มาตรวิทยา (อังกฤษ : Metrology ) คือวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวัด การวิเคราะห์ การทดสอบ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจริง มีการกำหนดรายละเอียดของหน่วยวัด มาตรฐานด้านการวัดที่เป็นสากลเพื่อเป็นอ้างอิงของกิจกรรมการวัดต่าง ๆ
ปัจจุบัน มาตรวิทยามีการรับรองโดย คณะกรรมการมาตรวิทยาสากล (CIPM) คอยดูแลมาตรวิทยาในระบบสากล ส่วนประเทศไทยมี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ดูแลการศึกษามาตรวิทยาในประเทศไทย[ 1]
คำว่า "Metrology" ได้มาจากการเชื่อมคำในภาษากรีกสองคำ คือ metron (การวัด) และ logos (ศาสตร์) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า "ศาสตร์แห่งการวัด" ปัจจุบัน พจนานุกรมต่าง ๆ ให้ความหมายของคำดังกล่าว ดังนี้
Webster Dictionary กล่าวว่า "วิทยาศาสตร์หรือระบบของการวัด รวมทั้งบทความที่เกี่ยวข้อง" (The science of, or a system of, weights and measures; also, a treatise on the subject.)
The American Heritage Dictionary of the English Language ให้ความหมายที่ชัดเจนขึ้นอีกว่า "วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวัดและระบบของการวัด" (The science that deals with measurement, a system of measurement)
"International Vocabulary of Metrology - Basic and General Concepts and Associated Terms (VIM): 2008" กล่าวว่า มาตรวิทยาคือ "วิทยาศาสตร์ของการวัดและการนำไปใช้" (Science of measurement and its applications) และมีโน้ตเพิ่มเติมว่า "รวมถึงการวัดภาคทฤษฎีและปฏิบัติ กับความไม่แน่นอนของการวัด (measurement uncertainty) และขอบเขตของการนำไปใช้"
สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2540 ให้ความหมายของ "มาตรวิทยา" ว่า "กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสอบเทียบ ปรับตั้งความถูกต้องของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดปริมาณหรือวิเคราะห์ทดสอบ"
สรุปแล้ว คำจำกัดความของมาตรวิทยา คือ วิทยาการเกี่ยวกับการวัดที่ถูกต้องแม่นยำ สามารถสอบกลับได้ ไปสู่มาตรฐานการวัดสากล ครอบคลุมทั้งวิธีการวัด ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติความไม่แน่นอนของการวัด การสอบกลับได้สู่มาตรฐานสากล ตลอดจนการเท่าเทียมกันของผลการวัดระหว่างประเทศ [ 1]
การวัดขนาดและปริมาณต่าง ๆ เป็นกิจกรรมที่สังคมมนุษย์กระทำกันมาตั้งแต่เกิดสังคมเมืองขึ้น ในอดีตหน่วยวัดที่กำหนดขึ้นจะใช้กันภายในกลุ่มเดียวกัน ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยน สังคมมนุษย์จึงต้องการหน่วยวัดขนาดและปริมาณที่ทุก ๆ คนยอมรับ
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2418 (ค.ศ. 1875 ) รัฐบาล 17 ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิกก่อตั้ง The Metre Convention จึงได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาเมตริก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และประกาศให้วันที่ 20 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันมาตรวิทยาโลก
สาระสำคัญของสนธิสัญญาเมตริกมีรายละเอียดดังนี้
ให้จัดตั้งสำนักงานชั่ง ตวง วัดระหว่างประเทศ (BIPM) เพื่อกำหนดหน่วยวัดสากล
ให้จัดตั้งคณะกรรมการมาตรวิทยาสากล (CIPM)
ให้มีการประชุมนานาชาติด้านมาตรวิทยาทุก ๆ 4 ปี
สำนักงานชั่ง ตวง วัดระหว่างประเทศ (BIPM)
สำนักงานชั่ง ตวง วัดระหว่างประเทศ (อังกฤษ : International Bureau of Weights and Measures , ฝรั่งเศส : Bureau International des Poids et Mesures ) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาเมตริก สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส โดยใช้ปาวิลลอง เดอ เบรตุย (Pavillon de Breteuil) เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ มีจุดมุ่งหมายให้ทั่วโลกมีการวัดไปในทางเดียวกัน สถาปนาหน่วยวัดพื้นฐาน เก็บรักษาต้นแบบหน่วยวัดสากลและการสอบกลับได้ไปยังหน่วยเอสไอ
