งานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ในรัชกาลที่ 9
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2554 (อังกฤษ: Celebration on the Auspicious Occasion of His Majesty the King's 7th Cycle Birthday Anniversary, 5th December 2011) เป็นชื่องานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในโอกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษาใน พ.ศ. 2554 ประกอบด้วยพระราชพิธี รัฐพิธี และราษฎรพิธีต่าง ๆ โดยจัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554[1]
รัฐบาลสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และประชาชนชาวไทยร่วมกันจัดพระราชพิธีนี้ขึ้น ดังปรากฏเป็นเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
พระราชพิธี
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานหมายกำหนดการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบระหว่างวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม ถึงวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554
วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2554
- เวลา 10.30 น. พระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม รับการถวายพระพรชัยมงคล โดยมีกำหนดการดังนี้
วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พุทธศักราช 2554
วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2554
นอกจากนี้ ในวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 15.30 น.พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดเกล้าให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ (โดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์) พร้อมด้วย ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จฯ แทนพระองค์ ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (ตามหมายกำหนดการก่อน จะมีพระราชพิธี ในวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ได้มีมติให้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เลื่อนการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องจากกระแสน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงและไหลแรง ไปเป็น วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555) โดยกระบวนเรือยาว 1,280 เมตร กว้าง 90 เมตร ประกอบด้วยเรือทั้งหมด 52 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่ง 4 ลำ (เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช (อัญเชิญผ้าพระกฐิน) เรือรูปสัตว์ 8 ลำ เรือดั้ง 22 ลำ และเรืออื่น ๆ 18 ลำ กาพย์เห่เรือในครั้งนี้เป็นการประพันธ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทั้งสิ้น 3 บทได้แก่บทเสภาสรรเสริญพระบารมีบทชมเรือขบวนและบทชมเมืองโดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย เป็นผู้ประพันธ์ และนาวาโท ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ เป็นพนักงานเห่เรือ
รัฐพิธี
รัฐบาลไทยได้เตรียมการจัดรัฐพิธี เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2554 โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554 พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดี และพลังของแผ่นดิน เวลา 08.00 น. พร้อมกันทั่วประเทศ โดยส่วนกลางจัดที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล (โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และในส่วนภูมิภาคจัดที่หน้าศาลากลางของทุกจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแกนกลางในการจัดพิธี และหน่วยงานอื่น ๆ จัดที่สถานที่ตั้งของหน่วยงานตามความเหมาะสม)
- วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 พิธีถวายเครื่องราชสักการะ และ จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และพิธีถวายพระพรชัยมงคล ของเหล่าข้าราชการ และพสกนิกรชาวไทย ซึ่งกำหนดจัดที่ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง และ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ดังเช่นที่ได้จัดมาเป็นประจำทุกปี โดย มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช และ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554 งานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ ณ ทำเนียบรัฐบาล เวลา 19.00 น. ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ สำหรับการจัดงานมีการแสดงชุดพิเศษ คือ การแสดงดนตรีบรรเลงเพลงเฉลิมพระเกียรติ เพลง “ภัทรมหาราช” โดยวงดุริยางค์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ ชุด "ทศพิธราชธรรม" จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงดนตรีบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ โดยวง Vietrio ซึ่งเป็นนักเรียนทุนพระราชทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และการแสดงดนตรีบรรเลงเพลง "ครองแผ่นดินโดยธรรม" โดยวงดุริยางค์เหล่าทัพและตำรวจ
พร้อมทั้งทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก 3 รายการ ได้แก่ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์จำลอง หนังสือที่ระลึกประมวลพระราชดำรัส และเงินสมทบมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์[ต้องการอ้างอิง]
- การจัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล และการจัดแสดงมหรสพสมโภช ภายใต้ชื่องาน "เย็นศิระเพราะพระบริบาล" โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน กรุงเทพมหานคร และ มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช ร่วมกันจัดงาน ระหว่างวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม ถึงวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ตั้งแต่เวลา 18:00-24:00 น. บริเวณท้องสนามหลวง ถนนราชดำเนินตลอดสาย จนถึงบริเวณลานพระราชวังดุสิต ตลอดจนภายในสวนอัมพร ที่สำคัญคือพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และสถานที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร[ต้องการอ้างอิง] ส่วนงานมหรสพสมโภช มีกิจกรรมประกอบด้วย การลงนามถวายพระพร ณ ร่มโพธิ์ร่มไทรของแผ่นดิน การเข้ากราบถวายสักการะพระทันตธาตุ ของประเทศภูฏาน ถนนและนิทรรศการ เย็นศิระเพราะพระบริบาล การแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม วัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษา มหาราชา การฉายภาพยนตร์พาโนรามาบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ระยะทางยาวประมาณ 100 เมตร การนำสัญลักษณ์ของ 77 จังหวัดทั่วประเทศ มาประดับเป็น Landmark ใหญ่ใจกลางงาน มีขบวนรถเฉลิมพระเกียรติ มีขบวนกลองประจำภาค การแสดงจากต่างประเทศ การจัดกิจกรรมย้อนยุควิถีชีวิตคนไทยเมื่อ 80 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมดนตรีและความบันเทิง การแสดงพลุดอกไม้ไฟ ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้จัดทำสายรัดข้อมือ ที่ระลึกเป็นพิเศษในงานนี้ด้วย[ต้องการอ้างอิง] และที่สำคัญคือ ทางสำนักพระราชวัง เปิดให้เข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในยามค่ำคืน ตั้งแต่วันที่ 5 - 9 ธันวาคม ปีเดียวกันตั้งแต่เวลา 18.00 น. - 24.00 น.
