ฟรานซ์ ไคลน์ (อังกฤษ: Franz Jozef Kline) (May 23, 1910 – May 13, 1962) เป็นศิลปินชาวอเมริกันในกระแส แอ็บสแตรกต์ เอกซ์เพรสชั่นนิสม์ ที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กช่วงทศวรรษที่ 1940-1950 ไคลน์ เกิดที่วิสเกส-แบร์ รัฐเพนซิลวาเนีย เริ่มศึกษาศิลปะที่มหาวิทยาลัยบอสตันในปี ค.ศ.1949 งานที่นำชื่อเสียงมาให้เป็นงานศิลปะขนาดใหญ่แบบนามธรรมที่สร้างด้วยสีขาวและดำ และนำออกแสดงเป็นส่วนตัวที่อีแกน แกลอรี ในปี ค.ศ.1950 นอกจากเป็นจิตรกรแล้ว ไคลน์ยังเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่แบลคเมาเทน คอลเลจ ในรัฐนอร์ธ คาโรไลนา, แพรค อินสติทิวท์ และคูเปอร์ ยูเนียน ในนิวยอร์ก
ฟรานซ์ ไคลน์ แต่งงานกับ เอลิซาเบธ วินเซนต์ นักบัลเล่ต์ชาวอังกฤษ และเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจที่นิวยอร์กในปี 1962 ขณะที่มีอายุได้ 51 ปี
ผลงานนามธรรมของไคลน์
ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1930 จนถึงกลางทศวรรษ 1940 ไคลน์มักจะได้รับแรงบันดาลใจจากการเขียนรูปมาจากบ้านเกิดซึ่งอยู่ในเขตทำเหมืองแถบเพนซิลวาเนีย ในช่วงทศวรรษ 1950 ไคลน์เติมสีสันลงบนผลงานของเขามากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เขาเข้าสังกัดกับซิดนีย์ แจนิส แกลอรี่ ในปี ค.ศ.1956 ในช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากไคลน์แล้ว ศิลปินจากสำนักนิวยอร์กหลายคน โดยเฉพาะ วิลเลม เดอ คูนนิง และ แจ็คสัน พอลล็อก ก็หันมาเขียนภาพด้วยการใช้สีขาวดำด้วย คลีเมนต์ กรีนเบิร์ก นักวิชาการด้านศิลปะได้กล่าวถึงการใช้สีขาวดำของศิลปินเหล่านี้ไว้ว่าเป็นเสมือนพัฒนาการของเทคนิคแรเงา (เคียโรสกูโร) ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลงานของไคลน์มักจะเริ่มต้นมาจากภาพร่างที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และเนื่องจากเหตุผลด้านรายได้ ไคลน์มักจะร่างภาพลงบนกระดาษสมุดโทรศัพท์หรือไม่ก็กระดาษหนังสือพิมพ์ ช่วงปี ค.ศ.1948 ไคลน์ได้รู้จักอุปกรณ์ขยายภาพที่เรียกว่า เบลล์-ออฟติคอน ในห้องทำงานของเดอ คูนนิง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถฉายภาพวาดขาวดำของเขาให้ปรากฏบนผนังห้อง ทำให้ไคลน์สามารถพัฒนาเทคนิคการเขียนภาพอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมาได้ นั่นคือการนำภาพร่างที่เขียนไว้มาถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่
วิธีการอัตโนมัติในการสร้างงาน
วิธีการอัตโนมัติ (Automatism) เป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของศิลปินในกลุ่ม แอ็บสแตรกต์ เอกซ์เพรสชั่นนิสม์ ซึ่งไคลน์ก็เป็นศิลปินอยู่ในกระแสดังกล่าว วิธีการอัตโนมัติได้ปลดปล่อยจินตนาการของศิลปิน ทำให้เขาสามารถค้นหาสภาวะความเป็นสากลจักรวาลภายในตัวเขาซึ่งซ่อนอยู่ภายในจิตใต้สำนึกได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังทำให้ศิลปินสามารถแสดงออกได้ด้วยความกล้าเสี่ยงกล้าทดลอง ด้วยวิธีการที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้เกิดรูปทรงที่มีพลังเคลื่อนไหวและไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งทำให้เกิดการค้นพบภาษาใหม่ในการแสดงออกที่เป็นต้นแบบไม่ซ้ำใคร