ปัจจุบัน BIPM มีสมาชิกทั้งหมด 80 ประเทศ
คณะกรรมการมาตรวิทยาสากล (CIPM)
คณะกรรมการมาตรวิทยาสากล (อังกฤษ : International Committee for Weights and Measures , ฝรั่งเศส : Comité International des Poids et Mesures ) ประกอบไปด้วยคณะกรรมการ 18 คน เป็นผู้แทนจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาเมตริก มีหน้าที่ในการส่งเสริมหน่วยวัดสากลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จัดการประชุมปีละ 1 ครั้ง ณ BIPM
การประชุมมาตรวิทยาระหว่างประเทศ (CGPM)
การประชุมมาตรวิทยาระหว่างประเทศ (อังกฤษ : General Conference on Weights and Measures , ฝรั่งเศส : Conférence Générale des Poids et Mesures ) เป็นการประชุมเพื่อรับฟังรายงานผลความสำเร็จของ CIPM โดยอภิปรายและตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจในการเผยแพร่และพัฒนาหน่วยวัดสากล จนถึงรับรองการกำหนดมาตรวิทยาพื้นฐานใหม่ ๆ รวมถึงควบคุมดูแล BIPM จัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี ณ กรุงปารีส
องค์การระหว่างประเทศด้านการชั่งตวงวัดทางกฎหมาย (OIML)[ 2]
องค์การระหว่างประเทศด้านการชั่งตวงวัดทางกฎหมาย (อังกฤษ : International Organization of Legal Metrology , ฝรั่งเศส : Organisation Internationale de Métrologie Légale ) เป็นองค์การสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกถาวร (Member States) ซึ่งเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านเทคนิค และสมาชิกสมทบ (Corresponding Members) ซึ่งเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ เท่านั้น [ 3] ได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1955 เพื่อที่จะส่งเสริมให้การชั่งตวงวัดทางกฎหมาย (legal metrology) ของโลกให้สอดคล้องกัน ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงบัดนี้ OIML ได้จัดทำเอกสารเพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการจัดทำโครงสร้างองค์กรที่กำกับงานชั่งตวงวัดทางกฎหมายภายในประเทศสมาชิก และเอกสารที่ใช้เป็นแนวทางในการออกกฎหมายและกฎระเบียบ[ 4] เพื่อการกำกับดูแลงานชั่งตวงวัดทางกฎหมายภายในประเทศ
สำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นสมาชิกถาวร (Member State)ในนามประเทศไทย[ 5]
ระบบมาตรวิทยาในประเทศไทย[ 1]
ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของ The Metre Convention ในปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912 ) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และอีก 11 ปีต่อมา พระราชบัญญัติ ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 กฎหมายด้านมาตรวิทยาฉบับแรกของไทยได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งมีใจความสำคัญว่าประเทศไทยยอมรับระบบเมตริก ต่อมาสำนักงานชั่ง ตวง วัด กระทรวงพาณิชย์ ปรับปรุงพระราชบัญญัตินี้เป็นฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2542
ปี พ.ศ. 2504 ห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือวัด ถือกำเนิดขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และมีห้องปฏิบัติการเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นมากมายจนปัจจุบันมีอยู่ 140 แห่งทั่วประเทศ ประมาณ 55% ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามข้อกำหนด ISO/IEC 17025 เดิมห้องปฏิบัติการสอบเทียบจะต้องส่งเครื่องมือวัดและมาตรฐานอ้างอิงไปสอบเทียบในต่างประเทศ ปี พ.ศ. 2540 จึงประกาศใช้พระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และจัดตั้ง สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ขึ้น เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2541
คำสำคัญเกี่ยวกับมาตรวิทยา
การสอบเทียบ
