ทฤษฎีสมคบคิดเรื่องเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก

ภาพประกอบเหตุการณ์เรือไททานิกกำลังจม

วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 เรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก (อังกฤษ: RMS Titanic) ได้ชนกับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้แผ่นตัวเรือด้านขวาใต้ระดับน้ำเกิดความเสียหาย ส่งผลให้ห้องกันน้ำส่วนหน้าหลายห้องถูกน้ำท่วม ต่อมาเรือก็จมลงหลังจากนั้น 2 ชั่วโมง 40 นาที โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,496 คนจากการจมน้ำหรือภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำเกินไป[1] นับแต่นั้นมา มีทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมากถูกเสนอขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ ทฤษฎีเหล่านี้ถูกหักล้างโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องนั้น ๆ

กลุ่มก้อนน้ำแข็ง

ทฤษฎีกลุ่มก้อนน้ำแข็งไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด เพราะยอมรับว่าการจมเป็นอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้แตกต่างจากทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และถือว่าเป็นไปไม่ได้ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ กัปตันแอล. เอ็ม. คอลลินส์ อดีตสมาชิกหน่วยลาดตระเวนน้ำแข็ง ได้สรุปข้อสันนิษฐานจากหลักฐาน 3 ประการ ประกอบกับประสบการณ์ส่วนตัวในการเดินเรือในบริเวณน้ำแข็ง และคำให้การของพยานในการสอบสวนหลังเกิดภัยพิบัติ 2 ครั้ง ว่าสิ่งที่เรือไททานิกชนนั้นไม่ใช่ภูเขาน้ำแข็ง แต่เป็นกลุ่มก้อนน้ำแข็งที่ลอยต่ำ หนังสือของเขาชื่อ The Sinking of the Titanic: The Mystery Solved (2003) ได้อธิบายรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน

  1. ตลอดทั้งคืนที่เรือกำลังจะจมลงนั้นไม่มีรายงานเกี่ยวกับหมอกเลย แต่ในเวลา 23:30 น. ยามเฝ้าระวังทั้งสองคนได้สังเกตเห็นสิ่งที่พวกเขาคาดว่าเป็นหมอกอยู่บนขอบฟ้า โดยทอดตัวออกไปประมาณ 20 องศาในแต่ละด้านของหัวเรือ คอลลินส์เชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นนั้นไม่ใช่หมอก แต่เป็นกลุ่มก้อนน้ำแข็งจำนวนมากที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 3–4 ไมล์ (4.8–6.4 กิโลเมตร) จากหัวเรือ[2]
  2. พยานแต่ละคนให้คำอธิบายเกี่ยวกับน้ำแข็งแตกต่างกันไป ยามเฝ้าระวังมองเห็นน้ำแข็งสูงถึง 60 ฟุต (18 เมตร) นายท้ายโรว์บนดาดฟ้าเห็นสูงถึง 100 ฟุต (30 เมตร) แต่บ็อกซอลล์ ต้นเรือที่สี่ เห็นเพียงส่วนน้อยของภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ในน้ำอยู่ทางด้านขวาของเรือใกล้ ๆ สะพานที่มืดมิด "ปรากฏการณ์ทางแสงที่เป็นที่รู้จักกันดีของผู้เดินเรือในน้ำแข็ง" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทะเลราบเรียบและอากาศหนาวจัดบิดเบือนลักษณะของวัตถุใกล้ผิวน้ำ ทำให้วัตถุดังกล่าวปรากฏสูงเท่ากับไฟเรือ ซึ่งอยู่สูงประมาณ 60 ฟุต (18 เมตร) เหนือผิวน้ำใกล้หัวเรือ และสูง 100 ฟุต (30 เมตร) ข้างโครงสร้างบนของเรือ
  3. เรือไททานิกหลบโดยการหมุนจากหัวเรือประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งทำให้หางเสือเบนไปจนสุดและพุ่งชนภูเขาน้ำแข็งท่ด้านขวาของตัวเรือ เหตุการณ์นี้จะทำให้เรือจมลงได้ภายในเวลาไม่กี่นาที เนื่องจากน้ำท่วมเรือจนเอียงและคว่ำ โดยความเสียหายจะเกิดขึ้นที่บริเวณด้านขวาของตัวเรือ และอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างบนด้วย

