พายสตาร์เกซี

พายสตาร์เกซี
พายสตาร์เกซี พร้อมรับประทาน
ชื่ออื่นstarrey gazey pie
มื้อหลัก
แหล่งกำเนิดคอร์นวอลล์
ภูมิภาคคอร์นวอลล์
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักปลาพิลชาร์ด

พายสตาร์เกซี (อังกฤษ: stargazy pie หรือ starrey gazey pie, stargazey pie; คอร์นวอลล์: starry gazee py) เป็นอาหารของชาวคอร์นวอลล์ที่ทำจากปลาพิลชาร์ด (ปลาซาร์ดีนยุโรป) อบพร้อมด้วยไข่ มันฝรั่งและปิดด้วยแป้งพาย มีการใช้ปลาชนิดอื่นในการปรุงเช่นกัน ลักษณะเฉพาะของพายสตาร์เกซี คือมีหัวปลา (และบางครั้งมีหางปลา) ยื่นออกมาจากแผ่นแป้ง เหมือนกับว่าปลาเหล่านั้นกำลังจ้องมองดวงดาวตามชื่อของพาย

อาหารชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากหมู่บ้านเมาส์โฮล (อังกฤษ: Mousehole, คอร์นวอลล์: Porthenys) ในเทศมณฑลคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ และนิยมรับประทานกันในวันเทศกาลทอมบอว์ค็อกส์อีฟ (Tom Bawcock's Eve) เพื่อระลึกถึงความกล้าหาญของชายผู้หนึ่งในหมู่บ้านซึ่งออกจับปลาในช่วงฤดูหนาวที่มีพายุรุนแรง เทศกาลในยุคสมัยใหม่จะมีการประดับไฟในหมู่บ้านเมาส์โฮล ปลาที่จับได้ทั้งหมดจะถูกอบเป็นพายสตาร์เกซีขนาดใหญ่ที่มีปลาเจ็ดชนิดซึ่งสามารถเลี้ยงผู้คนได้ทั้งหมู่บ้าน

เรื่องราวของบอว์ค็อกส์ได้รับความนิยมจากหนังสือเด็กเรื่อง The Mousehole Cat ของแอนโทเนีย บาร์เบอร์ (Antonia Barber) ซึ่งในเรื่องมีการกล่าวถึงพายสตาร์เกซี

ในปี ค.ศ. 2007 มาร์ก ฮิกซ์ (Mark Hix) ผู้เข้าแข่งขันรายการ Great British Menu ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี ชนะเลิศด้วยอาหารที่ประยุกต์จากพายชนิดนี้

คำอธิบาย

พายสตาร์เกซี เป็นพายปลาที่ทำโดยการอบ ตามธรรมเนียมแล้วจะใช้ปลาพิลชาร์ดทั้งตัวโดยจะต้องรักษาหัวปลาพิลชาร์ตไว้ ดังนั้นจึงมีการทำโดยโผล่หัวปลาทางด้านบนของแผ่นแป้งพาย ลักษณะของหัวปลาทำให้ดูเหมือนกำลัง "ดูดาว" ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ การจัดวางช่วยให้น้ำมันปลาที่ไหลออกมาระหว่างการปรุงอาหารลงสู่เนื้อพาย เพิ่มรสชาติที่เข้มข้นขึ้นและทำให้พายชุ่มชื้น[1] ริก สไตน์ (Rick Stein) เชฟที่มีชื่อเสียงแนะนำให้ใส่หางของปลาพิลชาร์ดโผล่จากแป้งพายเพื่อให้ดูเหมือนปลากำลังกระโจนผ่านน้ำ[2]

