บุญลือ นาคประสิทธิ์ (พ.ศ.2493 - 12 ธันวาคม พ.ศ. 2546) เป็นนักธุรกิจ ผู้ผลิตและค้าสารเสพติดชาวไทยที่ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษโดยประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรกของประเทศไทย หลังจากในปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลได้มีการเสนอแก้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2546 โดยแก้ไขมาตรา 19 ว่า " ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย"ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 กันยายน 2546 โดยเป็นการเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากการยิงเป้าเป็นการฉีดสารพิษ[1][2][3]
ประวัติ
บุญลือเคยถูกจับกุมในความผิดฐานค้ายาเสพติด และพ้นโทษในเวลาต่อมา เขาได้ร่วมกับ พันพงษ์ สินธุสังข์ และวิบูลย์ ปานะสุทธะ ใช้บ้านของโรงงานไทย-เยอรมันกลูโคสซึ่งเคยเป็นโรงงานผลิตกลูโคสและฟอกผ้ายีนส์ ในตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในการผลิตยาบ้า โดยเสน่ห์ นุชนารถซึ่งเป็นผู้ดูแลสถานที่ได้ให้บุญลือ, พันพงษ์และวิบูลย์ใช้โรงงานหลังจากปิดกิจการเพื่อผลิตยาบ้า ในการผลิตยาบ้า1ครั้งจะใช้เวลา3-5วัน[4]
ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2541 เมื่อเวลา 03.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจู่โจมตรวจค้นโรงงานไทย-เยอรมันกลูโคสและจับกุมบุญลือ, พันพงษ์ และเสน่ห์ โดยพบยาบ้าและอุปกรณ์ในการผลิตภายในโรงงาน เนื่องจากตำรวจพบว่าบุญลือและพรรคพวกใช้โรงงานในการผลิตยาเสพติด สองชั่วโมงต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจวิบูลย์ ปานะสุทธะซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนกับบุญลือที่หมู่บ้านเคหะธานี 2 แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร โดยพบยาบ้าจำนวน 18,000 เม็ด และของกลางอีกหลายรายการ โดยของกลางที่ยึดได้ประกอบด้วย ยาบ้าชนิดเม็ดจำนวน 115,800 เม็ด[5], ยาบ้าชนิดผง 40.8 กิโลกรัม, หัวเชื้อยาบ้าประมาณ 10 กิโลกรัม, ฝิ่น 1,300 กรัม และสารเคมีกับอุปกรณ์การผลิตเป็นจำนวนมาก[6] โดยบุญลือ, พันพงษ์, วิบูลย์ และเสน่ห์ ถูกตั้งข้อหาผลิตและครอบครองเพื่อจำหน่ายยาบ้า และข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่ายฝิ่น[7]
ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้พิพากษาประหารชีวิตบุญลือ, พันพงษ์ และวิบูลย์ ส่วนเสน่ห์ถูกตัดสินจำคุกเนื่องจากเป็นผู้ให้ใช้สถานที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการผลิตสารเสพติด ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาคที่ 1 ได้พิพากษายืนประหารชีวิตบุญลือ, พันพงษ์ และวิบูลย์ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ศาลฎีกาได้พิพากษาประหารชีวิตบุญลือ, พันพงษ์ และวิบูลย์ ส่งผลให้ทั้งสามทำหนังสือถวายฎีกาทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ฎีกาก็ถูกยกเนื่องจากการกระทำของทั้งสามคนเป็นการบ่อนทำลายชาติอย่างร้ายแรง ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น[8]
การประหารชีวิต
ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ของเรือนจำกลางบางขวางได้เบิกตัวทั้งบุญลือ, พันพงษ์ ,วิบูลย์ ในความผิดฐานค้ายาเสพติด และพนม ทองช่างเหล็ก ในความฐานฆาตกรรมแสงชัย ทองเชื้อ ขณะรับประทานอาหารพร้อมกับพวกที่อำเภอสวี เมื่อปี พ.ศ. 2542 ออกจากแดนที่ 1 ของเรือนจำกลางบางขวาง[9] เพื่อเเจ้งผลฎีกาทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ[10] โดยให้ทำพินัยกรรมและโทรศัพท์สั่งเสียญาติ ซึ่งพนมเป็นคนเดียวที่โทรศัพท์เพื่อสั่งเสียญาติ ส่วนอีกสามคนไม่ได้โทรศัพท์สั่งเสีย แต่เขียนพินัยกรรม หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ยกอาหารมื้อสุดท้ายมาประกอบด้วยต้มข่าไก่, แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย, แกงหน่อไม้, บัวลอยแก้ว, บัวลอยเผือก, ฟักทองต้ม และส้มเขียวหวาน แต่ไม่มีใครรับประทาน โดยได้ขอสูบบุหรี่แทน ถัดจากนั้นผู้อำนวยการส่วนควบคุมส่วนที่2 ได้อ่านคำสั่งยกฎีกา และนำตัวไปฟังเทศน์กับพระครูศรีนนทวัฒน์[11] ก่อนจะนำตัวบุญลือกับพันพงษ์ ขึ้นรถกอล์ฟไปยังศาลาเย็นใจแล้วปิดตาพร้อมกับให้ดอกไม้ธูปเทียน แล้วนำตัวเข้าไปในอาคารสถานที่หมดทุกข์ ซึ่งเป็นอาคารประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าซึ่งถูกปรับปรุงให้รองรับการฉีดสารพิษเนื่องจากอาคารฉีดสารพิษยังสร้างไม่เสร็จ[12] โดยบุญลือถูกประหารชีวิตขณะอายุ 53 ปี ส่วนพันพงษ์ถูกประหารชีวิตขณะอายุ 45 ปี หลังจากการประหารชีวิตบุญลือและพันพงษ์ด้วยการฉีดสารพิษ จึงวิบูลย์และพนมขึ้นรถกอล์ฟไปประหารชีวิตพร้อมกัน โดยวิบูลย์ถูกประหารชีวิตขณะอายุ 53 ปี ส่วนพนมถูกประหารชีวิตขณะอายุ 32 ปี โดยการประหารชีวิตนักโทษทั้งหมดใช้เวลา 25 นาที[13] จากนั้นได้นำศพของนักโทษทั้งสี่คนใส่โลงเย็น แล้วเก็บไว้เป็นเวลา 12 ชั่วโมงก่อนนำศพออกจากเรือนจำในวันรุ่งขึ้น[14][15] โดยการประหารชีวิตครั้งนี้นับเป็นการประหารด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรกของประเทศไทย[16][17]
แหล่งข้อมูลอื่น
อ้างอิง