สมมติฐานการสลับเรือโอลิมปิก

หนึ่งในทฤษฎีที่เป็นที่ถกเถียง[3][4] และซับซ้อนเกี่ยวกับการจมของไททานิกนั้นถูกเสนอโดยโรบิน การ์ดิเนอร์ ในหนังสือของเขาชื่อ Titanic: The Ship That Never Sank? (1998)[5] การ์ดิเนอร์ได้อ้างเหตุการณ์และความบังเอิญหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือน วัน และชั่วโมงก่อนการจมของเรือไททานิก และสรุปว่าเรือที่จมนั้นแท้จริงแล้วคือเรืออาร์เอ็มเอส โอลิมปิก (RMS Olympic) เรือพี่ของไททานิก ซึ่งถูกปลอมเป็นไททานิก เพื่อเป็นการฉ้อโกงประกันภัยโดยกลุ่มบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เมอร์แคนไทล์ มารีน (International Mercantile Marine Group) เจ้าของเรือ ซึ่งควบคุมโดยเจ.พี. มอร์แกน นักการเงินชาวอเมริกันที่ได้ซื้อกิจการของไวต์สตาร์ไลน์ในปี ค.ซ. 1902

เรืออาร์เอ็มเอส โอลิมปิก

บรูซ เบเวอริดจ์ และสตีฟ ฮอลล์ นักวิจัย ได้โต้แย้งข้ออ้างหลายประการของการ์ดิเนอร์ในหนังสือของพวกเขาชื่อ Olympic and Titanic: The Truth Behind the Conspiracy (2004)[3] มาร์ก เชิร์นไซด์ นักเขียน ได้ตั้งคำถามที่น่าพิจารณาอย่างจริงจังเกี่ยวกับทฤษฎีการสลับดังกล่าว[4] ส่วนแกเร็ท รัสเซลล์ นักประวัติศาสตร์ชาวบริติช ได้เรียกทฤษฎีนี้ว่า "น่าสมเพชจนน่าเศร้าเสียที่ต้องเสียต้นไม้ไปนับพัน ๆ ต้นเพื่อผลิตกระดาษมาใช้เขียนสิ่งที่ไร้สาระเช่นนี้" เขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า "เนื่องจากเรือพี่น้องทั้งสองลำมีความแตกต่างอย่างมากในด้านสถาปัตยกรรมภายในและการออกแบบ การสลับเรือทั้งสองลำอย่างลับ ๆ ภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์นั้นเป็นไปได้ยากมากจากมุมมองเชิงปฏิบัติ" การสลับดังกล่าวจะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพราะเจ้าของเรือสามารถสร้างความเสียหายให้กับเรือขณะจอดเทียบท่า (เช่น โดยการวางเพลิง) และเรียกรับค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัย "อุบัติเหตุ" ดังกล่าว ซึ่งจะมีความรุนแรงน้อยกว่ามาก และโง่น้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับการนำเรือออกไปกลางมหาสมุทรแอตแลนติกพร้อมกับผู้โดยสารและสัมภาระนับพัน และชนกับภูเขาน้ำแข็ง[ต้องการอ้างอิง]