การสอบเทียบ (Calibration) หมายถึง การดำเนินการเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างค่าที่เครื่องมือวัดบอก หรือระบบการวัด หรือค่าที่แสดงโดยเครื่องวัดกับค่าจริงที่ยอมรับร่วมกัน (Conventional True Value) (VIM 6.11) ว่าคลาดเคลื่อนไปมากเท่าใด โดยเริ่มจากการสอบเทียบเครื่องมือกับเครื่องมือมาตรฐานที่คลาดเคลื่อนน้อยกว่า รวมถึงการสอบเทียบเครื่องมือมาตรฐานกับเครื่องมือที่มาตรฐานสูงกว่า จนถึงการสอบเทียบเครื่องมือมาตรฐานสูงสุดกับมาตรฐานแห่งชาติ หรือมาตรฐานระหว่างประเทศ เมื่อเสร็จสิ้นการสอบเทียบจะมีการออกใบรายงานผลการสอบเทียบที่รายงานค่าความบ่ายเบนหรือค่าแก้พร้อมค่าความไม่แน่นอนของการวัด [ 6]
ความสามารถสอบกลับได้
ความสามารถสอบกลับได้ (Traceability) หมายถึง สมบัติของผลการวัดที่สามารถโยงกับมาตรฐานแห่งชาติอันเป็นที่ยอมรับโดยการเปรียบเทียบอย่างต่อเนื่อง และจะต้องรายงานค่าความไม่แน่นอนของการวัดด้วย (VIM 6.10) หรือกระบวนการย้อนกลับของการสอบเทียบ จากมาตรฐานสากล มาตรฐานแห่งชาติจนถึงเครื่องมือของผู้ใช้งาน [ 7]
ความสามารถสอบกลับได้ของการวัดจะต้องประกอบไปด้วยสิ่งต่อไปนี้[ 8]
สอบเทียบอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ จากผู้ใช้เครื่องมือกลับไปยังมาตรฐานแห่งชาติหรือมาตรฐานระหว่างประเทศ
มีความไม่แน่นอนของการวัด การสอบกลับแต่ละขั้นตอนจะต้องคำนวณตามวิธีที่กำหนดและรายงานค่า เพื่อให้สามารถคำนวณค่าความไม่แน่นอนรวมของทุกขั้นตอนได้
ทำเป็นเอกสาร ทำการสอบเทียบตามเอกสาร อีกทั้งผลของการสอบเทียบต้องเป็นเอกสารเช่นกัน
มีความสามารถ ห้องปฏิบัติการหรือองค์กรที่ทำการสอบเทียบจะต้องมีมาตรฐานรับรอง เช่น ISO/IEC 17025
อ้างหน่วยเอสไอ การสอบเทียบต้องสิ้นสุดลงที่มาตรฐานปฐมภูมิ ซึ่งก็คือหน่วยเอสไอ
ระยะเวลา การสอบเทียบจะต้องทำซ้ำตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวแปรต่าง ๆ เช่น ความถี่ของการใช้งาน การนำไปใช้
ความไม่แน่นอนของการวัด
ความไม่แน่นอนของการวัด (Uncertainty of Measurement) คือ สิ่งที่บ่งบอกความไม่สมบูรณ์ของปริมาณที่ถูกวัด จากขั้นตอนการสอบกลับ ซึ่งจะมีค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถในการวัดของแต่ละห้องปฏิบัติการ เป็นสิ่งที่บ่งบอกคุณภาพของการวัดว่าน่าเชื่อถือได้ดีเพียงใด การรายงานความไม่แน่นอนของการวัดจะต้องรายการพร้อมกับผลของการวัดเสมอ เพื่อจะให้เปรียบเทียบค่าที่ได้จากการวัดกับเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับ[ 9]
การบอกค่าความไม่แน่นอนจะต้องบอกค่าที่วัดได้ ± ค่าความคลาดเคลื่อน พร้อมบอกระดับความเชื่อมั่นเป็นร้อยละ เช่น ผลการวัดความยาวของตัวต้านทานที่มีค่าระบุ 1 kΩ คือ 1,000.001 Ω มีค่าความไม่แน่นอน 0.001 Ω การรายงานผลการวัดจะอยู่ในรูป
1
,
000.001
Ω Ω -->
± ± -->
0.001
Ω Ω -->
{\displaystyle 1,000.001\Omega \pm 0.001\Omega }
ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
อ้างอิง
↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 เอกสารประกอบการอบรม โครงการค่ายมาตรวิทยาชิงทุนการศึกษาภายใต้แนวคิด "หนึ่งการวัด...ยอมรับทั่วโลก" เรื่อง "หลักการมาตรวิทยาสากล" ระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม 2553" ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2553 โดย พล.อ.ต.ดร.เพียร โตท่าโรง ผอ.สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ
↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2011-04-05. สืบค้นเมื่อ 2011-04-02 .
↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-08-20. สืบค้นเมื่อ 2011-04-02 .
↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2009-12-16. สืบค้นเมื่อ 2011-04-02 .
↑ http://oiml.org/about/membership.html?country=211&membership=2 [ลิงก์เสีย ]
↑ สิวินีย์ สวัสดิ์อารี, อัจฉรา เจริญสุข. มาตรวิทยาเบื้องต้น. ปทุมธานี: สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2553, หน้า 16-17
↑ มาตรวิทยาเบื้องต้น หน้า 17-18
↑ มาตรวิทยาเบื้องต้น หน้า 24
↑ มาตรวิทยาเบื้องต้น หน้า 18-21