นิกายโชเก หรือคณะโชเก (ชื่ออย่างเป็นทางการคือ แทฮันพุลคโยโชกเยจง - 대한불교조계종, 大韓佛敎 曹溪宗) คือคณะสงฆ์เกาหลีใต้ฝ่ายมหายานที่รักษาพระปาติโมกข์ของนิกายธรรมคุปต์อย่างเคร่งครัด สืบทอดธรรมเนียมสำนักวิปัสสนา หรือสำนักซอน (เซ็น) และศึกษาพระสูตรของจนิกายโบราณต่างๆ เช่น อวตังสกสูตรของนิกายฮวาออม รวมถึงธรรมเนียมปฏิบัติของนิกายสุขาวดีดีสายเกาหลี [1] ชื่อนิกายนั้นมาจากชื่อของหมู่บ้านเดิมของพระฮุ่ยเหนิง สังฆปรินายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายฉาน หรือนิกายเซ็น หมู่บ้านนั้นชื่อเฉาซี (曹溪) ในภาษาจีนกลางยุคใหม่ ในภาษาจีนยุคกลางอ่านว่า โชไก [2] ปัจจุบันคณะโชเกมีศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่วัดโชเกซา โซล ประเทศเกาหลีใต้
เกาหลีใต้ (รวมถึงเกาหลีเหนือ) แต่เดิมนั้นมีคณะสงฆ์เดียว รักษาพระธรรมและคำสอนจากบูรพาจารย์มาตั้งแต่ยุคโครยอ มีปฐมบูรพาจารย์ 2 ท่าน คือพระโพโจ จินุล และพระแทโก โพอู ในช่วงราชวงศ์โชซอน แม้คณะสงฆ์จะรวมเป็นคณะเดียว แต่ยังคงธรรมเนียมวิปัสสนากรรมฐานแบบสำนักซอน ซึ่งต่อมาเป็นรากฐานของคณะโชเก ในช่วงที่เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ได้มีการนำธรรมเนียมของศาสนจักรญี่ปุ่นมาใช้ โดยการบีบบังคับให้คณะสงฆ์เกาหลีมีเหย้าเรือน มีบุตรหลาน และสืบทอดวัดไปถึงทายาท [3] แต่ยังมีกลุ่มหนึ่งไม่ยอมปฏิบัติตาม ต่อสู้กับแรงกดดันมาตลอด หลังจากประเทศได้รับเอกราช พระภิกษุกล่มนี้ ริเริ่มขบวนการปฏิรูปพระศาสนา เชิดชูการปฏิบัติตามสิกขาบทในพระวินัยอย่างเคร่งครัด และส่งเสริมการปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษณ์ คณะนี้เรียกตัวเองว่า คณะโชเก ส่วนอีกคณะเรียกว่าแทโก หรือนิกายแทโกยังคงธรรมเนียมสมัยอาณานิคมญี่ปุ่น โดยคำสอนของท่านจินุลคือ การบรรลุธรรมอย่างฉับพลันด้วยการปฏิบัติความเพียรอย่างค่อยเป็นค่อยไป [4]
ความแตกต่างระหว่าง คณะโชเกและคณะแทโกก็คือ ฝ่ายแรก ถือวินัยครบถ้วน ถือพรหมจรรย์ไม่ย่อหย่อน ครองสังฆาฏิสีกรักหรือสีแก่นขนุน ว่ากันว่าได้รับอิทธิพลจากคณะสงฆ์ไทย เนื่องจากในช่วงทศวรรษที่ 50 - 70 คณะโชเก ติดต่อมายังประเทศไทยเพื่อขอให้ช่วยฟื้นฟูพระศาสนาบ่อยครั้ง มีการบวชข้ามนิกายกันในบางกรณีแม้จะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และสีของจีวรยังได้รับส่งมอบต่อกัน ด้วยเชื่อว่าพระสงฆ์ไทยยังรักษาพระวินัยเคร่งครัด นอกจากประเด็นเรื่องสีจีวรแล้ว ในคณะโชเกเองก็ยังเป็นปัญหา เนื่องจากส่วนหนึ่งยังนิยมครองสังฆาฏิแบบย่อ คือทำขนาดเท่ากับย่ามพระ อันเป็นธรรมเนียมที่ญี่ปุ่นนำเผยแพร่ ต้องใช้เวลานานพอควรที่จะส่งเสริมให้พระภิกษุหันกลับมาครองสังฆาฏิเต็มอีกครั้ง [5]
อ้างอิง
- ↑ Carter J. Eckert (Author), Ki-Baik Lee, Young Ick Lew, Michael Robinson, Edward W. Wagner (1991). Korea Old And New: A History. Ilchokak Publishers. p. 94. ISBN 0962771309.
- ↑ Buswell, Robert E. (1993). "Chapter 1: Buddhism in Contemporary Korea". The Zen Monastic Experience. Princeton University Press. ISBN 069103477X.
- ↑ Sorensen, Henrik Hjort (1992). Ole Bruun, Arne Kalland, Henrik Hjort Sorensen, ed. Asian perceptions of nature. Nordic Institute of Asian Studies. ISBN 978-87-87062-12-1.
- ↑ Buswell, Robert E. (1993). "Chapter 1: Buddhism in Contemporary Korea". The Zen Monastic Experience. Princeton University Press. ISBN 069103477X.
- ↑ โรเบิร์ต อี บัสเวลส์ จูเนียร์, ประสบการณ์ชีวิตพระวัดเซน