การจมโดยเจตนา

มีข้อกล่าวหาอีกประการหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยมในช่วงปลายปี ค.ศ. 2017 กล่าวว่าเจ.พี. มอร์แกน ได้จงใจจมเรือเพื่อกำจัดมหาเศรษฐีหลายคนที่คัดค้านการก่อตั้งธนาคารกลางสหรัฐ บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกบางคนได้โดยสารเรือไททานิกในการเดินทางครั้งแรก หลายคนในจำนวนนั้นรวมถึง จอห์น เจคอบ แอสเตอร์ที่ 4, เบนจามิน กุกเกนไฮม์ และอิซิดอร์ สตราส์ ที่ถูกกล่าวหาว่าคัดค้านการก่อตั้งธนาคารกลางสหรัฐ[6] ไม่พบหลักฐานใดที่แสดงว่าบุคคลเหล่านี้คัดค้านแนวคิดการรวมศูนย์ธนาคารของมอร์แกน แอสเตอร์และกุกเกนไฮม์ไม่เคยแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในขณะที่สเตราส์กลับสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว[7][8] ชายทั้งสามคนเสียชีวิตระหว่างที่เรือกำลังจม นักทฤษฎีสมคบคิดเสนอว่าเจ.พี. มอร์แกน นักการเงินวัย 74 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทการเงินที่ใช้ชื่อของตนเอง ได้จัดการให้บุคคลเหล่านั้นขึ้นเรือแล้วจมเรือเพื่อกำจัดพวกเขา[9] มอร์แกนได้ยกเลิกตั๋วโดยสารสำหรับการเดินทางเที่ยวแรกของเรือไททานิกเนื่องจากมีรายงานว่าป่วย ตั๋วของกุกเกนไฮม์ยังไม่ได้ซื้อด้วยซ้ำก่อนที่มอร์แกนจะยกเลิก[10] มอร์แกน ผู้ได้รับฉายาว่า "นโปเลียนแห่งวอลสตรีต" มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งบริษัทขนาดใหญ่ เช่น เจเนอรัลอิเล็กทริก ยูเอสสตีล และอินเตอร์เนชั่นแนลฮาร์เวสเตอร์ นอกจากนี้เขายังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กอบกู้ระบบธนาคารของสหรัฐเกือบจะด้วยลำพังในช่วงวิกฤตการเงิน ค.ศ. 1907 มอร์แกนมีส่วนร่วมในการก่อตั้งธนาคารกลางสหรัฐ และเป็นเจ้าของบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลเมอร์เคนไทล์มารีน ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทไวต์สตาร์ไลน์ และด้วยเหตุนี้จึงเป็นเจ้าของเรือไททานิก[11]

มอร์แกน ซึ่งเคยเข้าร่วมงานเปิดตัวเรือไททานิกในปี ค.ศ. 1911 ได้จองห้องชุดส่วนตัวบนเรือพร้อมด้วยระเบียงเดินเล่นส่วนตัว และห้องอาบน้ำที่ติดตั้งที่ใส่ซิการ์ออกแบบพิเศษ มีรายงานว่าเขาได้จองตั๋วสำหรับการเดินทางเที่ยวแรกของเรือลำนี้ แต่กลับยกเลิกการเดินทาง และเลือกที่จะพักอยู่ที่รีสอร์ทอิกซ์-เลส์-แบ็งส์ ในฝรั่งเศส เพื่อเพลิดเพลินกับการนวดในตอนเช้าและการอาบน้ำแร่กำมะถัน[11] การยกเลิกการเดินทางของเขาในนาทีสุดท้ายที่ถูกกล่าวอ้างนั้นได้จุดประกายทฤษฎีสมคบคิดในหมู่นักทฤษฎีสมคบคิดว่าเขาอาจทราบถึงชะตากรรมของเรือลำนั้น[9][12] ทฤษฎีนี้ถูกหักล้างโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเรือไททานิก ได้แก่ จอร์จ บีเฮ, ดอน ลินช์ และเรย์ เลอเพียน ซึ่งแต่ละคนได้เสนอทฤษฎีอื่นที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น เพื่ออธิบายว่าเหตุใดมอร์แกนจึงยกเลิกการเดินทาง[13]

สตูว์ ปีเตอส์ นักทฤษฎีสมคบคิด ได้เสนอทฤษฎีทางเลือกหนึ่ง โดยกล่าวอ้างว่าตระกูลรอธส์ไชลด์อยู่เบื้องหลังทั้งธนาคารกลางสหรัฐและการจมของเรือไททานิก ปีเตอส์ยังอ้างอีกว่าการระเบิดตัวของยานใต้น้ำไททันนั้นเป็นการกระทำที่ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารของยานค้นพบความจริงที่ว่าเรือไททานิกจมลงเนื่องจาก "การทำลายที่ถูกควบคุม" ไม่ใช่การชนกับภูเขาน้ำแข็ง[14]

