บัณฑิต เจริญวานิช (เกิด พ.ศ. 2498 – 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552) และ จิรวัฒน์ หรือ เอ้ พุ่มพฤกษ์ (เกิดประมาณ พ.ศ. 2507 – 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552) เป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิตคนที่ 5 และ 6 ของประเทศไทยด้วยการฉีดสารพิษ[1] ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่1ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นการประหารชีวิตโดยการฉีดสารพิษเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทย[2] โดยหลังจากการประหารชีวิต ประเทศไทยก็ไม่ได้ประหารชีวิตใครอีกเป็นเวลา 9 ปี[3] ก่อนจะมีการประหารชีวิตธีรศักดิ์ หลงจิ ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ซึ่งถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561[4]
การก่อคดี
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติดได้จับกุมสมจิตร พยัคฆ์เรือง พร้อมกับยาบ้าจำนวน 20,000 เม็ด ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าสมจิตรใช้รถยนต์ของบัณฑิต ซึ่งเป็นลูกเขยในการขนส่งยาเสพติด และสมจิตรได้สารภาพว่า ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2544 บัณฑิตจะให้จิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ขนยาบ้าจำนวนมากมาจากจังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำมาพักเเละจำหน่ายในกรุงเทพ หลังจากสมจิตรรับสารภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนเลือกด่านสลกบาตร ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลสลกบาตรเป็นสถานที่จับกุมจิรวัฒน์[5] สองวันต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดได้จับกุมจิรวัฒน์ อายุ 36 ปี พร้อมกับวิลาวรรณ กะแผแก้ว อายุ 25 ปี ที่ด่านสลักบาตร จังหวัดกำแพงเพชร โดยจากการตรวจค้น พบยาบ้าจำนวน 100,000 เม็ดที่ด้านข้างของประตูรถยนต์[6][7]
จิรวัฒน์ได้สารภาพว่าเป็นเพียงคนรับจ้างขนยาบ้ามาจากบัณฑิต เจริญวานิช เพื่อไปส่งยังกรุงเทพ ซึ่งเขาเคยขนส่งยาเสพติดให้บัณฑิตมาแล้ว 2 ครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้วางแผนจับกุมบัณฑิต โดยให้เขาโทรศัพท์บอกบัณฑิตว่าการขนส่งยาเสพติดไปได้อย่างราบรื่นและให้บัณฑิตไปรับยาเสพติดที่อาคารซีพีเอช ทาวเวอร์ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงบางแคเหนือ ส่งผลให้ภายในวันเดียวกันเจ้าหน้าตำรวจสามารถจับกุมบัณฑิตพร้อมกับปืน 1 กระบอก ในขณะขับรถมารับยาเสพติดที่อาคารซีพีเอช ทาวเวอร์ แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายในรถยนต์ของบัณฑิต[8] เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำตัวเขาไปตรวจค้นที่บ้านของเขาในเขตหนองแขม โดยพบยาบ้าจำนวน 14,215 เม็ดพร้อมกับปืนหลายกระบอกที่บ้านของเขา[9][10][11][12] ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมสมควร พยัคฆ์เรือง อายุ 29 ปี ภรรยา และจิรวัฒน์ เจริญวานิช อายุ 47 ปี พี่สาวของบัณฑิตข้าราชการระดับซี 8 ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 4 [13] อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล[14]
การพิจารณาคดี
วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ศาลชั้นต้นได้ตัดสินประหารชีวิตบัณฑิต, จิรวัฒน์ และสมควร ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่1ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยให้เหตุผลว่าจำนวนของยาบ้าที่จับกุมมีจำนวนมาก ซึ่งสภาพและลักษณะของความผิดเป็นมหันตภัยต่อมวลมนุษยชาติ อีกทั้งสามารถทำลายทรัพยากรมนุษย์ บั่นทอนความสงบสุขของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างสุดคณานับ ถึงแม้จะรับสารภาพแต่ไม่เป็นเหตุให้ลดโทษ ส่วนวิลาวรรณกับจิรวัฒน์ เจริญวานิชถูกยกฟ้อง ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ศาลอุทธรณ์ แก้คำพิพากษาให้ลดโทษสมควรเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนบัณฑิตและจิรวัฒน์พิพาษายืนประหารชีวิต และจิรวัฒน์ เจริญวานิชถูกตัดสินจำคุก 8 เดือนในความผิดฐานปลอมแปลงบัตรเข้าออกทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ศาลฎีกาได้แก้คำพิพากษาสมควรจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นประหารชีวิต ส่วนบัณฑิตและจิรวัฒน์พิพาษายืนประหารชีวิต ซึ่งพวกเขาได้ถวายฎีกาทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ฎีกาของบัณฑิตและจิรวัฒน์มีพระราชกระแสรับสั่งให้ยกฎีกาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ส่วนสมควรได้รับการพระราชทานอภัยโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต[15]
การประหารชีวิต
ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 15.30 น. หลังจากนำนักโทษทุกคนเข้าเรือนนอน เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงของเรือนจำได้เบิกตัวพวกเขาออกจากแดนที่คุมขังภายในเรือนจำกลางบางขวางไปยังศาลาเย็นใจเพื่อเเจ้งผลฎีกาทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ หลังจากนั้นได้ให้บัณฑิตและจิรวัฒน์เขียนพินัยกรรมแล้วให้โทรศัพท์หาญาติเพื่อสั่งเสียเป็นเวลา 5 นาที ซึ่งจิรวัฒน์ได้คุยโทรศัพท์กับญาติด้วยสีหน้าที่เรียบเฉย ส่วนบัณฑิตน้ำตาไหลและใช้มือปาดน้ำตาตลอดการคุยโทรศัพท์ เมื่อบัณฑิตใช้เวลาในการคุยโทรศัพท์เกินเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงจึงเข้าไปปลอบใจบัณฑิตเเละบอกกับบัณฑิตว่าหมดเวลาในการคุยโทรศัพท์ ถัดจากนั้นผู้อำนวยการส่วนควบคุมส่วนที่2 ได้อ่านคำสั่งยกฎีกา จิรวัฒน์ได้ขอคุยโทรศัพท์อีกครั้งเพื่อคุยกับลูก แต่ก็ถูกปฎิเสธ เขาจึงขอร้องและได้รับความช่วยเหลือให้คุยโทรศัพท์ได้อีกครั้ง หลังจากอ่านคำสั่งยกฎีกาเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงได้นำดอกไม้ธูปเทียนมาให้ทั้งสอง โดยให้หันหน้าไปยังโบสถ์พระประธานของวัดบางแพรกใต้ แล้วพาเข้าไปยังอาคารประหารชีวิต โดยได้จัดอาหารมื้อสุดท้ายไว้ในห้อง ประกอบด้วย แกงฉู่ฉี่ ข้าวเปล่า แอปเปิ้ล และน้ำดื่ม แต่ทั้งสองไม่ได้รับประทานอาหารมื้อสุดท้าย[16]
