นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

โรงแยกแก๊สธรรมชาติ ที่มาบตาพุด
เปลวไฟแก๊สโรงงานปตท. ที่มาบตาพุด

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (อังกฤษ: Map Ta Phut Industrial Estate) เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในเทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง ประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่เป็นอันดับแปดของโลก นิคมอุตสาหกรรมนี้เปิดดำเนินการใน พ.ศ. 2533 และบริหารงานโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม

มาบตาพุดประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง, ท่าเรือน้ำลึก 1 แห่ง และโรงงาน 151 แห่ง รวมถึงโรงงานปิโตรเคมี, โรงกลั่นน้ำมัน, โรงไฟฟ้าถ่านหิน ตลอดจนโรงงานผลิตเหล็กและเหล็กกล้า โดยมีพื้นที่ 166 ตารางกิโลเมตร อนึ่ง พื้นที่นี้มีชุมชนเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยประมาณ 30 แห่ง ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 49,000 คน[1]

ปัญหาสิ่งแวดล้อม

สถาบันทรัพยากรโลกระบุว่า "มาบตาพุดเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในประเทศไทย โดยมีประวัติมลพิษทางอากาศและทางน้ำ, อุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม, การทิ้งขยะอันตรายอย่างผิดกฎหมาย ตลอดจนผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะ เช่น มะเร็ง และพิการแต่กำเนิด”[1]:20

ใน พ.ศ. 2550 ชุมชน 11 ชุมชนในเขตมาบตาพุดได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) โดยกล่าวหาว่าคณะกรรมการกำหนดมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษอย่างไม่เหมาะสม องค์การชุมชนได้ยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกระทรวงอื่น ๆ ของไทยอีกแปดแห่ง คดีนี้บริหารจัดการโดยเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก โดยเน้นไปที่ความล้มเหลวในการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด รวมถึงการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก่อนที่จะออกใบอนุญาตให้แก่โครงการอุตสาหกรรมใหม่ 76 โครงการ กระทั่งใน พ.ศ. 2552 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาระงับการพัฒนาโครงการ 65 โครงการในนิคมฯ มูลค่าประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไม่เพียงพอ และอนุญาตให้ 11 โครงการดำเนินการต่อไป[2] แต่แล้วในที่สุด 74 โครงการจาก 76 โครงการที่โต้แย้งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อ[1]:21

  • เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2543 เกิดแก๊สฟอสจีนรั่วที่โรงงานพลาสติกบริษัท ไทยโพลีคาร์บอเนต ทำให้คนงานเสียชีวิตสองคน และชาวบ้านเจ็บป่วยจำนวนมาก[3]
  • มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ พ.ศ. 2552[4]
  • เกิดเหตุระเบิดที่โรงงานของบริษัทในเครือกรุงเทพ ซินธิติกส์ เมื่อ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 มีผู้เสียชีวิต 12 ราย [5]บาดเจ็บอีก 129 ราย[1]:21
  • หนึ่งวันหลังจากการระเบิดของบริษัทในเครือกรุงเทพ ซินธิติกส์ ได้เกิดการรั่วไหลของสารเคมีที่โรงงานอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ ซึ่งทำให้มีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 138 คน[1]:21
  • 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 นายนพพร เรือนมา [6]เสียชีวิตจากเหตุถังแก๊สโซลีน บริษัท มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินัล จำกัด ระเบิด

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Excell, Carole; Moses, Elizabeth (2017). Thirsting for Justice; Transparency and Poor People's Struggle for Clean Water in Indonesia, Mongolia, and Thailand (PDF). Washington DC: World Resources Institute. ISBN 978-1-56973-921-1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-08-31. สืบค้นเมื่อ 30 August 2017.
  2. Boonlai, Kochakorn; Pisit Changplayngam (2 December 2009). "Thai court halts many new plants in big industrial zone". Reuters. สืบค้นเมื่อ 26 January 2012.
  3. Jean-François Tremblay (22 March 2010). "An Impasse Grows In Thailand". Chemical & Engineering News. 88 (12).
  4. THE STANDARD (2017) "บทสรุป 10 ปี คดีมาบตาพุด เขตควบคุมมลพิษกับต้นทุนราคาสูงลิ่วที่สังคมต้องจ่ายกันเอง" สืบคน ณ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2566 https://thestandard.co/10-years-of-map-ta-phut-case/
  5. กลุ่มเพื่อนแรงงานออกแถลงการณ์ห่วงใยต่อสถานการณ์ถังสารเคมีระเบิด
  6. จ.เชียงราย

แหล่งข้อมูลอื่น

12°41′29″N 101°08′33″E / 12.6913°N 101.1426°E / 12.6913; 101.1426

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!