นกปากซ่อมเล็ก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Lymnocryptes minimus; อังกฤษ: jack snipe หรือ jacksnipe) เป็นนกลุยน้ำขนาดเล็ก จัดในจำพวกนกปากซ่อมที่เล็กที่สุดและเป็นเพียงชนิดเดียวของสกุลนกปากซ่อมเล็ก (Lymnocryptes) ลักษณะเด่นที่กระดูกสันอกทำให้แตกต่างจากนกปากซ่อม (snipe) หรือนกปากซ่อมดง (woodcock) อื่น ๆ[2][3]
ศัพทมูลวิทยา
ชื่อสกุล Lymnocryptes มาจากภาษากรีก limne หมายถึง "บึง" และ kruptos หมายถึง "ซ่อน" ชื่อชนิด minimus หมายถึง "เล็กที่สุด"[4]
ลักษณะทางสรีรวิทยา
ตัวเต็มวัยมีขนาดเล็กกว่าและมีจะงอยปากค่อนข้างสั้นกว่านกปากซ่อมทั่วไป ความยาวลำตัว (ปลายปาก–โคนหาง) 18–25 เซนติเมตร (7.1–9.8 นิ้ว) ปีกกว้าง 30–41 เซนติเมตร (12–16 นิ้ว) และน้ำหนัก 33–73 กรัม (1.2–2.6 ออนซ์)[5] ลำตัวด้านบนมีลายพร้อยสีน้ำตาล ดำ และด้านล่างซีดกว่า มีแถบสีเข้มผ่านตา ปีกแหลมและแคบ แถบหลังสีเหลืองบนหลังมองเห็นได้ขณะบิน ไหล่สีเข้มเหลือบม่วงแกมเขียวเล็กน้อย อกมีลายขีดสีน้ำตาลลงมาถึงสีข้าง ท้องขาว ขนคลุมใต้หางมีลายขีดเล็ก ๆ[6]
นกปากซ่อมเล็กมีแถบดำและแถบเหลืองสลับหลายแถบบนหัว ซึ่งแตกต่างจากนกปากซ่อมทั่วไปและชนิดอื่น ๆ ในสกุล Gallinago ตรงที่ไม่มีแถบสีเหลืองกลางกระหม่อม แต่แทนที่ด้วยแถบสีเหลืองด้านข้างสองแถบ ซึ่งแยกต่างหากออกจากแถบคิ้วสีดำ แถบน้ำตาลอ่อนเหนือตามีแถบดำคั่นทำให้คล้ายมีคิ้ว 2 ชั้น[6] มองจากด้านคล้ายรางยาวจากหัวจรดหาง
การกระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่
นกปากซ่อมเล็ก (L. minimus) เป็นนกอพยพ โดยใช้ช่วงเวลานอกฤดูผสมพันธุ์ในบริเตนใหญ่ ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา ในอินเดียและบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกปากซ่อมเล็กเป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์ที่มีการใช้ข้อตกลงว่าด้วยการอนุรักษ์นกน้ำอพยพแอฟริกัน-ยูเรเชีย (AEWA) พื้นที่ผสมพันธุ์ในหนอง บึง ทุ่งทุนดรา และทุ่งหญ้าที่ลุ่มน้ำที่มีพืชใบสั้น ในยุโรปเหนือและตอนเหนือของรัสเซีย[7]
ประเทศไทย
เป็นนกที่อพยพเข้ามาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ (ฤดูหนาว)[8] อาจพบได้ในภาคเหนือเช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน[7][9] และมีรายงานการพบเพียงครั้งเดียวในภาคเหนือตอนล่างที่สนามบินสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
พฤติกรรม
นกปากซ่อมเล็กสามารถหลบซ่อนตัวได้ดีในพื้นที่นอกฤดูผสมพันธุ์ (ในฤดูหนาว) สังเกตได้ยากจากลายขนที่ช่วยในการพรางตัวได้ดี เมื่ออยู่ในที่โล่งนกปากซ่อมมักมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวโยกตัวแบบขึ้นลง ผลุบ ๆ โผล่ ๆ ราวกับอยู่บนสปริง ด้วยเหตุนี้นักดูนกจึงได้พัฒนาเทคนิคพิเศษในการค้นหานกปากซ่อมเล็กโดยการรบกวนการเดินในพื้นที่อาศัยและจำเป็นต้องบินขึ้น
โดยปกตินกปากซ่อมเล็กจะหมอบตัว และไม่พุ่งออกจากที่กำบังจนกว่าจะจวนตัวเมื่อผู้บุกรุกเข้ามาใกล้[2] ซึ่งจะบินออกไปในระยะทางสั้น ๆ อย่างเงียบ ๆ และร่อนลง (ทิ้งตัว) ในกลุ่มพืช[2]
การหาอาหาร
มักหาอาหารในดินอ่อน โคลนนุ่ม แหย่หรือจกอาหารด้วยสายตา กินแมลงและไส้เดือนเป็นหลัก รวมถึงส่วนของพืช
การผสมพันธุ์
ตัวผู้แสดงเกี้ยวพาราสีประกอบการบิน และส่งเสียงที่โดดเด่นคล้ายเสียงม้าควบ ทำรังในตำแหน่งที่ซ่อนไว้อย่างดีบนพื้น วางไข่ครอกละ 3-4 ฟอง
อ้างอิง
- ↑ แม่แบบ:Url=https://www.iucnredlist.org/details/22693133/0
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Newton, Alfred (1911). "Snipe" . In Chisholm, Hugh (ed.). Encyclopædia Britannica (11th ed.). Cambridge University Press.
- ↑ Thomas, Gavin H.; Wills, Matthew A.; Székely, Tamás (2004-08-24). "A supertree approach to shorebird phylogeny". BMC Evolutionary Biology. 4 (1): 28. doi:10.1186/1471-2148-4-28. ISSN 1471-2148. PMC 515296. PMID 15329156.
{{cite journal}}
: CS1 maint: PMC format (ลิงก์)
- ↑ Jobling, James A (2010). The Helm Dictionary of Scientific Bird Names. London: Christopher Helm. pp. 233, 256. ISBN 978-1-4081-2501-4.
- ↑ Dunning, John B. (1993). CRC handbook of avian body masses. Boca Raton, Fla.: CRC Press. ISBN 0-8493-4258-9. OCLC 26094699.
- ↑ 6.0 6.1 "นกปากซ่อมเล็ก Jack Snipe ( Lymnocryptes minimus (Brünnich, 1764) )". www.lowernorthernbird.com.
- ↑ 7.0 7.1 Jack Snipe. Avibase. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564.
- ↑ "นกปากซ่อมเล็ก Jack Snipe – ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย".
- ↑ "นกปากซ่อมเล็ก Jack Snipe". Birds of Thailand: Siam Avifauna.