ภาษาคำยัง หรือ ไทคำยัง เป็นภาษาตระกูลไทกลุ่มหนึ่งในประเทศอินเดีย มีผู้พูดทั้งหมด 50 คน ในหมู่บ้านป่าหวาย (Pawaimukh) ในอำเภอตินสุกียา รัฐอัสสัม[2] ภาษาคำยังนี้มีความคล้ายคลึงกับภาษาพ่าเกและภาษาไทใหญ่ในประเทศพม่า ผู้ใช้ภาษาคำยังในปัจจุบันหลายคนสามารถอ่านและเขียนภาษาอัสสัมได้ แต่กลายเป็นว่ามีผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นที่สามารถอ่านและเขียนภาษาคำยังได้ ซึ่งส่วนมากใช้สำหรับพิธีกรรมทางศาสนาใน ค.ศ. 1981 ชาวคำยังมีความสามารถอ่านและเขียนภาษาอัสสัมเป็นภาษาที่สองได้ถึงร้อยละ 58 ชาวคำยังมีความสนิทสนมกับชาวคำตี่ในรัฐอรุณาจัลประเทศเป็นพิเศษ
ปัจจุบันภาษาคำยังเป็นภาษาใกล้สูญ เพราะมีผู้พูดจำนวนน้อย และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย
ประวัติ
มีประวัติและข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวคำยังน้อยมาก ครั้น พ.ศ. 2526 มุหิ จันทระ ศยาม ปันโชก (Muhi Chandra Shyam Panjok) มีงานเขียนเกี่ยวกับความเป็นมาของชาวคำยัง[3] เขาระบุว่าในรัชกาลพระเจ้าเสือข่านฟ้าได้ส่งชาวคำยัง ซึ่งเป็นชาวไทกลุ่มหนึ่งข้ามเขาปาดไก่ไปยังแถบรัฐอัสสัม เพื่อตามหาเจ้าหลวงเสือก่าฟ้า พระอนุชา ซึ่งได้ก่อตั้งอาณาจักรอาหมขึ้นในหุบเขาพรหมบุตร แต่หลังทั้งสองฝ่ายพบกันแล้ว ชาวคำยังก็ไม่ได้กลับไปยังมาตุภูมิ แต่ยังคงอาศัยอยู่ในดินแดนรัฐอัสสัมและอรุณาจัลประเทศนั่นเอง พวกเขาตั้งถิ่นฐานริมทะเลสาบหนองยางยาวนานกว่า 500 ปี อี. อาร์. ลีช (E. R. Leach) เชื่อว่าทะเลสาบดังกล่าวอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำติราป รวมทั้งเป็นที่มาของชื่อ "คำยัง"[4] ราว พ.ศ. 2323 ชาวคำยังโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิม ทั้งยังมีปัญหากระทบกระทั่งกันกับชาวอาหมซึ่งเป็นชาวไทด้วยกัน จนเกิดการต่อต้านและสู้รบกับอาหมขึ้น[3]
ชาวคำยังกลุ่มหนึ่งโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองธาลี (Dhali) ใน พ.ศ. 2341 พวกเขาเป็นบรรพชนของชาวคำยังในอำเภอโชรหาฏและโคลาฆาฏ[3] ดังจะพบว่ามีหมู่บ้านชาวคำยังกระจายตัวอยู่ในสองอำเภอนี้[5] ชาวคำยังที่นี่ยังระบุตัวตนว่าเป็นชาวคำยัง แม้จะเลิกใช้ภาษาคำยังไปแล้วก็ตาม[2] อีกส่วนหนึ่งตั้งถิ่นฐานที่อำเภอฑิพรูครห์ มีการตั้งชุมชนที่บ้านป่าหวายตั้งแต่ พ.ศ. 2465 มีประจักษ์พยานระบุว่าชุมชนนี้เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่[6] ชุมชนตั้งอยู่ริมแม่น้ำพูร์หีทิหิงค์ มีถนนเส้นเดียวพาดผ่าน มีบ้านเรือนราว 40 หลังคา มีวัดพุทธตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน[6] และเป็นชุมชนคำยังแห่งสุดท้ายที่ยังใช้ภาษาคำยังในการสื่อสาร[2]
สถานะ
ภาษาคำยังเป็นภาษาใกล้สูญ[2] มีผู้ใช้ภาษานี้ที่บ้านป่าหวายเพียงแห่งเดียว เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุราว 50 คน[2] ซึ่งจะใช้เมื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือติดต่อกับผู้ที่พูดภาษาไทคนอื่น ๆ ปัจจุบันมีชาวคำยังที่รู้หนังสือคำยังเพียงสองคน คือ Chaw Sa Myat Chowlik และ Chaw Cha Seng นอกจากนี้ยังมีพระเอติกภิกขุ (Etika Bhikku) พระสงฆ์ชาวไทพ่าเกที่สามารถอ่านอักษรคำยังได้ดี[2] นอกจากผู้สูงอายุแล้ว คาดว่าคนในวัยอื่น ๆ ที่บ้านป่าหวายคงพอสื่อสารภาษาคำยังได้พอเข้าใจ หากแต่ยังไม่ได้รับการศึกษาพวกเขาอย่างจริงจัง[2]
ทั้งนี้หมู่บ้านป่าหวายของชาวคำยังก็แปลความหมายตรงกับภาษาไทย คือป่าที่มีหวาย[2] ในแบบสำรวจสำมะโนครัวประชากรอินเดีย พ.ศ. 2554 ระบุว่าชุมชนดังกล่าวมีชื่อว่า บ้านป่าหวาย 2 (Powai Mukh No. 2)[7]
ชาวคำยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โนรา (Nora) สตีเฟน มอเรย์ (Stephen Morey) นักภาษาศาสตร์ ระบุว่าไม่เคยได้ยินชาวคำยังเรียกตัวเองว่าโนรามาก่อนเลย[2]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 Khamyang ที่ Ethnologue (25th ed., 2022)
Nora ที่ Ethnologue (25th ed., 2022)
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 Morey, Stephen. 2005: The Tai Languages of Assam: A Grammar and Texts, Canberra: Pacific Linguistics.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Panjok, Muhi Chandra Shyam. 1981: History of Tai Khamyang Group of Great Tai Race. Paper presented at the International Conference of Tai Studies, New Delhi, February.
- ↑ Leach, E. R. 1964: Political Systems of Highland Burma, London: London School of Economics
- ↑ Boruah, Bhimkanta. 2001: Tai Language in India: An Introduction.
- ↑ 6.0 6.1 Diller, Anthony V. N.; Edmonson, Jerold A.; Luo, Yongxian. 2008: The Tai-Kadai Languages. London, Routledge.
- ↑ Census of India, 2011, Primary Census Abstract Data Tables, Assam. http://censusindia.gov.in/pca/pcadata/pca.html.
แหล่งข้อมูลอื่น