ปีอธิกสุรทิน [อะ-ทิก-กะ-สุ-ระ-ทิน] (อธิก (เกิน) + สุร (พระอาทิตย์) + ทิน (วัน); จากภาษาบาลี อธิกสูรทิน (อธิก + สูร + ทิน), รัสสะ "สระอู" ให้สั้นลงเป็น "สระอุ") (อังกฤษ: leap year) เป็นปีที่มีการเพิ่มหนึ่งวัน (หรือหนึ่งเดือนในกรณีของปฏิทินสุริยจันทรคติ) เพื่อให้ปีปฏิทินสอดคล้องกับปีดาราศาสตร์หรือปีฤดูกาล[1] เพราะฤดูกาลและเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์มิได้เกิดซ้ำในจำนวนเต็มวัน ปฏิทินซึ่งมีจำนวนวันในแต่ละปีเท่าเดิมจึงต้องเลื่อนให้ตรงกับเหตุการณ์ที่ปฏิทินควรจะติดตามเมื่อเวลาผ่านไป โดยการแทรกวันหรือเดือนเพิ่มเข้าไปในปีนั้น การเลื่อนจึงสามารถทำให้ถูกต้องได้ ปีที่มิใช่ปีอธิกสุรทิน เรียกว่า ปีปกติสุรทิน (common year)
ตัวอย่างเช่น ในปฏิทินเกรโกเรียน (ปฏิทินสุริยคติสามัญ) เดือนกุมภาพันธ์ในปีอธิกสุรทินมี 29 วัน แทนที่จะมี 28 วันตามปกติ ดังนั้น ปีดังกล่าวจึงมี 366 วัน แทนที่จะมี 365 วันตามปกติ คล้ายกัน ในปฏิทินฮีบรู (ปฏิทินสุริยจันทรคติ) เดือนจันทรคติที่ 13 มีการเพิ่มเจ็ดครั้งทุก 19 ปี เข้าไปในเดือนจันทรคติสิบสองเดือนในปีปกติสุรทินเพื่อให้ปีปฏิทินไม่คาดเคลื่อนจากฤดูกาลเร็วเกินไป
ปฏิทินเกรโกเรียน
ในปฏิทินเกรโกเรียน ปฏิทินมาตรฐานปัจจุบันในส่วนใหญ่ของโลก ปีอธิกสุรทิน หมายถึง ปีที่หารด้วย 4 ลงตัวเป็นส่วนมาก ในปีอธิกสุรทินแต่ละปีนั้น เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน แทนที่จะมี 28 วัน การเพิ่มวันเข้าไปในปฏิทินทุกสี่ปีเพื่อชดเชยตามข้อเท็จจริงที่ว่าระยะเวลา 365 วันนั้นสั้นกว่าปีสุริยคติเกือบ 1/4 วัน หรือ 6 ชั่วโมง
ข้อยกเว้นบางประการต่อกฎนี้มีว่า เนื่องจากระยะเวลาของปีสุริยคติน้อยกว่า 365.25 วันเล็กน้อย จึงกำหนดให้ปีที่หารด้วย 100 ลงตัวมิใช่ปีอธิกสุรทิน แต่ยกเว้นปีที่หารด้วย 400 ลงตัว[2][3] ตัวอย่างเช่น ค.ศ. 1600 และ 2000 เป็นปีอธิกสุรทิน แต่ ค.ศ. 1700, 1800 และ 1900 ไม่ใช่ ดังนั้น ในระยะเวลาสองสหัสวรรษ จะมีปีอธิกสุรทิน 485 ปี โดยกฎนี้ จำนวนวันเฉลี่ยของแต่ละปีจะเท่ากับ 365 + 1/4 − 1/100 + 1/400 = 365.2425 หรือเท่ากับ 365 วัน 5 ชั่วโมง 49 นาที 12 วินาที ปฏิทินเกรโกเรียนถูกออกแบบมาเพื่อรักษาวสันตวิษุวัตให้ตรงหรือใกล้เคียงกับวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งเป็นวันอีสเตอร์ (ซึ่งเฉลิมฉลองในวันอาทิตย์หลังคืนจันทร์เพ็ญซึ่งตรงกับหรือหลังวันที่ 21 มีนาคม)[4] ปีวสันตวิษุวัตนั้นมีประมาณ 365.242374 วัน (และกำลังเพิ่มขึ้นทีละน้อย)
อธิกวาร
วันที่ 29 กุมภาพันธ์เป็นวันที่ซึ่งปกติมีทุกสี่ปี และเรียกว่า อธิกวาร (leap day) วันนี้เพิ่มเข้าไปในปฏิทินในปีอธิกสุรทินเพื่อเป็นมาตรการแก้ไขวันที่ให้ถูกต้อง เพราะโลกไม่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ 365 วันพอดี
ปฏิทินจูเลียน
ปฏิทินจูเลียนเพิ่มวันพิเศษเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ในปีซึ่งหารด้วย 4 ลงตัว
ปฏิทินจูเลียนปรับปรุง
ในปฏิทินจูเลียนปรับปรุง (Revised Julian calendar) เพิ่มวันพิเศษเข้าไปในเดือนกุมภาพันธ์ในปีที่หารด้วย 4 ลงตัว ยกเว้นปีที่หารด้วย 100 ลงตัวและหารด้วย 900 แล้วไม่เหลือเศษเป็น 200 หรือ 600 กฎนี้ตกลงกันด้วยกฎสำหรับปฏิทินเกรโกเรียนจนถึง ค.ศ. 2799 ปีแรกที่วันที่ในปฏิทินจูเลียนปรับปรุงไม่ตรงกับวันที่ในปฏิทินเกรโกเรียนจะเป็น ค.ศ. 2800 เพราะจะเป็นปีอธิกสุรทินในปฏิทินเกรโกเรียน แต่ไม่เป็นในปฏิทินจูเลียนปรับปรุง
กฎนี้ทำให้หนึ่งปีเฉลี่ยมี 365.242222 วัน ซึ่งเป็นการประมาณที่ดีมากสำหรับปีสุริยคติโดยเฉลี่ย แต่เนื่องจากปีวสันตวิษุวัตยาวกว่าเล็กน้อย ปฏิทินจูเลียนปรับปรุงจึงไม่ดีเท่ากับปฏิทินเกรโกเรียนในการรักษาวสันตวิษุวัตให้ตรงหรือใกล้เคียงกับวันที่ 21 มีนาคม
อ้างอิง
- ↑ Meeus, Jean (1998), Astronomical Algorithms, Willmann-Bell, p. 62
- ↑ Royal Observatory, Greenwich. เก็บถาวร 2008-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (2002). Leap years. Author.
- ↑ United States Naval Observatory (June 14, 2011), Leap Years, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 15, 2007, สืบค้นเมื่อ April 9, 2014
- ↑ E.G. Richards, E.G. (1998). Mapping time: The calendar and its history. Oxford University Press. p. 240. ISBN 0-19-286205-7.