พระพุทธวิริยากร หรือ หลวงพ่อจิตร ฉันโน (1 กรกฎาคม พ.ศ. 2390 - 7 มกราคม พ.ศ. 2457) อดีตเจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร และวัดตาล จังหวัดราชบุรี ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่สาธุชนในเขตจังหวัดราชบุรีเป็นอย่างมาก เป็นพระอุปัชฌาย์ที่ได้ทำการอุปสมบทให้แก่กุลบุตรเป็นอันมาก เป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เป็นรางวัลเช่น ผ้าห่อคัมภีร์เยียรบับ ผ้าทิพย์ตรามงกุฎครอบ - จปร.กระเป๋าหนัง ย่ามปัก ผ้าปูโต๊ะลายมังกร พัดเฉลิม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และของที่ระลึกในการเสด็จกลับจากยุโรป[1]
ประวัติ
พระพุทธวิริยากร หรือ หลวงพ่อจิตร ฉนฺโน ท่านเกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2390 ณ หมู่บ้านคลองยายแฟง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เดิมชื่อ จิตร บิดาชื่อ สมบุญ มารดาชื่อ ทิม พ.ศ. 2411 ได้อุปสมบทที่วัดตาล อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระโสปาโก (ปาน) เจ้าอาวาสวัดบางคณฑี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสุมโน (โท) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสมุทรมุนี (หน่าย) เจ้าอาวาสวัดตาล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ฉนฺโน หลังจากอุปสมบทท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยในฐานะ พระนวกะต่อมาได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมในสำนักพระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ) และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง เขมาภิรโต)[2] เมื่อทราบข่าวว่ามารดาของท่านป่วย ท่านได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดตาลตามเดิม เมื่อพระครูขันตยาคม เจ้าอาวาสวัดตาลได้ย้ายไปปกครองวัดสัตตนารถปริวัตร ท่านจึงได้ปกครองวัดตาลสืบต่อมา[3] ในปี พ.ศ. 2437 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ฝ่ายคณะธรรมยุติกนิกาย ในมณฑลราชบุรี และย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตร ท่านได้ร่วมสร้างวัตถุมงคลต่าง ๆ วัดจึงมีความเจริญยิ่งขึ้น
ด้านสมณศักดิ์ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2432 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูอุดมธิรคุณ ไปอยู่วัดศรีสุริยวงศาราม มีนิตยภัตเดือนละ 2 ตำลึง รับพระราชทานตาลปัตรพุดตานหักทองขวางเป็นเครื่องยศ[4] ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระพุทธวิริยากรณ์ มีนิตยภัตเดือนละ 3 ตำลึง[5]
พระพุทธวิริยากร อาพาธด้วยโรคชรา มรณภาพเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2457 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2458) สิริอายุได้ 68 ปี[6]
อ้างอิง
- ↑ หนังสือรวมสุดยอดพระคณาจารย์ทั้งหมด 180 พระองค์
- ↑ "ชีวประวัติหลวงพ่อจิตร ฉันโน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-21. สืบค้นเมื่อ 2011-10-08.
- ↑ หนังสือชีวประวัติหลวงพ่อจิต ฉันโน
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 6, ตอน 43, 26 มกราคม ร.ศ. 108, หน้า 488
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 16, ตอน 34, 19 พฤศจิกายน ร.ศ. 118, หน้า 488
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวมรณภาพ, เล่ม 31, ตอน 0 ง, 17 มกราคม 2457, หน้า 2470