แม้ว่ามูลนิธิบริติชฟูดทรัสต์ (The British Food Trust) จะอธิบายอาหารจานนี้ว่าทั้งสนุกและน่าขบขันสำหรับเด็ก ๆ[1] แต่เมนูนี้ก็ถูกจัดอยู่ในคอลัมน์ Yuck! Disgusting things people eat ซึ่งเป็นคอลัมน์เกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิตของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กเดลินิวส์ (The New York Daily News) โดยนำเนื้อหามาจากหนังสือของนีล เซตช์ฟิลด์ (Neil Setchfield) นักเขียนชาวอเมริกัน[3][4] ในเทศกาลทอมบอว์ค็อกส์อีฟมักจะมีการเสิร์ฟพายนี้ในร้านเดอะชิปอินน์ (The Ship Inn) ซึ่งเป็นผับแห่งเดียวในหมู่บ้านเมาส์โฮลเพื่อเป็นการหวนรำลึกถึงตำนาน[5]

ต้นกำเนิด

พายสตาร์เกซีต้องมีหัวปลาพิลชาร์ด

พายมีต้นกำเนิดจากหมู่บ้านชาวประมงเมาส์โฮลซึ่งเป็นแหล่งมรดกของชาวคอร์นวอลล์ ตำนานได้กล่าวถึงต้นกำเนิดของพายโดยจะทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความกล้าหาญของทอม บอว์ค็อก (Tom Bawcock) ชาวประมงท้องถิ่นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ตำนานเล่าว่าฤดูหนาววันหนึ่งมีพายุหนักเป็นพิเศษ ทำให้ไม่มีเรือประมงลำใดสามารถออกจากท่าเรือได้ เมื่อวันคริสต์มาสใกล้เข้ามา ชาวบ้านซึ่งอาศัยปลาเป็นแหล่งอาหารหลักจึงเผชิญกับความอดอยาก[6]

ในวันที่ 23 ธันวาคม ทอม บอว์ค็อก ตัดสินใจฝ่าพายุออกไปด้วยเรือหาปลาของเขา แม้ว่าจะมีความยากลำบากจากคลื่นลมรุนแรง แต่เขาก็สามารถจับปลาได้มากพอที่จะเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้าน ปลาที่จับได้ทั้งหมด (รวมถึงปลาเจ็ดชนิด) ถูกอบเป็นพายซึ่งมีหัวปลาโผล่ออกมาเพื่อพิสูจน์ว่ามีปลาอยู่ข้างใน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเทศกาลทอมบอว์ค็อกอีฟ จะจัดขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคมที่หมู่บ้านเมาส์โฮล เพื่อเฉลิมฉลองและรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวหมู่บ้านจะจัดขบวนแห่พายสตาร์เกซีขนาดใหญ่พร้อมกับโคมไฟที่ประดิษฐ์เองในช่วงเย็น ก่อนที่จะร่วมกันรับประทานพาย[6][7][8]

งานเฉลิมฉลองในสมัยโบราณนั้นจัดขึ้นโดยชาวประมงในช่วงปลายเดือนธันวาคม จะมีพายที่ปรุงด้วยปลาชนิดต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความหวังที่จะจับปลาได้หลากหลายชนิดในปีถัดไป มีความเป็นไปได้ที่เทศกาลทอมบอว์ค็อกอีฟ จะสืบทอดมาจากเทศกาลเหล่านั้น[9] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 เทศกาลทอมบอว์ค็อกอีฟจัดขึ้นโดยมีฉากหลังเป็นหมู่บ้านเมาส์โฮลซึ่งมีการประดับไฟทั้งท่าเรือพร้อมกับการแสดงอื่น ๆ อีกมากมาย[10] จะมีไฟชุดหนึ่งเป็นตัวแทนของพายด้วย โดยแสดงให้เห็นหัวและหางของปลาที่ยื่นออกมาจากจานพายภายใต้ดาว 6 ดวง[11]

