บทความนี้เกี่ยวกับโรค สำหรับความหมายอื่น ดูที่
เมา
ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ, ภาวะเป็นพิษเหตุสุรา, การเป็นพิษจากแอลกอฮอล์ (อังกฤษ: alcohol intoxication) หรือความเมา (อังกฤษ: drunkenness, inebriation) เป็นภาวะทางสรีรวิทยา (ซึ่งยังอาจรวมการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของการรับรู้) อันเกิดจากการกินเอทานอล (แอลกอฮอล์)
ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเป็นผลจากที่แอลกอฮอล์เข้ากระแสเลือดเร็วกว่าสามารถเกิดเมแทบอลิซึมที่ตับ ซึ่งสลายเอทานอลเป็นผลพลอยได้ซึ่งไม่เป็นพิษ ฤทธิ์บางอย่างของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (เช่น ภาวะครึ้มใจและการยับยั้งทางสังคมลดลง) เป็นหัวใจของความปรารถนาใช้แอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่ม และประวัติศาสตร์ของมันในฐานะยาที่ใช้เพื่อความสนุกสนาน (recreational drug) ที่แพร่หลายที่สุดอย่างหนึ่งของโลก แม้การใช้อย่างแพร่หลายนี้และความชอบด้วยกฎหมายของแอลกอฮอล์ในประเทศส่วนใหญ่ แหล่งข้อมูลการแพทย์จำนวนมากมักอธิบายภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษทุกระดับว่าเป็นภาวะถูกพิษรูปหนึ่งเพราะฤทธิ์ทำอันตรายต่อร่างกายในขนาดสูง บางศาสนามองว่าภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเป็นบาป
อาการของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษรวมภาวะครึ้มใจ ผิวหนังแดงและการยับยั้งทางสังคมลดลงในขนาดต่ำ โดยขนาดที่สูงขึ้นทำให้เกิดความเสื่อมรุนแรงของการรักษาสมดุล การประสานงานของกล้ามเนื้อ (ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ) และความสามารถตัดสินใจ (อาจนำไปสู่พฤติกรรมรุนแรงหรือไม่คงเส้นคงวาได้) มากขึ้น ๆ ตลอดจนคลื่นไส้หรืออาเจียนจากฤทธิ์รบกวนของแอลกอฮอล์ต่อหลอดกึ่งวงกลมของหูชั้นในและการระคายเคืองทางเคมีของเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงเพียงพอจะทำให้เกิดโคม่าและเสียชีวิตจากฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางของแอลกอฮอล์
"ภาวะเป็นพิษแอลกอฮอล์เฉียบพลัน" เป็นศัพท์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้บ่งชี้ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่สูงอย่างเป็นอันตรายในเลือด ที่สูงพอชักนำให้โคม่า การหายใจลดลงหรือกระทั่งเสียชีวิต ภาวะดังกล่าวถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์