สำหรับความหมายอื่น ดูที่
กอทิก
บันเทิงคดีกอทิก (อังกฤษ: Gothic fiction) เป็นประเภทย่อยของวรรณกรรมจินตนิยม ซึ่งมีการผสานความสยองขวัญเข้ากับองค์ประกอบต่าง ๆ ของศิลปะจินตนิยม[2] บันเทิงคดีกอทิกมักมีฉากในสถานที่เก่าแก่ (เช่น คฤหาสน์ ปราสาท หรืออาราม) เกี่ยวข้องกับสิ่งลี้ลับ บรรยากาศของเรื่องที่น่ากลัว แก่นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความตาย และการบีบคั้นทางอารมณ์[3] ชื่อกอทิกมาจากสถาปัตยกรรมกอทิก ซึ่งมักถูกใช้เป็นฉากในเรื่อง
ที่มาของบันเทิงคดีกอทิกมาจากนิยาย The Castle of Otranto (ปราสาทโอทรันโท) ของฮอเรซ วอลโพล นักเขียนชาวอังกฤษในปี ค.ศ. 1764 นิยายเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำพยากรณ์ถึงชะตาเจ้าของปราสาท สิ่งเหนือธรรมชาติ และโศกนาฏกรรมความรัก วอลโพลระบุในการตีพิมพ์ครั้งแรกว่าเขาแปลมาจากต้นฉบับที่ตีพิมพ์ที่เมืองนาโปลีในปี ค.ศ. 1529[4] แต่กล่าวกันว่าเรื่องนี้อาจย้อนไปไกลได้ถึงสมัยสงครามครูเสด[5] แต่ในการตีพิมพ์ครั้งหลัง ๆ เขาเปิดเผยว่าตนเป็นคนแต่งเรื่องขึ้นเองโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์ยุคกลาง และคฤหาสน์สตรอว์เบอร์รีฮิลที่สร้างตามสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิกในทวิกเคนแฮมที่วอลโพลเป็นเจ้าของ[6] หลังจากนั้นบันเทิงคดีนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงสมัยวิกตอเรีย ตัวอย่างนักเขียนที่มีผลงานแนวบันเทิงคดีกอทิก ได้แก่ แมรี เชลลีย์, เอดการ์ แอลลัน โพ, ชาลส์ ดิกคินส์, แซมมวล เทย์เลอร์ คอเลริดจ์, ลอร์ด ไบรอน และแบรม สโตกเกอร์
นอกจากนี้บันเทิงคดีกอทิกยังถูกพัฒนาโดยนักเขียนยุโรปภาคพื้นทวีปช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในเยอรมนีมีนิยายแนว Schauerroman (นิยายกระตุกขวัญ) ที่มีลักษณะหลายอย่างคล้ายนิยายกอทิกของอังกฤษแต่มีเนื้อหาที่มืดมนกว่า[7] ขณะที่รัสเซียมีการผสานบันเทิงคดีกอทิกเข้ากับตำนานพื้นบ้าน และเสริมเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมเข้าไปในบันเทิงคดีนี้เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านจากยุคจินตนิยมเข้าสู่ยุคสัจนิยม[8]
อ้างอิง
- ↑ "The Castle of Otranto: The creepy tale that launched gothic fiction". BBC. Retrieved 9 July 2017
- ↑ Kennedy, Patrick (January 23, 2020). "Definition of Gothic Literature". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ August 4, 2020.
- ↑ "Gothic novel". Britannica. สืบค้นเมื่อ August 4, 2020.
- ↑ "The creepy tale that launched gothic fiction". 13 December 2014 – โดยทาง www.bbc.com.
- ↑ Missing, Sophie (March 13, 2010). "The Castle of Otranto by Horace Walpole". The Guardian. Guardian Media Group. สืบค้นเมื่อ September 18, 2018.
- ↑ "The Castle of Otranto". Britannica. สืบค้นเมื่อ August 4, 2020.
- ↑ "Gothic fiction". New World Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ August 4, 2020.
- ↑ Bowers, Katherine (2013). "The City Through a Glass, Darkly: Use of the Gothic in Early Russian Realism". Humanities Commons. สืบค้นเมื่อ August 4, 2020.