ประตูกันน้ำ

ทฤษฎีอีกประการหนึ่งเกี่ยวข้องกับประตูกันน้ำของเรือไททานิก ทฤษฎีนี้เสนอว่าหากประตูเหล่านั้นถูกเปิดออก เรือไททานิกจะตั้งตัวได้ตรงและอาจลอยน้ำได้นานพอที่เรือช่วยเหลือจะมาถึง อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ถูกหักล้างด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก สี่ห้องกันน้ำแรกถูกออกแบบให้กันน้ำได้อย่างสมบูรณ์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะลดปริมาณน้ำในหัวเรือลงอย่างมีนัยสำคัญ ประการที่สอง เบดฟอร์ดและแฮ็กเกตได้แสดงให้เห็นจากการคำนวณว่าหากมีน้ำจำนวนมากไหลเข้ามาทางท้ายเรือหลังห้องหม้อไอน้ำหมายเลข 4 จะส่งผลให้เรือไททานิกพลิกคว่ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นเร็วกว่าเวลาที่เรือจมลงจริงประมาณ 30 นาที[15] นอกจากนี้ ไฟน่าจะดับประมาณ 70 นาทีหลังการชนเนื่องจากน้ำท่วมห้องหม้อไอน้ำ[15] เบดฟอร์ดและแฮ็กเกตได้วิเคราะห์กรณีสมมติที่ไม่มีผนังกันน้ำเลย หากเป็นไปตามสมมติฐานนี้ เรือจะพลิกคว่ำประมาณ 70 นาทีก่อนเวลาจมจริง และไฟจะดับประมาณ 40 นาทีหลังการชน

ต่อมา ในสารคดีปี ค.ศ. 1998 ชื่อ Titanic: Secrets Revealed[16] ดิสคัฟเวอรีแชนแนลได้ทำการจำลองแบบจำลองซึ่งได้หักล้างทฤษฎีนี้เช่นกัน การจำลองแสดงให้เห็นว่าการเปิดประตูกันน้ำของเรือไททานิกจะทำให้เรือพลิกคว่ำก่อนเวลาจมจริงมากกว่าครึ่งชั่วโมง ซึ่งสนับสนุนผลการศึกษาของเบดฟอร์ดและแฮ็กเกต

สมมติฐานรอยต่อขยาย

ทฤษฎีการแตกของเรือโดยรอดเจอร์ ลอง

นักวิจัยเรือไททานิกยังคงอภิปรายกันถึงสาเหตุและกลไกการแตกของเรือ ตามหนังสือของเขาชื่อ A Night to Remember วอลเตอร์ ลอร์ด อธิบายว่าเรือไททานิกอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากอย่างสมบูรณ์ก่อนที่จะจมลงในช่วงสุดท้าย[17] มุมมองเช่นนี้ยังคงเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแม้กระทั่งหลังจากที่โรเบิร์ต บัลลาร์ด ค้นพบซากเรือในปี ค.ศ. 1985 ซึ่งยืนยันว่าเรือไททานิกแตกออกเป็นสองส่วนที่ผิวน้ำหรือใกล้ผิวน้ำ ภาพวาดของเคน มาร์แชล ศิลปินทางทะเลชื่อดัง และภาพยนตร์ไททานิคที่กำกับโดยเจมส์ แคเมอรอน ต่างก็แสดงให้เห็นว่าเรือเอียงตัวในมุมชันก่อนจะแตกออก[18] นักวิจัยส่วนใหญ่ยอมรับว่ารอยต่อขยายส่วนท้ายของเรือไททานิกที่ออกแบบมาเพื่อให้ตัวเรือมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนที่ในทะเลนั้นมีบทบาทน้อยมากหรือแทบไม่มีเลยในการแตกของเรือ [19] แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันต่อไปว่าเรือแตกจากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน

