ฟุตบอลฮูลิแกน

กลุ่มผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอลโลโคโมทีเวอไลพ์ซิกขณะกำลังลุกออกจากที่นั่งระหว่างเกมการแข่งขันกับสโมรสรฟุตบอลดีนาโม-ชเวรีน ในการแข่งขันเอฟดีกีบี-โพคาลของเยอรมนีตะวันออก พ.ศ. 2533

ฟุตบอลฮูลิแกนนิสซึม (อังกฤษ: football hooliganism)[1] คือ พฤติกรรมเกเร ใช้ความรุนแรง และเป็นอันตราย ที่แสดงออกโดยกลุ่มผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอลหัวรุนแรง เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง การทำลายสิ่งของ และการข่มขู่ เป็นต้น[2] บุคคลที่มีพฤติกรรมเช่นนี้เรียก ฟุตบอลฮูลิแกน (football hooligan)

โดยปกติแล้วฟุตบอลฮูลิแกนมักจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มก๊วนซึ่งเป็นที่รู้จักกันบ่อยครั้งในชื่อ ฟุตบอลเฟิร์ม (football firm; คำสแลงในภาษาอังกฤษที่หมายถึงกลุ่มอาชญากร) ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อข่มขู่และโจมตีกลุ่มผู้สนับสนุนจากสโมสรฟุตบอลอื่นเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีคำเรียกขานอื่น ๆ ที่ใช้สื่อถึงฟุตบอลเฟิร์มกันทั่วไป เช่น อาร์มี, บอยส์, แคชวลส์ และ ครูว์ ในขณะที่กลุ่มฟุตบอลฮูลิแกนบางสโมสรมีประวัติความขัดแย้งยาวนานกับสโมสรอื่น (ส่วนมากเป็นสโมสรที่อยู่ใกล้เคียงกันในทางภูมิศาสตร์ แต่ไม่ใช่กับทุกกรณี) ส่งผลให้พฤติกรรมฟุตบอลฮูลิแกนในเกมการแข่งขันระหว่างสโมรสรที่มีความขัดแย้งดังกล่าวมีโอกาสที่จะรุนแรงมากเป็นพิเศษ (ในบางครั้งเรียกว่า โลคัลเดอร์บีย์)

ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นก่อน ในระหว่าง หรือหลังจบเกมการแข่งขัน ซึ่งกลุ่มฟุตบอลฮูลิแกนมักจะเลือกสถานที่ก่อเหตุให้ห่างจากสนามที่ใช้แข่งขันเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมของตำรวจ แต่ความขัดแย้งก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในสนามแข่งขันหรือถนนและบริเวณโดยรอบสนาม ในกรณีดังกล่าว หน้าต่างของร้านค้าอาจถูกทุบทำลาย ถังขยะอาจถูกวางเพลิง[3][4] และรถตำรวจถูกจับพลิกคว่ำ ส่วนกรณีที่รุนแรงมาก ๆ อาจมีผู้เสียชีวิตจากฝ่ายฮูลิแกน ตำรวจ หรือผู้คนโดยรอบบริเวณ และส่งผลให้ตำรวจปราบจลาจลในชุดเกราะเข้าแทรกแซงสถานการณ์ด้วยแก๊สน้ำตา สุนัขตำรวจ ยานยนต์หุ้มเกราะ และปืนฉีดน้ำแรงดันสูง[5] เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยฮูลิแกนเรียกว่า อักโกร (aggro) ซึ่งมาจากคำว่า aggravation หรือการทำให้ร้ายแรงขึ้น และ บอฟเวอร์ (bovver) ซึ่งเป็นคำที่ออกเสียงด้วยสำเนียงคอกนีย์ของคำว่า bother หรือความรำคาญ ส่วนคำว่า รัน หรือวิ่งคือสัญญาณที่บอกกลุ่มฮูลิแกนว่าให้แยกย้ายหนีไป

กลุ่มฮูลิแกนที่สามารถสละเวลาและเงินของตนได้จะติดตามฟุตบอลทีมชาติไปยังการแข่งขันนอกสถานที่และแสดงพฤติกรรมฮูลิแกนต่อกลุ่มฮูลิแกนของทีมเจ้าบ้านที่ตนไปเยือน นอกจากนี้ยังอาจสร้างความไม่สงบเรียบร้อยในสถานที่สาธาณะอีกด้วย และแม้จะไม่ปรากฏว่ามีกลุ่มฮูลิแกนในระดับทีมชาติเหมือนกับที่มีในระดับสโมสรฟุตบอล แต่กลุ่มฮูลิแกนที่สนับสนุนทีมชาตินั้น ๆ ก็จะใช้ชื่อกลางหรือชื่อรวมเพื่อแสดงออกถึงการเป็นพันธมิตรกับกลุ่มฮูลิแกนของสโมสรฟุตบอลจากชาติเดียวกันแทน

พฤติกรรม

พฤติกรรมฟุตบอลฮูลิแกนมีขอบข่ายที่ค่อนข้างกว้าง ดังนี้

  • การสบประมาท เช่น การพูดล้อเลียน ปรามาส บางครั้งก็พูดจาส่อเสียดลามก
  • การถ่มน้ำลาย
  • การจุดไฟ
  • การขว้างปาสิ่งของลงไปยังสนามเพื่อทำร้ายผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่ หรือเพื่อแสดงออกถึงการดูถูก เช่น การปากล้วยใส่ผู้เล่นผิวสี ซึ่งใช้สื่อถึงการดูถูกเหยียดหยามว่าคนผิวสีเป็นเผ่าพันธุ์ลิง
  • การขว้างปาสิ่งของใส่ผู้สนับสนุนสโมสรฝ่ายตรงข้าม เช่น การปาหิน อิฐ คบเพลิง และระเบิดขวด[3][4]
  • การต่อสู้ด้วยอาวุธ เช่น ไม้เบสบอล ขวดแก้ว หิน เหล็กเส้น มีด พร้า และอาวุธปืน[6]
  • การสร้างความไม่สงบกันเป็นหมู่คณะ เช่น การผลัก ซึ่งอาจทำให้บางส่วนของสนามแข่งขันเช่นรั้วหรือกำแพงพังถล่มลงมา และยังมีผลกระทบที่เหมือนกันคือผู้ชมในสนามคนอื่น ๆ (ที่ไม่ได้ก่อเหตุ) ต่างพยายามหนีหรือเบียดเสียดกันออกจากสถานที่เกิดเหตุ[7]

อ้างอิง

  1. "What is football hooliganism?". BBC News. สืบค้นเมื่อ 12 May 2015.
  2. "Another sorry outbreak of the English disease". The Independent. London. 17 June 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-07-25.
  3. 3.0 3.1 Kitsantonis, Niki (19 April 2007). "Soccer: Greece wrestles with fan violence". International Herald Tribune. สืบค้นเมื่อ 2007-11-24.
  4. 4.0 4.1 "novasports.gr". novasports.gr. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-14. สืบค้นเมื่อ 2010-03-24.
  5. Podnar, Ozren. "The Day Yugoslav Soccer Died". Soccerphile. สืบค้นเมื่อ 2007-07-25.
  6. "German Hooligans Make Mark in Bratislava | World Cup 2006 | Deutsche Welle | 05.09.2005". Dwworld.de. สืบค้นเมื่อ 2010-03-24.
  7. "Fence collapse hits soccer final". BBC News. 30 December 2000. สืบค้นเมื่อ 2010-03-24.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!