ยี่นดอมะเล่ |
---|
ยี่นดอมะเล่ |
เกิด | พ.ศ. 2389 ยี่นดอ อำเภอปยอ-บแว ภาคมัณฑะเลย์ |
---|
เสียชีวิต | ป. พ.ศ. 2459 |
---|
สัญชาติ | พม่า |
---|
อาชีพ | นักนาฏศิลป์หลวง |
---|
ยี่นดอมะเล่ (พม่า: ယင်းတော်မလေး, ออกเสียง: [jɪ́ɰ̃dɔ̀ma̰lé]; พ.ศ. 2389 – ป. พ.ศ. 2459) เป็นนักนาฏศิลป์หลวงในราชสำนักพม่า ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในช่วงปลายสมัยโก้นบอง ยี่นดอมะเล่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสองมารดาแห่งนาฏศิลป์ยุคต้นของมัณฑะเลย์ร่วมกับซีนโก้มะเล่ ซึ่งเป็นนักนาฏศิลป์หลวงร่วมสมัยเพียงคนเดียวกับเธอ[1]
ชีวิตช่วงต้น
ยี่นดอมะเล่เกิดเมื่อ พ.ศ. 2389 ที่ยี่นดอ[note 1][2] ใน พ.ศ. 2405 เธอถูกเจ้าเมืองยี่นดอส่งไปยังมัณฑะเลย์เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นนักนาฏศิลป์หลวงฝึกหัดของราชวงศ์[3]
อาชีพนักนาฏศิลป์ของราชวงศ์
หนึ่งปีต่อมาเธอได้กลายเป็นนักนาฏศิลป์ชั้นนำในราชสำนัก โดยรับบทเป็นเจ้าหญิงบุษบาในละครราชสำนักอินทราวุธร่วมกับอีนองอู้ซานโตะ (အီနောင်ဦးစံတုတ်)[4] ในไม่ช้าเธอก็ได้รับความนิยมในราชสำนัก[5][6][7] เธอได้รับพระราชทานตำแหน่งและทรัพย์สินในยี่นดอ และเป็นที่รู้จักในนามยี่นดอมะเล่ (หรือคุณหญิงแห่งยี่นดอ)[8]
ใน พ.ศ. 2411 ตามคำร้องขอของข้าหลวงเมืองพะโค คณะละครราชสำนักอินทราวุธซึ่งนำโดยยี่นดอมะเล่ ได้รับมอบหมายให้ไปแสดงละครราชสำนักให้กับริชาร์ด เบิร์ก อุปราชอินเดียคนที่ 4 และผู้สำเร็จราชการเอิร์ลแห่งเมโยคนที่ 6 ขณะที่เขากำลังพำนักอยู่ในย่างกุ้ง
ชีวิตในภายหลัง
หลังการสละราชสมบัติของพระเจ้าสีป่อ ใน พ.ศ. 2428 และเนื่องจากไม่มีผู้สนับสนุนหลัก คณะละครราชสำนักอินทราวุธจึงเกือบจะยุบไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภริยาของนายกเทศมนตรีเมืองตองกวินสนับสนุนคณะละคร คณะละครจึงสามารถแสดงในพิธีที่จัดขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์ได้
แปดปีหลังจากการสละราชสมบัติของพระเจ้าสีป่อ ยี่นดอมะเล่ตาบอดข้างหนึ่ง เธอยังคงป่วยอยู่จนถึงอายุหกสิบกว่า แม้ว่าจะแก่ตัวลงแล้ว แต่เธอยังคงเข้าร่วมคณะนาฏศิลป์ท้องถิ่นบางคณะ[9] เมื่อใดก็ตามที่เธอร้องเพลงเกี่ยวกับการเสื่อมถอยของช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของเธอลงสู่สถานะที่ต่ำลง ผู้ชมทุกคนต่างก็รู้สึกเศร้าใจแทนเธอ[10]
ไม่มีใครในรุ่นเธอที่สืบทอดความรู้เรื่องนาฏศิลป์ในราชสำนักพม่าจากยี่นดอมะเล่ ยกเว้นมะทเว่เล่ ลูกศิษย์ของเธอ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนักนาฏศิลป์ยอดนิยม[11]
หมายเหตุ
อ้างอิง