มีการอ้างว่าเทศกาลทั้งหมดเป็นการประดิษฐ์ขึ้นโดยเจ้าของร้าน The Ship Inn ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 อย่างไรก็ตามงานเฉลิมฉลองได้รับการบันทึกโดยมอร์ตัน แนนซ์ (Morton Nance) นักเขียนเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมคอร์นวอลล์ในปี ค.ศ. 1927 ในนิตยสาร Old Cornwall โดยคำอธิบายของเขาเกี่ยวกับงานเฉลิมฉลองซึ่งมีขึ้นก่อน ค.ศ. 1900 แม้ว่าเขาจะสงสัยในตัวตนที่แท้จริงของทอม บอว์ค็อก โดยระบุว่าความจริงแล้วควรสะกดว่า "Beau Coc" นอกจากนี้เขายังยืนยันด้วยว่าต้นกำเนิดของเทศกาลมีมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสต์ศักราช แม้ว่าจะไม่มีความชัดเจนว่าขนมพายกลายเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้ในเวลาใด มอร์ตัน แนนซ์ได้ดำเนินการฟื้นฟูเพลงดั้งเดิมที่ร้องในเทศกาลทอมบอว์ค็อกอีฟ โดยใช้ทำนองเพลงท้องถิ่น "wedding March"[12]

กล่าวว่าตำนานเกี่ยวกับพายสตาร์เกซีพร้อมกับพายอื่น ๆ ที่มีลักษณะไม่ปรกติของคอร์นวอลล์ เป็นสาเหตุที่ทำให้ปีศาจไม่เคยมาที่คอร์นวอลล์ ในหนังสือของโรเบิร์ต ฮันต์ (Robert Hunt) เรื่อง Popular Romances of the West of England: The drolls, traditions, and superstitions of old Cornwall ซึ่งเป็นการรวบรวมประเพณีของชาวคอร์นวอลล์ ในบทที่มีชื่อว่า "The Devil's Coits, etc" อธิบายว่าปีศาจข้ามแม่น้ำทามาร์มายังทอร์พอยต์ ผลจากการที่ถูกปีศาจค้นพบชาวคอร์นวอลล์จะใส่อะไรบางอย่างลงไปในพาย ซึ่งจะทำให้ปีศาจกลับออกไปที่เดวอนเมื่อพบว่าพวกเขาทำการตกแต่งพายที่ดูเหมือนปีศาจ[13][14]

สูตรอาหาร

พายสตาร์เกซีก่อนนำเข้าเตาอบ มีหัวปลาซาร์ดีนโผล่ขึ้นด้านบน

ในตำนานดั้งเดิมพายประกอบด้วยปลาไหลทราย ปลาแมกเคอเรลแอตแลนติก ปลาพิลชาร์ด ปลาเฮร์ริง ปลาฉลามหนู และปลาลิง (Molva molva) พร้อมด้วยปลาตัวที่เจ็ด โดยส่วนผสมหลักคือปลาพิลชาร์ด (ปลาซาร์ดีนยุโรป) แม้ว่าจะใช้ปลาแมคเคอเรลหรือปลาเฮร์ริงแทนก็ตาม ริชาร์ด สตีเวนสัน (Richard Stevenson) พ่อครัวที่ร้าน The Ship Inn ในหมู่บ้านเมาส์โฮล แนะนำว่าปลาสีขาวทุกชนิดจะใช้แทนเพื่อทำไส้พายได้ โดยเพิ่มปลาพิลชาร์ดหรือเฮร์ริงสำหรับการตกแต่ง โดยก่อนใส่ลงในพายควรลอกหนังปลาและเลาะก้างออกเพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น (เก็บส่วนหัวและหางปลาไว้) นอกจากปลาแล้วส่วนผสมดั้งเดิมอื่น ๆ ได้แก่ นมข้น ไข่ และมันฝรั่งต้ม[15]

มีสูตรอาหารที่หลากหลายสำหรับส่วนผสมแบบดั้งเดิม ซึ่งบางอย่างรวมถึงไข่ลวก เบคอน หัวหอม มัสตาร์ด หรือไวน์ขาว ทางเลือกอื่นนอกเหนือจากปลา อาจเป็นกุ้งเครย์ฟิช เนื้อกระต่ายหรือเนื้อแกะ พายสตาร์เกซีมักจะปิดด้านบนด้วยแผ่นแป้งพาย โดยทั่วไปจะเป็นชอร์ตครัสต์แต่บางครั้งก็เป็นพัฟ ซึ่งส่วนหัว (และในบางครั้งหาง) ของปลาจะยื่นออกมา[15]