- พิธีเสกและอัญเชิญน้ำพระพุทธมนต์ได้กำหนดให้ทุกจังหวัดประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญที่ประชาชนเคารพเลื่อมใส หรือแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัด หรือจากแหล่งน้ำที่เคยใช้ประกอบพิธีอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง โดยให้ประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ สถานที่ที่สำคัญหรือพระอารามหลวงของจังหวัดแล้วนำมามอบให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำเข้าพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ที่ส่วนกลางอีกครั้ง ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร แล้วจึงนำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 โดยจะประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำในแต่ละจังหวัดในวันที่ 14 ตุลาคม (บางจังหวัดอาจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น กรุงเทพมหานครจะประกอบพิธีตักน้ำในวันที่ 25 พฤศจิกายน เนื่องจาก ในวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554 สำนักพระราชวังอยู่ระหว่างไว้ทุกข์งานพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงเป็นการไม่เหมาะสมที่จะประกอบพิธีตักน้ำพระพุทธมนต์) พิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละจังหวัดในวันที่ 28 พฤศจิกายน แล้วรวมโถน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 76 จังหวัด นำมาเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย และวันที่ 2 ธันวาคม มีพิธีอัญเชิญโถน้ำพระพุทธมนต์ จำนวน ๗๗ โถ จากกระทรวงมหาดไทยไปยังพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อประกอบพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ โดยพระเถระ จำนวน ๘๕ รูป แล้วตักน้ำบรรจุในพระเต้าปทุมนิมิตทอง นาก เงิน จากนั้น วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 จัดริ้วขบวนอิสริยยศอัญเชิญพระเต้าปทุมนิมิตทอง นาก เงิน (ภายในบรรจุน้ำพระพุทธมนต์) จากวัดพระเชตพนวิมลมังคลาราม ไปตามถนนสนามไชย ถนนหน้าพระลาน เข้าประตูวิเศษไชยศรี ไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เสร็จแล้วตั้งแถวรอเฝ้ารับเสด็จฯ ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรภายในพระบรมมหาราชวัง[ต้องการอ้างอิง]
กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ
| บทความนี้ ต้องการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โปรดเพิ่มพารามิเตอร์ reason หรือ talk ลงในแม่แบบนี้เพื่ออธิบายปัญหาของบทความ เมื่อวางแท็กนี้ ให้พิจารณาเชื่อมโยงคำขอนี้กับโครงการวิกิ |
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดของกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีนี้ ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการอย่างเป็นทางการ
กิจกรรมโดยหน่วยงานภาครัฐ
ศาสนพิธี
- พิธีอุปสมบท 999 รูป ระหว่างวันที่ 9-23 มกราคม พ.ศ. 2554 ณ วัดพระราม 9กาญจนาภิเษก และที่วัดศูนย์กลางของทุกจังหวัด ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการฝ่ายจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติโดยคู่สมรสคณะรัฐมนตรี[2]
- การจัดงานสวดมนต์เฉลิมพระเกียรติ
- บรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
- พิธีทางศาสนา 5 ศาสนา
- พิธีตักบาตร 9 เช้า 9 วัน 9 วัด
- พิธีเจริญพระพุทธมนต์ 9 ครั้ง
- การจัดสร้างพัดยศ ย่าม และพัดรองที่ระลึก ซื้อผ้าไตรถวายพระสงฆ์
- การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนา ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 9 ครั้ง
- พิธีเจริญพระพุทธมนต์จตุรทิศเฉลิมพระเกียรติ
- การจัดพิมพ์หนังสือคู่มือประกอบพิธีมหามงคลถวายพระพรชัยมงคล
- การเลื่อนสมณศักดิ์พระสงฆ์ 85 รูป รวมถึงจะยกวัดราษฎร์ให้เป็นพระอารามหลวง 12 วัด[6]
กิจกรรมโดยรัฐวิสาหกิจ สมาคม ห้างร้าน หน่วยงานเอกชน
กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ
- โครงการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และให้ประชาชนหรือชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำโดยน้อมนำแนวพระราชดำริไปปรับใช้ในการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน รวมถึงการขยายผลจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริเพิ่มเติมอีก จำนวน 840 แห่ง
- โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงใน 3 มิติ คือ ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ดำเนินการระดับหมู่บ้านใน 75 จังหวัด ทุกอำเภอ ๆ ละ 2 หมู่บ้าน รวม 1,756 หมู่บ้าน
- โครงการ 84 ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริระดับอำเภอต้นแบบเฉลิมพระเกียรติฯ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริระดับอำเภอต้นแบบ และจัดกิจกรรม "9 กิจกรรม ตามรอยพ่อหลวง ผู้ครองใจราษฎร์" ดำเนินการทั่วประเทศ[13]
กิจกรรมโครงสร้างพื้นฐาน/บริการสาธารณะ
- โครงการสตรีไทย ห่วงใยสุขภาพเฉลิมพระเกียรติฯ ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้สตรีไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะการลดมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก โดยประสานให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนส่งเสริมสุขภาพสตรีไทยอย่างเป็นรูปธรรม ดำเนินการ 76 จังหวัด
- โครงการฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติฯ ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขภาครัฐทั่วประเทศ รณรงค์จัดบริการใส่ฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน และฝังรากเทียมในกรณีที่ฟันเทียมชิ้นล่างหลวมมีปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร ดำเนินการ 76 จังหวัด และ กรุงเทพมหานคร
- โครงการราชประชาสมาสัยสืบสานพระราชปณิธานงานฟื้นฟูสภาพผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อนฯ ของสถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค เป็นกิจกรรมพิเศษที่ทางสถาบันจัดขึ้นสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อนทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังดูแลฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้ตาเทียม เปลี่ยนกระจกตา ผ่าตัดข้อเข่าเทียม ดำเนินการทั่วประเทศ
- โครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวง ทรงห่วงใยสุขภาพประชาชนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติฯ ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการจัดระบบบูรณาการการดูแลสุขภาพประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไปทุกคนในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันควบคุมโรค และการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อลดปัญหาโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ดำเนินการ 76 จังหวัด
- โครงการเติมใจให้กันเฉลิมพระเกียรติฯ ของการประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย เป็นการออกเยี่ยมและบริการตรวจซ่อมท่อ/อุปกรณ์เกี่ยวกับระบบน้ำประปา ท่อแตก ท่อรั่ว แก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าแรง ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องทรัพยากรน้ำเพื่อปลูกฝังประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ดำเนินการในพื้นที่ของการประปาส่วนภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
- โครงการจัดตั้งอาศรมศิลปินห้วยทับช้าง มหาวิทยาลัยพะเยาเฉลิมพระเกียรติฯ ของกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยพะเยา[13]
- โครงการปรับปรุงภูมิสถาปัตย์บริเวณกองบัญชาการ กองทัพอากาศ โดย กระทรวงกลาโหม
- โครงการสวนพฤกษศาสตร์ โดย กระทรวงกลาโหม
- โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถและเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประยุกต์ใช้กับหน่วยราชการและครัวเรือนทหารอากาศ โดย กระทรวงกลาโหม
- โครงการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นและแปลงผักสาธิต โดย กระทรวงกลาโหม
- โครงการศูนย์การเรียนรู้พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ โดย กระทรวงกลาโหม
การประชาสัมพันธ์
โดยสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ และสื่อมวลชนทุกสำนัก จะถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยให้ทุกสถานีเชื่อมโยงสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
ตราสัญลักษณ์
[Images]https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/9e/07-800x533-1.jpg
ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯนี้ออกแบบโดย นายศิริ หนูแดง ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียติฯนี้ประกอบด้วย อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. สีเหลืองทอง อันเป็นสีประจำวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ขลิบรอบด้วยสีทอง อยู่กลางตราสัญลักษณ์ฯ บนพื้นวงกลมสีน้ำเงิน ล้อมรอบด้วยกรอบโค้งเรียบสีเหลืองทอง หมายถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ด้านบนอักษรพระปรมาภิไธยย่อ เป็นอุณาโลมเลข 9 ไทย หมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยตัวเลขนั้นอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ไทย และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช
ถัดลงมาสองข้างซ้ายขวาของอักษรพระปรมาภิไธยย่อ มีลายพุ่มข้าวบิณฑ์สีทอง ซึ่งมีสัปตปฎลเศวตฉัตรประดิษฐานอยู่เบื้องบน ด้านนอกสุดเป็นกรอบโค้ง มีลวดลายสีทองบนพื้นสีเขียว ซึ่งเป็นเดชแห่งวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ และยังหมายถึงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ และความสงบร่มเย็น ด้านล่างอักษรพระปรมาภิไธยย่อ เป็นภาพกระต่ายสีขาวทรงเครื่อง อยู่ในลักษณะกำลังก้าวย่าง หมายถึงเครื่องหมายประจำนักษัตรปีเถาะ ซึ่งตรงกับปีมหามงคลนี้ โดยภาพกระต่ายอยู่บนพื้นสีน้ำเงิน มีลายกระหนกสีทองประกอบ หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของราชอาณาจักรไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เบื้องล่างตราสัญลักษณ์ฯ เป็นแพรแถบสีชมพูขลิบทอง มีตัวอักษรสีทองความว่า พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554[14]
เพลงเฉลิมพระเกียรติ
ครองแผ่นดินโดยธรรม
ประพันธ์คำร้องโดย ประภาส ชลศรานนท์ ประพันธ์ทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสานโดย จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน เป็นเพลงที่กระทรวงกลาโหม กองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 โดยเพลงและมิวสิกวิดีโอ ออกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:09 นาฬิกา ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่ง พร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าบันทึกเสียงทั้งหมด 9,999 คน ซึ่งผู้อำนวยเพลง คือ นายบัณฑิต อึ้งรังษี และบรรเลงโดยวงดุริยางค์ทหารบก วงดุริยางค์ทหารเรือ วงดุริยางค์ทหารอากาศ และวงดุริยางค์ตำรวจ
ผู้ปิดทองหลังพระ
ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย ยืนยง โอภากุล ออกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554 ในงานคอนเสิร์ตคาราบาว 30 ปี โดยในเนื้อเพลง กล่าวถึงพระนามเต็มของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในขณะนั้นไว้ด้วย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยทราบและจดจำได้ เนื่องจากผู้ที่จดจำได้ยังมีน้อย ทั้งนี้ นายกองเอก[15] ดร.ดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงสดับตรับฟัง และแก้ไขเนื้อเพลงเล็กน้อย และตรัสชมว่า "แอ๊ด คาราบาว เก่งมาก ที่นำชื่อเรามาใส่ในเนื้อเพลงได้"[16]
ตามรอยพระราชา
ประพันธ์คำร้องโดย ชนะ เสวิกุล และ นิติพงษ์ ห่อนาค ประพันธ์ทำนองโดย ชนะ เสวิกุล และ อภิไชย เย็นพูนสุข ขับร้องโดย ธงไชย แมคอินไตย์ และคณะประสานเสียงเด็ก เพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "ตามรอยพระราชา" เนื่องในโอกาสมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา เพื่อร่วมกันแสดงความจงรักภักดีอย่างยิ่งใหญ่ จัดทำโดย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เนื้อหาของเพลงเป็นการตอบคำถามว่า ทำไมพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถึงทรงงานมากมายเพื่อพสกนิกร นอกจากนั้น ยังมีการนำเนื้อเพลงบางส่วน มาจากเพลงต้นไม้ของพ่อ เพลงของขวัญจากก้อนดิน และเพลงรูปที่มีทุกบ้าน มาเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องในบทเพลงนี้ด้วย
ในหลวงของแผ่นดิน
ประพันธ์คำร้องโดย วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ ประพันธ์ทำนอง และเรียบเรียงโดย สราวุธ เลิศปัญญานุช ขับร้องโดย นักแสดงและศิลปิน 123 คน จัดทำโดย บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด และ บริษัท ซีเนริโอ จำกัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ ที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์[17] ทั้งนี้ เพลงนี้ยังใช้ประกอบละครเวทีเรื่อง สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ขับร้องโดย เด็กหญิงณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ หรือน้องพินต้า ที่รับบทเป็นแม่พลอยในวัยเด็ก
ของที่ระลึก
เหรียญที่ระลึก
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
แม่แบบ:เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