พจนานุกรม เป็นหนังสืออ้างอิงประเภทหนึ่ง โดยทั่วไป หมายถึง หนังสือที่รวบรวบคำศัพท์ในวงศัพท์ที่กำหนด และนิยามความหมายเอาไว้ เพื่อใช้เป็นที่ค้นหาความหมายของคำ โดยมีการเรียงลำดับคำศัพท์ตามตัวอักษร ตามเสียง หรือตามลำดับอื่น ๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับการใช้พจนานุกรมนั้น ๆ พจนานุกรมยังมีนัยถึงหนังสือที่ให้รายละเอียด ครอบคลุมวงศัพท์ที่กว้าง ขณะที่หนังสือรวบรวมและอธิบายคำศัพท์ในวงแคบและมีจำนวนจำกัด มักจะเรียกว่า ปทานุกรม อย่างไรก็ตาม คำว่าปทานุกรมและพจนานุกรมอาจใช้สลับกันได้
คำว่า พจนานุกรม เป็นการคิดคำขึ้น จาก พจน (คำพูด) และ อนุกรม (ลำดับ ระเบียบ ชั้น) รวมกันด้วยวิธีสมาส เป็น "พจนานุกรม" หมายถึง หนังสือที่รวบรวมและเรียงลำดับคำ(พูด) เอาไว้ อย่างไรก็ตาม คำว่า "พจนานุกรม" เป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อแปลศัพท์ dictionary ในภาษาอังกฤษนั่นเอง
รูปแบบของพจนานุกรม
- พจนานุกรมภาษาเดียว มักเป็นพจนานุกรมหลัก ที่อธิบายความหมายของคำในภาษาหนึ่ง ๆ ภาษาที่อธิบายความหมาย เป็นภาษาเดียวกับภาษาที่ลำดับเป็นหลักในพจนานุกรม วงศัพท์ในพจนานุกรมภาษาเดียวมักจะกว้าง แทบจะครอบคลุมทุกคำที่มีอยู่ในภาษานั้นหรือแวดวงนั้น (แม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ก็ตาม)
- พจนานุกรมสองภาษา เป็นพจนานุกรมที่อธิบายความหมายของคำในภาษาหนึ่ง ๆ ด้วยอีกภาษาหนึ่ง เราพบเห็นได้ทั่วไป เช่น พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ที่มีการให้ความหมายเป็นภาษาไทย หรือในทางกลับกัน การอธิบายความหมายนั้น อาจจะสั้น หรือให้ความหมายยืดยาวอย่างละเอียด ก็ยังเรียกว่า พจนานุกรมสองภาษา เช่นกัน
- พจนานุกรมหลายภาษา เป็นพจนานุกรมที่ มักจะเทียบศัพท์จากภาษาหนึ่ง ไปเป็นศัพท์ภาษาอื่น ๆ มากกว่า 1 ภาษา พจนานุกรมลักษณะนี้ ไม่เน้นความละเอียดในการอธิบายศัพท์ เนื่องจากข้อจำกัดของเนื้อที่ และเพื่อความสะดวกในการค้นหาศัพท์ เช่น ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
- พจนานุกรมเฉพาะทาง เป็นพจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น พจนานุกรมศัพท์วิศวกรรม พจนานุกรมศัพท์วรรณคดี เป็นต้น
- พจนานุกรมคำสัมผัส เป็นพจนานุกรมที่ลำดับคำ ตามเสียงสระ และเสียงพยัญชนะตัวสะกด เพื่อประโยชน์ในการแต่งคำประพันธ์ เอาเสียงสัมผัส อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมแบบนี้พบได้น้อย เนื่องจากมีผู้ใช้ในวงจำกัด
- พจนานุกรมคำเหมือนและคำตรงข้าม เป็นพจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์ที่มีความหมายอย่างเดียวกันเรียงไว้เป็นลำดับ โดยมากมักจะมีคำศัพท์ที่มีความหมายตรงกันข้ามเอาไว้ด้วย
คุณลักษณะของพจนานุกรม
- การสะกด การสะกดในพจนานุกรมถือเป็นมาตรฐานในการใช้งาน และถือเป็นหน้าที่หลักลำดับแรกของพจนานุกรม บางภาษามีการเขียนแยกคำไว้ให้ เพื่อความสะดวกในการพิมพ์ที่จำเป็นต้องขึ้นบรรทัดใหม่ นอกจากนี้บางคำที่สามารถสะกดได้มากกว่า 1 แบบ พจนานุกรมจะเก็บไว้ด้วย
- ความหมาย การอธิบายความหมาย อาจเป็นข้อความสั้น ๆ หรือให้รายละเอียดมาก แจกแจงเป็นข้อย่อย ๆ การให้ความหมายถือเป็นหัวใจหลักของพจนานุกรมส่วนใหญ่
- คุณสมบัติทางไวยากรณ์ นั่นคือระบุประเภทของคำ ว่าเป็น คำนาม คำกริยา คำสรรพนาม ฯลฯ ซึ่งมักปรากฏในพจนานุกรมภาษา (ไม่ใช่พจนานุกรมศัพท์เฉพาะ)
- ตัวอย่างประโยค และปริบท พจนานุกรมอาจยกตัวอย่างประโยคเพื่อให้เข้าใจความหมายและการใช้คำนั้น ๆ ง่ายขึ้น บางเล่ม มีตัวอย่างประโยคสำหรับทุกคำในพจนานุกรมเลยทีเดียว
- การออกเสียง สำหรับภาษาเขียนที่มีเกณฑ์การออกเสียงที่ซับซ้อน และไม่สามารถคาดคะเนได้จากรูปเขียนอย่างถูกต้อง เช่น ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน และแม้กระทั่งภาษาไทยก็ตาม พจนานุกรมจะระบุการออกเสียงไว้ด้วย บางเล่มออกเสียงให้ทุกคำ ขณะที่บางเล่มระบุการออกเสียงให้เฉพาะคำที่อ่านยาก หรือเป็นข้อยกเว้น
- ประวัติคำ หรือที่มาของคำ พจนานุกรมที่มีความละเอียด จะให้ที่มีของคำ ว่าพบครั้งแรกที่ใด หรือ
- คุณลักษณะอื่น ๆ เช่น การใช้คำ ความหมายแฝง หรือข้อควรสังเกตอื่น ๆ
พจนานุกรมที่สำคัญ
ดูเพิ่ม