tituss Burgess & Adam Lambert" . Deadline Hollywood . สืบค้นเมื่อ April 11, 2021 .
↑ Lee, Chris (2022-04-13). "The Everything Bagel of Influences Behind Everything Everywhere All at Once" . Vulture (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2022-10-23 .
↑ Leston, Ryan (2022-06-29). "Everything Everywhere All at Once's Best Prop Was Based Off a Real Raccoon Corpse" . IGN (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-10-23 .
↑ Herman, Alison (2022-06-14). " "Now We're Cooking": How 'Everything Everywhere All at Once' Made Raccacoonie" . The Ringer (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-10-23 .
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่น
ภาพยนตร์
ภาพยนตร์สั้น
ดั้งเดิม สปาร์คชอร์ตส์ เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ ซีรีส์ รวมผลงาน ผลงานอื่น
ละครโทรทัศน์
รายการโทรทัศน์พิเศษ แฟรนไชส์ มีส่วนร่วม ในการสร้าง
สารคดี ผลิตภัณฑ์ บุคลากร เพิ่มเติม