ในปี ค.ศ. 2005 คณะสำรวจของช่องฮิสทรีแชนแนลได้ทำการตรวจสอบส่วนประกอบขนาดใหญ่สองส่วนของกระดูกงูเรือไททานิก ซึ่งเป็นส่วนล่างของตัวเรือที่อยู่ใต้บริเวณที่ตัวเรือแตกออกจากกันโดยตรง ด้วยความช่วยเหลือจากรอดเจอร์ ลอง นาวาสถาปนิก ทีมงานได้วิเคราะห์ซากเรือและพัฒนาทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับการแตกของเรือ [20] ซึ่งได้เผยแพร่ในสารคดีทางโทรทัศน์เรื่อง Titanic's Final Moments: Missing Pieces ในปี ค.ศ. 2006 หนึ่งในหลักฐานสำคัญของทฤษฎีใหม่นี้คือการอ้างว่ามุมเอียงของเรือไททานิกในขณะแตกจากกันนั้นน้อยกว่าที่เคยเข้าใจกันมาก โดยลองระบุว่ามุมดังกล่าวไม่เกิน 11 องศา

ลองสันนิษฐานเพิ่มเติมว่าการแตกของเรือไททานิกอาจเริ่มต้นจากความล้มเหลวก่อนกำหนดของรอยต่อขยายส่วนท้ายของเรือ และท้ายที่สุดแล้วได้ยิ่งทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากทำให้เรือไททานิกจมเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในปี ค.ศ. 2006 ฮิสทรีแชนแนลได้ให้การสนับสนุนการดำน้ำสำรวจเรือบริแทนนิก ซึ่งเป็นเรือน้องของไททานิก การสำรวจครั้งนี้ยืนยันว่าการออกแบบรอยต่อขยายของเรือบริแทนนิกนั้นมีประสิทธิภาพเหนือกว่าการออกแบบรอยต่อขยายที่ใช้ในเรือไททานิก[21] เพื่อศึกษาค้นคว้าทฤษฎีของลองให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ฮิสทรีได้มอบหมายให้บริษัท เจเอ็มเอส เอ็นจิเนียริง (JMS Engineering) สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ การจำลองสถานการณ์ ซึ่งผลลัพธ์ถูกนำเสนอในสารคดี Titanic's Achilles Heel ปี ค.ศ. 2007 ได้พิสูจน์ข้อสงสัยของลองบางส่วน โดยแสดงให้เห็นว่ารอยต่อขยายตัวของเรือไททานิกมีความแข็งแรงเพียงพอจะรับมือกับความเครียดทุกประเภทที่เรือคาดว่าจะเผชิญในระหว่างการให้บริการ และในระหว่างการจม รอยต่อเหล่านี้ยังทำงานได้ดีกว่าข้อกำหนดการออกแบบอีกด้วย[22] แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือรอยต่อขยายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างบน ซึ่งอยู่เหนือดาดฟ้าหลัก (ดาดฟ้า B) และด้วยเหตุนี้จึงอยู่เหนือส่วนบนสุดของคานโครงตัวเรือด้วย ดังนั้น รอยต่อขยายจึงไม่มีส่วนในการรับน้ำหนักของตัวเรือ และไม่ได้มีบทบาทใด ๆ ในการแตกของตัวเรือ แต่เพียงแค่เปิดออกและแยกจากกันเมื่อตัวเรือโค้งงอหรือแตกอยู่ด้านล่าง

หนังสือของแบรด แมตเซน ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2008 ชื่อ Titanic's Last Secrets ได้สนับสนุนทฤษฎีรอยต่อขยาย[23]

ข้อผิดพลาดที่มักถูกมองข้ามประการหนึ่งคือการที่ปล่องไฟต้นแรกล้มในมุมที่ค่อนข้างตื้นเกิดขึ้นในขณะที่รอยต่อขยายด้านหน้า ซึ่งมีสายตรึงปล่องไฟหลายเส้นตัดผ่านอยู่นั้นเปิดออกเพราะตัวเรือเริ่มรับความเครียด การเปิดออกของรอยต่อนี้ทำให้สายตรึงยืดและขาดออกจากกัน แรงผลักไปข้างหน้าของเรือขณะที่เอียงไปข้างหน้าและลงอย่างฉับพลันทำให้ปล่องไฟที่ไม่ได้รับการรองรับล้มลงมาทับบนปีกสะพานด้านขวา