สำหรับการตกแต่งมีคำแนะนำคือให้จัดปลาพิลชาร์ดโดยให้หางหันไปทางกึ่งกลางพายและให้หัวโผล่พ้นเปลือกรอบขอบ เนื่องจากมีทั้งมันฝรั่งและแป้งพายจึงสามารถเสิร์ฟจานนี้เดี่ยว ๆ หรือกับขนมปังกรอบ บางครั้งอาจเสิร์ฟพร้อมผักและเครื่องเคียงอื่น ๆ ที่แนะนำได้แก่ ชีสคอร์นิชยาร์ก ชัทนีย์รูบาร์บ ไข่ลวก หรือมะนาวฝาน[15][16]

ในวัฒนธรรมดนตรี

แนนซี เคอร์ และเจมส์ เฟแกน (Nancy Kerr & James Fagan) บันทึกเพลง Starry Gazy Pie ในอัลบั้มชื่อเดียวกันในปี ค.ศ. 1997[17]

จิม คอสลีย์ (Jim Causley) กล่าวถึง "starry-gazey pie" ในเพลง My Young Man's a Cornishman ในอัลบั้ม Cyprus Well ในปี ค.ศ. 2013 เพลงนี้มาจากบทกวีของชาลส์ คอสลีย์ (Charles Causley) ญาติห่าง ๆ ของเขา

เบรนดา วูตตัน (Brenda Wootton) นักร้องชาวคอร์นวอลล์ บันทึกอัลบั้ม Starry-Gazey Pie ร่วมกับร็อบ บาร์ตเลตต์ (Rob Bartlett) ในปี ค.ศ. 1975[18]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "Stargazey pie". The British Food Trust. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2011.
  2. Stein, Rick (2005). Rick Stein's Food Heroes. BBC Books. ISBN 0-563-52175-9.
  3. "Yuck! disgusting things people eat (number 9)". New York Daily News. 24 สิงหาคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 ตุลาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2011.
  4. Setchfield, Neil (2010). Yuck! The things people eat. Merrell. ISBN 978-1-85894-524-8.
  5. Berry, Oliver; Dixon, Belinda (2008). Devon, Cornwall & South West England. Lonely Planet. p. 48. ISBN 978-1-74104-873-5. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2011.
  6. 6.0 6.1 "The Story of Tom Bawcock". BBC News. 2 ธันวาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2011.
  7. Kent, Michael (2008). Cornwall from the Coast Path. Alison Hodge Publishers. p. 103. ISBN 978-0-906720-68-4.
  8. Trewin, Carol; Woolfitt, Adam (2005). Gourmet Cornwall. Alison Hodge Publishers. p. 16. ISBN 0-906720-39-7.
  9. Paston-Williams, Sara (2006). Fish: Recipes from a Busy Island. National Trust Books. p. 21. ISBN 1-905400-07-1. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2011.
  10. "Mousehole village illuminations". BBC News. 12 พฤศจิกายน 2009. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2011.
  11. "Mousehole comes to life with light". BBC. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2011.
  12. Deane, Troy; Shaw, Tony (1975). The folklore of Cornwall. Batsford. ISBN 0-7134-3037-0.
  13. Hunt, Robert (1871). Popular Romances of the West of England; or, The drolls, traditions, and superstitions of old Cornwall. London: John Camden Hotten. pp. 185–186.
  14. Croxford, Bob (1993). From Cornwall with love. Dundurn Press. ISBN 0-9521850-0-8.
  15. 15.0 15.1 15.2 Trewing, Carol; Woolfitt, Adam (2006). Cornish Fishing and Seafood. Alison Hodge Publishers. p. 243. ISBN 0-906720-42-7.
  16. "Stargazy pie". Britain's Best Dish. ITV. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2011.
  17. "Nancy Kerr & James Fagan, Kate Fagan, The Fagan Family". mainlynorfolk.info.
  18. "Brenda Wootton With Robert Bartlett - Starry-Gazey Pie". discogs.com.

แหล่งข้อมูลอื่น

วิกิตำราภาษาอังกฤษ มีคู่มือ ตำรา หรือวิธีการเกี่ยวกับ: พายสตาร์เกซี

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!