การปลดปล่อยจิตใต้สำนึกออกมาสำหรับศิลปินในกระแสนี้ได้แก่การเขียนภาพสดๆ แบบ Improvisation และการปาดป้ายอย่างฉับพลันทันที (Spontaneous Gesture) ซึ่งสำหรับไคลน์(รวมถึงพอลล็อก)ความสดฉับพลันเป็นหัวใจของแนวคิดอนาธิปไตย แรงผลักดันอิสระจากจิตของมนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่จะปลดปล่อยพลังแห่งธรรมชาติ ความกลมกลืนที่แท้จริงก็คือการแสดงออกของพลังดังกล่าว ซึ่งเป็นพลังตามธรรมชาติของมนุษย์
ลักษณะที่คล้ายศิลปะตะวันออก
ผลงานของไคลน์เป็นการแสดงออกถึงลีลาท่าทางบางประการคล้ายคลึงกับวิธีการเขียนตัวหนังสือของตะวันออก เช่น จีนและญี่ปุ่น ผิดกันตรงที่ไคลน์ใช้แปรงขนาดใหญ่วาดบนแผ่นผืนผ้าใบขนาดมหึมา เขานิยมใช้สีขาว ดำ และเทา ด้วยเหตุที่ว่าต้องการจะขจัดความวุ่นวายของสีต่างๆ ออกไป รอยที่แปรงของเขาจะดูใหญ่โตมโหฬารด้วยวิธีการเหมือนดังการเขียนตัวหนังสือจีน ฉะนั้นจึงก่อให้เกิดความรู้สึกห้าวหาญ เด็ดขาด รุนแรง และเต็มไปด้วยสมาธิ การใช้สีขาวของไคลน์นั้น มิใช่เป็นเพียงพื้นของภาพหรือไม่ได้ต้องการให้เป็นความว่างเปล่า แต่ต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งของภาพ และแสดงความขัดแย้งโดยตรงกับสีดำ ต่อมาในราวปี ค.ศ. 1958 จึงเริ่มนำสีต่างๆ มาใช้เพื่อให้ได้บรรยากาศ แต่ไม่ได้ผลสำเร็จเท่ากับยุคที่ใช้สีดำ-ขาว ซึ่งมีความจริงอันเปลือยเปล่า เต็มไปด้วยลีลาและแสดงอารมณ์ของความขัดแย้งที่แสดงออกมาอย่างรุนแรง
แม้งานของไคลน์จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับศิลปะตะวันออก แต่ตัวศิลปินเองกลับปฏิเสธที่จะนำผลงานไปเปรียบเทียบกับงานของญี่ปุ่น เพราะเขาไม่ได้เขียนสีดำลงบนพื้นหลังสีขาวเท่านั้น หากแต่ไคลน์เขียนทั้งสีดำลงบนพื้นหลังสีขาวและเขียนสีขาวลงบนพื้นหลังสีดำ ภาพของเขาค่อยๆ เกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนไป ไคลน์ใช้เวลาเขียนรูปเป็นสัปดาห์หรือไม่ก็เป็นเดือน ดังนั้นในช่วงเวลาหนึ่งเขาจึงผลิตผลงานออกมาได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น กระบวนการในการทำงานของไคลน์จึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับศิลปะการเขียนอักษรด้วยหมึกสีดำลงบนกระดาษซึ่งสามารถเขียนเสร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไคลน์ได้ให้สัมภาษณ์ในปี 1962 ว่า การเขียนอักษรเป็นการเขียนหนังสือ แต่เขาไม่ได้เขียนหนังสือ และเขาไม่ใช่แค่เขียนสีดำลงบนผ้าใบสีขาว แต่เขาวาดทั้งสีขาวและสีดำ ซึ่งสีขาวก็มีความสำคัญเช่นกัน
ตัวอย่างผลงานของฟรานซ์ ไคลน์
อ้างอิง
- กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย),2554,หน้า 436-437
- จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ),2545, หน้า 230-231
- บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์ เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. อนิมา ทัศจันทร์ แปลจาก Abstract Expressionism (เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท), 2552, หน้า 84
- ed. Carolyn Christov-Bakargiev, et al. Franz Kline (1910–1962) (Skira) (ISBN 88-7624-141-8)
- Harry F. Gaugh Franz Kline (Abbeville Press)
แหล่งข้อมูลอื่น