ทฤษฎีหนึ่งที่สนับสนุนการแตกของตัวเรือคือ เรือไททานิกอาจเกยหิ้งน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำขณะชนกับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้กระดูกงูและส่วนล่างของตัวเรือได้รับความเสียหาย ต่อมาในระหว่างการจม พบว่าห้องหม้อไอน้ำหมายเลข 4 ถูกน้ำท่วมจากด้านล่างของตะแกรงพื้นมากกว่าจะมาจากด้านบนของผนังกันน้ำ สิ่งนี้สอดคล้องกับความเสียหายเพิ่มเติมตามแนวกระดูกงูเรือ ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างตัวเรืออ่อนแอลง

เพลิงในห้องเก็บถ่านหิน

ข้อกล่าวหานี้ระบุว่าเกิดเพลิงไหม้ในห้องเก็บถ่านหินของเรือไททานิกประมาณ 10 วันก่อนออกเดินทาง และเพลิงยังคงลุกไหม้อยู่หลายวันตลอดการเดินทาง[24][25] เพลิงไหม้เกิดขึ้นบ่อยครั้งบนเรือกลไฟเนื่องจากการติดไฟเองของถ่านหิน[26] เพลิงต้องดับด้วยสายดับเพลิง โดยการย้ายถ่านหินไปยังห้องเก็บอื่นและกำจัดถ่านหินที่กำลังลุกไหม้โดยการเติมมันลงในเตาไฟ[27] เหตุการณ์นี้ได้นำไปสู่การตั้งทฤษฎีของนักเขียนบางคนว่าเพลิงได้ทำให้ผลกระทบจากการชนภูเขาน้ำแข็งรุนแรงขึ้น โดยการลดความแข็งแรงของโครงสร้างตัวเรือและผนังกันน้ำที่สำคัญ[28][29]

