พระวิมลเกียรติ หรือ พระวิมลกีรติ (สันสกฤต: विमल Vimalakīrti) เป็นบุคคลสำคัญใน วิมลเกียรติสูตร ซึ่งบรรยายถึงพระวิมลเกียรติในฐานะฆราวาสอุบาสกพุทธศาสนิกชนมหายานที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง[1] และในฐานะบุคคลร่วมสมัยกับสมัยพุทธกาลของพระโคตมพุทธเจ้า ไม่ปรากฏการกล่าวถึงพระวิมลเกียรติมาก่อนในคัมภีร์พุทธฉบับใดเลยกระทั่งปรากฏในงานเขียนของพระนาคารชุน[2] ในวิมลเกียรติสูตรซึ่งเป็นคัมภีร์มหายานยังมีการกล่าวถึงนครไวศาลี[3] ว่าเป็นที่อยู่อาศัยของพระวิมลเกียรติ[4]
ในวิมลกีรตินิรเทศสูตร (ส.) หรือ วิมลกีรตินิทเทสสูตร (ป.) อธิบายถึงพระวิมลเกียรติว่าเป็นผู้มั่งคั่งที่คอยปรนนิบัติพระโคตมพุทธเจ้า[5] ในความเชื่อมหายานมักถือว่าท่านเป็นบุคคลที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์จริงเหมือนพระโคตมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นบุคคลกึ่งตำนานอย่างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ดังนั้นในทางศาสนพิธีและศาสนกิจจึงไม่ปรากฏพระวิมลเกียรติได้รับการบูชาบนแท่นบูชาหรือตามพิธีทางตันตระ[6]
ในอารามพุทธแบบฉานในจีน คำเรียกเจ้าอาวาสคือคำว่า ฟางจ้าง (方丈; Fāngzhàng) ซึ่งแปลว่า "หนึ่งตารางจ้าง" ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างถึงขนาดของคูหาหินของพระวิมลเกียรติ[7]
อ้างอิง