จิรวัฒน์ได้ถามอรรถยุทธ พวงสุวรรณ (ยุทธบางขวาง) ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงนักโทษประหารว่า"หัวหน้าครับ ผมกินอะไรไม่ลงหรอกครับ ผมอยากรู้ว่าเขาใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินว่าใครควรประหารใครควรลดโทษ ผมเป็นแค่ผู้ร่วม เฮียบัณฑิตกับเจ้เป็นเจ้าของยา ไม่น่าต้องมาประหารผมเลย" อรรถยุทธจึงตอบกลับไปว่า "ผมเองก็ไม่รู้นะว่าเขาใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน แต่ถ้าใครโดนก็ต้องถือว่าเป็นคราวเคราะห์ของคนนั้นไป ทำใจเถอะนะ" จิรวัฒน์จึงพูดว่า "ครับผมทำใจแล้วครับ หัวหน้าครับ ก่อนตายผมขอลาเฮียบัณฑิตและขออโหสิกรรมกับเขาก่อนได้ไหม ตายไปผมกับเขาจะได้ไม่มีเวรกรรมต่อกันอีก" หลังจากนั้นพระครูศรีนนทวัฒน์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสของวัดบางแพรกใต้ได้เทศนาธรรมเรื่องบาปบุญคุณโทษ ระหว่างการเทศน์บัณฑิตน้ำตาไหลตลอดการเทศน์และมีอากาศเศร้า ส่วนจิรวัฒน์สงบและนิ่งเงียบก่อนขอจับชายผ้าเหลืองโดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นสื่อนำไปสู่ภพอื่น[17][18]แล้วนำบัณฑิตและจิรวัฒน์ไปในห้องฉีดสารพิษ โดยจิรวัฒน์ได้กล่าวกับบัณฑิตเป็นครั้งสุดท้ายว่า"เฮียครับ ผมลาก่อน ผมขออโหสิกรรมให้เฮีย และขอให้เฮียอโหสิกรรมให้ผมด้วย เราจะได้ไม่มีเวรกรรมต่อกันอีกต่อไปนะเฮีย"แล้วบัณฑิตได้พยักหน้า[19]
เมื่อเริ่มการประหารชีวิต เจ้าหน้าที่ฉีดยาได้ปล่อยยาเข็มที่ 1 คือโซเดียมไทโอเพนทอล เพื่อให้หลับ แต่สายน้ำเกลือได้หลุดจากข้อมือของบัณฑิตจึงเข้าไปแก้ไขแล้วใส่ใหม่ แล้วตามด้วยเข็มที่ 2 คือแพนคูโรเนียมโบรไมด์ เพื่อคลายกล้ามเนื้อ แต่สายน้ำเกลือก็หลุดออกจากข้อมือของบัณฑิตอีกครั้ง ทำให้เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงไปคลายสายรัดข้อมือขวา ถัดจากนั้นเจ้าหน้าที่ฉีดยาได้ปล่อยเข็มที่ 3 คือโพแทสเซียมคลอไรด์ซึ่งหัวใจหยุดเต้น[20] หลังจากที่จิรวัฒน์เสียชีวิตแล้ว สายน้ำเกลือได้หลุดออกจากเข็มของบัณฑิตอีกครั้ง เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงจึงปลดสายรัดที่แขนทั้งสองข้างแล้วฉีดยาอีกครั้ง ซึ่งบัณฑิตเสียชีวิตในอีก 5 นาทีต่อมา[21] จากนั้นเเพทย์เเละกรรมการได้มาตรวจสอบร่างของพวกเขาเเละยืนยันว่าเสียชีวิต[22][23][24][25]
วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เจ้าหน้าที่ได้นำกุญเเจมาเปิดประตูเเดงของวัดบางแพรกใต้เพื่อนำศพของออกจากเรือนจำ แต่ไม่สามารถเปิดประตูได้เนื่องจากประตูเเละดอกกุญเเจเต็มไปด้วยสนิม ทำให้ต้องเลื่อนการนำศพทั้งออกจากเรือนจำ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ได้ไขกุญเเจตรวนที่เท้าของนักโทษเเล้วนำใส่โลงศพซึ่งได้รับบริจาคมา หลังจากเสร็จสิ้นเเล้วเจ้าหน้าที่ได้นำสเปรย์ยี่ห้อโซแนกซ์มาฉีดที่ขอบประตูและดอกกุญเเจแต่ก็ยังไม่สามารถเปิดประตูได้[26] เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้ชะเเลงกระทุ้งประตูจึงเปิดได้ แล้วนำศพของจิรวัฒน์ออกมาก่อนโดยศพของจิรวัฒน์ถูกนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลทวิธานถุกูลภายในวัดบางแพรกใต้ แล้วตามด้วยศพของบัณฑิตซึ่งศพของบัณฑิตถูกนำขึ้นรถตู้เพื่อนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ฝั่งธนบุรี[27]
อ้างอิง
บรรณานุกรม
- อรรถยุทธ พวงสุวรรณ (2546). คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร. กรุงเทพ: มติชน. ISBN 9743229752.
- 'เชาวเรศน์ จารุบุณย์ (2553). บันทึก.....แดนประหาร คุกบางขวาง. กรุงเทพ: ดอกหญ้า 2000. ISBN 9789746907576.
แหล่งข้อมูลอื่น
ดูเพิ่ม