ซีแนน โมโลนี ได้เสนอสมมติฐานว่าการพยายามดับเพลิงบนเรือไททานิกโดยการตักถ่านหินที่กำลังลุกไหม้ใส่เตาเผาเครื่องจักรอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรือไททานิกแล่นด้วยความเร็วเต็มที่ก่อนเกิดการชนกับภูเขาน้ำแข็ง แม้จะมีการเตือนเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งมาก่อนแล้วก็ตาม[30] ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ ซามูเอล ฮาลเพิร์น ได้สรุปว่า "เพลิงไหม้ในห้องเก็บถ่านหินไม่ได้ทำให้ผนังกันน้ำเสียหายมากพอจะทำให้เกิดการพังทลาย"[31][32] นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งว่าเพลิงไหม้ในห้องเก็บถ่านหินนั้นอาจช่วยให้เรือไททานิกจมช้าลง และป้องกันไม่ให้เรือเอียงไปทางขวาหลังจากชนภูเขาน้ำแข็ง เนื่องจากการย้ายถ่านหินภายในเรือก่อนเกิดเหตุการณ์ชนนั้นทำให้เรือเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อย[33] ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือไททานิกชั้นนำบางท่านได้ตีพิมพ์บทวิเคราะห์โต้แย้งอย่างละเอียดเพื่อหักล้างข้อสรุปของโมโลนี[34]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Shetty, M. R. (2003-02-01). "Cause of death among passengers on the Titanic". The Lancet (ภาษาEnglish). 361 (9355): 438. doi:10.1016/S0140-6736(03)12423-3. ISSN 0140-6736. PMID 12573421.{{cite journal}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  2. L.M. Collins (2003). The Sinking of the Titanic: The Mystery Solved. Souvenir Press. p. 16. ISBN 0-285-63711-8.
  3. 3.0 3.1 Bruce Beveridge and Steve Hall (2004). Olympic & Titanic: The Truth Behind the Conspiracy. Infinity Publishing. ISBN 978-0-7414-1949-1.
  4. 4.0 4.1 Mark Chirnside (2006). "Olympic & Titanic – An Analysis of the Robin Gardiner Conspiracy Theory" (PDF). สืบค้นเมื่อ 4 October 2008.
  5. Robin Gardiner (1998). Titanic: The Ship That Never Sank?. Ian Allan Publishing. ISBN 978-0-7110-2633-9.
  6. "The Craziest Titanic Conspiracy Theories, Explained". HISTORY (ภาษาอังกฤษ). 2023-06-22. สืบค้นเมื่อ 2024-09-26.
  7. "Hoarding by Banks a Cause of Panic; This, Stewart Browne Says, Is the Objection to Aldrich Plan, Which Does Not Stop It". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 1911-10-18. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2023-01-15.
  8. "Isidor Straus Urges New Banking Plan; Replies to J.J. Hill's Attack on the National Reserve Association Scheme". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 1911-10-16. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2023-01-15.
  9. 9.0 9.1 "The Craziest Titanic Conspiracy Theories, Explained". History.com. 25 February 2019.
  10. Spilman, Rick (2020-09-07). "QAnon Conspiracy: Did J.P. Morgan Sink the Titanic?". Old Salt Blog (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-09-26.
  11. 11.0 11.1 Daugherty, Greg. "Seven Famous People Who Missed the Titanic". Smithsonian (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-01-08.
  12. "5 wild conspiracy theories surrounding the sinking of the Titanic". Business Insider.
  13. "Corrected-Fact Check-J.P. Morgan did not sink the Titanic to push forward plans for the U.S. Federal Reserve". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2021-03-17. สืบค้นเมื่อ 2023-01-15.
  14. "The RNC is partnering with the Republican Jewish Coalition and Rumble — a virulently antisemitic platform — for the third GOP debate". Media Matters for America. 16 October 2023.
  15. 15.0 15.1 Hacket C. and Bedford, J.G. (1996). The Sinking of the S.S. Titanic – Investigated by Modern Techniques. The Northern Ireland Branch of the Institute of Marine Engineers and the Royal Institution of Naval Architects, 26 March 1996 and the Joint Meeting of the Royal Institution of Naval Architects and the Institution of Engineers and Shipbuilders in Scotland, 10 December 1996
  16. famousgir1 (3 April 1998). "Titanic: Secrets Revealed (TV Movie 1998)". IMDb.
  17. Walter Lord (1956). A Night to Remember. Bantam. p. 79. ISBN 0553010603.
  18. Don Lynch and Ken Marschall (1992). Titanic: An Illustrated History. Hyperion. pp. 136, 139. ISBN 1562829181.
  19. Robert D. Ballard (1987). The Discovery of the Titanic. Warner Books. ISBN 0446513857.
  20. "The Break Up". The History Channel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 November 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-11-11.
  21. Mark Chirnside. "The Olympic' Class's Expansion Joints". titanic-model.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 January 2018. สืบค้นเมื่อ 19 April 2012.
  22. JMS Engineering study. "RMS Titanic: Complete Hull Failure Following Collision with Iceberg" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 9 September 2013. สืบค้นเมื่อ 2012-12-31.
  23. Brad Matsen (October 2008). Titanic's Last Secrets. Grand Central Publishing. ISBN 9780446582056.
  24. Titanic doomed by the fire raging below decks, says new theory – The Independent. 12 April 2008. Retrieved 3 January 2017.
  25. "Titanic Conspiracies". Titanic Conspiracies | Stuff They Don't Want You to Know (ภาษาอังกฤษ). 2017-10-06. สืบค้นเมื่อ 2017-10-09.
  26. Halpern & Weeks 2011, p. 122.
  27. Titanic Research & Modeling Association: Coal Bunker Fire เก็บถาวร 12 พฤษภาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  28. Huge fire ripped through Titanic before it struck an iceberg, fresh evidence suggests – The Telegraph. 31 December 2016. Retrieved 3 January 2016
  29. Titanic sank due to enormous uncontrollable fire, not iceberg, claim experts – The Independent. 3 January 2016. Retrieved 3 January 2016.
  30. Titanic Disaster: New Theory Fingers Coal Fire – Geological Society of America. 11 November 2014. Retrieved 3 January 2017.
  31. Fire Down Below - by Samuel Halpern. Retrieved 7 January 2017.
  32. Halpern & Weeks 2011, pp. 122–126.
  33. Titanic's Guardian Angel – by Parks Stephenson. Retrieved 5 January 2017.
  34. Titanic: Fire & Ice (Or What You Will) เก็บถาวร 20 พฤษภาคม 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Various Authors. Retrieved 23 January 2017.

บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!